เรื่อง อภิวัฒน์ สุวรรณพินิจ, ทิชานนท์ เจริญชนม์, ศุภณัฐ ไชยการ, วรปรัชญ์ เมืองยศ
ตอนที่ 2 ความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกสู่การลุกฮือ
บริบทและปัจจัยภายนอกที่ส่งผลให้เกิดการกบฏพยาผาบ
พญาผาบทำการก่อกบฏขึ้น เริ่มต้นมาจากการทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ 2 ครั้ง โดยในครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2416 สยามได้ส่งข้าหลวงและข้าราชการของสยามเข้ามาประจำอยู่ที่เชียงใหม่ แม้ในสนธิสัญญาจะยังให้สิทธิ์และอำนาจในการปกครองดินแดนของตนเองแก่เจ้าผู้ครองนคร แต่ถึงกระนั้น สิทธิ์และอำนาจบางอย่างก็ถูกสยามแทรกแซง ตัวอย่างเช่น การทำสัญญาเช่าป่าเพื่อตัดไม้ ซึ่งเดิมทีเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้านายที่เป็นเจ้าของป่า จะสามารถทำสัญญากับผู้ใดก็ได้อย่างอิสระ แต่ในสนธิสัญญากลับระบุว่า ในการทำสัญญาต่าง ๆ นั้น จะต้องได้รับการรับรองจากสยามเสียก่อน อีกทั้งสยามได้ทำการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองด้านต่าง ๆ เช่น การปฏิรูปเค้าสนามหลวงและการตั้งเสนา 6 ตำแหน่ง โดยให้ข้าราชการของสยามเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองร่วมกับผู้ปกครองท้องถิ่น การปฏิรูปการจัดเก็บภาษี เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อลดอำนาจของเจ้าประเทศราชลง และจะทำให้กลุ่มนครรัฐทางเหนือกลายเป็นเพียงแค่หน่วยการปกครองของสยาม พร้อมกันนี้ ได้มีการรวมพื้นที่ของ 3 หัวเมืองหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน สร้างเป็นเขตปกครองใหม่ที่มีชื่อว่า “สามหัวเมือง” การสถาปนาพื้นที่ดังกล่าวทำให้ข้าหลวงของสยาม มีอำนาจเหนือทั้งสามหัวเมืองแทนที่เจ้านครเชียงใหม่ในส่วนของสนธิสัญญาฉบับที่ 2 ที่ทำขึ้นในปี พ.ศ. 2426 สยามได้มีการสร้างพื้นที่สมมติใหม่ โดยทำการขยายเขตภูมิกายาภายในให้มีการครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันออกของกลุ่มนครรัฐทางเหนือ คือ แพร่ และน่าน ซึ่งเจ้าผู้ครองนครนั้นไม่ได้มาจากราชวงศ์ทิพย์จักร พื้นที่สมมติที่กำหนดขึ้นมาใหม่นี้ เรียกว่า “หัวเมืองลาวเฉียง”[1]
นอกจากนี้ ยังเกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับล้านนา เป็นแบบมณฑลหนึ่งในพระราชอาณาเขต โดยนำแนวคิดและวิธีการของเจ้าอาณานิคมตะวันตกมาผสมผสานกับวิธีการแบบจารีต โดยมีจุดประสงค์เพื่อสลายอำนาจท้องถิ่นของบรรดาเจ้านายและขุนนาง พร้อมทั้งสถาปนาระบบราชการและกฎหมายขึ้นมาแทนที่ อันส่งผลให้กลุ่มเจ้านายและไพร่ถูกปรับเปลี่ยนสถานภาพไป โดยกลุ่มเจ้านายได้ถูกดึงเข้าสู่ระบบราชการสยาม ส่วนเจ้านายในระดับที่รองลงมา จะถูกส่งตัวไปทำงานที่นอกเมือง ในส่วนของไพร่นั้น ได้ถูกปลดปล่อยให้กลายเป็นแรงงานอิสระและมีพันธะกับรัฐโดยตรง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการออกกฎหมายเพื่อลดอำนาจของกลุ่มเจ้านายลง ทำให้ไพร่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่ต้องขึ้นกับเจ้านายคนไหน อีกทั้งกฎหมายของสยาม เป็นการเปิดโอกาสให้ไพร่สามารถร้องเรียนพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบของเจ้านายได้มากขึ้นอีกด้วย แต่ถึงกระนั้น การที่สยามเข้ามาแทรกแซงการปกครองของล้านนา ก็ทำให้กลุ่มไพร่ในล้านนาได้รับความเดือดร้อน โดยการเพิ่มภาษีอย่างมหาศาล[2]
การเกิดกบฏพญาผาบแรกเริ่มนั้นเกิดมาจากการที่ชาวบ้านได้ถูกกดขี่โดยการกระทำนี้เกิดมาจากรัฐไทย โดยในสมัยก่อนการเก็บภาษีของคนล้านนานั้นจะเก็บจากผลผลิตจากไร่นา เช่น ข้าว ผลไม้ต่างๆ แต่การที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบชาติยุโรปตะวันตก จึงทำให้การเก็บภาษีจากที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรแบบชาวล้านนาที่เคยทำถูกเปลี่ยนเป็นเงินแทน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่ว่าชาวบ้านนั้นปรับตัวไม่ทัน และอีกทั้งยังได้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเป็นนายทุนผูกขาดประมูลการเก็บภาษีของรัฐได้ ส่งผลให้กลุ่มนายทุนต้องเสียภาษีอากรเสียเอง ส่งผลให้นายทุนได้ขึ้นภาษีกับราษฎร การกระทำนี้จึงส่งผลให้ราษฎรล้านนาและในแขวงหนองจ๊อมถิ่นของผญาผาบ กระทั่งเหตุการณ์ได้เริ่มความรุนแรงขึ้นเมื่อน้อยวงศ์นายทุนผู้ประมูลภาษีได้ส่งลูกน้องมา 4 คน ได้แก่ นายจู นายจั๋นต๊ะ นายโปทา นายมหาวัน ไปเก็บภาษีที่แขวงหนองจ๊อม แต่ชาวบ้านได้แก่ นายตัน นายก๋องแก้ว นายคำ และนางหล้า ไม่มีเงินเสียภาษี จึงได้โดนลูกน้องของน้อยวงศ์จับกุมตัว โดยการใส่ขื่อที่มือและเท้าไปตากแดด ซึ่งสร้างความทนทุกข์ทรมานถึง 5 วัน และเมื่อเรื่องราวทั้งหมดนี้รู้ไปถึงหูของพญาผาบ ซึ่งในขณะนั้นพญาผาบมีอายุ 50 ปี พญาผาบจึงรับอาสาที่จะกำจัดอำนาจเจ้าภาษีเหล่านี้ โดยเริ่มจัดตั้งการประชุมในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2432 มีชาวบ้านเข้าร่วมมากกว่า 300 คนซึ่งแสดงให้ความโกรธแค้นของชาวบ้านที่มีต่อการกระทำของเจ้าภาษีอย่างน้อยวงศ์ที่กระทำการเกิดกว่าเหตุช่วยชาวบ้านที่โดนเจ้าภาษีทำโทษ และขับไล่เจ้าภาษีอากรออกจากแขวงหนอมจ๊อม สร้างความโกรธแค้นให้แก่เจ้าภาษีอากรอย่างมากจนถึงขั้นขู่ว่าจะนำกองกำลังทหารมาปราบปราม[3] จึงเกิดการส่งกำลังมาปราบปรามจากส่วนกลาง แต่เนื่องจากพ่ายแพ้เนื่องจากภูมิอากาศไม่เป็นใจและยุทโธปกรณ์ที่ด้อยกว่า จึงทำให้พ่ายต่อการปราบปรามครั้งนั้น
พญาผาบและครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งที่ยังสามารถหนีรอดออกมาได้ และไปขอความช่วยเหลือและหลบซ่อนที่เมืองเชียงตุง เจ้าเมืองเชียงตุงจึงได้ให้ปกครองเมืองโก จึงได้รวบรวมกำลังพลเพื่อที่จะกลับมาต่อสู้จำนวน 300 คน และได้เข้าปะทะกับกองกำลังปราบปรามที่ผานกกิ่วแขวงเมืองพร้าว แต่สู้ไม่ได้จึงได้แตกพ่ายหนีกลับไปเมืองโก หลังจากเหตุการณ์นี้เราก็ไม่เห็นถึงวีรกรรมของพญาผาบอีกเลย และพญาผาบก็ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำว่ากบฏของส่วนกลางที่ทำให้ซึบซาบเข้าไปในความทรงจำชองผู้คน
[1] ทินกฤต สิรีรัตน์, “สมมุติว่ามี “ล้านนา” : พื้นที่ อำนาจ-ความรู้ และมรดกของอาณานิคมสยาม,” วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 8, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564).
[2] เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว, “รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. 2417 – 2476,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553).
[3] นพคุณ ตันติกุล , วีรกรรมพญาผาบ (หนานเต๋จ๊ะ แห่งแขวงหนองจ๊อมทันทราย) , (เชียงใหม่: มิ่งขวัญ, 2546), หน้า 12-13