เรียบเรียง: สุรยุทธ รุ่งเรือง
20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา MAIIAM Contemporary Art Museum จัดวงเสวนาในชื่อ “วงเหล้า เล่าเงี้ยว” ใจความสำคัญคือการถกประเด็นในเรื่องของ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ที่เกิดและจบลงเมื่อ พ.ศ. 2445 ก่อนที่จะถูกพยายามทำให้ลืมมากกว่าจดและจำ ในหลากหลายแง่มุม ร่วมวงเสวนาโดย แอนโธนี โลเวนไฮม์ เออร์วิน (Dr.Anthony Lovenheim Irwin) นักวิชาการด้านวัฒนธรรมและศาสนา และ ลักษณารีย์ ดวงตาดำ จากกลุ่มผู้ผลิตสุราชุมชน Shan Spirit หรือ เหล้ากบฏเงี้ยว ณ ใหม่เอี่ยมพาวิลเลี่ยน จังหวัดเชียงราย
พื้นที่ความหลากหลายที่ไม่ใช่แค่ล้านนา
แอนโธนี และ ลักษณารีย์ ต่างบอกเล่าถึงเรื่องราวของชาวไทใหญ่ที่พวกเขาไม่เคยที่จะถูกบันทึกในแง่ของงานวิชาการใด ๆ โดยกล่าวถึงชาวไทใหญ่หรือฉาน และ ‘เงี้ยว’ ในความหมายเดียวกัน ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือหรือแม้แต่ภาคอีสาน อย่างกรณีของชื่อ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ก็มีข้อสันนิฐานว่ามีที่มาจากการเดินทางไกลของเงี้ยว นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าอิทธิพลที่เกิดขึ้นจากเงี้ยว ไม่ได้เกิดขึ้นกับเพียงภายในภาคเหนือหรือภูมิภาคล้านนาเท่านั้น
การเดินทางไปในหลากหลายพื้นที่ของเงี้ยว ทำให้พวกเขาเป็นเพียงผู้อาศัยเท่านั้น เงี้ยวจึงได้ทำการแต่งงานเพื่อขยับขยายพื้นที่ของตัวเองตลอดมา ทำให้เกิดวิถีชีวิต ประเพณีที่เป็นของเงี้ยวเอง ก่อนจะถูกผลกระทบจากการควบรวมอำนาจของผู้ครองนครหรือผู้ครองหัวเมืองในยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีของรัฐสยาม ข้อกำหนดทางการค้าที่ถูกสร้างขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย และข้อบังคับที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เงี้ยวตัดสินใจสำรวจวิธีการที่จะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข ผ่านการหารือโดยใช้เครือข่ายที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้พื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ แต่ด้วยความที่ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีการเจรจาต่อรอง หรือการประชุมเพื่อการรวบรวมเสียงของประชาชนคนเงี้ยวเพื่อส่งไปยังผู้มีอำนาจ การรวมตัวกันเพื่อก่อกบฎจึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้พวกเขาตายไปเปล่า ๆ ด้วยโทษประหารเท่านั้น ดังนั้นหนทางที่ถูกสรุปโดยคนเงี้ยวหลังการหารือ คือการยึดพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการขับไล่ข้าราชการที่ถูกส่งมาจากส่วนกลางเพื่อปกครองภาคเหนือออกไป
“กลุ่มก่อการกบฎเงี้ยวมีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แต่มีความมุ่งหมายเดียวกันแม้จะมาจากที่ต่างกัน นั่นคือเสรีภาพในการทำมาหากิน ในการใช้วิถีชีวิตของตัวเอง”
เหมารวมเป็นกบฎปล้นเมืองแพร่
ในประเด็นถัดมา แอนโธนี และ ลักษณารีย์ กล่าวถึงแกนนำของกบฎเงี้ยวที่ถูกจารึกไว้ ว่าไม่ใช่คนเงี้ยวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดแพร่แต่ดั้งเดิม แต่เป็นเงี้ยวที่ทำงานอยู่ในเหมือนทองในจังหวัดอื่น ๆ เช่นเชียงใหม่ ซึ่งด้วยการเดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ นั้นเอง เป็นเครื่องมีที่ช่วยผลักดันให้ประชาชนเหล่านี้กลายเป็นแกนนำในเครือข่ายเงี้ยวในทุก ๆ จังหวัด
ในการปะทะกันระหว่างคนเงี้ยวและเจ้าหน้าที่ของทางการกินเวลาร่วมหลายเดือน แต่การส่งต่อข้อมูลภายในเครือข่ายคนเงี้ยวยังเป็นรองรัฐบาลที่มีเครื่องมือต่าง ๆ อยู่มาก หนำซ้ำฝ่ายรัฐบาลยังเป็นต่อในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ทำให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี นำทัพปราบเงี้ยวลงได้ในที่สุด
ผู้ที่เสียชีวิตจากการปะทะในช่วงเวลานั้นไม่ได้มีแค่คนเงี้ยวเพียงเท่านั้น แต่ยังมีประชากรชาวลาวหรือกัมพูชาที่ย้ายเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ในแพร่ด้วย โดยประชาชนเชื้อสายอื่น ๆ ก็ถูกราชการเหมารวมเสร็จสับว่าเป็นกบฎเงี้ยวทั้งหมด จนเกิดเป็นวาทกรรม “กบฎเงี้ยวปล้นเมืองแพร่”
ในส่วนของการนำส่งนักโทษที่ยังมีชีวิต แอนโธนี และ ลักษณารีย์ พบว่ามีจุดที่แตกต่างกันอยู่ระหว่างเรื่องเล่าของอดีตกบฎเงี้ยว และที่ถูกบันทึกไว้โดยรัฐสยาม ซึ่งทางการได้ระบุไว้หลังการปราบปรามกบฎเงี้ยวว่า มีคนเงี้ยวใต้บังคับของสยามถูกประหาร 8 คน ใต้บังคับของอังกฤษถูกประหาร 2 คน และ 16 คนถูกนำตัวไปยังกรุงเทพฯ โดยทำการแยกนักโทษใต้บังคับสยามไปจำคุกที่กระทรวงยุติธรรม และนักโทษใต้บังคับอังกฤษไปจำคุกที่สถานทูตอังกฤษ แต่บรรพบุรุษเงี้ยวเล่าเรื่องเดียวกันนี้ไว้ว่าพวกเขาไม่เคยเจอเพื่อน ๆ ร่วมอุดมการณ์ของพวกเขาอีกเลยหลังจากที่มีการส่งตัวนักโทษออกจากจังหวัดแพร่ ซึ่งนี่อาจจะเป็นการอุ้มหายครั้งแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดแพร่
ในช่วงเวลานั้น เงี้ยวที่รอดชีวิตจากการปะทะก็ยังคงตามหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่หายไปของพวกเขาต่ออีกระยะหนึ่ง และจากข้อมูลที่ชี้ไปในทิศทางที่ว่าเพื่อน ๆ ของพวกเขาถูกสังหารไปแล้ว ก็สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยแก่เงี้ยวที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อในเมืองแพร่ จึงได้มีการโยกย้ายไปในจังหวัดต่าง ๆ เช่นในอำเภอสะเอียบ จังหวัดแพร่
ถึงอย่างนั้น คนเงี้ยวที่ทำการย้ายถิ่นฐานก็ยังคงดำเนินชีวิตบนวิถีดั้งเดิม อย่างเช่นการแต่งกาย หรือการสักลวดลายต่าง ๆ แม้ว่าวิถีเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สะดุดตา ทำให้ทางการตามหาตัวพวกเขาได้ง่ายยิ่งขึ้นก็ตาม นั่นทำให้เงี้ยวในพื้นที่จังหวัดแพร่ไม่สามารถแสดงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้มากเท่าเงี้ยวในพื้นที่อื่น วิถีดั้งเดิมที่ยังเหลืออยู่ จึงถูกฝังกลบลงไปวิถีชีวิตในแง่อื่น ๆ แทน เช่นการต้มเหล้า อาหาร คำบางคำในภาษาที่ถูกใช้ และหนึ่งในวิถีที่ถูกเปลี่ยนไปและนับว่าเป็นความเจ็บปวดแก่ลูกหลานเงี้ยวตามคำกล่าวของ ลักษณารีย์ คือการเปลี่ยนนามสกุลให้มีความเป็นไทยเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสยามมากขึ้น รวมถึงยังมีการปิดบังประวัติศาสตร์ของตนเองไม่ให้ลูกหลานได้รับรู้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความกลัว และการกดทับอย่างรุนแรงที่กบฎเงี้ยวต้องเผชิญการกดขี่โดยรัฐไทยยังคงดำเนินต่อไปและยังมีให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนไว้ในแบบเรียน ซึ่งโยนบทผู้ร้ายให้กบฎเมืองแพร่ ว่าเป็นผู้ปล้นเมืองแพร่ไปในระหว่างการดำรงไว้ซึ่งการเป็นเอกราชโดยปราศจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศใด ๆ เท่านั้น
“ประวัติศาสตร์ที่เขียนไว้ในแบบเรียน ทำให้เด็กในเมืองแพร่จำนวนมากด่ากบฎเงี้ยว เราเองตอนที่ยังเรียนอยู่มัธยมต้นก็รู้สึกว่ากบฎนี่ไม่ดีเลยนะ มาปล้นเมืองแพร่ได้ยังไง แต่พอได้ไปเห็นรูปบรรพบุรุษก็ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราเองก็มีเชื้อสายของผู้ที่ย้ายมาเหมือนกัน เราเองก็เป็นคนอื่นเหมือนกัน แต่เราถูกฝังความคิดเหล่านี้ผ่านการศึกษา ทำให้เราเกลียดชังบรรพบุรุษของตัวเอง”
ความหวัง การต่อต้าน
ด้วยเหตุนี้ แอนโธนี และ ลักษณารีย์ จึงกล่าวสรุปไว้ว่าการเป็นรัฐชาติ และประวัติศาสตร์กระแสหลัก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน อยู่ในเมืองแพร่เหมือนกัน ทำมาหากินเหมือนๆ กัน ต้องแปลกแยกออกจากกันเพราะประวัติศาสตร์จากส่วนกลางตีตราให้กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ต้องกลายเป็นคนนอกไปในที่สุด
ในปัจจุบันที่ประชาชนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ผ่านสถานการณ์ทางการเมืองที่ก้าวหน้าขึ้น สร้างความตื่นรู้ให้กับสังคมและประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่ถูกเชื่ออย่างเบ็ดเสร็จเหมือนแต่ก่อน ทำให้เกิดกลุ่มผู้ที่ยังมีความหวังในการต่อต้านการกดขี่ในเมืองแพร่ให้มารวมตัวกัน กลับมาพูดถึงบรรพบุรุษอย่างกบฎเงี้ยว และส่งต่อวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นที่มาของ Shan Spirit – เหล้ากบฎเงี้ยวนั่นเอง
“เหล้ากบฎเงี้ยว จึงเปรียบเสมือนเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะสะท้อนให้คนได้เห็นภาพประวัติศาสตร์การต่อสู้ของบรรพบุรุษเงี้ยวในอดีต วิถีคิดและวิถีชีวิตในอีกฝากของมุมมอง ซึ่งปราศจากการแต่งแต้มโดยประวัติศาสตร์ส่วนกลางที่โยนบทบาทผู้ร้ายปล้นเมืองให้แก่ ‘กบฎเงี้ยว’ เหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา”
บัณฑิตการพัฒนาระหว่างประเทศช่างฝันที่อยากทำงานเขียน เฝ้าหาโอกาสที่จะสื่อสารส่งผ่านความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของสังคมในทางที่ดีขึ้น