พบ ‘เต่าปูลู’ ในรอบ 2 ปี ณ บ้านคะแนง อ.เชียงคำ ตัวชี้วัดระบบนิเวศแม่น้ำลาวที่เสี่ยงสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้รายงานถึงการรับแจ้งเหตุจากชุมชนย้อนกลับไปในวันที่ 4 เมษายน 2567 ว่ามีชาวบ้านพบตัวเต่าปูลูในแม่น้ำลาว บ้านคะแนง ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา  ทางทีมงานจึงได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะของเต่าปูลู และทำการบันทึกข้อมูลสัญฐานเต่า ก่อนให้ชุมชนนำไปปล่อยไว้ตามที่อยู่เดิมในชุมชน

จากการสำรวจ เป็นเต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว เพศเมีย น้ำหนัก 0.290 กิโลกรัม  กระดองมีความยาว 120.4 มิลลิเมตร กระดองส่วนกลางกว้าง 95.5 มิลลิเมตร มีชาวบ้านได้ไปหาปลาตอนหัวค่ำเจอตัวเต่าปูลูกำลังว่ายเข้าหลบในซอกหิน


ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

วีระวัฒน์ พากเพียร ชาวบ้านคะแนง อายุ 23 ปี ได้กล่าวว่า “ตอนเย็นผมไปเดินเล่นหาปลา ดำจับปลาในน้ำเจอเต่าปูลูกำลังว่ายผ่านหน้าเข้าหลบในซอกหิน บริเวณต้นน้ำแม่ลาว ห่างจากชุมชนประมาณ 2 กิโลเมตร เจอตัวในเย็นวันที่ 2 เมษายน เวลาประมาณ หกโมงกว่าเกือบหนึ่งทุ่มครับในหมู่บ้านมีคนพบเต่าปูลูบ่อย แต่ผมพึ่งเจอเป็นครั้งแรก”

เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลาว เป็นระบบนิเวศลำธาร ที่ตั้งชุมชนบ้านคะแนงตั้งอยู่ในหุบเขา ลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยสาขาล้อมรอบ มีแม่น้ำลาวเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน มีแม่น้ำสาขาที่สำคัญในชุมชนจำนวน 10 ลำห้วย ได้แก่ ห้วยคะแนง ห้วยผาลาด ห้วยตาดเก๊าซาง ห้วยปูลู ห้วยผีหลอก ห้วยสวนหมาน ห้วยหินแดง ห้วยขุนลาว ห้วยน้ำลาวฝั่งซ้าย และห้วยน้ำตกขุนลาว ชาวบ้านยังมีการพบเจอตัวเต่าปูลูอยู่เป็นระยะๆ และมีชุกชุมในชุมชน

นายสายัณห์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้กล่าวถึงการเก็บข้อมูลครั้งนี้ว่า “วันนี้ทางสมาคมได้ทำการตีแปลงวิทยาศาสตร์และวัดข้อมูลตัวเต่า ศึกษาจุดระบบนิเวศที่เจอตัวเต่าเต่าปูลู การพบเต่าปูลูครั้งนี้เป็นการพบเต่าตัวแรกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาจากการลงมาศึกษาเต่าปูลูร่วมกับชุมชนบ้านคะแนง และแนวทางต่อไปจะปรึกษาชุมชนหาแนวทางการอนุรักษ์เต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมชุมชนต่อไป เต่าปูลูเป็นตัวชี้วัดสำคัญของระบบนิเวศ การพบตัวเต่าปูลูแสดงว่าต้นแม่น้ำลาวยังคงความอุดมสมบูรณ์”


ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว มีสถานภาพการอนุรักษ์  อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง(Critically Endangered-CR มีลักษณะจำเพาะกระดองหลังมีสีน้ำตาลดำ กระดองท้องสีเหลืองอมส้ม หัวใหญ่ จงอยปากแหลมคล้ายปากนกแก้ว หดหัวเข้ากระดองได้ไม่เต็มที่ ขาใหญ่และหดเข้ากระดองไม่ได้ เท้ามีเล็บ หางยาวกว่าความยาวของกระดอง มีเดือยแหลมขนาดเล็กบริเวณขา รอบ ๆ รูทวารและที่โคนหาง   กินเนื้อ กินปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินเหยื่อโดยการฉกงับ เต่าปูลูมีเล็บแหลมคมมีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง หากินในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตามซอกหิน ในฤดูหนาวจะจำศีลซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินหรือโพรงน้ำในลำห้วย


ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตภาพ
พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง