Lanner เปิดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com
เรื่อง: ศิลปะ เดชากุล
Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives หรือ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” (2010) เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เพียงสร้างปรากฏการณ์ในระดับนานาชาติด้วยการคว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แต่ยังเป็นภาพยนตร์ไทยที่ลุ่มลึกทางความรู้สึกและความหมายหาตัวจับยาก กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับสัญชาติไทยร่วมสมัยที่มีลายเซ็นชัดแจ้งที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งสร้างพื้นที่ทางศิลปะของตนเองได้อย่างมั่นคง เขาท้าทายขนบของการเล่าเรื่องกระแสหลัก ไม่เร่งเร้าอารมณ์ ไม่พึ่งบทสนทนา และไม่บังคับให้ผู้ชมต้องเข้าใจหรือเห็นตรงกัน
ใน ลุงบุญมีระลึกชาติ อภิชาติพงศ์ สานเรื่องราวผ่านเส้นใยของความฝัน ความทรงจำ และสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยมิได้มอง “ผี” ในฐานะสิ่งน่าหวาดกลัว หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของสายใยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ความรัก และอดีตที่ยังมิได้เลือนหาย ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมิใช่เพียงเรื่องของชายชราใกล้สิ้นลมหายใจผู้สามารถระลึกชาติได้ หากเป็นภาพสะท้อนความเข้าใจของผู้คนในสังคมไทยต่อความตาย และการดำรงอยู่ของสิ่งลี้ลับที่ร่วมเคียงอยู่ในวิถีชีวิต
ภาษาภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์มีลักษณะเฉพาะ เรียบง่ายแต่เปี่ยมความรู้สึกผ่านการเคลื่อนไหวของกล้องที่สงบนิ่ง แสงธรรมชาติที่ไหลเวียนอ่อนโยน และองค์ประกอบเชิงนามธรรมซึ่งหลอมรวมกันเป็นประสบการณ์แห่งการรับชมที่มุ่งให้ “รู้สึก” มากกว่าการ “เข้าใจ” ผ่านตรรกะ ภายใต้ความเรียบง่ายนั้น เสียงสะท้อนของประวัติศาสตร์อันบอบช้ำ โดยเฉพาะในบริบทของภาคอีสาน ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลที่กดทับลืมเลือน แทรกซึมด้วยการเมือง ความเชื่อ และจินตนาการในแบบที่ไม่สามารถพูดได้ตรงๆ แต่กลับค่อย ๆ “กระซิบ” ผ่านภาพ เสียง และความเงียบงัน ที่ปล่อยให้ผู้ชมร่วมเรียบเรียงความหมายขึ้นใหม่ด้วยจังหวะของใจตนเอง
จังหวะระลึกชาติ เงาสะท้อนวิญญาณในห้วงความทรงจำ
ลุงบุญมี เจ้าของสวนผลไม้และฟาร์มผึ้งที่อาศัยอยู่ในชนบทของภาคอีสาน เขาป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้าย จึงตัดสินใจใช้ช่วงเวลาสุดท้ายในบ้านที่รายล้อมด้วยป่าไพร สงบปราศจากความหวาดกลัว ขณะเดียวกัน ลุงบุญมีได้รับการดูแลจากป้าเจน ซึ่งเป็นน้องสาวของภรรยาที่ล่วงลับ และโต้ง หลานชาย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามไม่เพียงเป็นสายใยของครอบครัว แต่ยังสะท้อนถึงโครงสร้างของชุมชนชนบทที่ผสมผสานระหว่างศาสนา ความเชื่อ และการดูแลกันในยามใกล้ตาย
ระหว่างรับประทานอาหารยามค่ำคืน วิญญาณของภรรยาผู้ล่วงลับ “ฮวย” ได้ปรากฏตัวขึ้นโดยไม่มีใครตกใจ และไม่นานนัก “บุญส่ง” ลูกชายที่หายไปนานก็กลับมาในร่างของสิ่งมีชีวิตคล้ายลิงขนดกดำ ดวงตาแดงเรืองแสง การกลับมาของทั้งสองไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติในสายตาของทุกคน แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ปรากฏขึ้นอย่างเรียบง่าย ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ส่องสะท้อนการไม่แบ่งแยกระหว่างโลกคนเป็นกับโลกวิญญาณอย่างแข็งกระด้าง
การเดินเข้าไปในถ้ำของลุงบุญมีในช่วงท้ายเอง ก็มิใช่เพียงการจากลา แต่เป็นการย้อนกลับไปหาความจริงในอดีตชาติ ตัวหนังไม่ได้ให้คำตอบว่าเขาเคยเป็นใคร มีภูมิหลังแบบไหน แต่กลับมอบความคลุมเครือชวนให้ตีความว่าความผิดและกรรมในอดีต ยังคงดำรงอยู่ภายในตัวตนของเขา เป็นกระจกสะท้อนสังคมไทยที่ยังไม่เคยคลี่คลายประวัติศาสตร์บาดแผลอย่างเปิดเผย
ธรรมชาติ ความเงียบ ซุ่มเสียงของการระลึก
อีกองค์ประกอบที่ทำให้ลุงบุญมีระลึกชาติ ต่างอย่างเด่นชัดจากภาพยนตร์ทั่วไป คือการใช้เสียงธรรมชาติและความเงียบเป็นภาษาหลัก ทั้งเสียงจิ้งหรีด กบร้อง ลมพัดผ่านใบไม้ และน้ำไหลในลำธาร ไม่ใช่เพียงการออกแบบฉากหลัง แต่เป็นสิ่งที่เล่าเรื่องแทนคำพูด สื่อถึงความมีอยู่ของชีวิต ความทรงจำ และวิญญาณที่แทรกซึมอยู่
ความเงียบที่แทรกอยู่ในภาพยนตร์ไม่ใช่ความว่างเปล่า หากคือพื้นที่ของการรับฟัง การไตร่ตรอง และการยอมรับความไม่แน่นอน ในหลายฉาก เราอาจไม่เห็นเหตุการณ์สำคัญทางเนื้อเรื่องเกิดขึ้น แต่กลับสัมผัสได้ถึงความเคลื่อนไหวทางอารมณ์ ความฝัน หรือความทรงจำผ่านเพียงภาพนิ่ง เสียงธรรมชาติ และจังหวะเวลาที่ทอดยาว
ยิ่งไปกว่านั้น “Acrophobia” เพลงของเจตมนต์ มละโยธา (Penguin Villa) ปรากฏในฉากสุดท้าย ทำหน้าที่ดั่ง “เสียงแห่งการระลึก” ที่สะท้อนถึงสิ่งที่ตัวละครและผู้ชมได้เดินทางผ่านมา เศร้าแต่ไม่สิ้นหวัง คล้ายเสียงกังวานของอดีตที่ยังไม่จางหาย
การเมืองความเงียบ ประวัติศาสตร์ไม่อาจเอ่ย
ปี 2010 (พ.ศ.2553) ซึ่งเป็นปีที่ภาพยนตร์ออกฉาย ตรงกับช่วงหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลายเป็นบาดแผลทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ภายใต้บริบทเช่นนี้ ลุงบุญมีระลึกชาติจึงอาจถูกตีความว่าเป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถพูดออกมาอย่างตรงไปตรงมาได้
ขณะเดียวกัน หนึ่งในฉากที่เงียบงันแต่กึกก้องที่สุด คือการเดินทางเข้าสู่ถ้ำลึกที่เงียบเย็นราวกับอีกภพหนึ่ง ท่ามกลางความมืดและเสียงของธรรมชาติ ลุงบุญมีเอ่ยคำสารภาพอย่างแผ่วเบา แต่หนักแน่นว่าในอดีต เขาเคยฆ่าคนที่ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” คำที่สังคมไทยในยุคหนึ่งใช้เรียก “ผู้ฝักใฝ่ในคอมมิวนิสต์” อย่างคลุมเครือแต่เจตนาชัด
ในช่วงกลางทศวรรษ 2500 เป็นต้นไป ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เริ่มแผ่ขยายเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ผ่านการถ่ายทอดอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งได้รับแรงขับจากบริบทของสงครามเย็น ตลอดจนความขัดแย้งทางชนชั้นที่ฝังรากลึกในสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่ชาวนาและประชาชนผู้ยากไร้ ที่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการใช้อำนาจโดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ
ภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์จึงมิใช่เพียงแนวคิดทางการเมือง หากเป็นแสงริบหรี่ของความหวังในสายตาของชาวบ้านจำนวนไม่น้อย ความหวังในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมที่ไม่เคยเอื้อมถึง
การเอ่ยถึงการฆ่าคอมมิวนิสต์อย่างตรงไปตรงมาในพื้นที่ที่เงียบไร้การพิพากษา ทำให้ฉากนี้ไม่ใช่เพียงการสารภาพบาปของชายคนหนึ่ง หากเป็นการเปิดเผยเงามืดทางประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ถูกกล่าวถึงอย่างแท้จริงในสื่อกระแสหลักของไทย เป็นประโยคเดียวในหนังที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศนี้เคยมีคนจำนวนมากถูกทำให้
“เป็นอื่น” และ “ถูกฆ่าได้” เพียงเพราะอุดมการณ์
ถ้ำจึงไม่ใช่เพียงสถานที่ แต่เป็นดินแดนของความทรงจำ การกลับไปพบอดีตของชาติผ่านเสียงสารภาพของลุงบุญมี ไม่ใช่เพื่อลบล้าง แต่อาจเพื่อยอมรับ ว่าในเงาของความสงบนั้น ยังมีเสียงของผู้ถูกลืมสะท้อนอยู่เสมอ
ยิ่งไปกว่านั้น ลิงผีตาแดงอาจเป็นสัญลักษณ์ของผู้ถูกทำให้เป็น “อื่น” หรือปีศาจทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อระเบียบอำนาจ ภูมิทัศน์ของภาคอีสานที่มักปรากฏในฐานะฉากหลังของประวัติศาสตร์ชาติก็ได้รับการยกระดับให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของความทรงจำในหนังเรื่องนี้ ความรู้สึกผิดที่ฝังอยู่ในตัวบุญมีจึงไม่ใช่เพียงกรรมส่วนบุคคล แต่คือ “กรรมร่วม” ของสังคมไทยที่ยังไม่กล้ามองตรงไปยังอดีตของตนเอง
อดีตยังอยู่กับเรา
ลุงบุญมีระลึกชาติ ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องเพื่อเฉลยปริศนา หากแต่เป็นการเดินทางผ่านความเงียบ ผ่านแสง และผ่านจังหวะของชีวิตที่ดำเนินไปอย่างไม่รีบร้อน มันคือภาพยนตร์ที่ไม่ต้องการให้ผู้ชมเข้าใจด้วยเหตุผล แต่ต้องการให้ “รู้สึก” ด้วยหัวใจ
ความทรงจำในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ของลุงบุญมี หากยังรวมถึงความทรงจำของพื้นที่ ผู้คน วิญญาณ และความเป็นไทยที่แอบซ่อนอยู่ใต้ชั้นของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ไม่ได้ให้คำตอบว่าความตายคืออะไร หรือวิญญาณมีจริงหรือไม่ แต่มันชี้ชวนให้เรากลับไปสำรวจสิ่งที่อาจถูกลืม สิ่งที่อยู่เบื้องหลังเสียงที่ไม่ได้พูด
ในแง่นี้ การระลึกชาติของลุงบุญมี จึงไม่ใช่การมองย้อนอดีตของตัวละครเพียงลำพัง แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมแต่ละคนได้เผชิญหน้ากับอดีตของตนเอง อดีตในระดับปัจเจก อดีตร่วมของสังคม อดีตที่ถูกกดทับไว้ด้วยความเงียบ ด้วยความกลัว และด้วยอำนาจที่ไม่อยากให้มันถูกพูดถึง
วลีที่ว่า “อดีตอาจเลือนหายไป แต่บางครั้ง อดีตก็ไม่เคยปล่อยให้เราหลุดพ้น” คือหัวใจของหนัง เพราะในทุกภาพ ทุกเสียง และทุกความเงียบ ภาพยนตร์กำลังย้ำเตือนว่าอดีตยังอยู่กับเราเสมอ มันอาจไม่ปรากฏเป็นตัวหนังสือในตำรา ไม่ถูกพูดถึงในข่าวสาร แต่กลับฝังแน่นอยู่ในภูมิทัศน์ของความรู้สึก ความฝัน และความทรงจำที่เราทุกคนแบกรับไว้โดยไม่รู้ตัว
บางที “การระลึกชาติ” ที่แท้จริง ก็ไม่ใช่ความสามารถเหนือธรรมชาติของบุญมี แต่คือความสามารถของผู้ชมในการเงี่ยหูฟังสิ่งที่เคยเงียบ การตั้งใจมองสิ่งที่เคยถูกทำให้มองไม่เห็น และการยอมรับอดีต แม้มันจะเปราะบาง เจ็บปวด และไม่สมบูรณ์ก็ตาม

ศิลปะ เดชากุล
นักเรียนรัฐศาสตร์ และผู้จัดการ Crackers Books ผู้หลงใหลในศิลปะ ภาพยนต์ และบทเพลง