’หวั่นกระทบสุขภาพระยะยาว‘ แพทย์ มช. ห่วงสถานการณ์ฝุ่นพิษเริ่มรุนแรง

6 มีนาคม 2567 เฟซบุ๊คเพจสภาลมหายใจเชียงใหม่ได้โพสต์คำสัมภาษณ์ของ รศ.นพ.อรรถวุฒิ ดีสมโชค หัวหน้าหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. โดยระบุว่าจากการศึกษาของหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤต และภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ และคณะ พบว่า ในช่วงที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10) ในปริมาณสูง จะมีการเพิ่มขึ้นของการกำเริบเฉียบพลันของผู้ป่วยโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดที่ปอดเฉียบพลัน รวมทั้งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสมรรถภาพปอดในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้

ฝุ่น PM 10 หรือเรียกว่า ฝุ่นหยาบ (Course Particles) คือ อนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2.5 – 10 ไมครอน ฝุ่น PM 10 ยังมีความสัมพันธ์กับอัตราเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะการติดเชื้อรุนแรงในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงอีกด้วย

สำหรับฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองจิ๋ว เทียบกับ PM 10 ถือว่ามีอันตรายมากกว่า ฝุ่น PM 2.5 มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากการเกษตร ไฟป่า การเผาขยะ กระบวนการอุตสาหกรรม ควันไอเสียจากยานพาหนะต่างๆ ควันบุหรี่ ควันธูป เป็นต้น กรณีเมื่อฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายจะได้รับควันพิษจากก๊าซอื่นๆ ปนมาด้วย เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และสารก่อมะเร็งหลายชนิด

นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ยังทำให้มีอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจลำบาก เคืองตา คันผิวหนัง ในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สมรรถภาพปอดลดลง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมทั้งมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ

ล่าสุดมิถุนายน 2566 ประเทศไทยได้กำหนดค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศ ในเวลา 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร จึงจะถือว่าอยู่ในระดับปลอดภัยต่อสุขภาพ

“ในช่วงสถานการณ์หมอกควันไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กำลังรุนแรงขณะนี้ ประชาชนควรเฝ้าระวัง โดยเฉพาะ PM 2.5 โดยให้หลีกเลี่ยงการสร้างฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น ทั้งในบ้านและในที่โล่งแจ้ง ติดตามระดับฝุ่น PM 2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ถ้าอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (AQI มากกว่า 100) ให้หลีกเลี่ยงหรือลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากาก N95 และสังเกตอาการ ถ้ามีอาการผิดปกติให้มาพบแพทย์ ในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง ให้อยู่ในบ้านหรือสถานที่ที่ปิดหน้าต่างและประตูอย่างมิดชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5” รศ.นพ.อรรถวุฒิ ดีสมโชค กล่าว

ทั้งนี้รูปภาพจากเฟซบุ๊ค Ming guo ที่ถ่ายภาพมุมสูงจากเครื่องบินพบกลุ่มควันสีเทาหนาปกคลุมทั่วจังหวัดเชียงใหม่และไม่สามารถมองเห็นภาพของเมืองเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจน โดยในวันนี้แอพพลิเคชั่น IQAir สามารถวัดค่าฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่สูงถึง 161 US AQI ซึ่งในพื้นที่ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบค่าฝุ่นสูงที่สุดในประเทศกว่า 187 US AQI ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง