เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยชลธี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต 3, นายอำเภอแม่เมาะ, ผู้บังคับกองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3, ผู้แทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง, ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง และประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านดง ได้ลงพื้นที่และประชุมเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ระหว่างราษฎรกับค่ายฝึกรบพิเศษที่ 3 ณ บ้านจำปุย ม.4 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเนื่องด้วยราษฎรในบ้านท่าสี ม.3 และบ้านจำปุย บ้านปงผักหละ บ้านห้วยตาด ม.4 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ภายหลังได้มีหน่วยงานราชการ ได้แก่ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่เมาะ ในท้องที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เนื้อที่ 45,156 ไร่ 1 งาน ตั้งแต่ปี 2516 เพื่อกระทำการสร้างค่ายพักและฝึกต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีค่ายฝึกรบพิเศษที่ 3 ประตูผา เป็นผู้ดูแลพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาราษฎรได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทระหว่างราษฎรและทหาร สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ใช้พื้นที่ดังกล่าว
พชร คำชำนาญ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ให้ข้อมูลว่า ชุมชนได้รับผลกระทบจากการทับซ้อนแนวเขตดังกล่าวอย่างน้อย 3 กรณี ได้แก่
1. เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาตรวจยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านห้วยตาด ราว 59 แปลง เนื้อที่ราว 359 ไร่ ซึ่งกระทบชาวบ้านอย่างน้อย 40 ครอบครัว โดยการตรวจยึดเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าชาวบ้านได้บุกรุกพื้นที่หลังปี 2545 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิ.ย. 2541 โดยขณะนี้ชาวบ้านที่ถูกตรวจยึดพื้นที่ แม้จะสามารถทำกินได้ในปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีหลักประกันว่าในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้จะสามารถทำกินได้ และชาวบ้านเกรงจะจะถูกดำเนินคดี
2. ชาวบ้านไม่สามารถเข้าสู่โครงการจัดที่ทำกินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ ซึ่งเป็นการจัดที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พ.ย. 2561 โดยกรมป่าไม้ต้องจัดที่ทำกินให้ชุมชนตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แต่ปัจจุบันชุมชนไม่สามารถเข้าสู่เงื่อนไขการจัดที่ดินดังกล่าวได้ เนื่องจากกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ยังไม่ส่งมอบที่ดินคืนกรมป่าไม้ ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านต้องอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินอย่างผิดกฎหมายและไม่มีแนวนโยบายของรัฐบาลรองรับ
3. การมีที่ดินทำกินและพื้นที่บางส่วนของป่าชุมชนทับซ้อนกับที่ดินของกองทัพบก สร้างความหวาดระแวงในการใช้ชีวิตตามวิถีของชุมชน อาทิ การเก็บหาของป่าและใช้ประโยชน์จากป่าที่ชุมชนดูแลรักษา นอกจากนั้นการที่แนวเขตทับซ้อนไม่ชัดเจน อาจมีการลาดตระเวนในพื้นที่และการซ้อมรบซึ่งสร้างความหวาดกลัวต่อชุมชนด้วยเช่นกัน
“ชาวบ้านมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนอยู่มาก่อนเขตป่าสงวนแห่งชาติ และแน่นอนว่าอยู่มาก่อนที่ดินทหาร แต่ขณะนี้ชาวบ้านไม่อาจวางใจได้ว่าจะยังสามารถทำกินได้หรือไม่ในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ซึ่งกำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า แม้จะมีคนบุกรุกจริงบ้าง แต่ไม่ควรเหมารวมว่าชาวบ้านทั้งหมดรุกที่ทหารแล้วให้ชาวบ้านเซ็นยินยอมว่าบุกรุก รวมถึงพื้นที่ทหารที่ยังทับซ้อนกับที่ทำกินของชาวบ้านอยู่จนชาวบ้านไร้สิทธิในที่ดิน ก็ต้องตั้งคำถามถึงทั้งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ว่าหากไม่ดำเนินการแก้ปัญหาแล้วชาวบ้านเสียสิทธิ์ จะรับผิดชอบอย่างไร” พชร คำชำนาญ กล่าว
ขณะที่การประชุมที่จัดโดยคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง ได้มีชาวบ้านจากทั้งบ้านท่าสี ม.3 และบ้านจำปุย ปงผักหละ ห้วยตาด ม.4 ประมาณ 200 คน ติดตามถ่ายทอดสดการประชุมอยู่ด้านนอกอาคาร และมีตัวแทนเข้าเจรจาในห้องประชุม ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าสี ม.3, ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าสี ปงผักหละ ห้วยตาด ม.4 รวมถึงแนวร่วม ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง ม.5 และ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ส้าน ม.6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมถึงตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)
โดยข้อเรียกร้องหลักคือให้ทหารกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกจากพื้นที่ทหารขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ โดยการเดินสำรวจแนวเขตเดิมอย่างมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ และประชาชนในพื้นที่ คืนสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้ชาวบ้านในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามโครงการจัดที่ดินชุมชนของรัฐบาล รวมถึงแนวทางข้อเรียกร้องในด้านการปฏิรูปที่ดินของภาคประชาชน ยุติกระบวนการตรวจยึดพื้นที่และการดำเนินคดีชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อน ซึ่งได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 รวมถึงการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ที่จะสร้างผลกระทบกับประชาชนให้ชะลอไว้ก่อนจนกว่ากระบวนการเดินสำรวจแนวเขตจะแล้วเสร็จ และระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านสามารถทำกินในที่ดินของตนเองได้โดยไม่ถูกคุกคาม ตรวจยึด และดำเนินคดี
‘วิโรจน์’ เคาะ 4 แนวแก้พิพาททหาร-ประชาชน ด้านชาวบ้านยังไม่วางใจเหตุแผนที่อาจตกหล่น
หลังการลงพื้นที่และการรับฟังข้อเสนอในที่ประชุม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ แต่ต้องเข้าใจประชาชนเหมือนกัน ซึ่งเชื่อว่ามีผู้บุกรุกอยู่บ้าง แต่ไม่ควรเหมารวมที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ทางท่าน ผบ.ค่ายได้ชี้แจงและให้การบ้านใน กมธ. ไว้แล้วว่าการดำเนินการนี้เป็นการป้องปรามเท่านั้น ไม่มีเจตนาที่จะดำเนินการตามกฎหมายใดๆ
“ส่วนกรณีแผนที่ควรใช้แนวการสำรวจของกรมป่าไม้เมื่อปี 2562 ในการคลี่คลายปัญหา เราเห็นตรงกันว่าตอนปี 2545 จนถึงตอนนี้ชุมชนขยายไปพอสมควร ฉะนั้นข้อพิพาทจะยังคงอยู่แน่ แต่มีการสำรวจที่ประชาชนยอมรับได้ในปี 2562 ถ้าเราเริ่มสำรวจใหม่เลยอาจใช้เวลามาก เราใช้แผนที่ปี 2562 เลยดีไหม เราจะได้เดินเรื่องเลย” วิโรจน์กล่าว
หลังจากนั้นประธาน กมธ.ทหาร ได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหา โดยคณะกรรมาธิการทหารจะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 4 ประเด็น ได้แก่
1. คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร จะทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอข้อมูลแผนที่การสำรวจที่ดินทำกินของราษฎรและพื้นที่แนวเขตทับซ้อนที่ดินทหารประมาณ 4,700 ไร่ เพื่อใช้สอบทานกับชุมชนให้สิ้นข้อสงสัย หากยังมีที่ดินแปลงใดตกหล่นให้ทำการสำรวจเพิ่มเติม
2. ในระหว่างการดำเนินการสอบทานข้อมูล ให้กองทัพบกผ่อนปรนให้ชาวบ้านยังสามารถทำกินได้ตามแนวเขตเดิมในฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งจะมีการแผ้วถางและเพาะปลูกตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. 2568 ซึ่งย้ำว่าต้องไม่มีการบุกรุกที่ดินรุกล้ำออกไปนอกแนวเขต
3. เนื่องจาก พ.ต.พิภพ วงค์ษา ผบ.ร้อย ฝรพ.3 ซึ่งมีท่าทีการทำงานอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับชาวบ้าน กำลังจะเกษียณอายุราชการ หาก ผบ. ท่านใหม่มาปฏิบัติราชการแทน ให้ยึดแนวทางการทำงานแบบเดิมกับประชาชนในพื้นที่
4. แจ้งให้ทราบเบื้องต้นว่าหากสอบทานข้อมูลแผนที่จนแล้วเสร็จ มีข้อยุติร่วมกันแล้ว จะทำหนังสือถึงผู้บัญชาการกองทัพบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกครั้ง เพื่อเสนอให้กันพื้นที่ทหารออกจากพื้นที่ชุมชนต่อไป
หลังจากนั้นชาวบ้านได้สอบถามว่าจะสามารถดำเนินการทางธุรการเรื่องหนังสือฉบับนี้ได้เร็วสุดเมื่อไร วิโรจน์ย้ำว่าจะดำเนินการโดยการนำเข้าวาระการประชุมเร่งด่วนของ กมธ. ทหารในวันพฤหัสบดี ที่ 9 ม.ค. 2568 เพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูก แต่หากล่าช้ากว่านั้นก็จะไม่ให้เกิน 2-3 วัน ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจสำหรับชาวบ้าน
ด้าน สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านบางกลาง ม.5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สถานการณ์คลี่คลายลงมาก เนื่องจากมีเวทีให้ได้พูดคุยและทำความเข้าใจกันโดยมี กมธ. ทหาร เป็นตัวกลาง แต่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ โดยเฉพาะเรื่องความชัดเจนแนวเขตทหารที่จะนำไปสู่การกันพื้นที่อาจไม่ง่ายขนาดนั้น
“ผมมั่นใจว่าการสำรวจแนวเขตเมื่อปี 2562 ของกรมป่าไม้นั้นต้องมีการตกหล่นแน่นอน เพราะชาวบ้านยังไม่เคยเห็นการคืนข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แม้ป่าไม้จะอ้างว่าได้เดินสำรวจร่วมกันกับผู้นำชุมชนแล้ว แต่ถ้าไม่มีการคืนข้อมูลให้ชุมชนได้ตรวจสอบร่วมกันจะต้องมีแปลงตกหล่น การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้ระยะยาวที่ประชาชนยังต้องเดินหน้าต่อควบคู่ไปด้วย ปล่อยให้เป็นแค่หน้าที่ของ กมธ.ทหารและหน่วยงานรัฐอย่างเดียวไม่ได้” สมชาติย้ำ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...