จากเสียงสะท้อนของชาวบ้านใน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหามลพิษในแม่น้ำกก เนื่องจากพบว่าน้ำในแม่น้ำมีความขุ่นข้นผิดปกติและมีปลาตายเป็นจำนวนมาก สร้างความวิตกกังวลต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) หรือ สคพ.1 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพและสารมลพิษ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568
4 เมษายน 2568 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) เปิดผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ โดยระบุว่า แม่น้ำกกมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ ‘เสื่อมโทรม’ ทั้งยังตรวจพบการปนเปื้อนของโลหะหนักที่เกินค่ามาตรฐาน ประกอบด้วย ‘ตะกั่ว’ และ ‘สารหนู’ พร้อมทั้งเตือนประชาชนลุ่มน้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และหลายอำเภอในจังหวัดเชียงราย งดใช้น้ำอุปโภคบริโภคที่ทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งในระยะยาว
อาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ได้เปิดเผยกับศูนย์ข่าวไทยพีบีเอสภาคเหนือถึงประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองคือ การปนเปื้อนของสารหนู ซึ่งเป็นสารที่มักพบร่วมกับแร่ทองคำ หากกระบวนการสกัดและบำบัดสารหนูไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนโดยตรง พิษของสารหนูสามารถก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘ไข้ดำ’ หรือโรคทางผิวหนัง ซึ่งแสดงออกเป็นจุดสีดำบนร่างกาย และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงได้
“สารหนูจัดว่าเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก หากสัมผัสนานๆ อาจเกิดมะเร็งได้ นอกจากการสัมผัสแล้ว การดื่ม การกินปลาหรือสัตว์น้ำ รวมทั้ง ไกหรือเทาน้ำ ก็อาจจะทำให้เกิดการดูดซึมสารเคมีเหล่านี้ได้”
สารหนู กับผลกระทบระยะยาว
สารหนูเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งแบบเฉียบพลันและระยะยาว ข้อมูลจาก คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ระบุว่า ผู้ที่ได้รับสารหนูปริมาณมากอาจทำให้เกิดภาวะสารหนูเป็นพิษต่อร่างกายแบบเฉียบพลันจนถึงแก่เสียชีวิตได้ ในกรณีที่ผิวหนังสัมผัสกับสารหนูจะก่อให้เกิดอาการบวมแดง และหากลืนสารหนูเกินปริมาณที่กำหนด อาจส่งผลให้เกิดอาการ ปวดท้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นตะคริว คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น
ทั้งนี้ ปริมาณสารหนูที่ถือว่าอันตรายสำหรับร่างกายคนเราคือปริมาณ 1.5-500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่หากได้รับในปริมาณ 130 มิลลิกรัมก็ทำลายระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ลำไส้ และตับได้ หรือหากได้รับในปริมาณเล็กน้อยติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี อาจทำให้เกิดโรคพิษสารหนูเรื้อรังที่ส่งผลร้ายต่อผิวหนังและก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งปอด ได้เช่นกัน
ควรรับมืออย่างไรเมื่อได้รับสารหนู
เมื่อได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ผู้ป่วยควรปฐมพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้พิษของสารหนูทำลายระบบการทำงานของร่างกายได้ การช่วยเหลือในเบื้องต้นควรสังเกตลักษณะอาการของผู้ป่วยให้ละเอียด และรีบปฐมพยาบาลด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
1.ได้รับสารหนูผ่านการรับประทานหรือดื่ม หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวควรพยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมามากที่สุด จากนั้นจึงให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว เพื่อเจือจางสารพิษ
2.ได้รับสารหนูทางการหายใจ ควรพาผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อให้หายใจนำอากาศที่ดีเข้าร่างกายมากขึ้น ทั้งนี้ ในบางกรณีอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย จึงควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อความปลอดภัย
3.สัมผัสสารหนูทางผิวหนัง ควรรีบถอดเสื้อผ้าที่มีการปนเปื้อนออกเพื่อไม่ให้ผิวหนังของผู้ป่วยสัมผัสกับสารหนูเป็นเวลานาน จากนั้นล้างบริเวณที่สัมผัสกับสารหนูด้วยน้ำสะอาด
4.สารหนูเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดติดต่อกันครู่หนึ่ง หากสวมคอนแทคเลนส์และถอดออกได้ ควรถอดออกเพื่อความปลอดภัย จากนั้นรีบไปพบแพทย์
สารพิษในแม่น้ำกก เชื่อมโยงกับเหมืองทองหรือไม่?
ข้อมูลจากคนในพื้นที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2566 การทำเหมืองทองคำขยายตัวอย่างรวดเร็วริมแม่น้ำกกในเมืองยอน ทางตอนใต้ของอำเภอเมืองสาด รัฐฉาน พื้นที่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ส่งผลให้มลพิษทางน้ำรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2567 ซึ่งหมู่บ้านริมแม่น้ำกกทั้งฝั่งไทยและเมียนมาประสบกับโคลนและน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี
ทั้งนี้แถลงการณ์ยังเผยว่าปัจจุบันมีบริษัทจีนหลัก 4 แห่ง ที่ดำเนินการขุดเหมือง โดยใช้แรงงานชาวจีนกว่า 300 คน ขุดทองจากเนินเขาและริมฝั่งแม่น้ำ รวมถึงการใช้เรือขุดทองโดยตรงในแม่น้ำกก คนในพื้นที่จึงตั้งข้อสังเกตว่า สารตกค้างเหล่านี้มีที่มาจากการทำเหมืองทองหรือไม่?
อาวีระ บอกเล่าจากประสบการณ์ในพื้นที่เหมืองทองคำ จ.พิจิตร ว่าการพบแร่ทองคำตามธรรมชาติมักมาคู่กับการพบสารหนูเสมอ ถือเป็นเรื่องปกติในทางธรณีวิทยา โดยสารหนูยังสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เช่น ในน้ำบาดาลในบางฤดูกาล หรือในช่วงที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีองค์ประกอบของสารหนูอยู่ด้วย
อาวีระกล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรเฝ้าระวังคือ หากตรวจพบสารหนูในระดับสูงเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า แหล่งที่มาของสารปนเปื้อนเหล่านี้ไม่ได้มาจากธรรมชาติในระดับปกติ แม้ว่าสารปนเปื้อนเหล่านี้ จะมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจาก การทำเหมืองแร่ การขุดหน้าดิน หรือแม้แต่การขุดลอกร่องน้ำ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้สารปนเปื้อนเหล่านี้ฟุ้งกระจายและกระทบต่อคุณภาพน้ำได้มากกว่าปกติ แต่ในกรณีนี้ ก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากการทำเหมืองทองคำจริงหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน
“ถ้าจะบอกว่ามันมาจากการทำเหมืองแน่นอนอันนี้ยังบอกไม่ได้ 100% เพราะข้อมูลจากทางสำนักงานหรือกรมควบคุมมลพิษก็ยังไม่ได้มีหลักฐานที่ชัดเจนในเชิงประจักษ์ได้ แต่ถ้าดูจากภาพถ่ายทางอากาศ ก็จะเห็นชัดเลยว่า พื้นที่ด้านบนมีการเปิดหน้าดินค่อนข้างเยอะ อันนี้ต้องรอให้ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และยืนยันกันอย่างเป็นทางการอีกทีครับ”
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป กับความกังวลใจที่รุนแรงขึ้นทุกวัน
หลังการเดินขบวนรณรงค์เพื่อปกป้องแม่น้ำกกเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำกกก็ตื่นตัวมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการประกาศยืนยันว่าตรวจพบสารพิษตกค้าง ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศในแม่น้ำ ยิ่งเพิ่มความกังวลใจของคนในชุมชนมากกว่าเดิม
“แม่หล้า” (นามสมมติ) หญิงวัย 60 ปี ชาวบ้านริมแม่น้ำกก ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เล่าถึงความรู้สึกของตนและเพื่อนบ้านว่า ตอนแรกที่เห็นว่าน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนสีและขุ่นข้นผิดปกติ เธอก็รู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อมีการประกาศเตือนเรื่องสารพิษที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งและโรคผิวหนัง ความไม่สบายใจของเธอก็เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่า เช่นเดียวกับคนในชุมชนที่ต่างรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัยของแหล่งน้ำที่เคยใช้ประโยชน์กันมาอย่างยาวนาน
“ส่วนใหญ่ที่พบก็คือเป็นโรคผิวหนัง ตอนนี้ก็เริ่มมีคนที่ใช้น้ำแล้วเป็นผื่นคันนะ แล้วก็ลุกลามจนกลายเป็นแผลเรื้อรัง”
แม่หล้าเล่าว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำกกส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่เคยลงเล่นน้ำหรือสัมผัสกับแม่น้ำอยู่เป็นประจำ หลายคนเริ่มมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับโรคผิวหนัง จนทำให้ไม่มีใครกล้าลงน้ำอีก
“ช่วงหน้าแล้ง น้ำบาดาลก็ไม่มี น้ำประปาภูเขาก็ไม่มี คนทุกเผ่าก็ต้องพึ่งแม่น้ำกกนี่แหละ เป็นศูนย์กลางของชีวิตเลย ชาวบ้านก็เลยไม่สามารถใช้น้ำสำหรับอาบหรือซักผ้าได้เต็มที่เหมือนเดิม ส่วนใหญ่ตอนนี้ก็เอาไว้ใช้ในการเกษตรอย่างเดียว”
แม่หล้าเสริมว่า คนที่ได้รับผลกระทบหนักคือ ชาวประมง หรือชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลาในแม่น้ำกกเป็นหลัก ซึ่งมีรายได้จากการจับปลาลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผู้คนในพื้นที่ไม่กล้าบริโภคปลาที่จับได้จากแม่น้ำกกอีกต่อไป ด้วยความกังวลเกี่ยวกับสารพิษตกค้างหรือสารเคมีที่อาจปนเปื้อนอยู่ในเนื้อปลา นอกจากนั้น หลังมีข่าวการตรวจพบสารปนเปื้อนในน้ำ บรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่ก็ยิ่งเงียบเหงาอย่างเห็นได้ชัด ทำให้กับผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ มีรายได้ลดลงตามไปด้วย
สำหรับแม่หล้าและคนในพื้นที่ แม่น้ำกกไม่ใช่แค่แม่น้ำเท่านั้น แต่เป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่ที่ทุกชนเผ่ามาเจอกัน พบปะ สังสรรค์ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน เรียกได้ว่าเป็นเหมือนหัวใจของพี่น้องชนเผ่าที่อยู่ริมลุ่มน้ำกก
“เพราะว่าน้ำกก โดยเฉพาะช่วงต้นน้ำ มันคือแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนเป็นล้านชีวิต ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มันเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่เลย ที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต”
ผลกระทบจากมลพิษในแม่น้ำกกไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงวิถีชีวิตและสภาพจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย หลายครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิต หาทางออกท่ามกลางความไม่แน่นอนและความกังวลใจในทุกวัน
การตรวจพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำ นอกจากจะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงทางสุขภาพที่ชัดเจนแล้ว ยังสะท้อนถึงความเปราะบางของชุมชนที่ต้องแบกรับความกังวลใจทุกครั้งที่ใช้น้ำ ใช้ชีวิต หรือแม้แต่การทำมาหากินในแม่น้ำที่เคยเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตมาก่อน
ความหวังของชาวบ้านจึงไม่ได้อยู่แค่ในคำเตือนหรือมาตรการชั่วคราว แต่ต้องการเห็นการลงมือแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเร่งตรวจสอบหาแหล่งกำเนิดของสารพิษ และการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ คือสิ่งที่ชาวบ้านต่างเรียกร้อง เพื่อให้แม่น้ำกกกลับมาสะอาดและเป็นแหล่งชีวิตของชุมชนดังเดิม
วันที่ 6 เมษายน 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ได้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานในประเทศ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับ รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ผ่านกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง – ล้านช้าง (LMC) เพื่อสอบถามข้อมูล ติดตามสถานการณ์ และร่วมกันหามาตรการที่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังประสานกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) เพื่อขอความร่วมมือด้านการสื่อสารและการประสานข้อมูล โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการตรวจสอบที่มาและแนวทางการจัดการที่ชัดเจนในฝั่งเมียนมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในประเด็นคุณภาพน้ำและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ สทนช. ยืนยันว่า จะยังคงเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และกำหนดแนวทางรับมืออย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำกกอย่างยั่งยืน
รายการอ้างอิง
โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวภาคเหนือ
สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่)
คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...