แก๊งอาชญากรรมออนไลน์: เงาสีเทาบนชายแดนไทย กับการเมืองระหว่างประเทศและทุนจีน

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

ในรอบปีที่ผ่านมา แทบทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่คงเคยถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหากันแล้วอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะแอบอ้างเป็นตำรวจจราจร, เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์, พนักงานธนาคาร หรือแม้แต่ฝ่ายขายจาก Tiktok สื่อต่าง ๆ นำเสนอภาพผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกให้โอนเงินผ่านทางโทรศัพท์ หรือเมื่อประมาณ 1-2 ปีที่แล้ว เราอาจเคยได้ยินข่าวกลเม็ดในการดูดเงินแบบอื่น ๆ อาทิ การหลอกให้โหลดโปรแกรมดูดเงินผ่านมือถือบ้าง หรือการแอบอ้างเป็นตัวแทนจากธนาคารต่าง ๆ ให้เรากรอกข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการดูดเงินของเรา เป็นต้น ในปี 2566 ที่ผ่านมาความเสียหายจากอาชญากรรมเหล่านี้อาจสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันอาชญากรรมประเภทนี้แทบจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติหรือกระทั่งเป็นปัญหาข้ามชาติเลยก็ว่าได้ รัฐบาลไทยชุดที่มาสืบเนื่องถึงปัจจุบันต่างพยายามออกแนวนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่เนือง ๆ มาตลอด

ไม่ใช่เพียงหลอกลวงเงินคนไทยเท่านั้น แต่แก๊งอาชญากรรมจำพวกนี้ยังดำเนินการหลอกลวงเงินจากผู้คนในประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยการศึกษาของนักวิจัยทางการเงินของมหาวิทยาลัยเท็กซัสออสตินพบว่า จำนวนเงินจากการหลอกลวงให้ลงทุนทางออนไลน์อาจมีมูลค่าสูงถึง 75 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 2.5 พันล้านบาท โดยพื้นที่ตั้งของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ที่ดำเนินกิจการหลอกลวงเงินลงทุนนี้ตั้งอยู่บริเวณชายแดนของประเทศลาว เช่นเดียวกับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์อื่น ๆ ที่มักมีแหล่งกบดานบริเวณชายแดนไทย-ลาว-เมียนมา  

ล่าสุดตำรวจไทยใช้วิธีการตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า และบล็อคสัญญาอินเทอร์เน็ตบริเวณชายแดนของประเทศไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในแหล่งกบดานสำคัญของแก๊งอาชญากรทางการเงิน หรือที่สื่อไทยเรียกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่พื้นที่ชายแดนของประเทศนี้ไม่ใช่เพียงแหล่งกบดานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งกบดานสำคัญของแก๊งต้มตุ๋นในรูปแบบอื่น ๆ ที่สื่อต่างประเทศเรียกว่าสแกมเมอร์ ประกอบธุรกิจหลอกลวงผู้คนในหลายรูปแบบ ทั้งการหลอกให้โอนเงิน หลอกให้ลงทุน หรือการหลอกรูปแบบอื่นที่มุ่งเป้าดึงเงินจากกระเป๋าคนไทยรวมถึงผู้คนหลากหลายชาติ

แต่ทำไมต้องชายแดน? เหตุใดแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้จึงต้องกบดานอยู่ที่ชายแดนประเทศไทย บทความนี้จะพยายามพาทุกคนไปสำรวจเหตุผลดังกล่าวกัน

ชายแดนไทย: จุดอ่อนที่ถูกฉวยโอกาส

หากมองไปที่ชายแดนไทย มีบริเวณที่ติดกับลาวและเมียนมารวมกันมากกว่า 4 พันกิโลเมตร และติดกับกัมพูชาเกือบ 800 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศที่ซับซ้อนและยากต่อการควบคุม บางพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าขณะที่หลายพื้นที่มีความเป็นเมืองในระดับหนึ่ง หรือบางพื้นที่ก็เป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างไทย ลาว และเมียนมาอย่างสามเหลี่ยมทองคำ ส่งผลให้เป็นช่องทางให้กลุ่มอาชญากรข้ามชาติใช้ในการลักลอบเข้ามาดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายมากมาย รวมถึงการตั้งฐานปฏิบัติการของแก๊งอาชญากรรมอย่างคอลเซ็นเตอร์และอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตากที่มีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเมียนมา และจังหวัดเชียงรายที่มีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศลาว

อำเภอแม่สอด จังหวัดตากมีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเมียนมา มีเพียงแม่น้ำเมยคั่นกลางไว้ บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกันนี้เป็นที่ตั้งของเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องอาชญากรรมออนไลน์อย่างเมืองชเวโก๊กโก่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนจีนสีเทา ยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศเมียนมามีการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกลางกับกลุ่มชาติพันธุ์ เมืองดังกล่าวถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในฐานะของเมืองที่มีข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา รวมถึงประเทศจีนเองก็มีความพยายามในการเข้ามามีบทบาทในข้อพิพาทดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ชายแดนไทย-เมียนมายังเป็นที่ตั้งกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF กลุ่มกองกำลังที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา-จีน และยังมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาลทหารเมียนมามาโดยตลอด โดย Justice for Myanmar ได้รายงานว่า กองกำลังดังกล่าวมีส่วนในการก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต การค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการก่ออาชญากรรมอื่น ๆ

บริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่เชื่อมต่อประเทยไทย ลาว และเมียนมาเข้าด้วยกัน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเป็นชายแดนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยสามเหลี่ยมทองคำนี้เป็นพื้นที่เลื่องลือของธุรกิจสีเทาต่าง ๆ มากมาย รวมถึงยังอาจเป็นที่ตั้งของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ที่กำลังก่อความเสียหายแก่คนไทยและต่างชาติอยู่ในปัจจุบัน 

เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ตำรวจไทยร่วมประชุมกับทางการลาว เพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อผึ้งของประเทศลาว ซึ่งเชื่อมต่อกับอำเภอเชียงแสนของประเทศไทย โดยทางการลาวประกาศว่าพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำไม่อนุญาตให้มีดำเนินกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการปราบปราบคอลเซ็นเตอร์ในแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยกับลาว เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนชัดเจนถึงบทบาทของชายแดนกับการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ในฐานะที่ชายแดนกลายเป็นพื้นที่กบดานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์  

บริเวณชายแดนไทยกับเมียนมาก็มีการดำเนินการโดยทางการของประเทศไทย เพื่อปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์เช่นเดียว ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของปี 2567 ทางการของประเทศไทยมีการดำเนินการตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาบริเวณอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก เนื่องจากที่มาพบว่า มีการลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยโดยแก๊งอาชญากรรมบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยทาง กสทช. สั่งการให้ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ลดความเข้มข้นของสัญญาณโทรศัพท์ลง ไม่ให้สัญญาครอบคลุมไปถึงฝั่งเมียนมาเพื่อตัดช่องทางการใช้สัญญาโทรศัพท์ของประเทศไทยในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ลง

(เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่มา https://mgronline.com/indochina/detail/9650000109959)

นอกจากนั้น บริเวณชายแดนไทยกัมพูชาก็ยังพบการลักลอบพ่วงสายอินเทอร์เน็ตข้ามแดนจากประเทศไทยไปสู่พื้นที่ประเทศกัมพูชา ผ่านตึกร้างแห่งหนึ่งในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วข้ามเส้นเขตแดนไปยังเขตแดนของประเทศกัมพูชา ยิ่งตอกย้ำบทบาทของชายแดนที่มีต่ออาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้เพิ่มขึ้นไปอีก พื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการควบคุมโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงประเทศสองประเทศหรือมากกว่าเข้าด้วยกัน หลายพื้นที่ของชายแดนมีความซับซ้อนทางภูมิศาสตร์ และในอีกด้านหนึ่งชายแดนก็ตัดแบ่งประเทศทั้งสองให้แยกออกจากกัน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศถูกจำกัดไว้เฉพาะภายในเส้นเขตแดนของประเทศหนึ่ง ๆ จึงนำไปสู่ช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งเป็นช่องทางในการหลบเลี่ยงการถูกจับกุมตามมา ประเทศที่การบังคับใช้กฎหมายมีความเข้มข้นกว่าจึงเป็นพื้นที่ที่กลุ่มอาชญากรรมเลือกที่จะใช้เป็นแหล่งกบดาน

อำนาจรัฐที่อ่อนแอบริเวณชายแดนก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่แก๊งอาชญากรรมเลือกใช้พื้นที่ชายแดนเป็นแหล่งกบดานสำคัญ ทั้งการเข้าถึงพื้นที่ได้ยาก ความทับซ้อนของเขตแดน และสภาพที่สามารถปิด/เปิดได้ของพื้นที่ชายแดน เหล่านี้กลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญคือชายแดนเปรียบเสมือนพื้นที่ที่มี “ช่องว่าง” อยู่เสมอ การเคลื่อนย้ายทั้งคนและทรัพยากรสามารถจึงกระทำได้อย่างไม่ยากนัก แม้จะมีเส้นเขตแดนขวางกั้นอยู่แต่ก็มักจะมีช่องว่างบางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างทางกายภาพ ช่องว่างทางกฎหมาย หรือกระทั่งช่องว่างในมิติความมั่นคงระหว่างประเทศ

(ชายแดนไทย-เมียนมาบริเวณแม่น้ำเมย ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Myanmar%E2%80%93Thailand_border#/media/File:Moei_River.jpg

ชายแดนไทยเป็นพื้นที่มีช่องว่างมากมาย อันเนื่องมาจากความซับซ้อนของพื้นที่ทางกายภาพและยังมีข้อพิพาทของเส้นเขตแดนที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยบริเวณชายแดนไทยที่ติดต่อกับประเทศลาว เมียนมา และกัมพูชา มีบางพื้นที่ที่ยังไม่มีการปักหมุดเส้นเขตแดนที่ชัดเจน หรือหมุดเขตแดนบางแห่งก็ถูกเคลื่อนย้าย ทำให้ข้อพิพาททางชายแดนระหว่างไทยกับประเทศทั้ง 3 ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  

นอกจากนี้ชายแดนยังไม่ใช่พื้นที่ที่ปิดอยู่ตลอดเวลา สภาวะที่ปิด/เปิดเป็นคุณสมบัติสำคัญของชายแดน พูดอย่างง่ายคือ ชายแดนต้องเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายของคนและทรัพยากรตลอดเวลา ส่งผลให้หลายครั้งการหลุดรอดของคนและทรัพยากรที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมข้ามประเทศเกิดขึ้นได้ง่ายในบริเวณชายแดน หลายครั้งที่ทรัพยากรของประเทศไทยถูกนำไปใช้โดยกลุ่มอาชญากรรมบริเวณชายแดน อาทิ สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต แรงงานก็เช่นกัน มีการตรวจพบแรงงานมากมายที่ถูกพาตัวไปใช้แรงงานโดยแก๊งอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ รายงานจากบางกอกโพสต์พบว่ามีแรงงานชาวโมร็อกโกที่ถูกหลอกลวงให้มาทำงานเป็นแรงงานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านการเดินทางเข้าประเทศไทย และเดินทางต่อผ่านแม่น้ำเมยมาสู่ประเทศเมียนมา หลังจากนั้นจึงถูกบังคับใช้แรงงานเป็นสแกมเมอร์เพื่อหลอกลวงเงินผู้อื่น

เราจะเห็นได้ว่าบริเวณชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสูงมากในการก่ออาชญากรรมออนไลน์หลายรูปแบบ ตั้งแต่คอลเซ็นเตอร์ไปจนถึงการหลอกให้ลงทุน ทั้งการเป็นแหล่งกบดาน แหล่งทรัพยากร และช่องทางเคลื่อนย้ายของทั้งคนและทุน กลายเป็นพื้นที่สีเทาซึ่งล้วนอยู่ล้อมรอบบริเวณชายแดนไทยทั้งสิ้น ดังนั้นการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศจึงอาจกำลังถูกท้าทายอย่างมาก ทั้งการดำเนินนโยบายต่างประเทศทางตรงของไทยต่อประเทศเมียนมา และลาว รวมถึงจีน หรือนโยบายชายแดนของประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงภายในประเทศ

ความท้าทายจากการเมืองระหว่างประเทศ 

ปัญหาแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ที่กบดานอยู่บริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากเป็นผลมาจากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์แล้ว ยังมีเงื่อนไขด้านการเมืองภายในประเทศของประเทศเพื่อนบ้าน และการเมืองระหว่างประเทศทั้งไทย ลาว เมียนมา และจีน เป็นช่องทางให้แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ก่อตัวขึ้นบริเวณชายแดน

การเมืองภายในประเทศเมียนมาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การขยายตัวของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยทางบีบีซีไทย บางกอกโพสต์ และไทยพีบีเอส ต่างรายงานตรงกันว่าหลังเกิดความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมา แก๊งอาชญากรรมออนไลน์เติบโตขึ้นมากในบริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย และชายแดนเมียนมา-จีน

เหตุที่แก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้ขยายตัวหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองในเมียนมา เนื่องมาจากความขัดแย้งและสงครามดังกล่าวส่งผลให้อำนาจรัฐบาลกลางอ่อนแอลงมาก ความสามารถในการควบคุมชายแดนจึงลดลง พร้อมกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนประกาศตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง นำไปสู่การเปิดทางให้แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้เข้าไปสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้นำกลุ่มชาติพันธ์ุในบริเวณชายแดน และเลือกจะกบดานอยู่ในบริเวณชายแดนของประเทศเมียนมา หมายรวมถึงการตั้งแหล่งกบดานบริเวณไทยเมียนมาด้วยเช่นกัน

(ความขัดแย้งในเมียนมาหลังการรัฐประหาร ที่มา https://www.cfr.org/backgrounder/myanmar-history-coup-military-rule-ethnic-conflict-rohingya)

บีบีซีไทยได้สัมภาษณ์หนึ่งในแรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานอยู่กับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยแรงงานผู้นี้เปิดเผยว่าหลังการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ตัวเขาในฐานะทหารของรัฐบาลเมียนมาไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร จึงเลือกที่จะลาออกจากกองทัพและเข้าร่วมกับกองกำลังอารยะขัดขืน (CDM) ต่อมาจึงเดินทางเข้าสู่พื้นที่บริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) จากนั้นจึงได้เข้าทำงานกับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ ได้รับค่าจ้างเป็นเงินบาทไทยและทำงานอยู่ที่ตึกในเมืองชเวโก๊กโก่ ตรงข้ามอำเภอแม่สอดจังหวัดตากของประเทศไทย 

Frontier Myanmar เปิดเผยชีวิตของแรงชาวเมียนมาที่ถูกใช้งานเยี่ยงทาสในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในชายแดนประเทศลาว-เมียนมา-ไทย โดยแรงงานคนหนึ่งเล่าถึงที่มาที่ไปของการเป็นแรงงานให้กับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ว่า หลังการทำรัฐประหารในประเทศเมียนมา เขาและภรรยาเลือกที่จะลาออกจากการเป็นพนักงานของรัฐ โดยลาออกมาทำการเกษตร แต่ต่อมาด้วยรายได้ที่น้อยมากจึงเลือกจะมาเป็นแรงงานให้กับแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ที่รายได้มากกว่า ดังนั้นเราอาจอนุมานได้ว่าเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาเป็นแรงผลักให้แรงงานเข้าสู่แก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้   

ในช่วงที่ความขัดแย้งและสงครามการเมืองในประเทศเมียนมากำลังกลายเป็นวาระระดับนานาชาติ ประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้างต้องเผชิญกับความท้าทายในมิติการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก หลายครั้งประเทศไทยเลือกดำเนินนโยบายแบบแบ่งรับแบ่งสู้ต่อสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงนโยบายเรื่องชายแดนก็ดำเนินการในรูปแบบแบ่งรับแบ่งสู้ บางครั้งดำเนินนโยบายชายแดนโดยใช้มนุษยธรรมเป็นนโยบายนำ แต่หลายครั้งก็ดำเนินนโยบายโดยใช้ความมั่นคงภายในนำ แต่ด้านนโยบายต่างประเทศทางตรงกับประเทศเมียนมาของไทยกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ทั้งการไม่ลงนามในการประณามเหตุการณ์รัฐประหารและความรุนแรงในประเทศเมียนมา การดำเนินนโยบายต่างประเทศเช่นนี้ทำทั้งข้อพิพากษ์จากนานาประเทศ รวมไปถึงการไม่สามารถแก้ปัญหาแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

ประเทศลาวก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นแหล่งกบดานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของแรงงานชาวเมียนมาที่ต้องไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ พบว่ามีการดำเนินธุรกิจสีเทาอย่างเป็นระบบ โดยมีนายทุนจากประเทศจีนเป็นหัวเรือหลักในการดำเนินกิจการสีเทาเหล่านี้

แรงงานชาวเมียนมาหลายคนที่ต้องไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้รับการช่วยเหลือจากการกองกำลังว้า (UWSA) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รัฐฉาน โดยมีชายแดนติดกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในประเทศลาว ส่งผลให้กองกำลังว้าเป็นตัวกลางสำคัญที่อำนวยการไหลเวียนของทุนจีนสีเทาที่เคลื่อนตัวออกจากประเทศจีน และแรงงานจากเมียนมาเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาว

กองกำลังว้ายังมีบทบาทสำคัญในการอำนวยให้เกิดการหลอกลวงให้ลงทุนทางออนไลน์ โดยจากการวิจัยของ John M. Griffin และ Kevin Mei พบว่า พื้นที่ที่เป็นแหล่งกบดานของแก๊งหลอกลวงให้ลงทุนออนไลน์ หรือ Pig Butchering คือพื้นที่ภายใต้การดูแลของกองทัพว้า นอกจากนั้นกองทัพว้ายังมีส่วนเกี่ยวข้องในการบังคับใช้แรงงานชาวเมียนมาและชาวต่างชาติอื่น ๆ อีกกว่า 120,000 คน

(ที่มา https://commons.m.wikimedia.org/wiki/File:UWSA_soldiers_stand_at_attention_during_ceremonies.jpg)

เราจะเห็นว่าแก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับตัวละครระหว่างประเทศมากมาย ทั้งในประเทศลาว เมียนมา รวมถึงจีน กลายเป็นความท้าทายของการดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงภายในประเทศของไทยเป็นอย่างมาก รวมถึงความท้าทายต่อการจัดการชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องเผชิญกับความท้าทายไปพร้อมกัน  

เงาของทุนจีนสีเทา 

อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ต้องพูดถึงในขบวนการหลอกลวงคือ ทุนจีนสีเทา หลายสำนักข่าวทั้งสำนักข่าวไทยและสำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานตรงกัน ในเรื่องบทบาทของกลุ่มทุนจีนที่เป็นผู้ดำเนินการก่ออาชญากรรมออนไลน์ รวมถึงการค้ามนุษย์เพื่อนำมาเป็นแรงงานในการก่ออาชญากรรม

กลุ่มทุนจีนสีเทาคือกลุ่มคนจีนที่ประกอบธุรกิจอาชญากรรมระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการค้ามนุษย์ ยาเสพติด รวมถึงกิจการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยมีการดำเนินธุรกิจอื่นบังหน้าเพื่อเป็นการฟอกเงิน โดยกลุ่มทุนจีนนี้เริ่มเคลื่อนตัวออกจากประเทศจีนมากบดานในพื้นที่ชายแดนระหว่างจีน เมียนมา และลาว ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ชายแดนประเทศไทยในเวลาต่อมา

(ภาพจาก The Irrawaddy) 

กลุ่มทุนจีนสีเทาอาศัยนโยบาย One Belt One Road Initiative (BRI) หรือที่รู้จักกันในนามเส้นทางสายไหมใหม่ของรัฐบาลจีนที่เป็นการเปิดเส้นทางการค้าและเป็นช่องทางเคลื่อนย้ายทุนและขยายธุรกิจไปทั่วโลกรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองชเวโก๊กโก่ในประเทศเมียนมาและเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในประเทศลาวเป็นพื้นที่ที่กลุ่มทุนจีนสีเทาเข้าไปใช้เป็นพื้นที่ดำเนินธุรกิจสีเทาของตน ซึ่งหมายรวมถึงการหลอกลวงเงินจากผู้คนในชาติต่าง ๆ อีกด้วย โดยมีการเปิดกิจการท่องเที่ยวและคาสิโนเป็นกิจการบังหน้า เพื่อทำการฟอกเงินที่ได้จากธุรกิจสีเทาของตน

แรงงานชาวเมียนมา ชาวโมร็อกโก และชาติอื่น ๆ ให้การไปในทิศทางเดียวกันว่ากลุ่มทุนจีนเป็นผู้ดำเนินการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ทั้งการจัดหาแรงงานและการสนับทุนด้านการเงิน โดยกลุ่มทุนจีนสีเทาเหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าที่รัฐในไทยและลาว รวมถึงยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำกองกำลังชาติพันธ์ุในเมียนมา จึงเปิดทางให้กลุ่มทุนจีนสีเทาเหล่านี้สามารถดำเนินการหลอกลวงออนไลน์ได้อย่างสะดวก และยังอาศัยการจัดตั้งธุรกิจที่อ้างว่าเป็นธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการฟอกเงินที่ได้มาจากการก่ออาชญากรรมออนไลน์  

แรกเริ่มกลุ่มทุนจีนเหล่านี้อาศัยรายได้จากการเปิดคาสิโนและการพนันออนไลน์ แต่เหตุที่กลุ่มทุนจีนเหล่านี้เลือกดำเนินกิจกรรมหลอกลวงออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ศาสตราจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ให้เหตุผลว่า รายได้ของกลุ่มทุนจีนสีเทาจากคาสิโนและพนันออนไลน์ลดลง ส่งผลให้กลุ่มทุนจีนสีเทาหันมาดำเนินกิจการหลอกหลวงเงินแทน 

ทางด้านของรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกระทู้ตั้งข้อสังเกตว่า แก๊งทุนจีนในเมืองชเวโก๊กโก่อาศัยช่องทางการลักลอบนำแรงงานผ่านเข้าทางประเทศไทยผ่านชายแดนอำเภอแม่สอดเข้าสู่เมืองชเวโก๊กโก่ และยังใช้ทรัพยากรจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า และสัญญาโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์อย่างคอลเซ็นเตอร์ เพื่อเข้ามาหลอกลวงเงินจากคนไทยและต่างชาติ 

(ภาพเมืองชเวโก๊กโก่ ภาพจากสำนักข่าวชายขอบ)

‘เสอจื้อเจียง’ คือนายทุนจีนสีเทาที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ในฐานะเจ้าพ่ออาชญากรรมออนไลน์ เขาเริ่มต้นลงทุนเปิดคาสิโนในประเทศกัมพูชาก่อนจะย้ายมาตั้งธุรกิจสีเทาของตนในเมืองชเวโก๊กโก่ ผ่านการจัดตั้งบริษัท ย่าไท่ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป (Yatai IHG)  โดยอ้างว่าเข้ามาพัฒนาพื้นที่ภายใต้ชื่อ KK Park

อาคารหลายแห่งในเมืองชเวโก๊กโก่ที่จดทะเบียนภายใต้บริษัทย่าไท่ถูกเรียกว่า ‘จ้าเพี่ยน’ ที่ภาษาจีนแปลว่าหลอกลวง แรงงานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ให้สัมภาษณ์กับทางบีบีซีไทยว่า อาคารหลายแห่งมีเจ้าของเป็นคนจีน ชั้น 2-3 จะถูกเปิดเป็นคาสิโน ส่วนชั้นที่เหลือจะใช้เป็นพื้นที่ทำงานของแรงงานเพื่อก่ออาชญากรรมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ

เสอจื้อเจียงถูกจับตามองจากหลายประเทศจากชื่อเสียงจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่ออาชญากรรมออนไลน์และการค้ามนุษย์ กระทั่งทางการจีนได้ตั้งข้อกล่าวหาการหลอกหลวงทางอินเทอร์เน็ตและการค้ามนุษย์ จีนได้ประสานกับทางการไทยให้ส่งตัวนายเสอจื้อเจียงกลับให้ทางการจีน เนื่องจากเขาได้ถูกจับกุมในประเทศไทย มีความเป็นไปได้ว่านายเสอจื้อเจียงจะมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจบางกลุ่มในประเทศไทย เนื่องจากเขาสามารถเข้านอกออกในประเทศไทยอย่างสะดวกมาโดยตลอด

กลุ่มทุนจีนสีเทามีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำประเทศและผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา เห็นได้จากการที่กลุ่มทุนจีนสีเทายังคงก่ออาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง แม้พื้นที่เมืองเมียวดีและเมืองชเวโก๊กโก่อันเป็นที่ตั้งของการก่ออาชญากรรมจะกลายเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างรัฐบาลกลางเมียนมากับกลุ่มกองกำลัง KNA หรือกลุ่ม BGF เดิมที่เปลี่ยนจุดยืนมาอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลกลาง โดยเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเมียนมาจากสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (USIP) ให้สัมภาษณ์กับทางบีบีซีไทยว่า ผลกระทบจากความขัดแย้งในเมียวดีต่อศูนย์กลางแก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้มีน้อยมาก จนแทบไม่เห็นการหยุดชะงักลงของกิจกรรมอาชญากรรมภายในเมืองเหล่านี้

ผลประโยชน์ที่กลุ่มทุนจีนสีเทาแบ่งสรรให้กับทั้งผู้นำในรัฐบาลกลางเมียนมาและผู้นำกองกำลัง KNA (BGF เดิม) อาจสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยทางสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกาประเมินว่ารัฐบาลกลางเมียนมาอาจได้เงินจากกลุ่มทุนจีนสีเทาสูงกว่า 6 พันล้านบาท และผู้นำกองกำลัง KNA อาจได้รับเงินกว่า 1 พันล้านบาทเช่นกัน ส่งผลกลุ่มทุนจีนสีเทาสามารถดำเนินการก่ออาชญากรรมออนไลน์ได้อย่างสะดวกภายใต้การสู้รบระหว่างรัฐบาลกลางเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในเมืองเมียวดี/ชเวโก๊กโก่

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มกองกำลัง DKBA ที่แยกตัวออกมาจากกองกำลัง KNA กำลังเข้าร่วมกับนักลงทุนจีน ซึ่งย้ายฐานการลงทุนจากสีหนุวิลล์ ร่วมกันก่อตั้งเมืองใหม่ชื่อว่าไท่จาง ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามอำเภอพบพระ จังหวัดตากของประเทศไทย มีการสันนิษฐานว่าเมืองดังกล่าวได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนของกลุ่มอาชญากรจีนเทาในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

ภาพเขตไท่จางซึ่งตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของ DKBA ภาพจาก Google Earth

แม้จะมีความพยายามในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทย จีน ลาว และเมียนมาในการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ในพื้นที่ชายแดนระหว่างทั้ง 4 ประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการจับแรงงานระดับปฏิบัติการเท่านั้น สำนักข่าว  Khit Thit Media ของประเทศเมียนมารายงานว่า ยังมีการดำเนินกิจการผิดกฎหมายในเมียวดีและชเวโก๊กโก่อย่างต่อเนื่อง การปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ก็ดำเนินไปอย่างไม่จริงจังมากนัก 

รายงานจากสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกาและบีบีซีไทยสอดคล้องกับรายงานจากสำนักข่าว Khit Thit Media ว่าการก่ออาชญกรรมออนไลน์ในประเทศเมียนมายังดำเนินการอยู่ แม้อยู่ท่ามกลางสงครามการเมืองในเมียนมา และการปราบรามจากทั้งไทย จีน ลาว และเมียนมา 

ประเทศลาวก็เริ่มปรากฏการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งการร่วมมือกับทางการไทยประกาศให้การหลอกลวงออนไลน์เป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกปราบปราม แต่รายงานจาก Frontier Myanmar ได้เปิดเผยว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาวกลายเป็นแหล่งใช้แรงงานผู้อพยพชาวเมียนมา เพื่อก่ออาชญากรรมออนไลน์ไม่ต่างกับที่เกิดขึ้นในเมืองชเวโก๊กโก่

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกลายเป็นพื้นที่ของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ในสายตาโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนซึ่งมีทั้งความซับซ้อนและช่องว่าง ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับกลุ่มทุนจีนสีเทา ยิ่งตอกย้ำการเป็นพื้นที่ของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ให้แก่สายตาชาวโลกได้จับจ้อง 

ไทยจะเดินไปอย่างไร ภายใต้เงาอาชญากรรมและสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศเช่นนี้ 

หันกลับมามองที่ประเทศไทย ความพยายามในการแก้ไขปัญหาจากอาชญากรรมออนไลน์มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ไม่โอนของภาครัฐ หรือการพยายามออกมาตรการต่าง ๆ โดยธนาคารทั้งการให้สแกนได้หรือใช้บัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนในการโอนเงิน เพื่อป้องการโอนย้ายเงินจากการหลอกลวงออกสู่ต่างประเทศ  

ในส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ มีการแถลงการณ์ร่วมกับประเทศจีน ลาว และเมียนมาเพื่อให้มีการปราบปรามการก่ออาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้ แต่ทางปฏิบัติหลายครั้งเป็นการจับกุมแรงงานในระดับปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ พร้อมกันนี้ประเทศไทยยังถูกตั้งคำถามจากทั้งจีนและนานาชาติ ถึงเหตุการณ์ที่ไทยล่าช้าในการส่งนายทุนจีนสีเทาที่ถูกจับกุมกลับไปรับโทษในประเทศจีน ซ้ำแหล่งข่าวหลายแหล่งต่างระบุว่านายทุนจีนสีเทาเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับผู้นำในหลายหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย  

ล่าสุดวันที่ 14-17 สิงหาคมที่ผ่านมา หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำเบอร์สองของประเทศจีน ร่วมประชุมกับตัวแทนของประเทศไทย ลาว และเมียนมา โดยหัวข้อหนึ่งของการพบประชุมคือการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมออนไลน์ อันถือว่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ แต่รองศาสตราจารย์วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ได้ให้ความเห็นในท่วงทำนองที่มีความกังวลต่อท่าทีของประเทศจีนต่อการต่างประเทศของจีนในประเด็นสถานการณ์การเมืองในเมียนมา โดยประเทศจีนอาจกดดันให้ประเทศสนับสนุนการเลือกตั้งที่จัดโดยรัฐบาลกลางของเมียนมา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการสร้างความชอบธรรมในการจัดการเลือกตั้งที่อาจจัดอย่างไม่เป็นธรรม และยังอาจทำให้ผู้นำรัฐบาลเมียนมาไม่ต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่ก่อขึ้นกับประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล การเดินทางเข้าร่วมประชุมกับของหวังอี้ในคราวนี้ จึงอาจไม่นำไปสู่การสร้างความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากแฝงมาด้วยการกดดันให้ประเทศไทยและลาวสนับสนุนความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลกลางเมียนมา ในการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมและการใช้ความรุนแรงภายในประเทศ 

 การดำเนินนโยบายปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ของประเทศไทยจึงเผชิญกับความท้าทายอย่างสูง จากทั้งการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง และบริบทของการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ขณะนี้   แม้จะมีความท้าทายในด้านนโยบายต่างประเทศ แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศยังถือเป็นเรื่องจำเป็น และประเทศจำเป็นต้องสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกันในพื้นที่ชายแดน

ในฐานะผู้เขียน ผมไม่อาจนำเสนอคำตอบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้ในทันที แต่อาจมีข้อเสนอแนะบางอย่างได้ อาทิ  

1.การจับกุมผู้ที่เปิดบัญชีม้าให้เป็นแหล่งถ่ายโอนเงินของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง  

2.การตัดท่อน้ำเลี้ยงและยึดทรัพย์ของกลุ่มทุนจีนในประเทศไทยเพื่อบีบให้แขนขาพวกเขาอ่อนแรงลง  

3.ตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทุนจีนสีเทากับผู้นำในหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยอย่างจริงจัง เพื่อปิดช่องทางการใช้ความสัมพันธ์ที่อาจเอื้อให้เกิดการก่ออาชญากรรมต่อไปหรือเปิดช่องให้มีการหลบหนี

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งความท้าทายที่ผมมองว่าเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งที่ประเทศไทยอาจต้องใช้ความรอบครอบในการพิจารณา คือท่าทีและความร่วมมือของประเทศไทยที่มีต่อจีน ซึ่งความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อาจต้องดำเนินไปอย่างระมัดวัง ไม่ให้ถูกกดดันหรือแฝงฝังเงื่อนไขอื่น ๆ อาทิ การสนับสนุนรัฐบาลกลางของเมียนมา เป็นต้น นอกจากนี้หลายพื้นที่ที่นักลงทุนชาวจีนเข้ามาลงทุนก็มาจากนโยบายของรัฐบาลจีนเสียเอง เราอาจต้องเรียกร้องความรับผิดชอบบางอย่างจากนโยบายที่ผลักดันให้ทุนจีนสีเทาเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอาจเรียกร้องให้ทางการจีนมีการพิจารณานโยบายดังกล่าวด้วยซ้ำ  

การสร้างความร่วมมือกับชาติอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนและประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องที่สำคัญ เพื่อสร้างแรงกดดันในการก่ออาชญากรรม และเพิ่มแรงกดดันให้กับประเทศอันเป็นแหล่งกบดานของแก๊งอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้อีกทางหนึ่งด้วย

อ้างอิง 

เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง