เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เปิดตัวโครงการ “เมืองสะอาด ถนนสวย ดอกไม้งาม 12,000 กล้า นางพญาเสือโคร่ง” โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนจิตอาสา และพี่น้องชาวเขาบ้านม้งดอยปุย ร่วมกันปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งจำนวนกว่า 12,000 ต้น บริเวณรวมถึงริมสองฝั่งถนนที่เป็นเส้นทางมุ่งสู่ดอยสุเทพ-ปุย ในเขตพื้นที่ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยโครงการนี้มีความตั้งใจที่จะเดินหน้าปลุกต้นไม้ให้ได้ถึง 1 ล้านต้นภายในปีหน้า อ้างว่าโครงการนี้จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความสวยงามให้แก่เมืองเชียงใหม่
นอกจากนี้ นิรัตน์ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ยังกล่าวถึงการเปิดตัวโครงการในครั้งนี้ว่า ได้เร่งรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนหันมาปลูกพืชยืนต้นทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อแก้ปัญหาการเผาพื้นที่ป่า และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งการร่วมกันปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง
และได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการ “เมืองสะอาด ถนนสวย ดอกไม้งาม 12,000 กล้า นางพญาเสือโคร่ง” ผ่านเพจ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ซึ่งหลังจากโพสต์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีประชาชนเข้ามาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นจะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์บนดอยสุเทพ-ปุย รวมไปถึงการทำลายเอกลักษณ์ของดอยสุเทพ-ปุย
ต่อมาไม่นานโพสต์ประชาสัมพันธ์ในเพจ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ถูกลบหรือซ่อนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดการณ์ว่าอาจจะทนกระแสของประชาชนไม่ไหวหรือเป็นการหลบซ่อนความพยายามอันสูญเปล่าแถมยังสร้างผลกระทบต่อนิเวศน์ของตนเองไว้หรือไม่?
ซากุระเมืองไทยหรือการจัดการแบบขาดความเข้าใจ
ดอยสุเทพ-ปุยมีความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 330-1,685 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ทั้งหมด 163,162.5 ไร่หรือประมาณ 261 ตารางกิโลเมตรระบบนิเวศน์บนดอยสุเทพ-ปุย มีสภาพพื้นที่เป็นป่าสนเขา ที่มีพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณและนก เป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยที่สำคัญหลายลำห้วย อาทิ ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน ห้วยแม่ปาน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งต้นน้ำลำห้วยที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง
สัตว์ป่าที่ยังสามารถพบเห็นได้ในปัจจบันได้แก่ หมูป่า อีเห็นเครือ อีเห็นข้างลาย เม่นหางพวง อ้นเล็ก กระจ้อน กระเล็นขน ปลายหูสั้น ค้างคาวมงกฏเล็ก หนูขนเสี้ยนดอย หนูท้องขาว เฒ่าปูลู จิ้งจกบ้านหางแบนเล็ก กิ้งก่าหัวแดง งูสายม่านพระอินทร์ งูแส้หางม้าเทา อึ่งกรายหัวเล็ก กบหนอง อึ่งขาคำ และนกนานาชนิดกว่า 300 ชนิด
นอกจากความหลากหลายของสัตว์นานาพันธุ์แล้ว ยังมีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ทางด้านพืชพรรณเป็นอย่างมาก สามารถจำแนกออกเป็น 4 ชนิดด้วยคือ
1.ป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูงระหว่าง 330-850 เมตรจากระดับน้ำทะเล
2.ป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงระหว่าง 330-950 เมตรจากระดับน้ำทะเล
3.ป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงระหว่าง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล
4.ป่าดิบเขา ที่ระดับระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป
ซึ่งป่าทั้ง 4 ชนิดที่ว่านี้ มีพืชพรรณไม้ที่มีความหลากหลายและมีความสำคัญ อาทิ เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม สัก ตะแบก ประดู่ สมอไทย ยางแดง ยางนา ฝอยลม มอส คำขาวหรือกุหลาบพันปีสีขาว ก่อแป้น ก่อเลือด ก่อนก มณฑาหลวง กระชายป่า ข่าลิง ผักเป็ดไทย เป็นต้น
ซึ่งพืชพรรณและสัตว์ป่าที่หลากหลายนั้นมีความสำคัญด้านระบบนิเวศน์อยู่แล้วการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง 12,000 ต้น และมีแผนจะปลูกให้ได้ 1 ล้านต้นในอนาคต ของผู้ว่าฯ นิรัตน์ ซึ่งข้อมูลจากบทความ “ปลูกป่า” เพราะต้องการอนุรักษ์ระบบนิเวศ หรือ สร้างค่านิยมการ “ทำดี” โดย ผศ.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ชี้ว่า การปลูกต้นไม้ต่างถิ่นอาจจะส่งผลกระทบต่อพืชดั้งเดิม จากการแย่งน้ำ แย่งอาหาร บดบังแสง พิษจากราก ซึ่งอาจจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพรวมไปถึงไปรบกวนระบบนิเวศน์อันอุดมสมบูรณ์อยู่ก็เป็นได้หากไม่ได้รับการศึกษาและทำความเข้าใจธรรมชาติมากพอ
โครงการย้อมสีดอยที่อาจจะไม่ยั่งยืน
ซึ่งความต้องการที่อยากจะพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหาย แต่การจัดการที่ไม่ตรงจุดของผู้ว่าฯ นิรัตน์ ต่างหากที่อาจจะเป็นการมองแค่มิติเดียว ซึ่งหลังจากนั้นวันที่ 6 สิงหาคม 2566 เวลา 07.28 น. นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ นักอนุรักษ์ นักสื่อสารเรื่องราวธรรมชาติ และผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ได้โพสต์ข้อเสนอ 4 ข้อผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แก่ผู้ว่าฯ นิรัตน์ ดังนี้
1.จัดระเบียบ ความเรียบร้อย ร้านรวง ชุมชนแออัด ตรงข้าม พระธาตุดอยสุเทพ ชักชวนให้ชุมชนเห็นประโยชน์ มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในการปรับปรุงทัศนียภาพ โดยมีงบประมาณภาครัฐสนับสนุน
2.ปรับปรุง ระบบน้ำเสียน้ำทิ้งของชุมชน ที่มีผลต่อ คุณภาพ น้ำ ยกตัวอย่าง เช่น น้ำตกรับเสร็จ ที่มีค่า coliform bacteria สูงลิ่ว ซึ่งแปลว่ามี อุจจาระ ปนเปื้อน เป็นอันตรายต่อ ผู้ใช้น้ำอุปโภคบริโภค ใต้น้ำลงมา
3.แก้ปัญหา สุนัขจรจัด บนเส้นทาง (อย่างยั่งยืน) ที่มีผลต่อการจราจร และระบบนิเวศ ป่าดอยสุเทพ ปุย
4.เนื่องจาก ภูพิงค์ราชนิเวศน์ ปัจจุบัน แทบไม่มีการเสด็จมาพิจารณาลด ย้าย หน่วยงานจำนวนมากที่ไม่มีความจำเป็นลง ครับ จะช่วยลดการใช้น้ำ ปัญหามลพิษขยะ ฯลฯ บนดอยสุเทพ ปุย ได้มาก
หลังจาก นพ.รังสฤษฎ์ ได้โพสต์ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ ในวันเดียวกันนี้เอง เวลา 12.30 น. นพ.รังสฤษฎ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ผู้ว่าฯ นิรัตน์ได้เข้าไปพูดคุยกับตน เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว โดยผู้ว่าฯ นิรัตน์ ชี้แจงว่า ต้นนางพญาเสือโคร่ง 1 ล้านต้นนั้น หมายถึงปลูกทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่แค่ดอยสุเทพ-ปุย รวมไปถึงมีการชี้แจงคร่าวๆ ว่าจะมีแผนปลูกตรงไหน ซึ่งทาง นพ.รังสฤษฎ์ ก็ได้แสดงความกังวลใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศแก่ผู้ว่าฯ นิรัตน์
จากเหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าการจัดการและบริหารที่มองแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่งไม่ได้มองมิติที่กว้างและหลากหลายอาจจะสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ นี้อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าการเข้าใจสภาพแวดล้อม บริบทพื้นที่ รวมไปถึงการหมั่นฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ ดูจะเป็น ‘ทางออก’ ที่สำคัญในการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในหลายด้าน ให้เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ไม่ได้ตามกระแสเหมือนที่เป็นมาเสียที
อ้างอิง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...