จรัลรำลึก ได้จัดงาน “21 ปี รำลึกจรัล มโนเพ็ชร” เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 ณ สวนสาธารณะหนองบวกหาด จังหวัดเชียงใหม่ ​

6 กันยายน 2565

เริ่มต้นด้วยการบรรเลงดนตรีจากวง ฮักเจียงฮาย ที่บรรเลงหลากหลายบทเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร ก่อนจะกล่าวเปิดงานพิธีเปิดผ้าคลุมป้าย จรัล มโนเพ็ชร โดย อ.ธเนศวร์ เจริญเมือง และ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว พูดถึงการจัดทำหน้าสือ “20 ปี จรัลลา” เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่อ่านได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับ จรัล มโนเพชร แสดงกิจกรรมของคณะกรรมการจรัลรำลึก (คจร.) และมอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนเมตตาศึกษา โรงเรียนเก่าของ จรัล มโนเพ็ชร ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว กล่าวต่อถึง จรัล มโนเพชร ในแง่ของการเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านการเล่นดนตรีโฟล์คซองเพื่อช่วยเหลือผู้คน คจร.จึงตัดสินใจสารต่อเจตนารมณ์ เชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมระดมทุนมอบทุนการศึกษาแก่โรงเรียนเมตตาศึกษา ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสุดท้ายของ คจร. จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมถ่ายภาพป้าย จรัล มโนเพ็ชร ที่ได้รับการติดตั้งใหม่​

จากนั้น ได้มีการแสดงดนตรีสดโดย ศิลปิน ชาฮาโม และ เลอฌอ ก่อนจะเข้าสู่การเสวนาหัวข้อ “จรัลรำลึก : ความงดงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในล้านนา” โดย รศ.ดร. สุรี ภูมิพมร กล่าวถึงความพิเศษของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ป่าได้ภายในเวลาไม่เกิน 15 นาที ซึ่งพื้นที่ป่าที่ว่านี้ถือเป็นมรดกที่ถูกส่งต่อมาตั้งแต่ยุคสมัยของบรรพบุรุษ พร้อมทั้งกล่าวถึงอุดมการณ์ของ จรัล มโนเพชร ที่ทำเพื่อพัฒนาบ้านเกิด และส่งต่อให้แก่ลูกหลานต่อไป อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยรักษาพื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ ก็คือลักษณะวัฒนธรรมของคนล้านนา ที่ช่วยเสริมความรักและความผูกพันธ์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ก็ยังมีส่วนสร้างคุณประโยชน์แก่พื้นที่อื่นๆในประเทศเช่นเดียวกัน​

ต่อมาเป็นการแสดงดนตรีสดอีกครั้งโดย กิจจา มโนเพชร และ วงน้ำปิง ก่อนจะเข้าสู่การเสวนาที่สอง ในหัวข้อ “จากเชียงใหม่สู่ล้านนา จากวันนี้สู่วันหน้า” โดยคนรุ่นใหม่ 4 ท่าน คุณ ภณวาท โกชุน (เพจ iChiangmai) , คุณ ปรัชญา ไชยแก้ว (เพจ Lanner) , ผศ.ดร. จิรันธนิน กิติกา (สถาปนิกและนักวิจัยชุมชนเมือง สถาปัตย์ฯ มช.) , ดร. ชิ สุวิชาน (นักวัฒนธรรมชุมชน อ.กัลยาณิวัฒนา) เปิดการเสวนาด้วยการแลกเปลี่ยนความทรงจำเกี่ยวกับ จรัล มโนเพชร ของผู้ร่วมเสวนา ประเด็นสำคัญของการเสวนาในช่วงนี้ คือการพูดถึงมรดกที่ จรัล มโนเพชร ได้ทิ้งเอาไว้ และการสืบสานมรดกที่ว่านั้นต่อไป ผ่านการบอกเล่าของผู้ร่วมเสวนา ในฐานะที่เป็นผู้ทำงานขับเคลื่อนพื้นที่ล้านนา โดยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านต่างๆเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจะการกดทับจากส่วนกลาง การออกแบบนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์เนื่องจากรัฐไม่ได้ฟังเสียงประชาชนมากพอ ปัญหาที่บุคลากรไหลเข้าสู่ส่วนกลาง จากปัญหาทางอาชีพในพื้นที่ที่ไม่รองรับ หรือปัญหาระบบขนส่งเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดถูกบอกเล่าในในแง่มุมของปัญหาที่ผู้ร่วมเสวนาแต่ละคนพบเจอในระหว่างการทำงานพัฒนาเมืองของแต่ละคน ความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาเชียงใหม่ โดยต่อยอดจากอุดมการณ์ของ จรัล มโนเพรช ภาพเชียงใหม่ที่อยากเห็นในอนาคต รวมถึงภาพฝันของแต่ละคนต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ที่ยึดโยงกับมรดกที่ จรัล มโนเพ็ชร ได้ทิ้งเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง ก่อนจะปิดท้ายงานด้วยการแสดงดนตรีจาก CMU Chorus club และ วงซะล้อ​

ภาพ : วรรณพร หุตะโกวิท

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง