เปิดตัวโครงการ “Journalism that Builds Bridges” สร้างสะพานเชื่อมชายขอบสู่ศูนย์กลาง

5 พฤศจิกายน 2565

“หมอนิรันดร์” ชี้ภารกิจสำคัญสื่อพาไทยก้าวพ้นระบอบอำนาจนิยม ยูเนสโกระบุสื่อต้องมีเสรีภาพ-ความปลอดภัยในการทำงาน เอกอัครราชทูต 3 ประเทศย้ำประชาธิปไตยเป็นหลักสำคัญของเสรีภาพสื่อ หวังคนข่าวรุ่นใหม่พัฒนาสื่อ-ปชต.ไทยให้แกร่งขึ้น นักวิชาการเผยผลวิจัยคนไทยยังเชื่อถือสื่อกระแสหลัก ระบุสื่อเน้นหารายได้ทำรัฐ-ทุนแทรกแซง เปิดช่องไอโอภาครัฐ  การเมืองไม่เป็น ปชต.ทำสื่อ-ปชช.ขาดเสรีภาพไร้การคุ้มครองสิทธิฯ

ภาพ : อาชวิชญ์ อินทร์หา

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร The Isaan record ร่วมกับ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน THECITIZEN.PLUS Thai PBS สถานทูตเนเธอแลนด์ประจำประเทศไทย สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย  เปิดตัวโครงการ Journalism that Builds Bridges จากชายขอบสู่ศูนย์กลาง : ถึงเวลาทบทวนภูมิทัศน์สื่อไทย โดยมีนักข่าวพลเมืองจากทุกภูมิภาคเข้าร่วมโครงการกว่า 50 คน 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดโครงการวารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน (JBB)ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือระบบที่เป็นรัฐรวมศูนย์กลาง และไม่สามารถกระจายอำนาจ ศักยภาพในการทำงานสู่พื้นที่ในระดับภูมิภาคและคนที่มีความหลากหลายในระดับชาติพันธุ์ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีสะพานเชื่อมระหว่างส่วนที่เป็นชายขอบกับอำนาจรัฐส่วนกลางได้อย่างไร ทั้งนี้จากรายงานล่าสุดของ ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) องค์กรเอกชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ระบุว่าในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา 200 กว่าประเทศทั่วโลก มี 60 กว่าประเทศความเป็นประชาธิปไตยลดและถอยหลังลงมาซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ส่วนประเทศที่ประชาธิปไตยดีขึ้นมีแค่ 25 ประเทศ หมายความว่าโลกมีการขยายตัวของระบบที่เรียกว่าอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จเป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้น ประชาธิปไตยของเราเป็นประชาธิปไตยพันธุ์ทางคือลูกเป็นประชาธิปไตยแต่เนื้อในเป็นเผด็จการ ดังนั้นเราจึงต้องมาช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยของโลกสามารถผ่านวิกฤตการณ์ตรงนี้ไปได้ 

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตของคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก แต่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยกฎหมายติดหนวด ไม่ได้เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตรงนี้จึงเป็นผลที่เราต้องมานึกถึงเรื่องสื่อ ซึ่งสื่อกระแสหลักไม่ได้ทำหน้าที่และไม่กล้าแสดงความคิดเห็นออกมา หมายความว่าสังคมไทย และสังคมสื่อกระแสหลักตกอยู่ในความเงียบและความกลัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบอบอำนาจนิยมต้องการมากที่สุด เพราะเขามองว่าความเงียบและความกลัวคือสังคมสงบเรียบร้อยดี ดังนั้นการที่สื่อเป็นกระบอกเสียงและทำความจริงให้ปรากฏจึงมีความสำคัญ จึงมองว่าสื่อเสรีที่เราจะทำขึ้นต่อจากนี้จะต้องจับมือกันในการทำงาน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นไปจากระบบอำนาจนิยมที่มันทำลาย ไม่เฉพาะคนหนุ่มสาวที่เดินขบวนบนท้องถนน แต่ทำลายไปถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของเรา นอกจากการถูกกดทับจากอำนาจทางการเมืองในเรื่องการห้ามแสดงความคิดเห็นในเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตามเพื่อให้ประชาธิปไตยของเราสามารถมั่นคงและยืนยงอยู่ได้ ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยที่ถดถอย 

“วันนี้จึงมีการประชุมเพื่อทำให้เกิดสะพานเชื่อมโดยใช้สื่อเชื่อมให้อำนาจในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเสรีภาพในการที่จะบอกความจริงต่อสังคม เพื่อทำให้สังคมประจักษ์และส่งเสียงให้อำนาจรัฐส่วนกลางได้รับรู้ ขณะเดียวกันคนจะได้รู้เท่าทันได้มากขึ้น ถ้าทำตรงนี้สำเร็จเราจะเป็นสะพานเชื่อมในระดับพื้นที่ต่าง ๆ 90 ปีที่เราเปลี่ยนประเทศไทยมา แต่ระดับภูมิภาคยังเป็นอาณานิคม ภาคใต้ยังเป็นอาณานิคมของรัฐกรุงเทพ อีสาน หรือเหนือก็เหมือนกัน ซึ่งเราจะเปลี่ยนสภาพเหล่านั้นให้เป็นการยอมรับในการกระจายอำนาจต่อไป” นพ.นิรันด์ กล่าว 

จากนั้นมีการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและความปลอดภัยของนักข่าว” โดย Jo Hironaka หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารและสารสนเทศ Unesco ประจำกรุงเทพฯ โดยระบุว่า ในเรื่องการลอยนวลนั้นหมายความว่าไม่มีการรับผิด จากการรายงานจองยูเนสโก การฆาตรกรรมและเสียชีวิตของนักข่าว 90% ไม่มีการลงโทษ ไม่ได้รับความยุติธรรมสำหรับครอบครัวที่ยังอยู่ ซึ่งฟังดูเป็นวัฒนธรรมลอยนวล ประมาณ 80% ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นนอกสถานที่ทำงาน ตามถนน บางคนก็โดนลักพาตัว และต่อมาก็พบว่าเสียชีวิต บางคนอาจเสียชีวิตต่อหน้าครอบครัว เด็กเล็กด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ 11 % ของนักข่าวที่ถูกฆ่าเป็นผู้หญิง สัมพันธ์กับการสำรวจของยูเนสโกอีกชิ้นหนึ่งพบว่า 75 % ของนักข่าวหญิง จำนวน 3 ใน 4 ถูกคุกคามหรือการขู่ขวัญทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เราท่านอาจจะคิดว่านักข่าวอยู่ในวิกฤต และมีความขัดแย้งกัน แต่ 64% ของการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีความขัดแย้งกัน มีการฆาตกรรมนักข่าว 69 รายในภูมิภาคของเรา ตั้งแต่ปี 2021-2022 เป็นสิ่งที่ยูเนสโกได้เก็บข้อมูลไว้และประณามในสิ่งเหล่านี้  

ภาพ : อาชวิชญ์ อินทร์หา

Jo Hironaka กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สหประชาชาติได้จัดทำแผนปฏิบัติการในเรื่องการปกป้องนักข่าว เรื่องของการพัฒนาทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมหรือผู้คนที่อยู่ห้องนี้ ประเทศต่างๆ มีส่วนรับผิดชอบในการทำงานด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการอบรมเจ้าหน้าที่ตุลาการ หลักสูตรในสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น โรงเรียนนายร้อยตำรวจของไทย เป็นต้น โดยได้อบรมเจ้าหน้าที่จำนวน 2.4 หมื่นรายในเรื่องการรักษากฎหมาย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความปลอดภัยของนักข่าวและวันนี้ก็เป็นการตอกย้ำจุดยืนของเราในเรื่องของการดำเนินการตามแผนงานของสหประชาชาติในเรื่องการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นพลเมืองหรือนักข่าวทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลางที่ต้องมีเสรีภาพ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับการทำงานของนักข่าวต่อไป 

H.E.Mr.Remco van Wijngaarden เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เรามาจากประเทศที่มีเสถียรภาพในเชิงประชาธิปไตย แต่ตนยืนยันว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องต่อเนื่อง ไม่มีอะไรที่มีเสถียรภาพเราจะต้องมีการลงทุนในระบบประชาธิปไตยเพื่อที่จะให้ยืนยงอยู่ได้ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามรัสเซีย ยูเครน รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา เป็นการทำลายล้างสิทธิมนุษยธรรมและยังเป็นการกดขี่เสรีภาพของนักข่าว หน้าที่ของประชาธิปไตยกำลังเติบโตแต่ขณะเดียวกันก็โดนโจมตีโดนล้มล้างเช่นกัน นักข่าวพลเมืองต่างๆ ก็ถูกทำลายทางด้านสิทธิมนุษยชน โครงการนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ในส่วนของเนเธอแลนด์จะทำงานร่วมประเด็นเสรีภาพทางความคิดเห็นของนักข่าว ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลักสำคัญในสังคมประชาธิปไตยเป็นการการันตีว่าสาธารณชนจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องในสถานการณ์ต่างๆ และรัฐต้องรับผิดชอบในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ขอให้นักข่าวอย่าหวาดกลัวและคงไว้ซึ่งความกล้าหาญ

H.E.Mr.Jyri Jarviaho เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดตัวโครงการนี้ร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทย สื่อเป็นส่วนสำคัญสำหรับการมีประชาธิปไตยที่ดี ซึ่งในปีหน้าประเทศไทยกำลังจะมีการจัดเลือกตั้งสื่อจึงมีความสำคัญอย่างมากในการนำเสนอข่าว ฟินแลนด์ให้ความสำคัญในเรืองสื่อและได้รับการจัดลำดับเสรีภาพสื่อติดอันดับ 1 ใน  5 ของโลก โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า 65 % ของคนฟินแลนด์ไว้วางใจสื่อ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรป การแสดงออกทางเสรีภาพทั้งการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมเป็นสิทธิพื้นฐานของชาวฟินแลนด์ ทุกคนสามารถเข้าถึงการบันทึกและเอกสารต่าง ๆ ของภาครัฐได้ ขณะที่นักข่าวต้องใช้ทักษะและจริยธรรม รวมถึงต้องมีความปลอดภัยในการทำงาน และต้องส่งเสียงจากทุกภาคส่วนและทุกชาติพันธุ์เราจึงยินดีในการร่วมโครงการนี้ หวังว่าทุกคนจะมีความกล้าหาญและมั่นคงซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย หวังว่าคนรุ่นใหม่อย่างเราจะทำให้สื่อและประชาธิปไตยแข็งแกร่งขึ้นในประเทศไทย 

MR.Mr.Jonathan Kings เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทุกคนมีโอกาสในเรื่องความท้าทายที่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบสำคัญ และความถูกต้องแม่นยำของข่าวที่นำเสนออกไป  เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องของผู้รับข่าวสาร รวมทั้งต้องสะท้อนเสียงของผู้หญิง LGBTQ+ ชนกลุ่มน้อย ตลอดจนผู้คนที่หิวโหย ที่ต้องได้รับการรับฟัง หวังว่าสิ่งที่ท่านจะสร้างขึ้นมาในฐานะนักข่าวจะเป็นประโยชน์ต่อไป  ยังมีเรื่องความท้าทายที่ทุกคนต้องเจอในเรื่องกลไกทั้งทางการหรือไม่เป็นทางการที่บีบบังคับไม่ให้ท่านส่งเสียงออกมาและต้องก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ ซึ่งตนพร้อมรับฟังในอนาคตต่อไป และและยินดีสนับสนุนโครงการนี้ เพราะเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตย หวังว่าจะได้เรียนรู้และรับทราบเกี่ยวกับผลงานของท่านต่อไปในอนาคต 

ขณะที่ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานและอภิปรายผลงานวิจัยหัวข้อ “ภูมิทัศน์สื่อไทย:ความท้าทายและโอกาส”  ระบุตอนหนึ่งว่า ถึงแม้ประชาชนจะนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น เป็นการใช้เพื่อความบันเทิง แม้จะมีข่าวสารผ่านเข้าตามาบ้าง แต่ผลการสำรวจพบว่าประชาชนยังเชื่อถือข้อมูลจากสื่อองค์กระแสหลักที่เป็นสื่อดั้งเดิม ยังเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ และพบว่าคนไทยมีระดับความเชื่อถือสื่อมวลชนที่ 53 % มากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก จึงเป็นบทบาทที่ประชาชนยังคาดหวังกับสื่อกระแสหลักแม้จะมีสื่อใหม่เกิดขึ้นมากมาย

ภาพ : อาชวิชญ์ อินทร์หา

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวว่า ขณะที่สื่อกระแสหลักทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ รายได้จากการโฆษณาลดลงไปมาก ขณะที่สื่อออนไลน์ยังไม่ได้เป็นกอบเป็นกรรมเริ่มตีตื้นขึ้นมาเรื่อย แนวโน้มการหารายได้ทำให้สื่อกระแสหลักต้องย้ายเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น พยายามอัดความถี่และความเร็วของเนื้อหาเข้าไป สื่อพยายามดิ้นรนและหารายได้เลี้ยงองค์กร บางแนวทางทำให้เกิดการลดทอนพื้นที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือบางทีเปิดโอกาสให้ทุนทั้งของรัฐและเอกชนเข้ามาแทรกแซงได้เหมือนกัน และเป็นช่องทางการแพร่กระจายบิดเบือน รวมถึงปฏิบัติการข่าวสารของรัฐด้วยเวลาที่ต้องนำเสนอออนไลน์ เป็นต้น 

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าวต่อว่า ภาพรวมทั้งสื่อมวลชน สื่อภาคประชาชน และประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นการประเมินจากหลายองค์กรในต่างประเทศ เหตุหนึ่งมาจากมาตรการการใช้กฎหมายและนโยบายจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ในช่วงความขัดแย้งและการชุมนุมการทางการเมือง รวมทั้งช่วงการระบาดของโควิด-19 มีผลทำให้สื่อไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงได้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องการตั้งคำถามและตรวจสอบอำนาจรัฐ มีการคุกคามทั้งจากรัฐและกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนรัฐ เป็นต้น  “โดยสรุปข้อจำกัดที่ทำให้การปกป้องคุ้มครองเสรีภาพและสวัสดิภาพของสื่อเป็นไปอย่างลำบากท่ามกลางภูมิทัศน์ ที่เราดูเหมือนว่ามีสื่อเกิดขึ้นจำนวนมากก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่มีการคุ้มครอง รับรองสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชน แต่ให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่า อีกประเด็นคือบริบทเรื่องการขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมือง ทำให้การอภิปรายถกเถียงกันในประเด็นต่าง ๆ เกิดขึ้นยาก กลไกการตรวจสอบที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงข้อจำกัดขององค์กรวิชาชีพในการต่อรองกับสถาบันที่มีอำนาจต่างๆ สหภาพแรงงานยังไม่มีบทบาทมากนัก ดังนั้นข้อเสนอภาครัฐต้องมีเคารพหลักการประชาธิปไตยและต้องมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อต้องมีการตรวจสอบอย่างเป็นธรรม เป็นต้น” ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

ภาพ : อาชวิชญ์ อินทร์หา

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง