ถึงเวลาจังหวัดจัดการตนเอง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น “เชียงใหม่มหานคร”

5 สิงหาคม 2567 คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดกสัมมนา ถึงเวลาจังหวัดจัดการตนเอง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น “เชียงใหม่มหานคร” เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สัมมนาในครั้งนี้เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง “เชียงใหม่มหานคร” และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อผลักดันให้เกิดความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง และการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ปาฐกถาพิเศษ โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ชี้ให้เห็นว่าทำไมการกระจายอำนาจถึงสำคัญ ดังนี้

ข้อแรก คือการใช้ทรัพยากรและจัดสรรอย่างคุ้มค่าตรงจุดกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 

ข้อสอง คือความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ที่จะทำให้เกิดการแบ่งงานมากขึ้นระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง

ข้อสาม คือเกิดความเป็นธรรมในพื้นที่ ที่จะมีการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับพื้นที่อย่างทัดเทียมกัน

พริษฐ์ ยังชี้ให้เห็นว่าหากมีการกระจายอำนาจจะเป็นการเพิ่มความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตของหน่วยงานรับได้ ซึ่งสัดส่วนการทุจริตในองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นน้อยกว่าหน่วยงานส่วนกลาง พริษฐ์ ยังได้แบ่งแผนในการขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกล 1.การปลดล็อกท้องถิ่นทั้งระบบที่ไม่ได้จำกัดเพียงรายประเด็น 2.เพิ่ม-จัดสรรงบประมาณ และอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่นมากขึ้น

ภายในงานยังมีการจัดเสวนา กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น “เชียงใหม่มหานคร” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู รองประธานกรรมาธิการกระจายอำนาจฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่, สมศักดิ์ คณาคํา ผู้เชี่ยวชาญส่วนตัวของ ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล สมาชิกวุฒิสภา, ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ คณะผู้ริเริ่มร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ…. และอภิบาล สมหวัง คณะก่อการล้านนาใหม่ ดำเนินรายการโดย จามีกร อำนาจผูก สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ School of Public Policy Chiang Mai University

เพชรรัตน์ เผยว่าการกระจายอำนาจเป็นการแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ในการมีผู้นำของจังหวัดที่แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และเล่าถึงร่างกฎหมายเพื่อการกระจายอำนาจ ได้พูดถึงบทบาทของตนใน 3 หน้าที่  ดังนี้ 1.กลไกพรรคการเมืองในการผลักดันจังหวัดจัดการตนเองหรือการกระจายอำนาจ 2.กลไก กมธ.กระจายอำนาจ ที่พยายามจะแก้ไขระบบและกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดในการกระจายอำนาจ รวมไปถึงการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นมากขึ้น และ3.กลไกภาคประชาชนในการล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อในการผลักดัน พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร

ด้าน สมศักดิ์ เล่าถึงปัญหาของอำนาจรวมศูนย์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาของพื้นที่ รวมไปถึงเรื่องงบประมาณในการจัดการพื้นที่ นั้นดำเนินการล้าช้า และไม่มีประสิทธิภาพ มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการกระจายอำนาจ และพูดถึงสภาพลเมืองในการขับเคลื่อนในการมอบความรู้เรื่องการจัดการตนเองให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่ ในการตั้งกมธ. เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเชียงใหม่มหานคร

โดย ชัชวาลย์ ระบุว่าการจัดการทรัพยากรที่มีปัญหาจากการที่รัฐไม่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ รวมไปถึงการไม่เข้าใจวัฒนธรรมล้านนาของรัฐบาลส่วนกลาง ปัญหาการศึกษาที่ใช้หลักสูตรเดียวทั่วประเทศ รวมไปถึงปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่แก้ไขไม่ตรงจุด ซึ่งการกระจายอำนาจเป็นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ตรงจุดมากขึ้น ชัชวาลย์ ยังได้พูดถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบจ. ที่ถูกกำกับโดยหน่วยงานส่วนกลางจนทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ถ้าเกิดมีเชียงใหม่มหานคร ขึ้นจริง ๆ ชัชวาลย์เสนอว่าควรจะมีสภาพลเมืองที่มีบทบาทของพลเมืองในการมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการพัฒนา และมีบทบาทในการตรวจสอบและถ่วงดุลผู้นำจังหวัด

ทั้งนี้อภิบาล เผยว่าภายหลังการเคลื่อนไหวในปี 2563 เป็นการขยับผลักดันเพดานการพูดคุยที่ชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา อย่าง สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระจายอำนาจก็เป็นหนึ่งในประเด็นนั้น ปัจจุบันนั้นการเรียกร้องประเด็นการกระจายอำนาจที่มีข้อจำกัดนั้นก็คือรัฐธรรมนูญ อภิบาลได้เสนอว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีการการแก้ไขในการขยับขยายและเพิ่มเติมในมาตรา 1 เพื่อให้เกิดการถกเถียงมากขึ้น อาทิ ไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่จังหวัดสามารถจัดการตนเองได้ เป็นต้น

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง