‘เชียงใหม่เมืองหมูกระทะ’แล้วจะจัดการขยะยังไงให้จริงใจในวันที่ร้านหมูกระทะเต็มเมือง

เรื่อง: ปิยชัย นาคอ่อน 

คำกล่าวที่ว่า “เชียงใหม่เมืองหมูกระทะ” อาจไม่ได้เป็นเพียงคำกล่าวลอย ๆ แต่มีผลสำรวจและข้อมูลจากเพจ The Urbanis ที่ดำเนินโครงการสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมือง เพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 พบว่ามีร้านหมูกระทะ-ชาบู รวมกันกว่า 450 ร้าน ในปี พ.ศ. 2565 เฉพาะร้านหมูกระทะมีมากกว่า 170 ร้าน (Urbanis, 2022) ยังไม่รวมร้านชาบู – หมูกระทะและร้านอาหารประเภทกินได้ไม่อั้น (All you can eat: Buffet) ที่เปิดใหม่ในทุก ๆ วัน หรือล่าสุด (มีนาคม 2567) มีการเปิดตัวร้านชาบูชื่อดังจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าการแข่งขันของร้านชาบู – หมูกระทะในเชียงใหม่มีความเข้มข้นและส่วนแบ่งตลาดที่สูงมาก 

ด้วยจำนวนร้านหมูกระทะที่มีเยอะพอ ๆ กับร้านกาแฟในตัวเมือง ก็พออนุมานได้ว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากแต่ละร้านในแต่ละวันรวมกันจะมากมายเพียงใด ขยะอาหารเหล่านี้ก็เป็นตัวการหนึ่งในการสร้างฝุ่นและมลภาวะในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นในร้านที่ทำให้เกิดมลภาวะ เช่น ควันจากการจุดเตา ขยะพลาสติกจากแผนรองหมูสไลด์ ตะเกียบ แก้วน้ำ ช้อน ซ้อมต่าง ๆ ซึ่งการจัดการของร้านส่วนใหญ่จะไม่ได้แยกขยะเหล่านี้ แต่จะเทรวมกันเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และเพื่อลดเวลาการรอคิวของลูกค้ากลุ่มถัดไป

จากข้อมูลของเทศบาลตำบลสุเทพ พบว่างบประมาณในการจัดการขยะทั้งปีมากกว่า 20 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการไม่แยกขยะจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางเทศบาลมีนโยบายที่จะลดค่าใช้จ่ายลงด้วยการจ้างหน่วยงานเอกชนเข้ามาจัดการและนำขยะอาหารส่วนหนึ่งนำไปหมักร่วมกับใบไม้ ภายใน 48 ชั่วโมง เศษอาหารเหล่านั้นจะกลายเป็นปุ๋ยเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน และจะมีการส่งเสริมให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เทศบาลสามารถแยกขยะได้อย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการแยกขยะต่อไป

นอกจากนี้ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลสุเทพ ยังนำเอาขยะชีวมวล ได้แก่ขยะอาหารจากในมหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบนำมาทำเป็นพลังงานทดแทนเพื่อใช้ในรถขนส่งสาธารณะของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

แล้วเราสามารถมีส่วนช่วยในการจัดการจัดการขยะอาหารเหล่านี้อย่างไร? งดบริโภคหมูกระทะไหม? หากตอบแบบกำปั้นทุบดินคือใช่ แต่อย่างไรก็ตามยังมีทางออกของการจัดการขยะอาหารที่มีประสิทธิภาพมากกว่านั้น อันดับแรกคือเรื่องของการคัดแยกขยะ เมื่อเรารับประทานหมูกระทะทั้งที่ร้านและที่บ้าน ควรมีการแยกขยะอย่างถูกต้องและเหมาะสม ต่อมาคือการแปรรูปขยะในครัวเรือน ชุมชน และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาจัดการขยะอาหาร ตัวอย่างเช่น โครงการทดลองบนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ที่นำเอาหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) มาใช้ในการย่อยสลายขยะอาหาร หรือในเมืองเฉิงตู มีการแปรรูปน้ำมันที่เหลือจากการบริโภคมาเป็นน้ำมันสำหรับเครื่องบิน เป็นต้น

ท้ายที่สุดนี้การจัดการขยะอาหารไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งหรือของร้านชาบู – หมูกระทะ แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกองค์กรที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการขยะอาหารเหล่านี้ เพราะการจัดการขยะอาหารนี้คือส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดฝุ่นควันต่อไปได้ในอนาคต

อ้างอิง

Lanner เปิดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com    

ข่าวที่เกี่ยวข้อง