อินทขีล: ผี พระอินทร์ และนพเคราะห์ กับ พระอุ่มเมืองที่เพิ่งสร้าง 

พิธีเข้าอินทขีลปีนี้สำหรับผู้เขียนนับว่าแปลกกว่าที่ผ่านมา เมื่อทางวัดออกนามให้กับพระพุทธรูปปางรำพึงในบุษบกเหนือเสาอินทขีลว่าพระเจ้าอุ่มเมือง (แป๊ขึด) ซึ่งไม่แน่ใจว่ามาจากนิมิตญาณหรือนำคติความเชื่อ หลักฐาน มาจากเอกสารใด เพราะไม่มีประวัติข้อมูลให้ทราบ ผู้เขียนกังวลใจว่าการตั้งชื่อขึ้นใหม่โดยมิได้มีการนำเสนอข้อมูลเช่นนี้ อาจจะทำให้ผู้สักการบูชาที่เข้าร่วมงานอินทขีลปีนี้และในอนาคต ไขว้เขวกับประวัติของพระพุทธรูป และเกิดความเข้าใจไปว่ามีพระพุทธรูปประดิษฐานเหนือเสาอินทขีลมาแต่เดิมเริ่มสร้าง

หากวิเคราะห์ด้วยกรอบคิดทางคติชนวิทยาและประติมานวิทยา ผนวกกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การประดิษฐานพระพุทธรูปเหนืออินทขีลนี้มิได้ขัดแย้งกับคติอินทขีลแต่เดิมอย่างใด หากแต่เป็นการออกนามแก่พระพุทธรูปว่า พระอุ่มเมือง หรือ พระแป๊ขึด ต่างหากที่กลับจะทำให้ความหมายของอินทขีลและประวัติศาสตร์ ความเชื่อที่มีต่ออินทขีลเป็นปัญหา

ในที่นี้ผู้เขียนจึงต้องการนำเสนอการวิเคราะห์เชิงวิชาการข้างต้น โดยใช้แนวพินิจทางประวัติศาสตร์นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอินทขีลตามวิธีวิทยาของผู้เขียน หากมีความผิดพลาดประการใดขออภัยหรือเป็นการลบหลู่ต่อผู้ใด ทางผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้

อินทขีลเดิม คือ เสาผีผสมพุทธ ที่มีผีพระอินทร์แต่ไม่มีพระพุทธรูป 

จากเอกสารโบราณที่กล่าวถึงอินทขีล ไม่มีเอกสารฉบับใดกล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปเหนืออินทขีล และจากภาพวาดอินทขีลที่เก่าแก่ที่สุดที่มีหลักฐาน คือ พับสาของท้าวพินิจสุขาการ ฉบับคัดลอก 2490 (รายละเอียดเอกสารฉบับเต็มดูได้ในเพจล้านนาคดีปริทัศน์ https://www.facebook.com/share/p/vzVRBiaYoeZtK2hM/?mibextid=WC7FNe)

ภาพที่ 1

ในภาพที่ 1 จะเห็นรายละเอียดเป็นเสาทรงเตี้ยป้อมมีหลายเหลี่ยมตั้งอยู่กลางวงกลมซ้อนกัน 5 วง ตรงกับคำบรรยายว่า 

“รูปเสาหินอินทขีลเจ้าตั้งอยู่ในอ่างขาง 5 ลูก ซ้อนๆกัน พร้อมด้วย รูปมนุษย์ร้อยเอ็ดภาษา ญิงนึ่งชายนึ่งแล สัตว์ต่างๆ อันอยู่บนบกแลในนำทั้งตัวพู้ตัวเมียแล้วด้วยทองเอาปจุ ไว้ในอ่างขางแล้วพระอินทร์เอาเสาอินทขีลตั้งในอ่างขางนี้ จิ่งฝังลงในดิน 8 ศอก (4 เมตร) สถิตอยู่เค้าไม้ยางแล” 

ดังนั้นอินทขีลในพับสานี้จึงเป็นภาพบรรยายลักษณะของ อินทขีลที่เป็นเสาหินตั้งอยู่ในหม้อขาง (กระทะเหล็ก) 5 ใบที่ฝังอยู่ใต้พื้นของอินทขีลที่เป็นเสาก่ออิฐที่อยู่เหนือพื้นดินที่เราเห็นในปัจจุบัน 

การวาดภาพเสาอินทขีลเป็นเสาทรงเหลี่ยมป้อมเตี้ย สอดคล้องกับรากศัพท์ของอินทขีล (อินท+ขีล) ที่หมายถึง หลัก,หมุด,เขื่อนกั้นขวางประตูของพระอินทร์ อินทขีลจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นเสาสูงเหมือนเสาหลักเมืองหรือเสาใจบ้านในวัฒนธรรมไทหลายแห่ง แต่เป็นหมุดหลักป้อมเตี้ยเหมือนในภาพที่ 2 

การนับถือพระอินทร์ซึ่งเป็นเทพสูงสุดของพุทธให้มีอำนาจเหนือผีสางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นนั้น เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การนับคือตะจ่ามิน (ท้าวสักกะ-พระอินทร์) ให้เป็นนัต (ผี-ภูติ-พราย) ที่เป็นใหญ่เหนือนัตทั้งหลายของพม่า และเป็นนัตสุงสุดในสารบบนัต 37 ตน, หรือคติแก้ว-เมืองของพระอินทร์ ของกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนเสาอินทขีลของเชียงใหม่ตำนานที่ตำนานระบุว่า 

“กุมภัณฑ์ตนใต้ตนเหนือรักษาเสาหินอินทขีล พระอินทร์ได้มอบ หื้อกุมภัณฑ์ 2 ตนนี้เอาลงมาประดิษฐานไว้ในวัดโชติการามหลวงกลางเวียงนพบุรีเชียงใหม่แล้วท่านก็ลวดอยู่เฝ้ารักษาแล” 

เสาอินทขีลจึงเป็นการตั้งเสาใจบ้าน-เมือง (ชุมชน) หรือเสาหลักเมืองตามคติความเชื่อผี และ ด้ำ-สิง (บรรพบุรุษ-โคตรวงศ์) ที่มีพระอินทร์ตามคติพุทธสั่งให้กุมภัณฑ์นำลงมาไว้ในโลกและเฝ้ารักษา ซึ่งกุมภัณฑ์นี้เป็นอสูรจำพวกรากษสที่คนไทผสมผสานเข้ากับความเชื่อผี และถือว่าเป็นผีเสื้อเมือง (ผีเชื้อ[สายโคตรวงศ์]เมือง) 

เมื่อพิจารณารายละเอียดในพับสาและตำนานอินทขีลฉบับต่าง ๆ เกี่ยวกับข้าวของที่บรรจุลงในอ่างขาง (กระทะเหล็ก) เป็นต้นว่า มนุษย์ชาติพันธุ์ต่าง ๆ สัตว์บกและน้ำชนิดต่าง ๆ  รวมถึงเครื่องบูชาอินทขีลที่เป็นพืชพันธุ์ธัญญาหาร เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว ข้าวเปลือก ดูเผิน ๆ แล้วคล้ายคติการพลีกรรมเสาผี และพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาความอุดมสมบูรณ์ในคติความเชื่อผี เช่น พิธีแรกนาขวัญ ที่มีการตั้งรูปชายหญิง ปลัดขิก ขุนเพ็ด ปลาช่อน 

ดังนั้นอินทขีลของเชียงใหม่ที่กลางเมืองจึงเป็นคติผีที่ผสมผสานพุทธเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง โดยมีพุทธอยู่เหนือกว่า (พระอินทร์) และมีผีอยู่ต่ำกว่า (กุมภัณฑ์-เสื้อเมือง รวมถึงผีในธรรมชาติ คือ ต้นยางนา) แต่ไม่มีพุทธรูป ด้วยเดิมไม่เคยมีธรรมเนียมการนำเอาพุทธรูปมาไว้ในหอผี แต่มีพระอินทร์เป็นตัวแทนสูงสุดของความเป็นพุทธ  

อินทขีล 8 เหลี่ยม คือ จักรวาลวิทยาแบบพุทธ อันมีระบบทักษาจากคตินพเคราะห์เป็นแกนกลาง

ลักษณะของเสาอินทขีลที่เป็นเสาเหลี่ยมแปดเหลี่ยมนั้น นักวิชาการล้านนาคดีบางท่านเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการรวมเสาใจบ้าน ซึ่งเป็นคติการตั้งเสากลางชุมชน 5 เสา รวมเข้าเป็นเสาเดียว ซึ่งมีนัยยะของการบูรณาการสังคมหลากชาติพันธุ์ในช่วงกวาดต้อนผู้คนจากที่ต่าง ๆ มาตั้งเมือง ในข้อเสนอของนักวิชาการอุปมาว่าเสาอินทขีลเป็นดัง “ปฏิญญาร่วม” ของผู้คนหลากชาติพันธุ์ (ดูเพิ่มเติมที่ https://www.matichonweekly.com/column/article_731594

ด้วยข้อสังเกตข้างต้นจึงทำให้คำอธิบายที่มีแนวโน้มไปในทิศทางว่า เสาอินทขีลคือเครื่องมือบูรณาการความเชื่อของคนหลากกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้พุทธศาสนาผ่านการบูชาความอุดมสมบูรณ์ 

ภาพที่ 2

กระนั้นถ้าลองพิเคราะห์ภาพและคำบรรยายอินทขีลจากพับสาในภาพที่ 1 ที่กล่าวถึงหม้อขาง 5 ใบซ้อนกันแล้วนำรูปมนุษย์หญิงชายร้อยเอ็ดภาษากับสัตว์บกและน้ำอย่างละคู่ใส่ไว้ ไม่น่าจะหมายถึงการควบรวมคติเสาใจบ้าน 5 ต้นเป็น 1 ต้น หรือการรวบรวมผู้คนพหุชาติพันธุ์เข้ามาไว้ในเชียงใหม่ดังคำเปรียบเปรย “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” เพราะในตัวคำบรรยายให้ความสำคัญกับมนุษย์คู่หลากภาษาและสัตว์คู่หลายชนิดอย่างเท่า ๆ กัน

เมื่อใช้กรอบคิดทางประติมานวิทยาเพื่อศึกษาความหมายและแนวคิดเบื้องหลังของอินทขีลโดยอ้างอิงกับคัมภีร์ทางพุทธศาสนาแล้ว จะพบว่าการตั้งเสาหินแปดเหลี่ยมดังกล่าวนั้นมีความหมายที่สัมพันธ์โดยตรงกับพระอินทร์ซึ่งเป็นเทพบดีและเทพนพเคราะห์

แม้ว่าในคติฮินดูจะถือว่าเทพนพเคราะห์เป็นสารบบเทพที่มิได้เกี่ยวพันโดยตรงกับพระอินทร์ซึ่งหลังยุคพระเวทถูกลดสถานะเป็นเทพชั้นรอง แต่ในศิลปกรรมที่พบในประเทศไทยปรากฏคติการให้พระอินทร์เป็นเทพประจำทิศศูนย์กลางที่รายรอบด้วยเทพนพเคราะห์ทั้งแปดทิศมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 แล้ว 

(รายละเอียดเพิ่มเติมใน ปิยนันท์ ชอบศิลประกอบ. (2557). เทวดานพเคราะห์ – พระพุทธรูปประจำวัน: ภาพสะท้อนคติความเชื่อ พิธีกรรมในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 22)

ภาพที่ 3

ในยุคหลังเทพนพเคราะห์ดังกล่าวยังปรากฏในฐานะเทพชั้นรองจากพระอินทร์ ดังเช่นในสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ถัดลงมาจากภาพพระอินทร์ใน (ภาพที่ 3 ภาพจากสุมดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยาและธนบุรี https://online.anyflip.com/ttkco/acay/mobile/#google_vignette หน้า 29 ) หรือ การตั้งรูปเทพนพเคราะห์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รอบพระที่นั่งอัฐทิศฯ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าลักษณะของพระราชอาสน์องค์ดังกล่าวมีลักษณะอย่างแปดเหลี่ยมเช่นเดียวกับเสาอินทขีล (ดูเพิ่มเติมใน http://www.phralan.in.th/Coronation/vocabdetail.php?id=58 )

ในล้านนาคตินพเคราะห์ดังกล่าวยังสอดคล้องกับคติทักษาเมืองของเชียงใหม่ ซึ่งมีเกตุเมืองอยู่ที่สะดือเมือง กลางเวียงเชียงใหม่ ความเชื่อเรื่องสะดือเมืองในระบบนพเคราะห์ ยังคล้ายคลึงกับความเชื่อเรื่องโพธิบัลลังก์เป็นสะดือแผ่นดิน ล้านนาเรียก “สายดือชมพูทวีป” ดังปรากฏในอรุณวดีสูตร สำนวนล้านนา 

คตินพเคราะห์ดังกล่าวยังปรากฏเป็นงานสถาปัตยกรรมเช่นเมรุทิศรอบปรางค์ประธานวัดไชยวัฒนาราม 

(อ้างใน พิชญา สุ่มจินดา. จาก “สะดือแผ่นดิน” สู่ “ศีรษะแผ่นดิน” การต่อยอดคติโพธิบัลลังก์จากสมัยอยุธยาตอนปลายสู่ต้นรัตนโกสินทร์.  https://youtu.be/ZKuNTfJaD6I?si=IbhyQUv3o8aK8qnY  และ พิชญา สุ่มจินดา. (2564). พิชญา สุ่มจินดา. จาก “สะดือแผ่นดิน” สู่ “ศีรษะแผ่นดิน” การต่อยอดคติโพธิบัลลังก์จากสมัยอยุธยาตอนปลายสู่ต้นรัตนโกสินทร์. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 43, ฉบับที่ 1 (พ.ย.2564), หน้า 80-109) 

ด้วยเหตุดังกล่าวคติอินทขีลจึงถูกสร้างขึ้นด้วยองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับคัมภีร์ทางพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบสะท้อนถึงการบูรณาการความเชื่อผีท้องถิ่นผ่านภูมิปัญญาทางพุทธศาสนาที่แยบคาย เกิดเป็นสารบบความเชื่อ ”พุทธ” แบบล้านนา 

คติอินทขีล จตุโลกบาลกับปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของ “พุทธ”แบบล้านนา

เมื่อเสาแปดเหลี่ยมของอินทขีลสัมพันธ์อยู่กับเทพนพเคราะห์ที่มีพระอินทร์เป็นศูนย์กลางตามคติจักรวาลวิทยาแบบพุทธนั้น หม้อขาง 5 ใบ ที่กล่าวถึงในตำนานอินทขีลนั้นจึงควรมีความหมายที่สัมพันธ์กับคติจักรวาลดังกล่าวด้วย ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่าเกี่ยวข้องกับท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 เนื่องจากเกี่ยวพันกับธรรมเนียมทางความเชื่อและการปกครองของล้านนา 2 ประการ คือ 

ประการที่หนึ่ง ความเชื่อของชาวล้านนาเรื่องการตั้งท้าวทั้งสี่หรือการบูชาท้าวจตุโลกบาลก่อนการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เสมอ โดยจะตั้งกระทงกระบะ 5 ชุด เสาสูงที่มีแขนงแยกไปสี่ทิศและที่ยอดเสา สำหรับท้าวจตุโลกบาลและพระอินทร์ (อีก 1 ชุดที่ไม่อยู่บนเสาสำหรับพระแม่ธรณี) 

ประการที่สอง การปกครองระบบเจ้าขัน 5 ใบ ของผู้ปกครองเชียงใหม่ อันประกอบด้วยเจ้าหลวง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และตำแหน่งรองลงมา 4 ตำแหน่งได้แก่ เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตร เจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรีรัตน์ และมีการตั้งเค้าสนามหลวงเพื่อเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินรวม 32 คน เท่ากับบริวารของพระอินทร์

จากธรรมเนียมข้างต้น ไม่ว่าจะกระทงกระบะทั้ง 5 ชุดในการตั้งท้าวทั้งสี่ หรือ เจ้าขัน 5 ใบ สอดรับกับการทำหม้อขาง 5 ใบ สำหรับตั้งเสาอินทขีล มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายซึ่งบรรจุไว้ในหม้อขางจึงมีนัยยะของการได้รับการคุ้มครองดูและโดยท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 และพระอินทร์ 

นอกจากนี้หากพิจารณาภาพเสาอินทขีลจากพับสา (ภาพที่ 1) ที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับภาพจักรวาลในสมุดภาพไตรภูมิ ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางและมีภูเขาสัตตบริภัณฑ์กับนทีสีทันดรทั้ง 7 ล้อมรอบเป็นวงกลม 

ภาพที่ 4
ภาพที่ 5

(ภาพที่ 4-5 ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยาและธนบุรี หน้า 29 https://online.anyflip.com/ttkco/acay/mobile/#google_vignette หน้า 34, 36)

แม้ว่าภาพเสาอินทขีลกับภาพจักรวาลในสมุดจะต่างกันเพียงเล็กน้อย คือมีเพียงหม้อขาง 5 ใบวางรอบ แต่รูปแบบและความหมายเบื้องหลังที่คล้ายคลึงกัน ยิ่งสนับสนุนสมมติฐานของผู้เขียนว่า การตั้งอินทขีลคือระบบการจำลองจักรวาลวิทยาของพุทธแบบล้านนา คติดังกล่าวยังสามารถตอบคำถามเพิ่มเติมได้อีกว่าเหตุใดจึงมีการพบอินทขีลที่ประตูเมืองเชียงใหม่ หรือในบ้านเมืองอื่น ๆ ซึ่งมีความหมายและความสัมพันธ์กับการเป็นจักรวาลย่อย (microcosm) ของจักรวาลใหญ่ (macrocosm) 

ดังนั้นตามที่นักวิชาการล้านนาคดีบางท่านสันนิษฐานว่าการที่พระเจ้ากาวิละไม่ตั้งอินทขีลซึ่งเป็นหอในความเชื่อผีที่จุดสะดือเมือง แต่กลับมาตั้ง ณ วัดเจดีย์หลวงได้โดยไม่มีการทัดทานจากคณะสงฆ์อาจเป็นเพราะขณะนั้นวัดเจดีย์หลวงยังรกร้างเนื่องจากอยู่ในช่วงฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่นั้น ไม่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญเพราะเป็นการอธิบายด้วยกรอบคิดอย่างสมัยใหม่ที่แยกศาสนากับไสยะ หรือพุทธกับผี อย่างแยกขาดจากกัน 

แต่การตั้งอินทขีลที่เจดีย์หลวงซึ่งปรักหักพังรกร้าง กลับเป็นการแสดงการยืนยันปณิธานของพระเจ้ากาวิละในการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ให้รุ่งเรือง โดยการตั้งอินทขีลอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลของพุทธแบบล้านนา เสมือนเป็นเกตุ (ธง, ยอด) ของเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งตามระบบนพเคราะห์

พระพุทธรูปเหนืออินทขีล คือ นครนิพพานและพระพุทธรูปประจำวันเกิดเจ้าราชบุตร มิใช่พระอุ่มเมือง-แป๊ขึด 

ภาพที่ 6

ในกำหนดการพิธีเข้าอินทขีลในปีนี้ มีพิธีการเพิ่มเติมคือการสรงน้ำพระเจ้าอุ่มเมือง (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ พระแป๊ขึด ภาพที่ 6 จากเพจวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ https://www.facebook.com/share/gGoN8PefFdkPZnS3/?  และภาพที่ 7) อันหมายถึงพระพุทธรูปปางรำพึงบนบุษบกเหนือเสาอินทขีล จากการสำรวจของผู้เขียนแล้วไม่ปรากฏชื่อพระของพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวว่า “พระอุ่มเมือง” หรือ “พระแป๊ขึด” (แปลว่า ชนะอัปมงคล) มาก่อน แต่เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งทางวัดนิยามว่า อุ่มเมือง หมายถึง ปกห่ม คุ้มครองรักษาบ้านเมือง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เพจวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ https://www.facebook.com/profile.php?id=100066349282997&mibextid=JRoKGi

ภาพที่ 7

ในเชิงภาษาศาสตร์แล้ว “อุ่ม” ในภาษาเหนือ หมายถึงการปกปิด การปิดซ่อน ซึ่งมีความหมายในเชิงลบมากกว่าบวก เช่น อุ่มลี้ ที่หมายถึงการเล่นซ่อนแอบ ดังนั้นการตั้งนามพระเจ้าอุ่มเมืองจึงเป็นชื่อที่มิได้อยู่ในคติของล้านนา แต่ผู้ตั้งชื่อน่าจะเลียนเสียงให้คล้ายคลึงกับพระเจ้าอุ่นเมือง เช่นพระเจ้าอุ่นเมืองวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่หมายถึงบ้านเมืองก้านกุ่งรุ่งเรืองสงบสุข 

พระพุทธรูปองค์นี้มิได้ประดิษฐานบนอินทขีลมาแต่อดีต หากแต่เพิ่งได้รับการประดิษฐานโดยเจ้าราชบุตรวงษ์ตะวันซึ่งร่วมบูรณะหออินทขีลในปี 2496 ร่วมกับครูบาขาวปี โดยประวัติกล่าวว่าพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวเจ้าราชบุตรฯ นำมาประดิษฐานในปี 2514 (ส. กวีวัฒน์. (2558). หนังสือ “อนุสรณ์สมโภช“. ณัฐพลการพิมพ์) และมีการเปลี่ยนจากพระคันธาราษฎร์มาเป็นพระพุทธรูปปางรำพึง แต่จากการสืบค้นหลักฐานภาพถ่ายเพิ่มเติมผู้เขียนไม่พบภาพถ่ายในสมัยโบราณ จึงไม่มีหลักฐานยืนยันถึงการมีอยู่ของพระพุทธรูปบนเสาอินทขีลในสมัยโบราณ  

ภาพที่ 8

ขณะที่พระคันธาราษฎร์ พระปางขอฝน ที่กล่าวกันว่าถูกแทนที่ด้วยพระพุทธรูปปางรำพึงนั้นยังไม่เคยพบหลักฐาน พบแต่พระคันธาราษฎร์องค์เล็กที่นำมาวางบนอินทขีลในพิธี (ภาพที่ 8) ในความทรงจำของผู้เขียน 30 กว่าปีที่ผ่านมานั้น มีแต่ผู้เรียกพระปางรำพึงองค์ดังกล่าวว่าพระคันธาราษฎร์ตลอดมา (แม้ว่าผู้เขียนจะข้องใจมานานว่ามิใช่ปางขอฝน) 

จากพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปองค์นี้ซึ่งแสดงปางรำพึง เป็นปางประจำวันศุกร์สอดคล้องกับวันเกิดของเจ้าราชบุตรวงษ์ตะวัน จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าพระพุทธองค์นี้คือพระพุทธรูปแทนตัวเจ้าราชบุตร ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นผู้ร่วมปฏิสังขรณ์หออินทขีลและยังเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้าหลวงเชียงใหม่ต่อจากเจ้าแก้วนวรัฐผู้เป็นบิดา หากไม่มีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ 

หากพิเคราะห์ความหมายของการประดิษฐานพระพุทธรูปดังกล่าวในเชิงประติมานวิทยาการประดิษฐานพระพุทธรูปไว้เหนือเสาอินทขีล แม้มิใช่ธรรมเนียมดั้งเดิมของล้านนาที่นำพระพุทธรูปไปไว้ในหอผี แต่กลับเป็นธรรมเนียมที่พบได้ในธรรมยุติกนิกายและพระราโชบายของรัชกาลที่ 4 ผู้ก่อตั้ง ซึ่งต้องการขจัดความเชื่ออย่างชาวบ้าน เช่นการนับถือภูตผีหรือไสยะจากพิธีกรรมหลวงและพิธีกรรมทางพุทธศาสนา 

นอกจากนี้การตั้งพระพุทธรูปดังกล่าวยังมิได้ขัดกับคติจักรวาลวิทยาแบบพุทธที่ถือว่า นิพพาน คือนครอันเป็นบรมสุขที่อยู่สูงสุดพ้นจากโลกและจักรวาลนี้ (โลกุตร) ดังนั้นการเมื่อมีการประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวไว้เหนือเสาอินทขีล ความหมายดังกล่าวจึงหมายถึงภพภูมิที่สูงกว่าจตุมหาราชิกาของท้าวจตุโลกบาล หรือบรรดานพเคราะห์ รวมถึงดาวดึงส์ของพระอินทร์และสวรรค์ฉกามาพจรทั้งหลาย ที่มีเพียงพุทธคุณให้ระลึกและธรรมะแทนองค์ให้นำไปปฏิบัติ

ควรเข้าใจ “อินทขีล” แบบใด โดยไม่ละทิ้งภูมิปัญญาและประวัติศาสตร์

ผู้เขียนมิได้ต่อต้านการตั้งนามของพระพุทธรูป “อุ่มเมือง” หรือ “แป๊ขึด” แต่อย่างใด เพียงแต่เสนอให้ทำความเข้าใจแนวคิดเบื้องหลังของการตั้งเสาอินทขีลจากทั้งตำนาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และคติทางศาสนา ซึ่งในกรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าความเชื่อเรื่องอินทขีลมีความซับซ้อนและแสดงความทรงภูมิของปราชญ์โบราณ หรือแม้แต่ความปรารถนาในการประดิษฐานพระพุทธรูปเหนืออินทขีลของเจ้าราชบุตรฯ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และหากเป็นเนื้อหารายละเอียดข้อมูล ความเชื่อที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังพึงมีการบ่งชี้แจกแจงรายละเอียดให้เป็นสาธารณ์ ซึ่งถือเป็นการทำความเข้าใจอินทขีลอย่างเคารพต่อภูมิปัญญาของมนุษย์และซื่อตรงต่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 

ในปัจจุบันยัง องค์ความรู้เกี่ยวกับอินทขีลยังคงมีจำกัด เช่น เราไม่ทราบลักษณะที่แท้จริงของหออินทขีลก่อนการบูรณะปี 2496 หรือการเปลี่ยนพระคันธาราษฎร์มาเป็นพระพุทธรูปปางรำพึง ดังนั้น หลักฐานข้อมูล เอกสาร หรือแม้แต่ความทรงจำของผู้คนที่เคยพบเห็น เคยมีส่วนร่วมในพิธีการต่าง ๆ ภาพถ่าย เรื่องเล่า ในแต่ละยุคสมัย คือสิ่งที่จะช่วยเติมเต็มเรื่องราวของ “อินทขีล” เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะและผู้คนในยุคสมัยสืบไป และยังเป็นเครื่องบูชาอินทขีลที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากดอกไม้ทุกดอกที่ล้นหลามขันคารวะบูชาอินทขีลในทุก ๆ ปี

Lanner เปิดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com    

ข่าวที่เกี่ยวข้อง