ในปี 2567 ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น pm 2.5 จากเดิมที่ใช้แนวทางห้ามเผาเด็ดขาด (Zero Burning) เป็นหลัก มาสู่แนวทางใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการไฟ (Fire Management) แบบจริงจังมากขึ้น และเนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกที่ใช้แนวทางที่ต่างออกไปในหลายมาตรการ จึงถูกหลายส่วนเรียกว่า “เชียงใหม่โมเดล”
เชียงใหม่โมเดล คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่า และฝุ่น pm 2.5 สำหรับปี 2567 โดยแนวทางที่มุ่งเน้นคือ การแบ่งพื้นที่มุ่งเป้าออกเป็นตำบลและกลุ่มป่า (7+1) มีกลไกทำงานร่วมร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาสังคม มีระบบข้อมูลหลายด้านรองรับ มีศูนย์วอรูมที่เทคโนโลยีทันสมัยซึ่งสนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตลอดจนมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่โดยเน้นการจัดทำแผนและปฏิบัติการแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่ระหว่างฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยแผนงานสำคัญ เช่น แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่เก็บหาผลผลิตจากป่าของชุมชน และแนวกันไฟ เป็นต้น
ในส่วนของ “ไฟจำเป็น” ที่ต้องมีการบริหารผ่านระบบแอพพลิเคชั่นไฟดี (FireD) พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 29 ก.พ. 2567 มีผู้ยื่นคำร้องขออนุญาตและได้รับการอนุมัติสะสมแล้วทั้งหมดจำนวน 5,441รายการ รวมพื้นที่อนุมัติ 166,136.8 ไร่ ซึ่งจากตัวเลขนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแนวทางการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามแนวคิดของเชียงใหม่โมเดลได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติการจริงในหลายๆ พื้นที่ทั่วจังหวัด
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายขอบเขตการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเชียงใหม่โมเดล งานสื่อสารชิ้นนี้จึงเป็นการถ่ายทอดคำบอกเล่าของหนึ่งในทีมงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ และเป็นหนึ่งในผู้ที่ทำงานเพื่อผลักดันให้เชียงใหม่โมเดลได้เป็นความหวังใหม่ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่น pm 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่
ที่มาที่ไปของ “เชียงใหม่โมเดล”
มาตรการแนวทางของการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น pm 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2567 เริ่มต้นมาจากการสรุปบทเรียนการจัดการไฟที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2566 โดยมีประเด็นสำคัญคือเรื่องสาเหตุและปัจจัยการเกิดไฟ ซึ่งในครั้งนั้นทางจังหวัดได้เชิญภาคประชาสังคมหลายกลุ่มเข้าร่วมกระบวนการสรุปบทเรียน เช่น สภาลมหายใจเชียงใหม่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) มูลนิธิไทยรักษ์ป่า เป็นต้น
จากการสรุปบทเรียนพบว่าสาเหตุของการเกิดไฟส่วนหนึ่งมาจากประชาชนบางส่วนที่ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ไฟ โดยเป็นการใช้ไฟทั้งในพื้นที่ทางการเกษตร เช่น ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนซึ่งมีอยู่มากในเขตอำเภออมก๋อย และการใช้ไฟในพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่ป่าซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างเห็ดถอบ ในอีกประการหนึ่งยังพบว่าแม้แต่หน่วยงานป่าไม้เองก็มีความจำเป็นต้องใช้ไฟในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าบางประเภท เช่น ป่าผลัดใบ เพื่อลดความเสี่ยงของการแอบเผาแบบไร้การควบคุม
ในการสรุปบทเรียนครั้งนี้ ภาคประชาสังคมเองได้นำประสบการณ์บทเรียนจากการทำงานกับพื้นที่ต่างๆเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานต่างๆ ของทางจังหวัดด้วย เช่น บทเรียนจากการทำงานร่วมกันระหว่างสภาลมหายใจเชียงใหม่กับโหนด สสส. จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง, ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง, ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง, ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว และตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม และบทเรียนจากการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กับพื้นที่ 12 ตำบลในเขตอำเภออมก๋อย อำเภอแม่แจ่ม อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอจอมทอง อำเภอแม่วาง อำเภอแม่ออน และอำเภอเวียงแหง
ชุดข้อมูลและบทเรียนดังกล่าวคือข้อเท็จจริงที่ว่าชาวบ้านในหลายพื้นที่ หลายอำเภอ มีความจำเป็นต้องใช้ไฟในการบริหารจัดการชีวมวลทั้งในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า ตัวอย่างเช่น ที่ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง เมื่อปี 2566 แต่ละหมู่บ้านได้มีการจัดทำแผนจัดการไฟป่าขึ้น โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างชาวบ้าน เทศบาลตำบลแม่หอพระ และหน่วยงานป่าไม้ในพื้นที่ ซึ่งแผนดังกล่าวมีเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วย โดยระบุว่าจะบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการใช้ไฟจำเป็น จำนวน 1,500 ไร่ และจะเริ่มปฏิบัติการในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่เมื่อสถานการณ์ค่าฝุ่นเริ่มเกินเกณฑ์มาตรฐานคือ มีค่าฝุ่นสูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศเมตร ทางจังหวัดจึงได้ประสานขอความร่วมมือจากอำเภอต่างๆ ให้ชะลอการปฏิบัติตามแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง แผนดังกล่าวจึงถูกชะลอไว้ และถูกเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคม 2566 ได้มีการแอบเผาเกิดขึ้นทั่วทุกหมู่บ้านในพื้นที่ของตำบลแม่หอพระ โดยทั้งตำบลมีพื้นที่ป่าประมาณ 5 หมื่นกว่าไร่ แต่เพราะต้องชะลอและเลื่อนการปฏิบัติตามแผนออกไปเรื่อย ๆ จึงทำให้มีการแอบเผาเกิดขึ้น และเป็นการเผาที่กินเนื้อที่ป่าของตำบลไป 4 หมื่นกว่าไร่ คิดเป็นประมาณ 80% ของพื้นที่ป่าทั้งหมด
ในอดีตที่เคยใช้มาตรการห้ามเผาโดยเด็ดขาดและใช้จุดความร้อน/ฮอตสปอตเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่ในแง่ของการจัดการนั้นได้ประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะทั้งชาวบ้านและหน่วยงานป่าไม้โดยเฉพาะสถานีควบคุมไฟป่าก็ยังมีความต้องการและความจำเป็นในการใช้ไฟ ทำให้มีการแอบจุดในเวลากลางคืนแล้วปล่อยให้ลุกลาม ทั้งยังมีการแอบเผาแบบหลบดาวเทียมตรวจจับจุดความร้อน/ฮอตสปอตด้วย มาตราการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเช่นนี้ทำให้ข้อมูลจุดความร้อน/ฮอตสปอตที่ได้จากดาวเทียมก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง และยังทำให้มีการสะสมของฝุ่นจำนวนมากกว่าปกติ เพราะการแอบเผามักกินเวลายาวถึงช่วงกลางคือซึ่งเป็นช่วงที่อากาศปิด ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นควันและละอองขนาดเล็กที่ได้จากการเผา
ด้วยชุดข้อมูลและบทเรียนสำคัญที่ว่า “การห้ามไม่ให้เกิดไฟเลยนั้นคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อย่างไรเสียก็ต้องมีการแอบจุด” สภาลมหายใจเชียงใหม่จึงได้จัดทำข้อเสนอแล้วยื่นต่อผู้กำหนดนโยบายระดับจังหวัด ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้งหมดก็น้อมรับข้อเสนอและนำมาสู่การแต่งตั้ง “คณะทำงานสนับสนุนการจัดทำแผนป้องกันไฟป่าและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระดับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” ขึ้น เมื่อ 7 กรกฎาคม 2566
คณะทำงานชุดนี้ประกอบไปด้วยนักวิชาการ หน่วยงานของรัฐ และภาคประชาสังคม ซึ่งถือเป็นกลไกลที่สำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันของเชียงใหม่ในปี 2567 โดยในแง่ของการทำงาน คณะทำงานชุดนี้จะมีการประชุมร่วมกัน 1 ครั้ง ในทุกๆ สัปดาห์ เพื่อออกแบบการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันภายในปี 2567 ร่วมกัน ซึ่งหลังจากคณะทำงานชุดนี้แล้วก็ได้มีการตั้งคณะทำงานอื่นๆ ขึ้นอีกหลายคณะ เพื่อให้การทำงานมีความรอบด้านมากยิ่งขึ้น เช่น คณะทำงานและผู้ประสานงาน 7 +1 กลุ่มป่าจังหวัดเชียงใหม่, คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร, คณะทำงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ ,คณะทำงานเรื่องห้องปลอดฝุ่น และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องจุดความร้อน (Hotspot) เป็นต้น
แม้ว่าจะมีคณะทำงานถูกจัดตั้งขึ้นมาในภายหลังอีกหลายชุด แต่คณะทำงานทั้งหมดต่างก็มีแนวทางในการทำงานที่สำคัญ คือเน้นการทำงานร่วมกัน เช่น
1) เวทีสร้างความเข้าใจเรื่องแนวทาง 7+1 กลุ่มป่า
เวทีนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทั้ง 7+1 กลุ่มป่า อาทิ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ปกครองอำเภอ หน่วยงานป่าไม้ ทั้งสำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ และสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นได้มารับรู้ร่วมกันว่าในปี 2567 จังหวัดเชียงใหม่จะนำแนวทาง “เชียงใหม่โมเดล” มาใช้ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น pm 2.5 โดยแนวทางนี้มุ่งเน้นการบริหารจัดการไฟแทนแนวทางการห้ามเผาโดยเด็ดขาด และเพื่อให้รับรู้ร่วมกันถึงนิยามและความหมายของ “ไฟจำเป็น” ทั้งในพื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า และแอพพลิเคชั่นไฟดี (FireD) นอกจากนี้ยังเพื่อให้เป็นที่รับรู้ร่วมกันว่าแนวทางเชียงใหม่โมเดลนี้ได้มุ่งเน้นเรื่องการจัดทำแผนบริหารจัดการไฟป่าเชิงพื้นที่หมู่บ้าน – ตำบล โดยเป็นการจัดแผนร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานป่าไม้
2) เวทีระดับอำเภอและระดับตำบล
เวทีในระดับนี้มีขึ้นเพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับแนวทางและการจัดทำแผนบริหารจัดการไฟป่าร่วมกันระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่ ตัวอย่างเช่น การจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ซึ่งทางอุทยานฯ ได้เชิญตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานฯ มาร่วมจัดทำแผนดังกล่าว โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำแผน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ อันได้แก่
– ขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบของหมู่บ้าน (แต่ละหมู่บ้าน)
– พื้นที่จำเป็นต้องใช้ไฟในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (เช่น พื้นที่ซึ่งมีเห็ดหรือผลผลิตจากป่าของชาวบ้าน และพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟซ้ำๆ)
– จุดตรวจสกัดของหมู่บ้าน
จุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดเวทีย่อยระดับอำเภอและตำบลเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดคือ เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้าน/ตัวแทนหมู่บ้าน ได้นำข้อมูลแผนดังกล่าวกลับไปประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันในหมู่บ้านของตนเองให้กว้างขวางมากที่สุด
3) เวทีประชุมประจำสัปดาห์ของศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุนละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ โดยเวทีนี้มีขึ้นเพื่อการติดตามและสนับสนุนการดำเนินการภายใต้มาตรการจังหวัด
4) การออกมาตรการต่างๆ
ตัวอย่างเช่น มาตราการกำหนดเขตการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและเขตควบคุมการเผาของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งระบุว่าเขตบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งหมายถึงเขตที่สามารถใช้ไฟบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ คือพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ป่าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า และพื้นที่ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการหยุดยั้งการลุกลามของไฟตามหลักวิชาการ โดยให้ดำเนินการตามแผนการบริหารเชื้อเพลิงซึ่งได้จัดทำในระดับอำเภอและตำบล และให้นำข้อมูลลงทะเบียนในระบบแอพพลิเคชั่นไฟดี (FireD) หรือ BernCheck ทุกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 – 31 พ.ค. 2567 ส่วนเขตควบคุมการเผาคือพื้นที่นอกเขตบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งห้ามให้มีการเผาในที่โล่งทุกชนิด รวมไปถึงห้ามให้พื้นที่ชุมชนมีการเผาขยะ เศษกิ่งไม้ทุกชนิด หากฝ่าฝืนบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาดทุกกรณี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 เม.ย. 2567
5) จัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566
ทั้งหมดนี้คือที่มาที่ไปของเชียงใหม่โมเดล โดยหลังจากเดือน ม.ค. ปี 2567 การปฏิบัติงานตามแนวทางเชียงใหม่โมเดลก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน แต่จุดยืนของภาคประชาสังคม ทั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ความต้องการจะทำให้ชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล ได้มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องสิทธิ อำนาจ และงบประมาณในการจัดการปัญหาไฟป่าฝุ่นควันโดยผ่านการจัดทำแผนการจัดการในระดับพื้นที่ และการถ่ายโอนภารกิจในเรื่องการจัดการไฟป่าฝุ่นควันจากกรมป่าไม้และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาอย่างแท้จริง
สิ่งใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น pm 2.5 ตามแนวทาง “เชียงใหม่โมเดล”
ในสายตาของคนทำงานที่ผลักดันและอยู่กับเรื่องนี้มานานแล้ว เห็นว่าสิ่งใหม่ที่เป็นผลมาจากการใช้ “เชียงใหม่โมเดล” ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น pm 2.5 มี 3 อย่างด้วยกัน คือ
1) การทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย หรือที่เรียกได้อีกอย่างว่า “นวัตกรรมเชิงกระบวนการทางสังคม”
เนื่องจากแนวทางของเชียงใหม่โมเดลเน้นกระบวนการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ทำให้มีลักษณะการทำงานใหม่เกิดขึ้นในหมู่คนทำงาน กล่าวคือ เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นการทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ มีช่องว่างระหว่างชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ซึ่งนำมาสู่ไฟแค้น ไฟขัดแย้ง) มาสู่การทำงานที่หลายฝ่ายได้ร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น
โดยสิ่งใหม่อย่างแรกนี้จะได้จากการทำงานในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำหนดขึ้นมาจากตำบลที่มีจุดความร้อน (จุดฮอตสปอต) เกิน 200 จุด ในปี 2566 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 21 ตำบล ทั่วจังหวัด แล้วก็ขยายมิติพื้นที่ของตำบลออกเป็นพื้นที่กลุ่มป่า เช่น กลุ่มป่าสุเทพ ปุย ออบขาน ซึ่งที่มาจากตำบลสะเมิงใต้ ซึ่งเป็นตำบลที่จุดความร้อนเกิน 200 จุดในปี 2566 จากนั้นก็ขยายพื้นที่ยุทธศาสตร์ออกไปในบริเวณใกล้เคียง คือ ตำบลบ้านปง ตำบลน้ำแพร่ ในเขตอำเภอหางดง, ตำบลน้ำบ่อหลวง ในเขตอำเภอสันป่าตอง, ตำบลแม่วิน และตำบลดอนเปา ในเขตอำเภอแม่วาง เป็นต้น
แม้ว่าพื้นที่ทำงานจะมีหลายพื้นที่คือ ตาม 7 + 1 กลุ่มป่า แต่ทุกพื้นที่ก็ทำงานโดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ลดตัวชี้วัดทั้ง 4 ประการลง 50% จากสถิติในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านั้นได้แก่
1.จำนวนจุดความร้อน
2.จำนวนพื้นที่เผาไหม้
3.จำนวนวันที่ค่าอากาศเกินมาตรฐาน
4.จำนวนการเข้าใช้บริการทางสุขภาพของผู้ป่วย COPD หรือผู้ป่วยด้วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
2) การมุ่งให้เกิด “แผนการจัดการในระดับพื้นที่” และใช้ “ข้อมูลเทคโนโลยี” เพื่อรองรับการจัดทำแผนฯ
เนื่องจากแนวทางเชียงใหม่โมเดลได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ทางเกษตรที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียน และเป็นพื้นที่สูง เครื่องจักรไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่วนในพื้นที่ราบจะต้องใช้แนวทางอื่นๆ ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เช่น การไถกลบ หรือการแปรรูป ส่วนในพื้นที่ป่าก็เน้นเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่หาอยู่หากินของคนในชุมชน ซึ่งแนวทางนี้ทำให้มีการวางแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบรายบ้าน รายตำบล และแผนรายกลุ่มป่า โดยใช้ข้อมูลเป็นฐานในการจัดทำแต่ละแผน
ขณะเดียวกัน แนวทางก็ได้ทำให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยใช้ไฟจำเป็นเป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย เพราะมีประกาศจากทางจังหวัดรองรับไว้เป็นทางการ
กล่าวได้ว่าเชียงใหม่โมเดลเป็นแนวทางที่เน้นให้การเกิดการจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่ เป็นการทำแผนที่มีการใช้ข้อมูล ข้อมูลเท็จจริงประกอบ ขณะที่ก็มีการรับรองให้การใช้ไฟจำเป็นหรือการเผาอย่างควบคุมเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ซึ่งสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้นับว่าเป็นความหวังใหม่อย่างหนึ่งของการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกคัวน และฝุ่น pm 2.5 เลยก็ว่าได้
3) การปรับ “กลยุทธในการทำงานเพื่อให้ทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา” เช่น เดินหน้าเข้าหาไฟก่อนการจุด, หยุดไฟกลางคืน เป็นต้น
ปัญหา อุปสรรค หรือข้อท้าทาย ในการนำแนวทาง “เชียงใหม่โมเดล” มาใช้แก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น pm 2.5
เนื่องจากเป็นปี 2567 เป็นปีแรกซึ่งโดยส่วนตัวในฐานะคนทำงานเห็นว่าความน่าสนใจของการนำเชียงใหม่โมเดลไปปฏิบัติจริงคือ แนวทางเชียงใหม่โมเดลทำให้มีบรรยากาศของการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ ประชาชน ประชาสังคม ทั้งในระดับจังหวัด และในระดับพื้นที่ ทำให้ช่องว่างของฝ่ายต่างๆที่เคยมีต่อกันลดลง
อีกประการหนึ่งคือ แนวทางเชียงใหม่โมเดลทำให้หลายภาคส่วนได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในการทำงานเรื่องการใช้ไฟแบบควบคุมร่วมกันในพื้นที่จำเป็น เกิดการรับรู้ว่าจะมีแนวทางนี้ มีการชี้จุด ชี้เป้าพื้นที่ร่วมกัน รวมถึงเข้าไปปฏิบัติการร่วมกัน
แต่ด้วยการที่เป็นปีแรกในการนำแนวทาง “เชียงใหม่โมเดล” มาใช้ ดังนั้นจึงย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีปัญหา อุปสรรค และข้อท้าทายในการปฏิบัติงาน ซึ่งในมุมมองของคนทำงานแล้ว มองว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุด และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องลงมือทำอย่างยิ่งคือ การถอดบทเรียนในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม, ระบบไฟดี ( FireD), กระบวนการสร้างการรับรู้ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ในระดับพื้นที่และระดับสาธารณะ ตลอดจนปัจจัยเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้นำไปขยายผลในปี 2568 และปีอื่นๆ ต่อไป
ผลงานชุดนี้อยู่ในโครงการ แผนงานภาคเหนือฮ๋วมใจ๋แก้ปัญหาฝุ่นควันที่มีผลต่อสุขภาวะนำไปสู่อากาศสะอาดที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือจากสภาลมหายใจเชียงใหม่และ Lanner สนับสนุนโดย สํานักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปวีณา หมู่อุบล
อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนัก (ลอง) เขียน อนาคตไม่แน่นอน