จังหวัดจัดการตนเองไม่เท่ากับแบ่งแยกดินแดน

เรียบเรียง: สุรยุทธ รุ่งเรือง

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา คณะก่อการล้านนาใหม่ จัดกิจกรรมเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-การกระจายอำนาจ “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ขึ้น ณ โรงแรมไอบิสสไตล์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วงหลังของกิจกรรม ได้มีการร่วมถกเสวนาหัวข้อ “ขบวนการเคลื่อนไหวจังหวัดจัดการตนเอง” โดยมีชัชวาลย์​ ทองดีเลิศ, สุรีรัตน์​ ตรีมรรคา และชำนาญ​ จันทร์เรือง ร่วมเวทีเสวนา

ทำไมเชียงใหม่ต้องจัดการตนเอง?

สุรีรัตน์​ ตรีมรรคา

สุรีรัตน์​ ตรีมรรคา ชี้ว่าเธอมีความอึดอัดในฐานะพลเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่มีโอกาสเสนอวิสัยทัศน์หรือนโยบายใดๆ สุรีรัตน์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ราว 15 ปีก่อน ที่มีการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “มหานครแห่งความมั่งคั่ง” ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ภาคประชาสังคมไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ หรือในปัจจุบันที่มีการตั้งเป้าหมายจังหวัด แต่ล้วนเป็นวิสัยทัศน์จากหน่วยงานราชการทั้งสิ้น และด้วยความไม่มีพื้นที่ของภาคประชาสังคมนี้เอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “สภาพลเมือง” เพื่อเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความต้องการ ความคิดเห็น หรือจุดยืนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556

ในช่วงแรกของการจัดประชุมสภาพลเมือง สุรีรัตน์ในฐานะกองเลขานุการของสภาพลเมือง​ ชี้ว่าการวางตัวถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยหัวใจหลักของสภาพลเมืองนอกจากการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ ยังต้องร่วมกันเสนอแนวคิดเพื่อหาทางออกร่วมกันด้วย อีกทั้งยังการเชิญหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือกับภาคประชาสังคมในประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนเข้ามาขอเปิดการประชุมยังถือเป็นเรื่องยาก แต่หลังจากที่ได้ร่วมประชุมกันในวาระต่างๆ สุรีรัตน์​ มองว่าการร่วมกันให้ทางออกด้วยความเคารพซึ่งกันและกันของทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม จะสามารถทำให้เกิดการขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ได้

“ถ้าเราได้มีโอกาสคุยกัน เคารพกัน เห็นความหลากหลายแตกต่างกัน มันยังเป็นโอกาสดีที่เราจะขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ได้ เพราะฉะนั้นการกระจายอำนาจ การทำให้มีประชุมสภาพลเมืองได้ การที่เราจะมีผู้นำจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของเราเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ” สุรีรัตน์​กล่าว

ชัชวาลย์​ ทองดีเลิศ เล่าย้อนไปตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ.2528 ที่เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์เกษตรพันธะสัญญาที่แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์มากขนาดไหนก็ยังมีข้าวโพดถูกปลูกอยู่เต็มดอย หรือการผลักดันประเด็นสิทธิชุมชนที่ไม่ได้รับการยอมรับ ชัชวาลย์ มองว่ามุมมองที่ส่วนกลางมองว่าประชาชนเป็นชนชั้นใต้ปกครองถือ หรือการครองอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ถือเป็นมุมมองที่มีปัญหา 

ชัชวาลย์ ชี้ถึงปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากการเกิดไฟป่าในเขตอนุรักษ์และป่าสงวน ว่ามีรากฐานมาจากความขัดแย้งของประชาชนและหน่วยงานส่วนกลาง โดยกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ต่างเป็นกฎหมายที่ถูกประกาศลงบนพื้นที่ชุมชน ทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย งบจากกระทรวงต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปทำให้เกิดการพัฒนาใดๆ ได้

“องค์กรส่วนท้องถิ่นทั้งหลายถูกกฎหมายไม่น้อยกว่า 8 ฉบับ เพื่อให้ถูกควบคุมโดยภูมิภาคและส่วนกลาง ก็ทำอะไรไม่ได้อีก เก็บขยะกันไป สร้างถนนกันไป ทำอะไรที่ขัดกับส่วนกลางไม่ได้” ชัชวาลย์กล่าว

ชัชวาลย์ ชี้ว่าการกระจายอำนาจเป็นทางออกสำหรับปัญหาฝุ่นควัน และเป็นข้อเสนอสำคัญจากสภาลมหายใจ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดจากหลายส่วน และจำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนร่วมด้วย 

ชำนาญ​ จันทร์เรือง เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิด “เชียงใหม่จัดการตนเอง” โดยในปีพ.ศ.2551 มีการริเริ่มแนวคิด “ชุมชนพึ่งตนเอง” และมาถึงปีพ.ศ.2552 ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อเหลืองขึ้นจากการที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ ณ เวลานั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นการปะทะและทำให้มีผู้เสียชีวิต กลายเป็นจุดเริ่มต้นการตั้งคำถามของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และเห็นร่วมกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากการที่หน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีอำนาจพอจะตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเอง 

ร่างพ.ร.บ. “เชียงใหม่มหานคร” มีหลักการหลักๆอยู่ 3 ข้อ ข้อแรกคือการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ใช้ระบบราชการท้องถิ่นในทุกพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงอำนาจในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ด้วยตัวเอง ข้อถัดมาคือการมีสภาพลเมือง และข้อสุดท้ายคือการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ในจังหวัด โดย 70% ของรายได้ให้เก็บไว้ในจังหวัด และส่งต่อไปยังส่วนกลางอีก 30% 

“อำนาจของผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งต้องเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางส่วนอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในพื้นที่ ต้องจัดการได้” ชำนาญ​กล่าว

หลังจากที่มีหลายจังหวัดตั้งใจดำเนินรอยตามแนวคิดเชียงใหม่จัดการตนเองขึ้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมองว่าอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากถ้าต้องร่างกฎหมายจัดการตนเองเพื่อรองรับข้อเสนอของแต่ละจังหวัด จึงได้ยกร่างกฎหมายปกครองตนเองเพื่อใช้เป็นกฎหมายกลาง เกิดเป็นร่างพ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครองตนเอง 

ชำนาญ หลังจากที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งส.ส. และรองบรรณาธิการการกระจายอำนาจ ก็ได้หยิบยกพ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร และพ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครอง มาทำเป็นรายงานการศึกษา จนได้รับการอนุมัติในสภาผู้แทนราษฎร จนได้มีการเสนอการทำประชามติ ว่าจะริเริ่มกฎหมายจังหวัดปกครองตนเองพร้อมกันทุกจังหวัดเลยหรือไม่

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ

ชัชวาลย์ กล่าวเสริมว่าร่างกฎหมายเชียงใหม่มหานคร เปรียบเสมือนการสรุปบทเรียนจากที่ต่างๆ อย่างเช่นกรุงเทพฯ หรือญี่ปุ่น ซึ่งประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่แค่การมีอำนาจในการเลือกตั้งผู้ว่าฯด้วยตัวเอง แต่ยังมีบทบาทของประชาชนที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ในที่นี้ก็คือสภาพลเมือง อีกทั้งพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครยังกล่าวถึงบทสำคัญ 3 บท บทแรกคือการเสนอนโยบาย, ทิศทาง และการพัฒนาท้องถิ่น ข้อถัดมาคือการทดสอบและถ่วงดุลผู้แทนฯ และข้อสุดท้ายคือการสนับสนุนความเข้มแข็งของประชาชน

“มันไม่ใช่การเลือกตั้งผู้ว่าฯอย่างเดียว แต่มันมีบทของประชาชนด้วย ก็คือสภาพลเมือง เลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วก็มีสภาพลเมือง เลือกตั้งเทศบาล ตำบล แล้วก็มีสภาพลเมืองตำบล ทุกองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งหมดที่มาจากการเลือกตั้งจะควบคู่ไปกับบทบาทของสภาพลเมือง” ชัชวาลย์กล่าว

สุรีรัตน์ กล่าวเสริมต่อ โดยคลายข้อสงสัยที่ว่าสภาพลเมืองจะทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาหรือไม่ สุรีรัตน์ ชี้ว่าข้อแตกต่างของทั้งสองอย่างคือการที่สภาพลเมืองไม่ได้ถูกวางโครงสร้างไว้แบบถาวร มีความเสมอภาค มีความเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาปรึกษาหารือร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางได้

ชำนาญ กล่าวเสริม โดยเล่าย้อนไปถึงตอนที่ได้ยกสภาพลเมืองเข้าไปร่วมกับพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร โดย ชำนาญ ชี้ว่าสภาพลเมืองมีรากฐานมาจาก Civil jury หรือ Citizen jury จาก New England ที่มีระบบ Town meeting ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือในประเด็นต่างๆ แต่ด้วยความที่คำว่า Jury มีความหมายโดยตรงแปลว่าคณะลูกขุน ด้วยความที่เกรงว่าจะเกิดความสับสนกับระบบศาลในประเทศไทย จึงใช้คำว่า “สภาพลเมืองแทน” 

จังหวัดจัดการตนเอง ไม่ใช่การแบ่งแยกการปกครอง แต่เป็นการแก้ปัญหาในพื้นที่

ชัชวาลย์ ชี้ว่าบทหลักของการกระจายอำนาจ คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งระบบ โดยมีระบบเงินตรา การต่างประเทศ หรือระบบศาลยุติธรรมเป็นส่วนกลาง ยังมีระบบ ส.ส.และ ส.ว.ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่การแบ่งแยกการปกครอง 

ชัชวาลย์ เล่าย้อนถึงช่วงแรกของการขับเคลื่อนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง กระทรวงมหาดไทยและกอ.รมน.ถือว่าแนวคิดนี้เป็นภัยต่อความมั่นคง ชัชวาลย์ เชื่อความมันคงดังกล่าวเป็นความมั่นคงของอำนาจเก่าที่พยายามรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งได้ประโยชน์จากงบประมาณที่ถูกรวมศูนย์

“บริบทแต่ละบริบทมันแตกต่างกัน ธรรมชาติมันแตกต่างกัน ผมคิดว่านี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง คือการกระจายอำนาจไปตามบริบท ตามผู้คน ตามระบบนิเวศ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ และเป็นการเคารพทุกคน” ชัชวาลย์​กล่าว

ชำนาญ​ จันทร์เรือง

ชำนาญ​ ยืนยันว่าแนวคิดจังหวัดปกครองตนเองไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่เท่านั้น

สุรีรัตน์ เผยว่าตนในฐานะกองเลขานุการของสภาพลเมือง​ ต้องการเปิดประชุมสภาพลเมืองในประเด็นดังกล่าว โดยเชิญหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีหลักการวิชาการมารองรับในทุกฝั่งแนวคิด

บัณฑิตการพัฒนาระหว่างประเทศช่างฝันที่อยากทำงานเขียน เฝ้าหาโอกาสที่จะสื่อสารส่งผ่านความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของสังคมในทางที่ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง