น้ำท่วมภาคเหนือ: เปิดปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ พบหน่วยงานซ้ำซ้อนกว่า 38 หน่วยงาน 

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

น้ำท่วม’ ถือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ อันมีสาเหตุมาจากทั้งการเกิดขึ้นตามธรรมชาติและผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งได้สร้างความหายต่อทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมหาศาล ทั้งนี้ จากเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา อาทิ เหตุการณ์น้ำท่วมวังโป่งเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 หรือเหตุการณ์น้ำท่วมตลาดริมเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ก็ถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ภัยคุกคามจากน้ำท่วมยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในพื้นที่ภาคเหนือที่แก้ไม่หาย

ผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความเสี่ยงภัยแล้งและน้ำท่วม ปี 2567 ของวิจัยกรุงศรี ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่างนั้นมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงน้ำท่วมในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โดยผลวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ปี 2567 ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ซึ่งคาดการณ์ว่า พื้นที่ภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำท่วมฉับพลันในช่วงเวลาดังกล่าว โดยประเมินว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงรวมกันถึง 189 อำเภอ 1,285 ตำบล ทั้งภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด 103 อำเภอ 713 ตำบล และภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด 86 อำเภอ 572 ตำบล

ทำไมภาคเหนือถึงประสบปัญหาน้ำท่วม?

สาเหตุของน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน ตั้งแต่สภาพภูมิศาสตร์ การรุกล้ำลำน้ำ ปริมาณฝน การขยายตัวของเมือง ผังเมือง ทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และอื่น ๆ

สภาพภูมิศาสตร์ เป็นปัจจัยหลักต่อการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากภาคเหนือมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงทอดตัวในแนวเหนือใต้สลับกับที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ แบ่งออกเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ จากด้านทิศตะวันตกไปตะวันออก ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ในเขตเชียงใหม่และลำพูน ที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง ในเขตจังหวัดลำปาง ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ในเขตจังหวัดแพร่ และที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน ในเขตน่าน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในเขตเชียงรายและพะเยา ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำลาว ที่ราบลุ่มแม่น้ำกก และที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง ทำให้เกิดน้ำหลากจากภูเขาสูงในช่วงฤดูฝนและเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ง่าย ส่วนพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำก็จะเกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทั้งสองฝั่ง บริเวณใดที่ลำน้ำแคบ หรือมีการรุกล้ำลำน้ำก็จะเกิดปัญหานี้เป็นประจำทุกปี

ขณะเดียวกันปริมาณน้ำฝนก็ถือมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการเกิดน้ำท่วมเช่นกัน กล่าวคือ ปริมาณฝนที่ตกหนักและต่อเนื่องยาวนานอาจเป็นตัวแปรหลักที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมได้ โดยเฉพาะเมื่อปริมาณฝนที่ตกลงมานั้นมีมากเกินกว่าความสามารถในการรองรับน้ำของพื้นที่ แม้ไม่มีเกณฑ์ตายตัวว่าปริมาณฝนเท่าใดจะก่อให้เกิดน้ำท่วม แต่โดยทั่วไปหากมีปริมาณฝนรายวันตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป ก็ถือเป็นปริมาณที่ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมได้เช่นกัน ตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ ปี 2554 ถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันว่าปริมาณฝนนั้นมีความสัมพันธ์กับน้ำท่วม โดยในปีนั้น ภาคเหนือได้รับปริมาณฝนมากกว่าปกติอย่างมาก ทำให้เกิดมหาอุทกภัยครั้งรุนแรงตามมา ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้แก่หลายพื้นที่ในภูมิภาค

ทั้งนี้ การขยายตัวของเมืองก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ ข้อมูลพื้นที่สิ่งปลูกจากภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงระหว่างปี 2559-2565 จากบทความ “URBANIZATION การขยายตัวของเมืองในภูมิภาค” โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มช. ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่สิ่งปลูกสร้างของภาคเหนือในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีสัดส่วนพื้นที่สิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นถึง 192 ตร.กม. หรือ 0.13% ซึ่งมีเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวสูงสุด รวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น เชียงราย เพชรบูรณ์ ตาก นครสวรรค์ และพิษณุโลก เป็นต้น การขยายตัวดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในหลายส่วน หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ป่าซึ่งมีหน้าที่เปรียบเสมือนฟองน้ำธรรมชาติที่คอยดูดซับ กักเก็บ และชะลอน้ำฝน โดยข้อมูลจากสถานการณ์ป่าไม้ไทยในปี 2566-2567 ของสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ เผยให้เห็นว่า พื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566-2567 ภาคเหนือมีพื้นที่ป่าไม้จำนวน 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของภูมิภาค ซึ่งลดลงจากปี 2565 ถึง 171,143.04 ไร่ โดยสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) เพื่อเกษตรกรรมและการขยายตัวของชุมชน รวมถึงปัญหาไฟป่า (Forest Fire) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

เมื่อพื้นที่ป่าลดลง ความสามารถในการรองรับน้ำของพื้นที่ก็ลดลงตามไปด้วยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เมื่อฝนตกหนัก น้ำฝนที่ไม่มีป่าไม้คอยรองรับก็จะไหลบ่าลงสู่พื้นที่ราบลุ่มและแหล่งน้ำต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดเป็นน้ำท่วมฉับพลันและน้ำท่วมขังได้ง่าย และเนื่องจากการขยายตัวของเมืองมักเกิดขึ้นแบบไร้ทิศทางโดยไม่มีการวางแผนผังเมืองที่ดี ทำให้การระบายน้ำไม่เป็นระบบ ส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำ การขาดการวางแผนกำหนดผังเมือง การควบคุมการใช้ที่ดิน แนวทางการพัฒนาเมือง รวมไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ล้วนแล้วแต่ปัจจัยหนุนเสริมต่อการก่อเกิดของปัญหาน้ำท่วมทั้งสิ้น

ส่องสถานการณ์น้ำ การจัดการน้ำภาคเหนือ และงบประมาณ ทั้งที่มีการแก้ไข แต่ทำไมน้ำยังท่วมอยู่?

ลุ่มแม่น้ำปิง มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่รองรับปริมาณน้ำหลัก 3 โครงการ ได้แก่ เขื่อนแม่งัด-สมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ (ความจุ 256 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ (ความจุ 263 ล้าน ลบ.ม.) และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก (ความจุ 13,462 ล้าน ลบ.ม.) ข้อมูลสถานการณ์น้ำประเทศไทยล่าสุด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 จากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เผยให้เห็นว่า ทั้ง 3 เขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บต่ำกว่าความจุสูงสุด โดยเขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวงมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 157.71 ล้าน ลบ.ม (60% ของความจุ) และ 109.57 ล้าน ลบ.ม. (42% ของความจุ) ตามลำดับ ขณะที่เขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นเขื่อนเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุด มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 5,186.44 ล้าน ลบ.ม. (39% ของความจุ) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนทั้ง 3 แห่ง สะสมตั้งแต่ช่วงต้นปี 1 มกราคม 2567 พบว่า น้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับความจุของเขื่อน โดยเขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวงมีปริมาณน้ำไหลเข้าเพียง 31 ล้าน ลบ.ม. (10% ของความจุ) และ 43 ล้าน ลบ.ม. (23% ของความจุ) ตามลำดับ ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพลเองก็มีปริมาณน้ำไหลเข้าเพียง 704 ล้าน ลบ.ม. (13% ของความจุ) แม้ปริมาณน้ำในเขื่อนจะค่อนข้างน้อย แต่เขื่อนทั้งสามก็ยังคงมีการระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง โดยเขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวงมีการระบายน้ำสะสมตั้งแต่ต้นปีมากถึง 153.15 ล้าน ลบ.ม. และ 143.23 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ขณะที่เขื่อนภูมิพลมีการระบายน้ำออกไปแล้วมากกว่าปริมาณน้ำที่ไหลสะสมตั้งแต่ต้นปีถึง 5,058.34 ล้าน ลบ.ม.

จากรายงานการศึกษา “โครงการศึกษาความเหมาะสมวิเคราะห์พื้นที่พิเศษและแนวทางแก้ไขเชิงบูรณาการ” ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า ลุ่มน้ำปิงมีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในช่วงปี 2562-2566 จำนวนทั้งสิ้น 22 โครงการ ซึ่งมีความจุเก็บกักรวม 2,081.80 ล้าน ลบ.ม. และครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 1,742,665 ไร่ ทั้งนี้ จากทั้งหมด 22 โครงการ มี 5 โครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำโดยเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชุมชนเมืองสำคัญต่าง ๆ อาทิ อ.เมืองเชียงใหม่ กำแพงเพชร ตาก และนครสวรรค์ โดยโครงการเหล่านี้ ได้แก่

  • ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบ้านกลาง ระยะที่ 2 งบประมาณก่อสร้าง 260 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเชียงใหม่ระยะที่ 2 งบประมาณก่อสร้าง 270 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกำแพงเพชร งบประมาณก่อสร้าง 336 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองตาก งบประมาณก่อสร้าง 225 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนนครชุม งบประมาณก่อสร้าง 250 ล้านบาท

โครงการทั้ง 5 อยู่ภายใต้การดูแลของกรมโยธาธิการและผังเมือง (กผ.) โดยมีงบประมาณก่อสร้างรวม 1,341 ล้านบาท และมีพื้นที่รับประโยชน์รวม 9,831 ไร่ นอกจากโครงการสร้างระบบป้องกันและระบายน้ำแล้ว ยังมีโครงการขุดลอกแม่น้ำปิงทั้งตอนบนและตอนล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอีก 4 โครงการ ได้แก่

  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ปิงตอนบน (เชียงใหม่-ลำพูน) งบประมาณก่อสร้าง 4,505 ล้านบาท
  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ปิงตอนล่าง (กำแพงเพชร-นครสวรรค์) งบประมาณก่อสร้าง 6,868 ล้านบาท
  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ปิง ลำปาง งบประมาณก่อสร้าง 2,922 ล้านบาท
  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ปิง นครสวรรค์ งบประมาณก่อสร้าง 5012 ล้านบาท

โครงการขุดลอกทั้ง 4 อยู่ภายใต้การดูแลของกรมเจ้าท่า (จท.) ซึ่งมีงบประมาณก่อสร้างรวม 19,307 ล้านบาท โดยครอบคลุมพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตาก และนครสวรรค์

ลุ่มแม่น้ำวัง มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง (ความจุ 106 ล้าน ลบ.ม.) และเขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง (ความจุ 170 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บ 46.35 ล้าน ลบ.ม. (44% ของความจุ) และ 58 ล้าน ลบ.ม. (34% ของความจุ) แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำสะสมตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึง 185 ล้าน ลบ.ม. (34% ของความจุ) และ 19 ล้าน ลบ.ม. (8% ของความจุ) อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ถูกระบายออกไปกลับสูงถึง 235.22 ล้าน ลบ.ม. และ 122.59 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ

จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า ลุ่มน้ำวังมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงปี 2562-2566 ถึง 10 โครงการ ซึ่งมีความจุเก็บกักรวม 45.98 ล้าน ลบ.ม. และครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 101,138 ไร่ โดยจาก 10 โครงการ มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำโดยเฉพาะทั้งหมด 3 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง แม่พริก และล้อมแรด ลำปาง ดังนี้

  • ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองลำปางระยะที่ 1 งบประมาณก่อสร้าง 320 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนแม่พริก งบประมาณก่อสร้าง 325 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนล้อมแรด งบประมาณก่อสร้าง 348 ล้านบาท

โครงการทั้ง 3 มีงบประมาณก่อสร้างรวม 993 ล้านบาท โดยมีพื้นที่รับประโยชน์รวม 7,888 ไร่ และมีโครงการขุดลอกแม่น้ำวังตอนบน-ล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอีก 3 โครงการ ได้แก่

  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่วังตอนบน  ลำปาง งบประมาณก่อสร้าง 350 ล้านบาท
  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่วังตอนกลาง งบประมาณก่อสร้าง 2,095 ล้านบาท
  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่วังตอนล่าง งบประมาณก่อสร้าง 3,002 ล้านบาท

โครงการขุดลอกทั้ง 3 มีงบประมาณก่อสร้างรวม 5,447 ล้านบาท โดยครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำวังตอนบน จ.ลำปาง ลุ่มน้ำวังตอนกลาง รวมไปจนถึงลุ่มน้ำวังตอนล่าง

ลุ่มแม่น้ำยม มีเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง  (ความจุ 110 ล้าน ลบ.ม.) เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในพื้นที่ ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนแม่มอกเพียง 31.2 ล้าน ลบ.ม. (28% ของความจุ) โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพียง 14 ล้าน ลบ.ม. (6% ของความจุ) นอกจากนี้ ยังมีการระบายน้ำออกจากเขื่อนไปแล้วสะสมถึง 77.29 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอย่างมาก

จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า ลุ่มน้ำยมมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำในช่วงปี 2562-2566 จำนวนมากถึง 22 โครงการ ซึ่งมีความจุเก็บกักรวม 160.84 ล้าน ลบ.ม. และครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 91,682 ไร่ โดยมีแผนงานโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญในพื้นที่คือ โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย โครงการขนาดใหญ่ของกรมชลประทานที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 2,812.67 ล้านบาท ภายใต้พื้นที่รับประโยชน์รวม 7,300 ไร่ และมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำโดยเฉพาะ 5 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์รวม 9,938 ไร่ อาทิ โครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนหนองม่วงไข่ จ.แพร่ มีงบประมาณก่อสร้าง 210 ล้านบาท ด้วยพื้นที่รับประโยชน์ 2,144 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เน้นการขุดลอกแม่น้ำยมอีกจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 

  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ยมตอนบน งบประมาณก่อสร้าง 1,722 ล้านบาท
  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ยมตอนล่าง งบประมาณก่อสร้าง 2,485 ล้านบาท
  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่ยม นครสวรรค์  งบประมาณก่อสร้าง 275 ล้านบาท

โครงการขุดลอกทั้ง 3 มีงบประมาณก่อสร้างรวม 4,482 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำยมตอนบน ลุ่มน้ำยมตอนล่าง และลุ่มน้ำยมในพื้นที่ จ.นครสวรรค์

ลุ่มแม่น้ำน่าน มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ (ความจุ 9,510 ล้าน ลบ.ม.) และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก (ความจุ 939 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 4,359.18 ล้าน ลบ.ม. (46% ของความจุ) และ 242 ล้าน ลบ.ม. (26% ของความจุ) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมเพียง 1,778 ล้าน ลบ.ม. (31% ของความจุ) และ 346 ล้าน ลบ.ม. (26% ของความจุ) และมีปริมาณน้ำระบายสะสมถึง 2,947.85 ล้าน ลบ.ม. และ 918.07 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ

จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า ลุ่มน้ำน่านมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในช่วงปี 2562-2566 จำนวนมากถึง 21 โครงการ เพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ซึ่งมีความจุเก็บกักรวม 292.61 ล้าน ลบ.ม. และครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 217,809 ไร่ โดยมีแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำทั้งหมด 10 โครงการ ซึ่งกระจายอยู่ในหลายอำเภอของ จ.น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และกำแพงเพชร ได้แก่

  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองน่านระยะที่ 3 อ.เมืองน่าน ภูเพียง น่าน งบประมาณก่อสร้าง 350 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองอุตรดิตถ์ อ.เมือง อุตรดิตถ์ งบประมาณก่อสร้าง 235 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนกงไกรลาศ อ.กงไกรลาศ สุโขทัย งบประมาณก่อสร้าง 80 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย สุโขทัย งบประมาณก่อสร้าง 225 ล้านบาท 
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนพรานกระต่าย อ.พรานกระต่าย กำแพงเพชร งบประมาณก่อสร้าง 250 ล้านบาท 
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะ อ.เมือง อุตรดิตถ์ งบประมาณก่อสร้าง 170 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเทศบาลตาบลศรีนคร อ.ศรีนคร สุโขทัย งบประมาณก่อสร้าง 150 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนกงไกรลาศระยะที่ 2 อ.กงไกรลาศ สุโขทัย งบประมาณก่อสร้าง 180 ล้านบาท 
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนทุ่งยั้ง อ.ลับแล อุตรดิตถ์ งบประมาณก่อสร้าง 130 ล้านบาท  
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวังกระพี้ อ.เมือง อุตรดิตถ์ งบประมาณก่อสร้าง 170 ล้านบาท 

โครงการทั้ง 10 มีงบประมาณก่อสร้างรวม  1,940 ล้านบาท ในพื้นที่รับประโยชน์รวม 20,670 ไร่ และมีโครงการขุดลอกแม่น้ำน่าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอีก 3 โครงการ ได้แก่

  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่น่านตอนบน งบประมาณก่อสร้าง 530 ล้านบาท
  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่น่าน (ลุ่มน้ำยม-น่านตอนล่าง) งบประมาณก่อสร้าง 3,141 ล้านบาท
  • แผนขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมแม่น่าน นครสวรรค์ งบประมาณก่อสร้าง 182 ล้านบาท

โครงการขุดลอกทั้ง 3 มีงบประมาณก่อสร้างรวม 3,853 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำน่านตอนบน ลุ่มน้ำน่านตนล่าง และลุ่มน้ำน่าน จ.นครสวรรค์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับปรุงคลองชักน้ำและอาคารประกอบแก้มลิงทะเลหลวง อ.เมือง ศรีสาโร จ.สุโขทัย อีก 1 โครงการ ซึ่งมีงบประมาณก่อสร้างรวม 307 ล้านบาท

ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง (ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง) มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพียงโครงการเดียวคือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา ปิดกั้นห้วยทับเสลา หรือเขื่อนทับเสลา ที่ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี (ความจุ 160 ล้าน ลบ.ม.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บกักน้ำท้าการเกษตร อุปโภค-บริโภค และเพื่อป้องกันอุทกภัย ซึ่งสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขต อ.เมือง ลานสัก หนองฉาง ทัพทัน และหนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี โดยเป็นพื้นที่ของโครงการฯ ทั้งหมด 166,957 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 143,500 ไร่ และพื้นที่รับประโยชน์ (นอกเขต) อีกราว 153,938 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในเขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 79.81 ล้าน ลบ.ม. (50% ของความจุ) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสม 18 ล้าน ลบ.ม. (13% ของความจุ) และมีปริมาณน้ำระบายสะสมเพียง  9.39 ล้าน ลบ.ม. 

จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า ลุ่มน้ำสะแกกรังมีแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำในช่วงปี 2562-2566 ทั้งสิ้นเพียง 2 โครงการ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี และ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ได้แก่

  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองอุทัยธานีระยะที่ 5 งบประมาณก่อสร้าง 200 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนลาดยาว งบประมาณก่อสร้าง 230 ล้านบาท

โครงการทั้ง 2 มีงบประมาณก่อสร้างรวม 430 ล้านบาท และครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำถึง 4,280 ไร่

ลุ่มแม่น้ำป่าสัก  (ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง) มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพียง 1 โครงการเช่นกันคือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ความจุอ่าง 960 ล้าน ลบ.ม.) พื้นที่ชลประทาน 144,500 ไร่ และพื้นที่ส่วนขยาย 30,000 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับพื้นที่โครงการชลประทานเดิมในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ประมาณ 2,200,000 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในเขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 179.2 ล้าน ลบ.ม. (19% ของความจุ) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสม 219 ล้าน ลบ.ม. (10% ของความจุ) และมีปริมาณน้ำระบายสะสม 692.24  ล้าน ลบ.ม. 

จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า ลุ่มน้ำป่าสักมีแผนงานโครงการจำนวนทั้งหมด 6 โครงการ ซึ่งมีความจุเก็บกักรวม 37.28 ล้าน ลบ.ม. ภายใต้พื้นที่รับประโยชน์รวมกว่า 22,813 ไร่ โดยมีแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำเฉพาะจำนวน 2 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง และวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ได้แก่

  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเพชรบูรณ์ระยะที่ 3 งบประมาณก่อสร้าง 250 ล้านบาท
  • ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวิเชียรบุรี งบประมาณก่อสร้าง 200 ล้านบาท

โครงการทั้ง 2 มีงบประมาณก่อสร้างรวม 450 ล้านบาท และครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำถึง 3,313 ไร่

ลุ่มแม่น้ำอิง มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำโดยเฉพาะจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา งบประมาณก่อสร้าง 350 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 2,231 ไร่ และระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา งบประมาณก่อสร้าง 380 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 2,813 ไร่ โดยทั้ง 2 โครงการมีงบประมาณก่อสร้างรวม 730 ล้านบาท และครอบคุมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 5,044 ไร่

รอบเมืองนครสวรรค์ มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำโดยเฉพาะจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนโกรกพระระยะที่ 2 อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ งบประมาณก่อสร้าง 280 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 2,075 ไร่ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนพยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ งบประมาณก่อสร้าง 70 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 1,250 ไร่  และระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนทับกฤช อ.ทับกฤช จ.นครสวรรค์ งบประมาณก่อสร้าง 150 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 2,550 ไร่ โดยทั้ง 3 โครงการมีงบประมาณก่อสร้างรวม 500 ล้านบาท และครอบคุมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 5,875 ไร่

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำโดยเฉพาะจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนแม่สอด จ.ตาก งบประมาณก่อสร้าง 300 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 1,975 ไร่ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนแม่ระมาด งบประมาณก่อสร้าง 166 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 2,738 ไร่ และระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนแม่กุ งบประมาณก่อสร้าง 255 ล้านบาท  พื้นที่รับประโยชน์ 2506.25 ไร่ ซึ่งโครงการทั้ง 3 มีงบประมาณการก่อสร้างรวมกว่า 721 ล้านบาท ครอบคุมในพื้นที่รับประโยชน์รวมถึง 7,219.25 ไร่

เป็นที่น่าสนในว่าแม้ในช่วงปี 2562-2566 จะมีการลงทุนในโครงการป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอุทกภัยเป็นจำนวนมาก ด้วยงบประมาณอันมหาศาล แต่พื้นที่ต่าง ๆ ในภาคเหนือก็ยังคงประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยู่เช่นเดิม ซึ่งอาจเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมตลาดริมเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 26 กรกฎา 2567 ที่ผ่านมา อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าโครงการที่ดำเนินการไปแล้วอาจยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุม หรืออาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องจับตาและหาทางออกสำหรับปัญหากันต่อไป

วิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า เปิดปมปัญหา 9 จังหวัดน้ำท่วมซ้ำซากในภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนซึ่งประสบกับปัญหาภาวะน้ำท่วมแทบจะทุกปี ที่ผ่านมาเชียงใหม่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมหลายครั้ง โดยหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วมในเชียงใหม่มาจากสภาพภูมิศาสตร์ การมีลำน้ำปิง สลับกับที่ราบลุ่มทำหน้าที่เสมือนแอ่งรับน้ำในช่วงปริมาณฝนมาก เมื่อปริมาณฝนสูงขึ้น น้ำจากบริเวณต้นน้ำจะไหลหลากลงมาสมทบกัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่ำ โดยเฉพาะตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทำให้เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเป็นประจำ

ตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรง ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหานี้ ได้แก่ เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ปี 2548 ที่เกิดขึ้นถึง 4 ครั้ง ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลกว่า 5,000 ล้านบาท และในปี 2554 สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อพื้นที่ประสบภัยขยายวงกว้างออกไปยังอำเภอใกล้เคียง เช่น สันทราย และ ดอยเต่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจในครั้งนั้นสูงถึง 11,357,333 บาท

ขณะเดียวกันข้อมูลจาก สัญญาณแห่งอนาคตของจังหวัดเชียงใหม่ 2023 เองก็ระบุว่า เชียงใหม่ประสบปัญหาอุทกภัยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในช่วงปี 2560-2565 มีความรุนแรงกว่าในช่วงปี 2556-2559 (จาก 24.78% มาสู่ 41.43% ของหมู่บ้านในจังหวัด) เชียงใหม่มีประวัติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2495 2516 2538 2548 2554 2560 2561 และเกือบทุกปีหลังจากนั้นที่จะมีอุทกภัยที่รวมถึงน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก มีการศึกษาที่กล่าวถึงเหตุผลสำคัญของการเกิดน้ำท่วมคือ การขยายตัวของเมือง การสร้างสิ่งก่อสร้างขวางการไหลของน้ำ การใช้พื้นที่ใกล้แม่น้ำปิงที่ไม่เหมาะสม การตัดไม้ทำลายป่าบนดอยสุเทพ

ในด้านการขยายตัวของเมืองอันเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมเชียงใหม่นั้นเกิดขึ้นในช่วงการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525-2529) ซึ่งได้ผลักดันให้เชียงใหม่เติบโตเป็นศูนย์กลาง (Primate City) ของภาคเหนือตอนบนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองอย่างมาก ผู้คนจำนวนมากอพยพเข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการถมปรับพื้นที่ทางระบายน้ำ คู คลอง การสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างขวางการไหลของน้ำ โดยเฉพาะถนนวงแหวนที่สร้างขึ้นหลายชั้นก็มีลักษณะเสมือนเขื่อนที่ดักน้ำไม่ให้ไหลลงไปสู่แม่น้ำ และทำให้น้ำไม่สามารถไปสู่ส่วนอื่น ๆ ได้ รวมถึงการรุกล้ำลำน้ำปิง การกระทำเหล่านี้ทำให้ลำน้ำแคบลงและลดความสามารถในการระบายน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำจึงไหลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงระหว่างปี 2559-2565 พบว่า เมืองเชียงใหม่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการขยายตัวสูงที่สุดในภาคเหนือ โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ อำเภอเมือง  โดยมากกว่าเชียงรายถึง 60% สอดคล้องกับข้อมูลจาก กรณีศึกษา สถานการณ์และแนวโน้มการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ งานวิจัยด้านการรับมือของเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Urban Climate Resilience Research ที่ระบุว่า สถานการณ์ของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ความเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการพัฒนาเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นทั้งแนวราบและการพัฒนาแนวตั้ง

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นแบบ Ribbon Development ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองโดยส่วนใหญ่มีการขยายตัวไปตามแนวริมถนนสายหลักสำคัญและกระจายตัวขนานไปตามแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำปิง เป็นการพัฒนาเมืองที่ไม่ได้รับการวางแผนหรือควบคุมการพัฒนาไว้ก่อน ดังนั้นจึงส่งผลให้เมืองเชียงใหม่เกิดการเติบโตแบบกระจัดกระจายไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) โดยเฉพาะสองข้างเส้นทางหลักบริเวณชานเมือง

เช่นเดียวกันกับที่ ณัฐกร วิทิตานนท์ นักวิชาการท้องถิ่นศึกษา ที่กล่าวว่า น้ำท่วมนั้นมีความสัมพันธ์กับผังเมือง โดยณัฐกรได้ยกตัวอย่างของการก่อสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยถมที่รองรับน้ำเดิมขวางทางน้ำที่ไหลลงมาจากดอยสุเทพ ทำให้น้ำไหลมาไม่ได้ จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บริเวณถนนห้วยแก้ว

นอกจากนี้ พื้นที่ป่าก็มีส่วนสำคัญและมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาววะน้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับและดูดซับน้ำหลักตามธรรมชาติ อย่างไรก็ดี จากการสำรวจข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2566 พบพื้นที่ป่าไม้ในเชียงใหม่ 9,447,736.99 ไร่ หรือ 68.29% ของพื้นที่จังหวัด พื้นที่ป่าไม้ในทุกอำเภอของจังหวัด ยกเว้นอำเภอสารภี ซึ่งลดลงจากปี 2565 ถึง 71,7030.25 ไร่ หรือ 0.52%

จังหวัดนครสวรรค์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ประตูสู่ภาคเหนือ’ ถือเป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างซึ่งประสบกับปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ โดยมีพื้นที่เขตเมืองซึ่งเผชิญกับน้ำท่วมซ้ำซาก (ต่อพื้นที่เขตเมืองทั้งหมด) ราว 84.62% โดยสาเหตุหลักเกิดขึ้นมาจาก ‘ปัจจัยทางด้านสภาพภูมิศาสตร์’ ที่เอื้อต่อการเกิดน้ำท่วมเป็นสำคัญ เนื่องด้วยหากเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของจังหวัดจะพบว่า ตำแหน่งของนครสวรรค์เป็นที่ตั้งของปากน้ำโพ ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 4 สายสำคัญอย่างปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลมาสมทบรวมกัน ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบลุ่มค่อนข้างเรียบแคบคล้ายแอ่งกระทะ และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 20-100 เมตร ทำให้น้ำสามารถท่วมถึงได้ง่าย ส่งผลให้นครสวรรค์กลายเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นประจำ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ. ชุมแสง และท่าตะโก

ขณะเดียวกันปริมาณฝนที่ตกชุกในช่วงฤดูฝนก็ถือเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ทำให้จังหวัดนครสวรรค์ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยฝนที่ตกในจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่จะเป็นฝนที่เกิดจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม รวมถึงฝนที่เกิดจากพายุดีเปรสชันซึ่งมักตกเป็นบริเวณกว้างติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลทำให้มีน้ำจากฝนในปริมาณมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมได้ โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000-1,200 มิลลิเมตร โดยประมาณ และมีฝนตก 114 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือ เดือนกันยายน มีปริมาณฝนเฉลี่ย 234.9 มิลลิเมตร และมีฝนตก 18 วัน

นอกจากนี้ เหตุปัจจัยหลักอีกหนึ่งประการที่ทำให้นครสวรรค์น้ำท่วมซ้ำซากคือ ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัด ซึ่งปัจจุบันสภาพพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดนครสวรรค์ในปี 2566 พบพื้นที่ป่าไม้เพียง 581,799.66 ไร่ หรือ 9.77% ของจังหวัด ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า 813.53 ไร่ หรือ 0.14% โดยพบพื้นที่ป่าไม้ในทุกอำเภอของจังหวัด ยกเว้น อ.เก้าเลี้ยว และชุมแสง การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ส่งผลให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ทำให้ความสามารถในการรองรับน้ำและป้องกันน้ำท่วมของพื้นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเก้าเลี้ยวและอำเภอชุมแสงที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้เลย

จังหวัดสุโขทัย ข้อมูลจากรายงานวิชาการ ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยของประเทศไทย: กรณีศึกษาการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยของจังหวัดสุโขทัย และบทความน้ำท่วม แก้ได้ ต้องกระจายอำนาจ : คุยเรื่อง ‘น้ำท่วม 65’ กับ นักวิชาการด้านท้องถิ่น เห็นตรงกันว่า สุโขทัยเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาอย่างยาวนาน โดยสาเหตุหลักมาจากสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ราบลุ่มและมีแม่น้ำสายสำคัญหลายสายไหลผ่าน โดยเฉพาะแม่น้ำยมจากแพร่ที่ไหลผ่าน 5 จาก 9 อำเภอ เป็นระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร จากตอนเหนือลงสู่ทางตอนใต้ของจังหวัด เริ่มจากทางด้านบนลงมาคือ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองสุโขทัย และ อ.กงไกรลาศ ซึ่งติดกับ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และมีน้ำจากแม่น้ำปิงที่ไหลมาจาก จ.กำแพงเพชร เข้าสู่ อ.คีรีมาศ ตอนล่างของสุโขทัย นอกจากนี้ ยังมีน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ท่าแพ ที่ อ.ศรีสัชนาลัย ทางด้านตะวันตก และอ่างเก็บน้ำแม่มอก ที่ ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง เข้า อ.ทุ่งเสลี่ยม เมื่อเกิดฝนตกชุก ปริมาณน้ำที่ไหลมารวมกันก็จะเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดสุโขทัย ทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เป็นประจำ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.กงไกรลาศ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่ (อาชีพหาปลาในฤดูน้ำหลาก) และพื้นที่ส่วนเมืองซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจการค้า เป็นหัวใจสำคัญทางธุรกิจ ที่อยู่ติดกับแม่น้ำยมสายหลัก

ขณะเดียวกันปริมาณน้ำฝนก็ถือมีความสำคัญต่อการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดสุโขทัยจะมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์น้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง แต่ในบางพื้นที่ เช่น ทางตอนบนสุดของ อ.ศรีสัชนาลัย และทางตอนล่างของจังหวัดบริเวณ อ.คีรีมาศ และกงไกรลาศ กลับมีปริมาณฝนเฉลี่ยมากกว่า 1,200 มิลลิเมตร ปริมาณฝนตลอดปีเฉลี่ยของจังหวัดประมาณ 1,259.2 มิลลิเมตร มีวันฝนตก 113 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือ เดือนกันยายน มีปริมาณฝนเฉลี่ย 253.5 มิลลิเมตร และมีวันฝนตก 17 วัน ปริมาณฝนที่มากเกินไปในพื้นที่เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

นอกจากนี้ ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดสุโขทัย ปี พ.ศ. 2566 พบพื้นที่ป่าไม้เพียง 1,225,773.73 ไร่ หรือ 29.40% ของจังหวัด พบพื้นที่ป่าไม้ในทุกอำเภอของจังหวัด ยกเว้น อ.กงไกรลาศ ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า 4,825.48 ไร่ หรือ 0.12%

จังหวัดตาก พื้นที่ราบตามริมแม่น้ำเมยในจังหวัดตาก โดยเฉพาะบริเวณอำเภอแม่สอดและแม่ระมาด มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ด้วยระบบระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน เมื่อมีฝนตกหนักหรือน้ำจากแม่น้ำเมยเอ่อล้น ก็จะทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่

นอกจากนี้ ข้อมูลสภาพภูมิอากาศจังหวัดตาก โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเองก็เผยให้เห็นว่า แม้ว่าตากจะมีเทือกเขาถนนธงชัยเป็นแนวยาวกั้นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งทำให้มีฝนอยู่ในเกณฑ์น้อย อย่างไรก็ดี ตากก็ยังคงมีปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปีถึง 1,053 มิลลิเมตร และมีจำนวนวันฝนตก 102 วัน เดือนกันยายนเป็นเดือนที่มีฝนตกมากที่สุดในรอบปี โดยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 220.6 มิลลิเมตร และมีฝนตก 16 วัน โดยพื้นที่บางส่วนของจังหวัดตาก เช่น บริเวณ อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด และอุ้มผาง กลับมีปริมาณฝนมากกว่าบริเวณอื่น โดยมีปริมาณฝนตลอดปีมากกว่า 1,500 มิลลิเมตร ส่งผลทำให้ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นหลัก

จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างซึ่งประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นแอ่งกระทะล้อมรอบด้วยภูเขาสูงชัน ทำให้เกิดความหลากหลายของสภาพพื้นที่และส่งผลต่อรูปแบบของน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเป็นอย่างมาก โดยเมื่อพิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศของเพชรบูรณ์จะพบว่า แม้จะมีภูเขาสูงล้อมรอบ แต่พื้นที่ราบตอนกลางของจังหวัดกลับมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่มีแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำป่าสักไหลที่ไหลผ่านจากเหนือลงใต้ ความยาวกว่า 350 กิโลเมตร ผ่านท้องที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหล่มเก่า หล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ หนองไผ่ บึงสามพัน วิเชียรบุรี และศรีเทพ ทำให้แม่น้ำสายสำคัญสายนี้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดลักษณะของการเกิดอุทกภัยเป็นอย่างมาก

แม้ว่าแม่น้ำป่าสักจะมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์มากแค่ไหน แต่จากการสำรวจข้อมูลพบว่า พื้นที่บางส่วนของเพชรบูรณ์ อาทิ ชุมชนศรีสะอาด ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลตาลเดี่ยว เชื่อมต่อกับเทศบาลเมืองหล่มสัก ไม่มีผนังกั้นน้ำ ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นจุดที่น้ำจากแม่น้ำป่าสักได้ไหลเอ่อล้นเข้าท่วมเป็นประจำทุกปี บางปีท่วมถึง 7-8 ระลอก หรือพื้นที่ชุมชนตาลเดี่ยว ซึ่งถือเป็นปราการด่านสุดท้ายของการรองรับน้ำในจังหวัดเพชรบูรณ์ก่อนที่มวลน้ำจะเข้าสู่ตัวเมืองของ อ.หล่มสัก กลับเป็นบริเวณที่ไม่มีพนังกั้นน้ำเช่นกัน

ในส่วนของข้อมูลปริมาณฝน โดยเฉลี่ยแล้วแม้เพชรบูรณ์จะเป็นจังหวัดมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์น้อย อย่างไรก็ดี พื้นที่ทางตอนกลางของจังหวัด อาทิ บริเวณ อ. ชนแดน หนองไผ่ วังโป่ง และทางตอนล่างบริเวณ อ.วิเชียรบุรี กลับมีปริมาณฝนสูงเฉลี่ยถึง 1,200 – 1,300 มิลลิเมตร และเมื่อพิจารณาข้อมูลปริมาณฝนรายปีจะพบว่า บริเวณอำเภอเมืองเองก็มีปริมาณฝนตลอดปีถึง 1,144.8 มิลลิเมตร และมีฝนตก 121 วัน สำหรับเดือนที่มีฝนตกมากที่สุดในจังหวัดคือ เดือนสิงหาคม มีปริมาณฝนเฉลี่ย 211.5 มิลลิเมตร และมีฝนตก 21 วัน

นอกจากนี้ จากการประเมินของแผนเผชิญอุทกภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ปี 2566 พบว่า การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่ระมัดระวัง การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร การขาดการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและทรัพยากรป่าไม้ก็ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมและดินโคลนถล่มได้เช่นกัน โดยจากการสำรวจข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดเพชรบูรณ์ปี 2566 แม้ว่าเพชรบูรณ์จะมีพื้นที่ป่าไม้ในทุกอำเภอของจังหวัด แต่กลับมีพื้นที่ป่าไม้เพียง 2,534,983.21 ไร่ หรือ 32.87% ของพื้นที่จังหวัดเท่านั้น

จังหวัดเชียงราย เผชิญปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในช่วงฤดูฝนของทุกปี โดยข้อมูลการทบทวนวรรณกรรม เรื่อง “การกลายเป็นเมืองของเมืองเชียงราย” จากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute: TEI) ระบุว่า ภายในเขตเทศบาลเมืองเชียงรายมักประสบกับปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากมีแม่น้ำกกและแม่น้ำกรไหลผ่านตัวเมือง เมื่อถึงช่วงฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในแม่น้ำทั้งสองจะมีระดับที่สูงขึ้นกว่าปกติ ทำให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ นอกจากนี้ ด้วยลักษณะภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบสูงระหว่างภูเขา ยังเป็นปัจจัยหนุนเสริมที่ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น

ไม่เพียงแต่ในเขตเมืองเท่านั้น พื้นที่นอกเขตเมืองก็ประสบปัญหาภัยธรรมชาติเช่นกัน โดยเฉพาะดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาหรือเทือกเขา ประกอบกับปัญหาการจัดการระบบระบายน้ำที่ไม่เพียงพอ ทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำจะไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ การขยายตัวของเมืองเชียงรายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2559-2565) ได้สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งยิ่งขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการกระจายตัวของพื้นที่สิ่งปลูกสร้างจากภาพถ่ายดาวเทียม บทความ “URBANIZATION การขยายตัวของเมืองในภูมิภาค” จากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มช. ที่ระบุว่า พื้นที่สิ่งปลูกสร้างในภาคเหนือโดยรวมมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว สัดส่วนพื้นที่สิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นถึง 192 ตร.กม. หรือ 0.13% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และเพชรบูรณ์

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากแผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2566-2570 ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันการขยายตัวของเมืองเชียงรายมีลักษณะก้าวกระโดด ทำให้เกิดการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน และเส้นทางคมนาคมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้แม่น้ำ ลำคลอง และพื้นที่ที่เคยทำหน้าที่เป็นทางระบายน้ำธรรมชาติถูกบุกรุกและถมเพื่อใช้ประโยชน์ในการอยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ระบบระบายน้ำตามธรรมชาติเสื่อมสภาพและไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงฤดูฝน ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นวงกว้าง

ขณะเดียวกัน การขยายตัวของเมืองได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูดซับน้ำฝน ป้องกันการเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จากข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดเชียงรายปี 2566 พบว่า แม้เชียงรายจะมีพื้นที่ป่าไม้ในทุกอำเภอของจังหวัด แต่กลับมีพื้นที่ป่าไม้เพียง 2,830,261.21 ไร่ หรือ 39.37% ของพื้นที่จังหวัดเท่านั้น ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 8221.82 ไร่ หรือ 0.11% ส่งผลให้เมื่อเกิดฝนตกหนัก มักเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก

ข้อมูลการประเมินความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จากแผนพัฒนาจังหวัดฯ พบว่า ในทุก ๆ ปี จังหวัดเชียงรายจะได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมและร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน และในบางปีจะได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกที่เคลื่อนผ่านจังหวัดเชียงราย ทำให้เชียงรายมักประสบปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์ปริมาณฝนของสถานีฝนอำเภอในจังหวัด โดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พื้นที่บริเวณดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง มีปริมาณฝนรายปีเฉลี่ยมากกว่า 2,700 มม. ซึ่ง สูงสุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดเชียงราย ในขณะที่พื้นที่บริเวณอำเภอเชียงของ แม่สาย แม่จัน เชียงแสน มีปริมาณฝนปานกลางถึงสูงเฉลี่ย 1,600 – 1,800 มม. บริเวณอำเภอพาน เวียงชัย เทิง และป่าแดด มีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,200 – 1,600 มม. ส่วนพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้ามีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 1,000 มิลลิเมตร สำหรับสถิติปริมาณฝนเฉลี่ยของอำเภอเมือง มีปริมาณฝนตลอดปีเฉลี่ย 1,723 มม. และมีวันฝนตกประมาณ 140 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนสิงหาคม มีปริมาณฝนเฉลี่ย 367.1 มม. และมีวันฝนตกประมาณ 24 วัน เป็นเหตุทำให้เกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัด และน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่

นอกจากนี้ การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงในประเทศจีนก็ยังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่โปร่งใสและขาดการประสานงานระหว่างประเทศ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของระดับน้ำอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจ หนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากในจังหวัดเชียงราย การเปิด-ปิดประตูเขื่อนของจีนโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้าหรือการแจ้งเตือนล่วงหน้าที่ไม่เพียงพอ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนอย่างรวดเร็วและไม่สามารถคาดเดาได้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจึงต้องเผชิญกับทั้งภาวะน้ำท่วมและภาวะขาดแคลนน้ำอย่างสลับสับเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร การประมง และวิถีชีวิตโดยรวมทั้งหมด

จังหวัดพะเยา มีความเสี่ยงสูงต่ออุทกภัยและดินโคลนถล่มบ่อยครั้งในพื้นที่ โดยข้อมูลจากแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม อบจ.พะเยา ปีงบประมาณ 2567/2568 ระบุว่า เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะล้อมรอบด้วยเทือกเขาทั้งด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านตอนกลางของจังหวัด โดยทอดตัวเป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้ ซึ่งเอื้อต่อการเกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่ ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนและการสร้างสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การไหลของน้ำไม่สะดวก ผิดไปจากธรรมชาติที่เคยเป็น ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มซ้ำซาก โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำและเชิงเขา ครอบคลุมทั้ง 9 อำเภอ

ขณะเดียวกันรายงานแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำระดับจังหวัด จังหวัดพะเยา ฉบับปรับปรุง ปี 2563 โดยสำนักบริหารโครงการ กรมชลประมาณ จังหวัดพะเยามีลุ่มน้ำหลัก 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำอิง (โขง) และลุ่มน้ำยม โดยเป็นต้นน้ำของทั้งสองลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำอิง (โขง) มีปริมาณน้ำท่าทั้งปี 1,324.33 ล้านลูกบาศก์เมตร  ต้นน้ำเกิดจากหนองเล็งทรายในอำเภอแม่ใจ ซึ่งมีความจุกักเก็บประมาณ 10.63 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนไหลลงมาเป็นลำน้ำอิง ระยะทางจากท้ายหนองเล็งทรายถึงสะพานขุนเดชก่อนลงสู่กว๊านพะเยาประมาณ 26 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของลำน้ำช่วงนี้คือ การตื้นเขินและการบุกรุกพื้นที่ทางน้ำ ทำให้เกิดอุทกภัยบริเวณตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง เป็นประจำ

ทั้งนี้ ยังมีกว๊านพะเยา ซึ่งมีความจุกักเก็บประมาณ 33.84 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำเกินกว่าความจุกักเก็บถึง 52.056 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนไหลผ่านประตูระบายน้ำที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยาดูแล ต่อจากท้ายประตูระบายน้ำของประมง จากนั้นลำน้ำจะไหลย้อนขึ้นเหนือผ่านหลายอำเภอ ผ่านอำเภอเมือง อำเภอภูกามยาว อำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ และอำเภอภูซาง รวมระยะทาง 120 กิโลเมตร มีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงมักจะเกิดปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุหลัก ดังนี้

1. น้ำในกว๊านพะเยาล้น เมื่อน้ำในกว๊านพะเยามีปริมาณมากเกินระดับกักเก็บ (ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเกินกว่าความจุกักเก็บ 33.84 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยอยู่ที่ 52.056 ล้านลูกบาศก์เมตร) ทำให้น้ำไหลลงลำน้ำอิงมากเกินไปจนลำน้ำอิงรับไม่ไหว

2. เกิดฝนตกหนักในบริเวณลุ่มน้ำพุง น้ำจากลำน้ำพุงไหลเข้าลำน้ำอิงมากเกินไปจนเกิดการไหลย้อนกลับ ทำให้น้ำท่วมขังในบางพื้นที่ของอำเภอดอกคำใต้เป็นเวลานาน อาทิ บริเวณตำบลห้วยลาน และตำบลป่าซาง

3. การบริหารจัดการประตูระบายน้ำยังไม่ดี การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งโครงการชลประทานพะเยา ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา รวมถึงเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ในการบริหารจัดการประตูระบายน้ำทั้ง 14 แห่ง ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะในปี 2554 ที่มีพื้นที่น้ำท่วมถึง 60,000 ไร่ โดยเฉพาะในเขตอำเภอดอกคำใต้นอกจากนี้ หากอ้างอิงข้อมูลจากภูมิอากาศจังหวัดพะเยา กรมอุตุนิยมวิทยา จะพบว่า จังหวัดพะเยามีฝนตกหนักมากที่สุดในเดือนสิงหาคม โดยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 215.0 มิลลิเมตร และฝนตกประมาณ 19 วัน เนื่องจากอิทธิพลของพายุเขตร้อนจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก ที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในบริเวณจังหวัด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ของจังหวัดพะเยา

จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ นายนรินทร์ เหล่าอารียะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ให้สัมภาษณ์กับ The citizen.plus ในบทความ ‘ถอดบทเรียนน้ำท่วม จังหวัดน่าน’ เมื่อ 28 กันยายน 2559 โดยกล่าวถึงบันทึกเก่าของเมืองน่าน ตั้งแต่สมัยเจ้าสุมนเทวราชและเจ้าอนัตวรฤทธิ์ ซึ่งมีการย้ายเมืองหนีน้ำท่วมในอดีต ทำให้เห็นว่า ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากการปลูกข้าวโพดอย่างที่หลายคนเชื่อ เพราะน่านมีประวัติศาสตร์น้ำท่วมหลายครั้งแล้ว เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง

ทำไมภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงจึงทำให้น่านเกิดน้ำท่วม? ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน พ.ศ. 2564 – 2570 ระบุว่า เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขาสุงชันและมีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำน่านและลำน้ำสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและทรัพยากร ด้วยดินและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เหล่านี้จึงถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร เมื่อมีฝนตกหนัก มักจะเกิดอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่มตามมา 

ขณะเดียวกันในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม หรือช่วงฤดูฝนของทุกปี จังหวัดน่านมักประสบปัญหาจากฝนตกหนัก ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ เช่น น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงถนนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ โดยจังหวัดน่านมักประสบปัญหาฝนตกหนักในช่วงเวลานี้เนื่องจากตั้งอยู่ทางตะวันออกของภาคเหนือตอนบน ซึ่งทำให้มีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนผ่านเข้ามา พายุหมุนเขตร้อนที่มีแหล่งกำเนิดจากทะเลจีนใต้หรือมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก มักเคลื่อนตัวทางตะวันตกผ่านประเทศเวียดนามหรือลาวเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยพายุจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ซึ่งบางครั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงจากลมแรงมากนัก แต่สามารถทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ได้ พายุเหล่านี้มีโอกาสเคลื่อนผ่านจังหวัดน่านตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงตุลาคม โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนที่พายุหมุนเขตร้อนมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่จังหวัดนี้สูงที่สุด

สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับภูมิอากาศจังหวัดน่าน ที่ระบุว่า เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนสิงหาคม โดยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 291.5 มิลลิเมตร และฝนตกประมาณ 23 วัน ทั้งนี้ จังหวัดน่านมีปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 1,462.2 มิลลิเมตร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ เช่น อำเภอนาน้อย อำเภอปัว อำเภอเวียงสา อำเภอเชียงกลาง อำเภอแม่จริม อำเภอบ้านหลวง และอำเภอท่าวังผา มีปริมาณฝนเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1,000–1,300 มิลลิเมตร ส่วนพื้นที่บริเวณอำเภอบ่อเกลือและดอยภูมีปริมาณฝนเฉลี่ยสูงสุดถึง 2,400 มิลลิเมตร ขณะที่อำเภอทุ่งช้างและอำเภอสองแควมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,700–1,800 มิลลิเมตร

นอกจากนี้ ปัญหาที่เป็นบทเรียนจากน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่จังหวัดน่านในปี 2559 คือ 1. การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในจังหวัดน่านทำให้เกิดการกีดขวางเส้นทางน้ำ ส่งผลให้น้ำต้องรอระบาย 2. อุปกรณ์ในการสูบน้ำที่มีไม่เพียงพอทำให้การระบายน้ำล่าช้า 3. ระบบการเตือนภัยที่ต้องรอข้อมูลจากกรมบรรเทาสาธารณภัยส่วนกลาง ซึ่งไม่ทันการณ์และไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้าได้ 4. การช่วยเหลือที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเนื่องจากปัญหาในการนำงบประมาณออกมาใช้ และ 5. การประกาศภัยพิบัติที่ล่าช้าซึ่งส่งผลต่อการเตรียมพร้อมและการตอบสนองต่อเหตุการณ์

จังหวัดแพร่ เป็นหนึ่งในหลายจังหวัดทางภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากน้ำท่วม จังหวัดแพร่มีความเสี่ยงสูงต่ออุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดแพร่เป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงทั้ง 4 ทิศ โดยจากแหล่งข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของทุกอำเภอของจังหวัดแพร่เป็นภูเขาถึง 80% ทำให้มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องในบริเวณพื้นที่ภูเขาเป็นเวลานาน เกิดน้ำสะสมจำนวนมากจนดินและต้นไม้ไม่สามารถดูดซับได้หมด อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มได้ง่าย เนื่องจากน้ำไหลบ่าจากภูเขาลงสู่พื้นที่ราบต่ำที่เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรกรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากแผนเผชิญเหตุอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม จังหวัดแพร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระบุว่า น้ำป่าไหลหลากในจังหวัดแพร่มีสาเหตุมาจากลมมรสุมหรือความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและเกิดความเสียหายอย่างมาก เช่น ในปี พ.ศ. 2545 ที่อำเภอวังชิ้น หรือเกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองแพร่ แต่การระบายน้ำไม่สามารถทำได้ทันเวลา เนื่องจากคลองระบายน้ำธรรมชาติมีขนาดเล็กและถูกบุกรุก พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยเป็นประจำในจังหวัดแพร่ ได้แก่ เขตเทศบาลเมืองแพร่ และเขตอำเภอสูงเม่น สาเหตุหนึ่งมาจากการเจริญเติบโตของเมืองที่มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้การระบายน้ำยิ่งยากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับภูมิอากาศจังหวัดแพร่ พบว่า จังหวัดแพร่มีฝนตกชุกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม โดยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 238.7 มิลลิเมตร และมีจำนวนฝนตกถึง 22 วัน พายุหมุนเขตร้อนที่ผ่านเข้ามายังจังหวัดแพร่มักเป็นพายุดีเปรสชันมีกำลังอ่อน ซึ่งก่อตัวจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากทะเลจีนใต้ พายุเหล่านี้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกผ่านประเทศเวียดนามเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หากมีกำลังแรงพอก็จะส่งผลกระทบถึงภาคเหนือ ซึ่งพายุจะเริ่มส่งผลกระทบต่อจังหวัดแพร่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนตุลาคม

สอดคล้องกับข้อมูลจากแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2564-2570 ที่ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปี จังหวัดแพร่มักเผชิญกับฝนตกหนัก เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำหรือพายุหมุนเขตร้อนพัดผ่านพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงจังหวัดแพร่ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำยม ก่อให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลำน้ำสาขา  ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชน โดยเฉพาะในเขตเมือง อาทิ เทศบาลเมืองแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสถานที่ราชการ บ้านเรือนประชาชน และแหล่งการค้าเศรษฐกิจอยู่หนาแน่น ทำให้อุทกภัยสร้างความเสียหายอย่างมาก

ลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำหลักในภาคเหนือของประเทศไทย และเป็นลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำเจ้าพระยา  มีพื้นที่รับปริมาณน้ำฝน 23,618 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ประกอบด้วย พะเยา น่าน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และแพร่ สำหรับจังหวัดแพร่ ารระบายน้ำในฤดูฝนมักประสบปัญหาเนื่องจากลำน้ำมีลักษณะเป็นคอขวดและคดเคี้ยว ทำให้เมื่อมีน้ำไหลบ่าแรงในฤดูฝน มักเกิดอุทกภัยในพื้นที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำยมเป็นประจำ โดยพื้นที่เสี่ยงสูง 7 จาก 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแพร่ อำเภอสอง อำเภอร้องกวาง อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น รวม 30 ตำบล 151 หมู่บ้าน

‘หน่วยงานภาครัฐ-กฎหมายล็อกอำนาจ’ อุปสรรคการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ

ที่มา: รายงานวิจัยเปรียบเทียบองค์กรการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้โครงการขับเคลื่อน แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการจัดการน้ำ วช. ปีที่ 2

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า หน่วยงานการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยนั้นมีมากถึง 38 หน่วยงาน โดยกระจายตัวอยู่ใน 1 สังกัด 9 กระทรวง ดังนี้่

1. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

3. กระทรวงกลาโหม จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทกศาสตร์ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมแผนที่ทหาร กรมกิจการพลเรือนทหารบก

4. กระทรวงพลังงาน จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

5. กระทรวงมหาดไทย จำนวน 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการปกครอง กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่น

6. กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ องค์การจัดการน้ำเสีย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

7. กระทรวงคมนาคม จำนวน 1 หน่วยงาน ได้แก่ กรมเจ้าท่า 

8. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ NSTDA สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.)

9. กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโรงงานอุตาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ

10. กระทรวงดิจิทัล จำนวน 1 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา

เมื่อสำรวจลึกลงไปจะพบว่า มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำท่วม แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบที่แตกต่างกัน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เน้นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสาธารณภัยทุกประเภท รวมถึงน้ำท่วม รับแจ้งเหตุและประสานงานช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลสภาพอากาศและพยากรณ์อากาศเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ กรมชลประทาน ดูแลระบบชลประทาน เขื่อน อ่างเก็บน้ำ และให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำ เป็นต้น ปัญหาการบริหารจัดการน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนของแต่ละหน่วยงานเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันก็ควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

จำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในข้างต้นที่มีจำนวนมาก ประกอบกับปัญหากระบวนการแจ้งเรื่องน้ำท่วมข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความซับซ้อนของระบบราชการไทย’ ที่หน่วยงานต่าง ๆ มีบทบาททับซ้อนกัน โดยเฉพาะกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานหลักกลับต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากโครงสร้างอำนาจและกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการตัดสินใจอย่างรวดเร็วแม้กรมชลประทานจะเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยตรง ความซับซ้อนของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันแก้ไข แต่ด้วยโครงสร้างองค์กรที่แตกต่างกัน จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำมีความซับซ้อนและไม่ประสานสอดคล้องกัน

ทั้งนี้ หากเมื่อพิจารณาในทางกฎหมายก็อาจปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 นั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วม โดยประเด็นหลักคือ โครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.ฯ ทำให้ รมว.มหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ (รมว.มหาดไทย เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และผู้ว่าฯ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในระดับจังหวัด) ขณะที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลับมีสถานะเป็นเพียงหนึ่งในคณะทำงานภายใต้คำสั่งผู้ว่าฯ เท่านั้น โครงสร้างอำนาจเช่นนี้ส่งผลให้ อปท. ซึ่งมีความเข้าใจในสภาพพื้นที่และบริบทของปัญหาเป็นอย่างดี ขาดอำนาจในการตัดสินใจและขาดแคลนบุคลากรที่จำเป็นในการรับมือกับภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ตามมาคือ ‘ความล่าช้าในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย’ และ ‘ความสูญเสียที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า’

ขณะเดียวกัน ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ก็ยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้การช่วยเหลือไม่ทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณต้องเป็นไปตามระเบียบราชการ โดยผู้มีอำนาจสูงสุดคือ หัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ ผู้ว่าฯ หรือปลัดอำเภอ ทำให้ท้องถิ่นซึ่งมีความเข้าใจในปัญหาพื้นที่และต้องการงบประมาณอย่างเร่งด่วนกลับมีข้อจำกัดในการเข้าถึงงบฯ ดังกล่าว ทั้งทีี่มีงบประมาณเฉพาะสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติอยู่แล้ว

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยการกระจายอำนาจการจัดการให้หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจและจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การกระจายอำนาจในการจัดการน้ำไปยังอปท. และการลดขั้นตอนในการเบิกจ่ายงบฯ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ข้อเสนอแก้น้ำท่วม: ปรับปรุงกฎหมาย กระจายอำนาจ วาดผังเมือง 

ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ริเริ่มจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี  (2561-2580) และมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อีกทั้งมีความพยายามในการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำเพื่อบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำ

อย่างไรก็ดี ณัฐกร วิทิตานนท์ นักวิชาการท้องถิ่นศึกษา ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญของแผนและ พ.ร.บ. ดังกล่าวไว้ในบทความ “น้ำท่วม แก้ได้ ต้องกระจายอำนาจ : คุยเรื่อง ‘น้ำท่วม 65’ กับ นักวิชาการด้านท้องถิ่น” ว่าแม้จะมีการวางแผนแม่บทและคณะกรรมการระดับชาติ แต่การตัดสินใจสำคัญ ๆ ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง สังเกตได้จากรายชื่อคณะอนุกรรมการที่มีแต่คนจากส่วนกลางทั้งสิ้น ซึ่งอาจยังไม่ตอบโจทย์ในแง่การรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้า ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และไม่ตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ การโยกย้ายหมุนเวียนของข้าราชการบ่อยครั้งยังส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ดังนั้น จากมุมมองของณัฐกร การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนจึง จำเป็นที่จะต้องให้หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น

แนวคิดของณัฐกรที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น สอดคล้องอย่างยิ่งกับข้อเสนอในบทความ “บทเรียนน้ำท่วมอีสานครั้งใหญ่ เกี่ยวอะไรกับการแก้รัฐธรรมนูญ” ที่ชี้ให้เห็นว่า การรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ การให้ท้องถิ่น อาทิ อบต. เทศบาล และหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ มีอำนาจในการตัดสินใจประกาศเตือนภัยได้เองโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง และบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง สนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สั่งการบุคลากรได้ด้วยตนเอง จะช่วยให้การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากท้องถิ่นมีความเข้าใจในสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนเป็นอย่างดี

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็คือ แนวคิด ‘เมืองฟองน้ำ’ หรือ ‘Sponge City’ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระแสการพัฒนาเมืองที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2556 เพื่อจัดการกับปัญหาน้ำท่วมเขตเมืองในประเทศจีน และพัฒนารูปแบบของการอยู่ร่วมกันของผู้คน น้ำ และเมืองที่ยั่งยืน โดยการปรับให้เมืองเป็นพื้นที่ธรรมชาติ และการใช้พื้นที่ธรรมชาตินั้นในการรับมือกับธรรมชาติด้วยกัน 

กล่าวคือ แนวคิด ‘เมืองฟองน้ำ’ เป็นแนวทางการออกแบบและบริหารจัดการเมืองที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตในเมือง โดยเลียนแบบธรรมชาติให้เมืองมีความสามารถในการรองรับและปล่อยน้ำออกสู่ระบบนิเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนฟองน้ำตามธรรมชาติ เมื่อเกิดฝนตกหนัก เมืองฟองน้ำจะช่วยลดปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมขัง และยังช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำ อีกทั้งบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

หลักการสำคัญของเมืองฟองน้ำก็คือ การนำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาผ่านการออกแบบและสร้างเมืองที่เข้าใจวงจรของน้ำและสามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้ ให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมืองอย่างสวนสาธารณะ พื้นที่ถนน ทางเท้า อาคาร สวน พื้นที่ชุ่มน้ำ ไปจนถึงหลังคา ‘ทำตัวเหมือนฟองน้ำ’ ที่สามารถดูดซับ กักเก็บ และกรองน้ำฝนได้ตามธรรมชาติ ภายใต้การออกแบบโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ 6 ข้อ ได้แก่ การซึมลงดิน (Infiltration) การกักน้ำ (retention) การเก็บน้ำ (storage) การบำบัดน้ำ (purification) การใช้ประโยชน์จากน้ำ (utilization) และ การระบายน้ำ (drainage) เพื่อจัดการกับน้ำที่มากเกิน นำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง อีกทั้งเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเมืองฟองน้ำซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วนั่นก็คือ การออกแบบและสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะหรือการออกแบบฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำ เช่น สวนป่าเบญกิติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมืองฟองน้ำไม่ได้หมายถึงเพียงสาธารณูปโภคสีเขียว ไม่ใช่แค่การพัฒนาสวนขนาดใหญ่ แต่คือการมองและการพัฒนาพื้นที่ธรรมชาติในระดับเมือง เป็นการที่เมืองนำเอาการจัดการน้ำเข้าเป็นหัวใจหลักของการวางผังเมือง การออกแบบและปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้สอดรับกับการรองรับและจัดการน้ำ เป็นฟองน้ำให้กับเมืองต่อไป เพื่อรับมือกับภัยพิบัติ และทำให้เมืองมีความยืดหยุ่นแข็งแรง

นอกเหนือจากการกระจายอำนาจและแนวคิดการพัฒนาเมืองฟองน้ำแล้ว การควบคุมการพัฒนาการใช้ที่ดินระยะยาวก็ถือมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดผลกระทบจากน้ำท่วม โดยนักวิชาการจาก TDRI ได้เสนอแนวทางเกี่ยวกับการควบคุมการพัฒนาการใช้ที่ดินระยะยาวไว้ 4 แนวทางหลักคือ 1. การเสนอให้มีกฎหมายและเครื่องมือใหม่ ๆ ซึ่งเน้นไปที่ปัจจัยอื่นนอกเหนือจากสิ่งก่อสร้าง อาทิ ภาษีที่ดิน และการชดเชยที่เป็นธรรม 2. การเปิดกระบวนการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง 3. การพัฒนาแบบบูรณาการทั้งระบบ ตั้งแต่ปรับปรุงระบบจัดการน้ำ ป้องกันน้ำท่วม นำน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ป้องกันสิ่งแวดล้อม และการออกแบบใช้ที่ดินสอดคล้องกับธรรมชาติของน้ำ และ 4. การปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านผังเมือง

ในส่วนของข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านผังเมือง อภิวัฒน์ รัตนวราหะ นักวิชาการด้านออกแบบและพัฒนาเมือง เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดผังเมือง โดยเน้นที่การควบคุมความหนาแน่นของการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะในบริเวณชานเมืองและพื้นที่เสี่ยงภัย การพัฒนามาตรการด้านผังเมืองที่เอื้อต่อการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ทุกภาคส่วน อาทิ การโอนสิทธิการพัฒนาสำหรับพื้นที่ flood way และการเชื่อมระบบโซนนิ่งกับระบบภาษีทรัพย์สิน เพื่อนำรายได้ที่เกิดขึ้นไปใช้สร้างความเป็นธรรมระหว่างพื้นที่น้ำท่วมกับพื้นที่น้ำไม่ท่วม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การกระจายอำนาจในการวางผังเมืองสู่ท้องถิ่นก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจ เนื่องจากจะช่วยให้การบริหารจัดการผังเมืองมีความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของแต่ละพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น โดยบทความ “ความไร้น้ำยาของผังเมืองไทย” ได้เสนอให้มีการกระจายอำนาจในการวางผังเมืองสู่ท้องถิ่น ให้งานผังเมืองเป็นภารกิจของท้องถิ่นโดยแท้จริง เพื่อให้แต่ละพื้นที่  (Area) มีอิสระในการบริหารจัดการผังเมืองของตนเอง โดยอาจใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ และเสนอให้มีการอนุมัติผังเมืองแบบเบ็ดเสร็จที่ระดับจังหวัดแทนที่ส่วนกลาง เพื่อลดกระบวนการที่ซับซ้อนและยาวนาน

ควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจ ควรมีการจัดตั้งองค์กรด้านการผังเมืองในนาม ‘สำนักงานการผังเมืองแห่งชาติ’ ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยใช้โมเดลเดียวกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการงานผังเมืองข้ามหน่วยงาน ดูแลผังเชิงนโยบาย และสร้างมาตรฐานแกนกลางด้านผังเมืองโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างราบรื่น บุคลากรนอกจากนั้นให้อยู่ในกรมโยธาธิการและผังเมืองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามปกติ เพื่อปฏิบัติตามนโยบายของสำนักงานการผังเมืองแห่งชาติ และทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของจังหวัดในการนำเสนอผังเมืองของท้องถิ่น เพื่อให้มีบริหารจัดการเท่าที่จำเป็น ไม่เป็นการเพิ่มบุคลากร หรือการก่อสร้างอาคารสถานที่ของภาครัฐโดยไม่จำเป็น

อ้างอิง

อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂

ข่าวที่เกี่ยวข้อง