‘ฉันรักแม่คาว’ ผสานความร่วมมือรัฐ-ประชาชน เน้นเยาวชนเป็นฐานออกแบบน้ำแม่คาว

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เวลา 08.00 – 12.00 น. กลุ่มจ้างเต๊อะ Spark U Lanna สภาลมหายใจเชียงใหม่ โรงเรียนท่าศาลา เทศบาลตำบลท่าศาลาจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมเพื่อการออกแบบและการส่งเสริมการมีพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว (Greening Up Public Space) และ สสส. ร่วมกันจัดกิจกรรม Me & Maekaow สายสัมพันธ์ ‘ฉันรักแม่คาว’ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างวัยในการถ่ายทอดเรื่องราว สร้างแรงบันดาลใจในการร่วมพัฒนา ฟื้นฟู-รักษาลำน้ำแม่คาว รวมถึงสื่อสารคุณค่าลำน้ำแม่คาว และความทรงจำ ผ่านงานศิลปะฝีมือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนท่าศาลา และปราชญ์ชุมชนตำบลท่าศาลา ณ ฝายมังกะลาโป่ ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการ เวทีเสวนาอู้จ๋า “ผ่อไปตางหน้า น้ำแม่คาว” กิจกรรมเลี้ยงผีฝายมังกะลาโป่ รวมถึงการชิมช้อปกาดหมั้วขอลำ สินค้าหัตถกรรมของชุมชน และการล่องเรือเพื่อรับชมลำน้ำแม่คาว

ภาพ: Spark U Lanna

เวลา 10.00 – 11.30 น. ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาอู้จ๋า “ผ่อไปตางหน้า น้ำแม่คาว” เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการพัฒนาลำน้ำแม่คาว และพัฒนาข้อเสนอหรือแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาลำน้ำแม่คาว โดย ผศ.ดร. วสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม นายสมบูรณ์ บุญเรือง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายจำรัส คำราพิศ นายกเทศมนตรีตำบลท่าศาลา นายศิริพัฒน์ กาวิละ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี นายทนวินท วิจิตรพร ผู้แทนภาคประชาสังคม และนายนรงค์ฤทธิ์ ทายะ รองปลัดเทศบาลตำบลสันกลาง

การเสวนาในครั้งเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการประเด็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลากหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาดูแลลำน้ำแม่คาว ในแง่ความกังวลและความหวัง บทบาทการทำงานที่ผ่านมาของเทศบาลตำบลท่าศาลาและเทศบาลตำบลสันกลาง ความกังวลของท้องถิ่นต่อสถานการณ์น้ำแม่คาวปัจจุบัน และความคาดหวังที่มีต่อน้ำแม่คาวในอนาคต บทบาทขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และแผนการพัฒนาลำน้ำแม่คาวในอนาคต การสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ที่ผ่านมา ปัญหา – อุปสรรค แผนการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต บทบาทของเจ้าท่า แนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาลำน้ำแม่คาว ปัญหาอุปสรรคการทำงานในพื้นที่ และแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต การทำงานที่ผ่านมาของภาคประชาสังคม ปัญหาและทางออก อีกทั้งโอกาสของลำน้ำแม่คาว จินตภาพการพัฒนาลำน้ำแม่คาว และข้อเสนอหรือแนวทางการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

โดยเทศบาลตำบลท่าศาลา ได้เสนอประเด็นสำคัญ 2 ข้อ เพื่อการพัฒนาลำน้ำแม่คาว คือ การจัดทำ TOR ร่วมกับ 12 อปท. ริมน้ำแม่คาว เพื่อบูรณาการการฟื้นฟูและดูแลลำน้ำแม่คาวอย่างเป็นระบบ โดยมีการรังวัดพื้นที่ริมน้ำ และแก้ไขปัญหารุกล้ำลำน้ำ และการนำข้อเสนอของสภาลมหายใจเชียงใหม่เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอเปิดการประชุมคณะกรรมการลำน้ำ เพื่อหารือและมีข้อสั่งการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำน้ำแม่คาว

‘น้ำแม่คาว’ ถือเป็นสายน้ำสำคัญเส้นหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ที่ไหลผ่าน 5 อำเภอ และ 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ผ่านมา อปท. แต่ละแห่งได้ดูแลรักษาลำน้ำตามอำนาจหน้าที่ เช่น การขุดลอก และกำจัดผักตบชวา โดยร่วมมือกับ อปท. ข้างเคียง และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยทหารในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังมีความยากลำบาก เนื่องจากพื้นที่ริมตลิ่งบางส่วนของลำนำล้อมรอบไปด้วยพื้นที่เอกชน อาทิ หมู่บ้านจัดสรร และที่ดินส่วนบุคคล ซึ่งมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างติดริมตลิ่ง ทำให้การเข้าถึงพื้นที่เพื่อดำเนินการเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ การดำเนินงานยังติดขัดเนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย และอำนาจการบริหารจัดการที่ทับซ้อนกันของหลายหน่วยงาน เช่น กรมเจ้าท่า ชลประทาน กรมที่ดิน และกรมธนารักษ์ ทำให้การขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ล่าช้า และการดำเนินงานไม่คล่องตัว

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง