กระแสแวดวงกีฬาฟุตบอลไทยในขณะนี้คงหนีไม่พ้นกรณี ‘การยุติการดำเนินการทีมสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี’ และจะไม่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลในทุกระดับ ตั้งแต่ฤดูกาล 2024-25 เป็นต้นไป ตามที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เหตุนี้เองทำให้แฟนบอลตั้งข้อสงสัย ถึงการบริหารสโมสรของชุดบริหารใหม่นับตั้งแต่ที่สิงห์คอปเปอร์เรชั่น และบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ประกาศถอนการสนับสนุน เชียงใหม่ เอฟซี เพื่อที่จะเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น Lanner ขอเล่าย้อนอดีตตั้งแต่ยุคเริ่มต้น และความสำเร็จของสโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ เอฟซี หรือพยัคฆ์ล้านนา จนนำมาสู่จุดสิ้นสุดการเดินทางในเส้นทางลูกหนังที่ยังทิ้งท้ายให้แฟนบอลเกิดความสงสัยและรอคำตอบอย่างเป็นทางการ
ยุครุ่งโรจน์พยัคฆ์ล้านนา
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2542 เป็นปีที่สโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ หรือ เชียงใหม่ เอฟซี ถือกำเนิดขึ้น โดยส่งลงแข่งขันในนาม ‘สมาคมกีฬาจังหวัดเชียงใหม่’ และได้ทำการลงแข่งขันใน โปรวินเชียลลีก หรือที่เรียกกันว่า ‘โปรลีก’ ตั้งแต่ปีแรกที่มีการก่อตั้งลีก ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างจังหวัดจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเป็นพยายามของรัฐที่ส่งเสริมฟุตบอลลีกให้มีความนิยมในเขตภูมิภาคมากขึ้น ตามแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติฉบับที่ 2 (2540 – 2544) ที่กำหนดไว้ในแผนงานหลักที่ 4 โดยสาระสำคัญ คือการพัฒนาฟุตบอลอาชีพในประเทศ ให้มีความนิยมในประเทศ และ สามารถพัฒนาเป็นกีฬาอาชีพได้ ส่งผลให้ในเวลาต่อมาเริ่มมีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลในแต่ละภูมิภาคและดึงดูดคนในพื้นที่ให้หันมาเชียร์ทีมฟุตบอลบ้านเกิดของตัวเอง
จนเมื่อปี พ.ศ. 2549 เชียงใหม่ เอฟซี ได้เข้าร่วมร่วมการแข่งขันรายการ ‘ฟุตบอลโปรเฟสชัลแนลลีก’ ในนามของสมาคมกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ แต่เชียงใหม่ เอฟซี ทำได้เพียงอันดับสุดท้ายในตาราง ซึ่งช่วงเวลาต่อมาได้เกิดการรวมลีกขึ้น ส่งผลให้เชียงใหม่ เอฟซี ถูกจัดให้ไปเล่นในลีก ดิวิชั่น 2 ในปี พ.ศ. 2550
ผ่านไปได้ไม่นานในปี พ.ศ. 2553 เชียงใหม่ เอฟซี ได้ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ พร้อมตั้งฉายาใหม่ “พยัคฆ์ล้านนา” ให้แก่สโมสร อีกทั้งยังเป็นฉายาที่ใช้สืบจนปัจจุบัน ในปีดังกล่าวพยัคฆ์ล้านนาจบอันดับที่ 9 ในลีกภูมิภาคโซนภาคเหนือ ทำให้ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นในแข่งขัน ไทยลีกดิวิชั่น 1 ในปี พ.ศ. 2554 แต่ก็ได้ตกชั้นลงไปแข่งขันในไทยลีกดิวิชั่น 2 ในฤดูกาลต่อมา
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
เชียงใหม่ เอฟซี เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อสิงห์คอปเปอร์เรชั่น และ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ได้เข้ามาสนับสนุนและร่วมกันบริหารในปี พ.ศ. 2559 – 2560 และ พ.ศ. 2563 – 2565 ส่วนเชียงรายยูไนเต็ดเข้ามาบริหาร ในปีพ.ศ. 2561 – 2562 แต่ต่อมาสิงห์คอปเปอร์เรชั่น และ บีจี ปทุม ยูไนเต็ดได้ถอนการสนับสนุนทั้งหมดในปี พ.ศ. 2565 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประธานสโมสรรวมถึงทีมบริหารทั้งหมด
ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566 เชียงใหม่ เอฟซี ได้เปิดตัว ‘ยศเมธา จันทรวิโรจน์’ เป็นประธานสโมสรคนใหม่ หรือที่แฟนบอลเรียกว่า “บิ๊กแซน” โดย ยศเมธา เป็นนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นหลานของ อุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์ อดีตประธานสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี ยศเมธา ได้ก้าวเข้ามาเป็นทีมบริหารสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี ในฐานะคนที่มีความรักและผูกพันธ์กับสโมสรมาอย่างยาวนาน เหมือนเป็นการต่อยอดการพัฒนาสโมสรได้อย่างดี
แม้จะเปลี่ยนผู้บริหารสโมสรก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสะสมคงหนีไม่พ้นเรื่องกำไร/ขาดทุนของสโมสร เมื่อย้อนดูในสมัยของ อุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์ เป็นประธานสโมสรในปี พ.ศ. 2557 และจดทะเบียนนิติบุคคลโดยใช้ชื่อว่าบริษัท ฟุตบอล เชียงใหม่ จำกัด พบว่าสโมสรมีรายได้รวมเกือบ 6 ล้านบาท มีรายจ่าย 7.4 ล้านบาท และขาดทุน 1.6 ล้านบาท โดย อุดรพันธ์ เคยได้ออกมาเปิดใจผ่านวิดีโอ (วิดีโอดังกล่าวถูกลบแล้ว) ถึงปัญหาต่าง ๆ ในการทำทีม รวมถึงปัญหาการขาดทุนของสโมสร ซึ่งหลังการทำทีมในฤดูกาลนึงใช้เงินค่อนข้างเยอะ และสโมสรขาดทุนมาตลอด
ตารางแสดงข้อมูลการเงินบริษัท ฟุตบอล เชียงใหม่ จำกัด ในปี พ.ศ. 2557 | |||
ปีงบประมาณ | รายได้รวม | รายจ่ายรวม | กำไร(ขาดทุน)สุทธิ |
2557 | 5,827,962.62 | 7,454,647.00 | -1,626,684.38 |
THE GLOCAL ได้ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสโมสรฟุตบอลขาดทุนมีดังนี้ 1.ต้นทุนที่สูง ธุรกิจฟุตบอลมีต้นทุนที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าเหนื่อยนักเตะ ค่าจ้างโค้ช ค่าเช่าสนาม ค่าเดินทาง ค่าจัดการแข่งขัน และอื่น ๆ ต้นทุนเหล่านี้อาจทำให้สโมสรขาดทุนได้หากสโมสรไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอ 2.ไม่มีประสิทธิภาพในการหารายได้ รายได้ของสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่มาจากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน การขายของที่ระลึก รายได้จากผู้สนับสนุน และค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งหากสโมสรไม่มีประสิทธิภาพในการหารายได้เหล่านี้ได้เพียงพอก็มักจะขาดทุน และ 3.การบริหารที่ผิดพลาด การบริหารที่ผิดพลาดก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สโมสรขาดทุนได้ เช่น การใช้จ่ายเงินเกินตัว การขาดการวางแผนระยะยาว หรือผิดพลาดในการตัดสินใจต่าง ๆ เป็นต้น
ในกรณีของสโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ เอฟซี ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงเช่นกัน หลัก ๆ คือเรื่องค่าเหนื่อยของนักเตะ โดยเว็บไซต์ aiscore เปิดเผยมูลค่าทางการตลาดนักเตะในทีมเชียงใหม่ เอฟซี พบว่ามีผู้เล่นชาวต่างชาติทั้งหมด 4 คน มูลค่าของแต่ละคนสูงถึง 105,000 – 200,000 ปอนด์ หรือราว 4 – 7 ล้านบาท ส่วนนักเตะชาวไทยที่เหลือมีมูลค่าอยู่ที่คนละ 75,000 – 140,000 ปอนด์ หรือราว 2 – 5 ล้านบาท แต่มูลค่าทางการตลาดของนักเตะที่สูงไม่ได้แปลว่าค่าเหนื่อยนักเตะจะสูงตาม ซึ่งข้อมูลค่าเหนื่อยของนักเตะทางสโมสรไม่อาจเปิดเผยได้ แต่จากมูลค่าทางการตลาดของนักเตะทำให้เห็นได้ว่าศักยภาพของทีมเชียงใหม่ เอฟซี นั้นมีสูงไม่แพ้ทีมไหนและทำให้ค่าเหนื่อยของนักเตะก็อาจสูงไม่แพ้ทีมในระดับเดียวกัน ส่วนประสิทธิภาพในการหารายได้ของสโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ เอฟซี หลัก ๆ มาจากแฟนบอล โดยตลอดทั้งฤดูกาลในปี 2023/2024 นั้นมีแฟนบอลเข้าชมการแข่งขันรวมแล้ว 38,411 คน โดยนัดล่าสุดที่แข่งขันมีแฟนบอลเข้าชมสูงถึง 2,850 คน ทำให้รายได้หลักมาจากแฟนบอลที่คอยสนับสนุนทีม แต่หากจะพึ่งพาการเข้าชมการแข่งขันเพียงอย่างเดียวคงเป็นไปได้ยากที่จะหารายได้ได้มากพอ ซึ่งล่าสุด เชียงใหม่ เอฟซี ได้มีการเปิดขายเสื้อฟุตบอลครบรอบ 25 ปีของทีม และได้รับการตอบรับจากแฟนบอลเป็นอย่างดี โดยมีรายงานว่าต่อคิวซื้อกันอย่างล้นหลาม ถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ในระยะสั้น และส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุดคือการบริหารทีมที่ผิดพลาด อาจนำไปสู่การยุบทีม โดย ยศเมธา จันทรวิโรจน์ ประธานสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี คนล่าสุดได้เคยให้สัมภาษณ์หลังจากได้รับตำแหน่งเพียงไม่นานผ่านเพจของสโมสรว่า “ยอมรับการเข้ามาทำทีมครั้งนี้กดดันมาก พูดตรง ๆ ก็คือเราเป็นเหมือนเด็กหัดเดินครับ ถือเป็นมือใหม่มากในปีนี้ แต่ก็ต้องขอบคุณทางบีจีที่คอยช่วยสนับสนุน ช่วยพาเด็กหัดเดินคนนี้เตรียมทีมต่าง ๆ เพื่อสู้ศึกในฤดูกาลใหม่” ยศเมธา กล่าว ซึ่งหากวิเคราะห์แล้ว การบริหาร เชียงใหม่ เอฟซี ไม่อาจเปรียบเทียบว่าเป็นเด็กหัดเดินได้ หากมีสิ่งที่ผูกมัดกับสโมสรไว้อยู่ สิ่งนั้นคือ “แฟนบอล” ที่ต้องเจ็บชำ้ที่สุดหากเห็นทีมที่รักล้มลง ความเป็นมือใหม่ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่ต้องแถมความเป็นมืออาชีพ เพราะท้ายที่สุดนั้นแฟนบอลจะไม่ยอมหักหลังสโมสรฟุตบอลที่ตัวเองรักและพร้อมที่จะให้โอกาสอยู่เสมอ
ถึงทางตันพยัคฆ์ล้านนา
และแล้วก็ได้เกิดเรื่องขึ้นเมื่อเฟซบุ๊คเพจ ‘KELME Thailand’ (เคลเม่ ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อกีฬาฟุตบอลในรุ่น ‘CMFC 25th Anniversary Match Jersey’ ให้กับ เชียงใหม่ เอฟซี ได้ออกมาทวงถามเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2567 ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของสโมสร และ แผนการส่งสินค้าให้กับแฟนบอลทุกท่านที่ได้ทำการสั่งสินค้าไว้แล้ว โดยในข้อความได้ระบุไว้ว่า “เพื่อให้ความเข้าใจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทางเรา KELME ได้ผลิตสินค้าทั้งหมด 2,025 ตัว เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา และ ไม่มีการล่าช้าใด ๆ จากการผลิตรวมไปถึงขั้นตอนการขนส่ง ตามที่สโมสรแจ้งให้กับแฟนบอลทราบ (ซึ่งไม่เป็นความจริง) อย่างไรก็ตามสินค้าไม่สามารถส่งให้ทางสโมสรได้เนื่องจากทางสโมสรไม่ได้ดำเนินการตามข้อตกลงทางการค้า และส่งผลกระทบต่อแผนงานของทางเรามาเป็นระยะเวลา 4 เดือน ขอเชิญชวนแฟนบอลรวมใจถามหา “ความชัดเจน” ต่อแผนงานนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย และ สามารถดำเนินงานต่อไปได้” ซึ่งภายหลังพบว่าได้มีการเจราและส่งมอบเสื้อให้กับ เชียงใหม่ เอฟซี เพื่อนำแจกให้แฟนบอลที่ได้สั่งจองไว้
เรื่องเก่ายังไม่ซา เรื่องใหม่ก็มาไม่ตั้งตัว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ได้มีรายงานว่า club licensing หรือ ใบอนุญาตหรือเอกสารยืนยันการเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพของ เชียงใหม่ เอฟซี นั้นไม่ผ่านการอนุมัติ เนื่องจากไม่ส่งเอกสารทางการเงินให้ตรวจสอบ ส่งผลให้ เชียงใหม่ เอฟซี ต้องตกไปเล่นไทยลีก 3 ในทันที อีกทั้งยังมีรายงานว่ามีการไม่จ่ายค่าจ้างให้นักเตะ ซึ่งเสี่ยงถูกทางฟีฟ่าแบน เหตุการณ์ดังกล่าวทำเอาแฟนบอลต่างใจหาย หรือนี่จะเป็นจุดสิ้นสุด 25 ปีพยัคฆ์ล้านนา
จากการรายงานของ Thinkcurve ระบุว่านิติบุคคลที่บริหารทีมเชียงใหม่ เอฟซี คือ “บริษัท เคเจ สปอร์ต จำกัด” ไม่ได้ส่งหลักฐานบัญชีงบดุลตลอดทั้งปี พ.ศ. 2566 ให้กับ กรมสรรพากร จึงทำให้ไม่มีเอกสารมายื่นในกรณีดังกล่าว โดยภายหลังพบว่าข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้แสดงให้เห็นว่าในปี พ.ศ. 2566 เชียงใหม่ เอฟซี มีรายได้เกือบ 19 ล้านบาท รายจ่ายเกือบ 38 ล้านบาท และขาดทุนทั้งหมดเกือบ 19 ล้านบาท
ตารางแสดงข้อมูลการเงินบริษัท เคเจ สปอร์ต จำกัด ในปี พ.ศ. 2562 – 2566 | |||
ปีงบประมาณ | รายได้รวม | รายจ่ายรวม | กำไร(ขาดทุน)สุทธิ |
2562 | 56,742,990 | 66,092,664 | -9,558,068 |
2563 | 39,904,143 | 42,398,034 | -2,852,414 |
2564 | 20,867,396 | 20,762,604 | -422,713 |
2565 | 28,677,569 | 19,107,158 | 9,425,214 |
2566 | 18,660,100.44 | 37,395,287.94 | -18,756,131.34 |
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เฟซบุ๊คเพจ ‘KELME Thailand’ (เคลเม่ ไทยแลนด์) ได้ออกมาแจ้งในกลุ่ม ‘เชียงใหม่แพ้ไม่ได้’ ว่าสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี มีเงินไม่พอสำหรับตัดยอดเช็คที่ทางกรรมการสั่งจ่ายมา เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,300,000 บาท หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เช็คเด้ง” อีกทั้งยังระบุว่าทางสโมสรไม่เคยออกมาอธิบายเหตุผลที่แท้จริง สโมสรไม่เคยรักษาสัญญาและไม่เคยรับผิด จากกรณีดังกล่าวเป็นคดีความทางอาญา + แพ่ง อีกทั้งยังได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า ตอนเป็นรับจองเสื้อ ยอดเงินการจองหายไปไหน? และ เสื้อที่ขายได้แล้ว ทุกวันนี้เงินไปไหน?
ล่าสุด จากการรายงานของ siamsport ระบุว่า จากเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นกับสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี ทำให้ประธานสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี ไม่ประสงค์ที่จะส่งทีมเข้าแข่งขันฟุตบอลในระดับไทยลีก 3 ต่อไป จึงได้ยุติการดำเนินการทีมสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี และไม่ประสงค์ที่จะส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลในทุกระดับ ตั้งแต่ฤดูกาล 2024-25 เป็นต้นไป โดยทางสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ต่อไป
ข่าวที่เกิดขึ้นทำแฟนบอลต่างผิดหวัง และเสื่อมศรัทธากับการบริหารของทีมงานชุดดังกล่าว เสียงจากแฟนบอลรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า “รู้สึกตกใจและเสียใจเป็นอย่างมาก เข้าใจสโมสร สงสารทีมงานสตาฟ นักเตะ แต่สิ่งที่น่าสงสารที่สุดคือแฟนบอล เพราะทีมงานหรือนักเตะยังสามารถย้ายไปยังทีมใหม่ได้ แต่แฟนบอลอย่างเราไม่สามารถเปลี่ยนทีมเชียร์ได้”
แฟนบอลรายดังกล่าวยังแสดงความคิดเห็นว่า “ปัญหาที่เกิดไม่ได้เป็นหน้าที่ของแฟนบอล แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารชุดปัจจุบันว่าจะเอายังไงต่อ จะเคลียร์ปัญหาที่ก่อขึ้นมาอย่างไร ทางออกในตอนนี้คงเป็นการพูดคุยกับกลุ่มทุนใหม่เพื่อให้ทีมเดินหน้าต่อไปได้”
ท้ายที่สุดแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะกรณีเสื้อฟุตบอลครบรอบ 25 ปีของสโมสร กรณีค้างค่าจ้างนักเตะ และกรณีการยื่นยุบทีม ทางผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่ได้ออกมาให้คำตอบใด ๆ และยังเป็นเรื่องคาใจสำหรับแฟนบอลเชียงใหม่ เอฟซี โดยหลังจากนี้จะมีการสรุปทีมแข่งขันในไทยลีก3 ของแต่ละโซนวันที่ 9 กรกฎาคม นี้ ซึ่งหากบอร์ดบริหารเชียงใหม่ เอฟซี ชุดเก่า ตกลงกันได้กับกลุ่มทุนใหม่ ทีมก็อาจพร้อมไปต่อ
อ้างอิง
- siamsport. (2567). ปิดตำนาน 25 ปี เชียงใหม่ เอฟซี ยุบทีม ยุติการส่งทีมแข่งบอลอาชีพอย่างเป็นทางการ. เข้าถึงจาก https://www-siamsport-co-th.translate.goog/football-thailand/thaileague-3/56049/?_x_tr_sl=th&_x_tr_tl=en&_x_tr_hl=en&_x_tr_pto=sc
- สโมสรฟุตบอลเชียงใหม่. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88
- KELME Thailand. (2567). เข้าถึงได้จาก https://web.facebook.com/KelmeThailand/posts/pfbid02Gs9nXw3bCWrmQW9zNA3MSrP97as3xPotYQfrC8FgKyxX77GutsHX9j8tECa17pB9l
- BubbleYingrak. (2567). เข้าถึงได้จาก https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02vw42hGXE3ibCzBYNiHy8EcGmntDFvZ6HDKGKpBiRK9orJX36jojvYUxXnyDQHSp5l&id=100094909265625
- ฮิมนาม. (2567). เข้าถึงได้จาก https://web.facebook.com/HIMSANAM2019/posts/pfbid0ndKyBHeQbrmfdn8bCo1bDfmZmev5s7BMB4TEqH7dEeD2yXqR1WkoXK6qVHA2cMakl
- thinkcurve. (2567). เปิดทางรอด ‘เชียงใหม่ เอฟซี’ ‘ไปต่อ’ หรือ ‘ปิดตำนาน’? หลังคลับไลเซนซิ่ง ‘มีปัญหา’. เข้าถึงจาก https://thinkcurve.co/epidthaangr-d-echiiyngaihm-e-fchii-aipt-hruue-pidtamnaan-hlangkhlabailechnching-miipayhaa/
- THE GLOCAL. (2567). “ฟุตบอลไทย” จากกีฬาสู่การเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น (1) ทำไมทีมฟุตบอลไทยส่วนใหญ่จึงขาดทุน?. เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2024/02/108055
- matichon. (2566). ‘พยัคฆ์ล้านนา’ เปิดตัว ‘ยศเมธา’ นั่งแท่นผู้บริหารใหม่ พร้อมดันทีมสู่ลีกสูงสุด. เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/sport/footballlocal/news_3854017
- ข้อมูลนิติบุคคลบริษัท ฟุตบอล เชียงใหม่ จำกัด. เข้าถึงจาก https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/8D13aLrgzDOC7dXM1cZcXyS9q1QqtFFTeYi7veIG2QMW4wVEq1JgnY2mylL8kz1E
- ข้อมูลนิติบุคคลบริษัท เคเจ สปอร์ต จำกัด. เข้าถึงได้จาก https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/H66tQhn7_o374a2EnXnf0MZsFi18asylbJb40HBqqA4WDfnt7f-mJnuMGZROIzgX
- ballthai. บิ๊กแซนเปิดใจหลังเข้ามากุมบังเหียน-พยัคฆ์ล้านนา-เตรียมสู้ศึกในซีซั่นหน้า. เข้าถึงได้จาก https://www.ballthai.com/%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B9%8A%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%88-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%86%E0%B9%8C%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%8B%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2/
นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น