เรื่องและภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง
- ไฟป่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งทุกปีจะต้องเผชิญกับการเกิดไฟป่าที่มีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งจะเพิ่มงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ข้อมูลกลับแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่เกิดไฟป่ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- พบว่าปัจจัยการเกิดไฟป่าในภาคเหนือมี 2 ปัจจัย คือ 1. ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการเผาในพื้นที่ภาคเหนือ 2. มาตรการในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่า หรือ ‘การชิงเผา’ ที่มาจากรัฐ
- แต่ที่ผ่านมาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการชิงเผาของรัฐ กลับไม่เคยปรากฏออกสู่สาธารณะว่ามีรายละเอียดอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่
- หากเทียบเคียงข้อมูลจุดความร้อนระหว่าง ‘เชียงราย’ ที่ใช้แนวทาง ‘งดเผา (Zero Burning)’ ที่รวมไปถึงการงดใช้วิธีการชิงเผาจากรัฐ กับ ‘เชียงใหม่’ ที่ใช้การ ‘บริหารจัดการไฟ (Fire Management)’ ที่ยังคงอนุญาตให้มีการใช้วิธีชิงเผา พบว่าจำนวนจุดความร้อนของเชียงรายในพื้นที่ป่าน้อยกว่าเชียงใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ
- จากข้อมูลจำนวนผู้ขอใช้ไฟผ่านแอปพลิเคชัน FireD ในปี 2567 จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าเกินครึ่งหนึ่ง หรือ 66.84% มาจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานป่าไม้ รองลงมา 28.35% เป็นการขอใช้ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม และ 4.81% เป็นการขอใช้ไฟในป่าชุมชน
- ขณะที่มาตรการระหว่างการ ‘การบริหารจัดการไฟ (Fire Management)’ ที่อนุญาตให้มีการชิงเผาจากรัฐ หรือ นโยบายงดเผา (Zero Burning) ที่งดการเผาทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือรัฐ ยังเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในภาคเหนือ เนื่องจากยังมีกลุ่มคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟเช่นกัน
- ข้อมูลย้อนหลัง 6 ปี (2563 – 2568) พบว่างบประมาณจัดการไฟป่าหลังปี 2565 มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกปี และจำนวนการดับไฟป่า และพื้นที่ป่าที่ถูกเผาไหม้ ก็เพิ่มขึ้นตามเช่นเดียวกัน ซึ่งจำนวนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอาจมีความเกี่ยวข้องกับมาตรการชิงเผาของรัฐ
- แต่การใช้งบประมาณของรัฐก็ยังก่อให้เกิดคำถามต่อประสิทธิภาพ เนื่องจากงบประมาณบางส่วนควรสามารถนำไปใช้ให้มีประสิทธิภาพได้มากกว่านี้ เช่น การซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นให้แก่เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า แทนการจัดจ้างชุดเฝ้าระวังไฟ
- ไม่ใช่แค่การใช้งบฯ อย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีข้อสงสัยเรื่องทุจริต เนื่องจากที่ผ่านมางบไฟป่ามีการเรียกเก็บส่วย 30% จากหน่วยป้องกันไฟ ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าทั้งหมด รวมถึงปัญหาการจัดซื้อกล้าไม้และจ้างทำแนวกันไฟที่มีความเชื่อมโยงกับคดีทุจริตอีกด้วย
- จากข้อมูลและข้อสังเกตที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าปัญหาไฟป่าในภาคเหนือของไทยไม่ได้เกิดจากประชาชนเพียงอย่างเดียวตามที่รัฐกล่าวอ้าง แต่ยังเกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐ ดังนั้น รัฐควรเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจระหว่างรัฐและประชาชน
ไฟป่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สุขภาพประชาชน และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ต้องเผชิญกับไฟป่าที่รุนแรงขึ้นทุกปี แม้หน่วยงานรัฐหลายหน่วยได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อจัดการปัญหาไฟป่าในภาคเหนือ แต่ผลปรากฏว่าพื้นที่ไฟป่ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการภัยพิบัติของหน่วยงานรัฐทุกระดับ ตั้งแต่หน่วยงานท้องถิ่นจวบจนหน่วยราชการส่วนกลาง
จากปัจจัยการเกิดไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่ามีปัจจัยหลักอยู่ 2 ปัจจัย ประกอบด้วย
– ปัจจัยที่ 1 คือ ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการเผาในพื้นที่ภาคเหนือ มีทั้งการเผาทั้งในภาคเกษตรกรรม และการเผาที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชน
– ปัจจัยที่ 2 คือ มาตรการที่ใช้เพื่อกำจัดใบไม้แห้ง กิ่งไม้แห้ง หรือวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ หน่วยงานรัฐมักเรียกมาตรการนี้ว่าการ ‘ชิงเผา’ เนื่องจากเป็นการชิงเผาวัสดุที่อาจเป็นเชื้อเพลิงเมื่อเกิดไฟป่าขึ้น เสมือนเป็นการบริหารเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่านั่นเอง
การ ‘บริหารจัดการเชื้อเพลิง’ หรือ ‘การชิงเผา’ เป็นหนึ่งในแนวทางป้องกันไฟป่าที่มีเป้าหมายเพื่อลดความรุนแรงของไฟป่า ด้วยการควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงตามธรรมชาติ เช่น ใบไม้แห้ง กิ่งไม้ และหญ้า ก่อนเข้าสู่ฤดูไฟป่า เป็นต้น
วิธีดังกล่าวก็เป็นวิธีที่รัฐใช้มาอย่างยาวนานในการจัดการปัญหาไฟป่า รวมถึงเป็นองค์ความรู้ที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรการจัดการป่าไม้ หรือ ‘วนศาสตร์’ แม้จะเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่นานาประเทศยอมรับ แต่การใช้วิธีชิงเผาของรัฐในพื้นที่ภาคเหนือกลับไม่เคยปรากฏข้อมูลออกสู่สาธารณะว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง และถูกต้องตามหลักการหรือไม่

จากข้อมูลในปี 2567 ระหว่าง ‘จังหวัดเชียงราย’ ที่ประกาศใช้ ‘นโยบายงดเผา (Zero Burning)’ ซึ่งเป็นนโยบายที่งดกิจกรรมที่มีการเผาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเผาในทางการเกษตร การใช้ไฟเผาตามวิถีท้องถิ่น รวมถึงการเผาตามมาตรการ ‘ชิงเผา’ ของหน่วยงานป่าไม้เช่นกัน โดยประกาศใช้นโยบายดังกล่าวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน
ขณะที่ ‘จังหวัดเชียงใหม่’ เลือกประกาศใช้แนวทาง ‘การบริหารจัดการไฟ (Fire Management)’ แนวทางดังกล่าวคือการรวบอำนาจการอนุญาตเผาไว้ภายใต้กรรมการชุดหนึ่ง การเผาทุกประเภททั้งการเผาในทางการเกษตร การใช้ไฟเผาตามวิถีท้องถิ่น รวมถึงการเผาตามมาตรการชิงเผาของหน่วยงานป่าไม้ก็จำเป็นต้องขออนุญาตเผา โดยขออนุญาตเผาผ่านแอปพลิเคชัน FireD และรอการอนุมัติจึงจะทำการเผาได้
การดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ส่งผลให้เชียงรายเมื่อปี 2567 มีจำนวนจุดความร้อนน้อยกว่าเชียงใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเชียงรายพบจำนวนจุดความร้อนทั้งสิ้น 722 จุด ในขณะที่เชียงใหม่พบจุดความร้อนทั้งสิ้น 1,587 จุด ซึ่งเป็นสองเท่าของจุดความร้อนที่พบในจังหวัดเชียงราย และหากนับเฉพาะจุดความร้อนในพื้นที่ป่า จังหวัดเชียงรายพบจุดความร้อนทั้งสิ้น 608 จุด ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่พบจุดความร้อนทั้งสิ้น 1,477 จุด หรือกว่าสองเท่าของจำนวนจุดความร้อนที่พบในพื้นที่ป่าจังหวัดเชียงราย
หากนำข้อมูลจุดความร้อนใน ‘เชียงราย’ ที่ใช้นโยบายงดเผา (Zero Burning) ข้อมูลระหว่าง 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม เทียบเคียงกันระหว่างปี 2566 – 2567 จะพบว่าพื้นที่จุดความร้อนลดลงอย่างมาก จำนวนรวมทั้งหมดจาก 2,200 จุด ลดลงเหลือ 722 จุด ลดลงกว่า 67.1% และนับเฉพาะในพื้นที่ป่า จาก 1,988 จุด ลดลงเหลือ 608 จุด ลดลงกว่า 69.4%
ในทางกลับกัน ‘เชียงใหม่’ ที่ใช้แนวทางการบริหารจัดการไฟ (Fire Management) ข้อมูลระหว่าง 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม ในปี 2567-2566 พบว่าจุดความร้อนในทั้งสองปีมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยจำนวนรวมทั้งหมดจาก 1,463 จุด เพิ่มเป็น 1,587 จุด เพิ่มขึ้น 8.4% และนับเฉพาะในพื้นที่ป่า จาก 1,386 จุด เพิ่มเป็น 1,477 จุด เพิ่มขึ้น 6.5%

ทั้งนี้ข้อมูลจาก ระบบสารสนเทศเฝ้าระวังและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งเป็นแดชบอร์ดของแอปพลิเคชัน FireD ยังชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนการขออนุญาตใช้ไฟใน เชียงใหม่ ปี 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน FireD เกินกว่าครึ่งหนึ่งมาจากหน่วยงานป่าไม้ คิดเป็น 66.84% โดยมีทั้งคำขอเผาทั้งในพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งเป็นพื้นที่ดูแลของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ฯ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์อันเป็นพื้นที่ดูแลของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ, ถัดมา 28.35% เป็นการขอใช้ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม และ 4.81% เป็นการขอใช้ไฟในป่าชุมชน ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจำนวนจุดความร้อนส่วนใหญ่อาจมีที่มาจากการใช้วิธีชิงเผาของหน่วยงานป่าไม้
ที่ผ่านมามาตรการชิงเผาของหน่วยงานป่าไม้ยังคงเป็นปริศนา เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนพื้นที่ที่ดำเนินการ, วิธีและมาตรการควบคุม หรือแม้แต่งบประมาณที่ใช้ไป มีการอ้างถึงการชิงเผาเพียงเล็กน้อยจาก รายงานผลตามแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงจากส่วนติดตามประเมินผล กรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ระบุว่า ระหว่างปี 2564 – 2567 มีการชิงเผาในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ทั้งสิ้น 3.6 ล้านไร่ทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังคงขาดความชัดเจน เนื่องจากไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ดำเนินการ งบประมาณที่ใช้ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีเพียงตัวเลขรายงานผลการดำเนินงานโดยปราศจากข้อมูลเชิงลึกที่สามารถตรวจสอบได้
นอกจากนี้ ข้อมูลจุดความร้อนที่ถูกระบุอยู่ในรายงานของหน่วยงานป่าไม้ กลับพบว่าเป็นข้อมูลที่ ‘ไม่นับรวม’ จุดความร้อนที่เกิดขึ้นด้วยหน่วยงานป่าไม้ที่มาจากการชิงเผา ซึ่งแม้ตัวชี้วัดจำนวนจุดความร้อนในทุกๆ ปีตามรายงานของหน่วยงานป่าไมัจะมีจำนวนลดลง แต่ก็อาจจะเป็นเพราะการปกปิดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการของตนเอง และผลักภาระความรับผิดชอบไปยังชาวบ้านชุมชนท้องถิ่นที่มีวิถีชิวิตที่พึ่งพิงป่า เกษตกร และกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง
และในปี 2568 คำสั่งจาก ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกคำสั่งคุมเข้มผ่านการประกาศใช้นโยบาย งดเผา (Zero Burning) โดยกำชับไปยังนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ โดยหากจังหวัดใดมีการเผาเกิดขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จากการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว ส่งผลให้เชียงใหม่ต้องเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการไฟ กลับไปเป็นนโยบายงดเผาเช่นเดิม ซึ่งส่งผลผลกระทบโดยตรงกับผู้ที่มีความจำเป็นที่จะใช้ไฟ โดยมีทั้ง ภาคเกษตรกรรม ชุมชน และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้มีมาตรการเยียวยาต่อกลุ่มคนดังกล่าว
ข้อถกเถียงระหว่าง ‘การบริหารจัดการไฟ (Fire Management)’ ที่อนุญาตให้มีการใช้ไฟรวมไปถึงการชิงเผาจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และ ‘นโยบายงดเผา (Zero Burning)’ ที่งดการเผาในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะทั้งประชาชนหรือรัฐก็ตาม ยังคงเป็นคำถามใหญ่ในภาคเหนือ ว่าแท้จริงแล้วใช้วิธีแบบไหนถึงจะมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่มากกว่ากัน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวไม่ใช่แค่เพียงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นปัญหาปากท้องด้วยเช่นกัน เมื่อมีคำสั่งให้ดำเนินนโยบายงดเผาทำให้ชาวบ้านที่จำเป็นจะต้องใช้ไฟในวิถีชีวิตหรือภาคเกษตรกรรมต้องเผชิญปัญหาอย่างไม่มีทางเลือก
ความเห็นจากภาควิชาการ อาทิ ผศ.ดร.วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนยันว่าการใช้วิธีการชิงเผามีความจำเป็นที่จะต้องทำ เนื่องจากหากปล่อยให้ใบไม้ผลัดใบสะสมมากเกิดไปจะทำให้เกิดเชื้อเพลิงในปริมาณที่มากในป่า และหากไม่ชิงเผาเชื้อเพลิงก่อน เมื่อเกิดไฟจะส่งผลให้ปริมาณไฟนั้นรุนแรงมหาศาลและก่อให้เกิดฝุ่นควันจำนวนมาก เมื่อเทียบกับการชิงเผาแล้ววิธีชิงเผาก่อให้เกิดฝุ่นควันน้อยกว่าและลดความรุนแรงจากการเกิดไฟป่าได้ ทั้งนี้ก็ยังย้ำว่าการชิงเผาเป็นวิธีที่จะต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดไฟลุกลามจนกลายเป็นไฟป่า
เช่นเดียวกันกับ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่าการใช้วิธีแบบบริหารจัดการไฟ (Fire Management) ยังคงมีความจำเป็น เนื่องจากการใช้ไฟเป็นเพียงตัวเลือกเดียวของเกษตรกรที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐก็ไม่ได้มีนโยบายที่เพิ่มโอกาสและทางเลือกให้แก่กลุ่มเกษตรกร และในทางกลับกันหากใช้นโยบายงดเผา เมื่อพ้นช่วงประกาศงดเผา การเผากลับมาเกิดขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ก็ยังย้ำว่าการใช้ไฟนั้นจำเป็นที่จะต้องมีระบบจัดการที่ชัดเจนเช่นกัน
ในขณะที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ยังคงยืนยันว่าการใช้วิธีชิงเผาไม่มีความจำเป็นหากดูตามความเหมาะสมของพื้นที่ป่าในไทย เนื่องจากส่วนใหญ่พื้นที่ที่เกิดไฟไหม้มักจะเป็นพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ รวมถึงไฟที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นไฟเลียดดินซึ่งมีความรุนแรงน้อย และยังชี้ว่าองค์ความรู้ในการใช้วิธีชิงเผาส่วนใหญ่มักจะทำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่นป่าสนน้ำมัน หากเกิดไฟป่าแล้วจะมีความรุนแรงสูง ดับยาก และมีความอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ วิธีการชิงเผาจึงเป็นวิธีหลักในการจัดการไฟป่า พร้อมยังตั้งข้อสังเกตว่าวิธีชิงเผาของรัฐอาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้นในทุกปี และแนะว่าให้รัฐนำงบประมาณในส่วนดังกล่าวไปใช้ในทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เช่น การซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นให้แก่เจ้าหน้าที่ การเตรียมความพร้อมในพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนภารกิจดับไฟป่า ส่วนในภาคประชาชนที่มีความจำเป็นในการใช้ไฟก็ยังย้ำถึงการจัดทำมาตรการควบคุมไฟให้มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
งบเยอะขึ้น ไฟป่าก็เยอะขึ้นตาม?
ในแต่ละปี งบประมาณสำหรับการจัดการไฟป่าจะถูกจัดสรรให้หน่วยงานป่าไม้ในช่วงก่อนเข้าฤดูไฟป่า ซึ่งหมายความว่า รัฐจะต้องจัดเตรียมแผนการรับมือ รวมถึงกำหนดงบประมาณที่จะต้องใช้ในแต่ละปี ‘ไว้ล่วงหน้า’ ก่อนจะจัดทำโครงการเพื่อขอจัดสรรงบประมาณ
แต่จากข้อมูลกลับพบว่าในปี 2566 งบประมาณกลับเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต และสถานการณ์ไฟป่าก็กลับมาเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ในช่วง 2563-2565 สถานการณ์ไฟป่ามีแน้วโน้มลดลงไปแล้ว จึงสามารถอนุมานได้ว่าการเพิ่มขึ้นของงบประมาณ, จำนวนครั้งการดับไฟป่าและพื้นที่ป่าที่ถูกเผาไหม้ อาจมีความเชื่อมโยงกับมาตรการชิงเผาของรัฐ

หากสรุปข้อมูลงบประมาณ, จำนวนครั้งดับไฟป่า, จำนวนพื้นที่ป่าที่ถูกเผาไหม้ตามรายปี สามารถแยกได้ดังนี้
ปี 2563 ได้รับงบประมาณทั้งหมด 205,005,757 บาท เกิดไฟป่าทั้งหมดจำนวน 130,610 ไร่ ดับไฟป่าทั้งหมด 5,435 ครั้ง
ปี 2564 ได้รับงบประมาณทั้งหมด 183,233,416 บาท เกิดไฟป่าทั้งหมด 84,418 ไร่ ดับไฟป่าทั้งหมด 3,172 ครั้ง
ปี 2565 ได้รับงบประมาณทั้งหมด 172,997,407 บาท เกิดไฟป่าทั้งหมด 26,960 ไร่ ดับไฟป่าทั้งหมด 1,634 ครั้ง
ปี 2566 ได้รับงบประมาณทั้งหมด 378,039,270 บาท เกิดไฟป่าทั้งหมด 138,613 ไร่ ดับไฟป่าทั้งหมด 5,163 ครั้ง
ปี 2567 ได้รับงบประมาณทั้งหมด 639,840,297 บาท เกิดไฟป่าทั้งหมด 290,397 ไร่ ดับไฟป่าทั้งหมด 7,179 ครั้ง
ในขณะที่ปี 2568 17 จังหวัดภาคเหนือได้รับงบประมาณทั้งหมด 801,751,370 บาท
การใช้จ่ายงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพและความพัวพันของคดีทุจริตไฟป่า
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่สถานการณ์ไฟป่ายังคงไม่ทุเลาลง และการใช้งบประมาณก็ยังคงถูกตั้งคำถามว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ เช่น ในกรณีการจัดซื้ออุปกรณ์ในภารกิจไฟป่า กลับพบว่าในแต่ละปีมีการซื้ออุปกรณ์ในลักษณะเดิมอยู่เรื่อยๆ เช่น ไม้ตบไฟ ถังฉีดน้ำ ครอบดับไฟป่า และอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่าง เครื่องเป่าลม กลับเป็นเพียงส่วนน้อยที่ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในภารกิจดับไฟป่าไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเนื่องจากการขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็น
อีกส่วนหนึ่งของงบประมาณในทุกๆ ปีจะถูกนำไปใช้กับการจัดจ้างบุคลากร กรณีตัวอย่างจากปี 2568 พบว่างบประมาณในการจัดจ้างบุคลากรอาจมีมากถึง 155,404,000 บาท โดยแบ่งเป็น การจ้างบุคลากรดับไฟป่าเพิ่มเติมจำนวน 800 นาย โดยมีค่าตอบแทนคนละ 11,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลาทั้งหมด 4 เดือน ใช้งบประมาณราว 35,200,000 บาท และการจ้างชุดเฝ้าระวังไฟ ซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนแต่ละพื้นที่คนละ 9,000 บาท จำนวน 1,113 จุด จุดละ 3 คน ในช่วงระยะเวลาไฟป่า 4 เดือน ใช้งบประมาณราว 120,204,000 บาท
แม้จะเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน แต่งบประมาณการจ้างบุคลากรก็ยังคงมีคำถามจากภาคประชาสังคมถึงประสิทธิภาพในการใช้งบว่าคุ้มค่ามากน้อยเท่าไหร่ หากนำไปใช้ในแนวทางอื่นอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การซื้อโดรนความร้อนแทนการจ้างชุดเฝ้าระวังไฟ เนื่องจากโดรนความร้อนมีความสามารถในการให้ข้อมูลและระบุพิกัดได้แม่นยำกว่าหากเทียบกับมนุษย์ ทั้งยังสามารถอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ดับไฟได้ดีกว่า หรือการนำงบประมาณไปลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนภารกิจดับไฟป่า เช่นการใช้ AI, การทำ Big Data

นอกจากการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพแล้ว อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือการความพัวพันของข้าราชการและการทุจริตในโครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า ตัวอย่างกรณีจากปี 2565 ที่ ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกระจาน ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ ‘รัชฎา สุริยกุล’ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ ในขณะนั้น โดยกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีทั้งการเรียกรับสินบน กลั่นแกล้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมจ่ายเงินวิ่งเต้น และเรียกเก็บเงินจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องคือหน่วยป้องกันไฟป่า ซึ่งถูกเรียกเก็บส่วย ‘เป็นจำนวน 30%’ ของโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าทั้งหมด หมายความว่ามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไฟป่า ก็อาจได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว เช่น การจัดนำแนวกันไฟ การจัดจ้างบุคลากร การจัดซื้ออุปกรณ์ หรือแม้แต่งบประมาณที่ไม่เคยเปิดเผย อย่างงบการชิงเผาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ด้วยเช่นกัน
กรณีนี้เชื่อมโยงมาถึงปี 2566 เมื่อ ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ยื่นเรื่องให้ ‘สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภาค 8’ ตรวจสอบความผิดปกติในการจัดทำแนวกันไฟที่มีมูลค่าสูงถึง 20.5 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ระยะทางรวม 4,100 ก.ม. หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 5,000 บาท ซึ่งหากข้อกล่าวหาเป็นจริง ไม่เพียงทำให้การจัดทำแนวกันไฟไร้ประสิทธิภาพ แต่ยังเพิ่มข้อกังวลเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากพื้นที่ดำเนินการอยู่ในป่าเขาสูง ยากต่อการเข้าถึงและตรวจสอบโดยประชาชน
ข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตในงบประมาณการดับไฟป่า ไม่เพียงแต่กรณีการเรียกรับส่วย 30% จากหน่วยป้องกันไฟป่าเท่านั้น แต่ยังมีคดีร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อกล้าไม้ ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า ข้อมูลจากสำนักงานประชาสัมพันธ์แม่ฮ่องสอนในปี 2567 เปิดเผยว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในกรณีดังกล่าวอีกด้วย
อีกกรณีหนึ่งในปี 2567 คือกรณีที่รัฐบาลสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่กล้าประกาศให้สถานการณ์ไฟป่าเป็นภัยพิบัติ เนื่องจากงบประมาณในการจัดการหมดไปแล้ว โดยต้นเรื่องมาจากไลฟ์สดของมูลนิธิกระจกเงาร่วมกับพรรคก้าวไกล ซึ่งในช่วงท้าย ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ได้พูดคุยกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ และระบุว่า งบภัยพิบัติกว่า 50 ล้านบาทของจังหวัดต่าง ๆ ถูกจองล่วงหน้าโดยบริษัทเอกชนก่อนเกิดเหตุ อีกทั้งยังกล่าวว่าเป็นงบจังหวัดเป็น ‘งบเงินทอน’ จึงทำให้เมื่อเกิดเหตุจริง ผู้ว่าฯ ไม่กล้าประกาศภัยพิบัติ เพราะไม่มีงบเหลือสำหรับการรับมือ
กรณีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในงบไฟป่า ไม่ได้มีเพียงแค่ในช่วงนี้ หากย้อนกลับไปในปี 2557 ก็พบว่ามีเหตุการณ์ทุจริตในลักษณะเดียวกันมาแล้ว ตัวอย่างเช่น กรณีอดีตผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) และพรรคพวก ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงโครงการปลูกป่าแนวกันชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าวยัง ป.ป.ช. ยังไม่ได้ลงมติชี้มูลความผิดแต่อย่างใด
‘ความโปร่งใส’ ทางออกที่มากกว่าการผลักภาระให้ชุมชน
จากข้อมูลและข้อสังเกตที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาไฟป่าในภาคเหนือของไทยไม่ได้มีที่มาจากประชาชนอย่างที่รัฐกล่าวอ้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐ ความพยายามปิดบังข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการชิงเผา หรือ การใช้งบประมาณ อาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุว่าทำไมปัจจุบันสถานการณ์ไฟป่ายังไม่มีวี่แววที่จะไปในทิศทางที่ดีขึ้น
หากรัฐต้องการแก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส ตั้งแต่รายละเอียดเกี่ยวกับการชิงเผา งบประมาณที่ใช้ วิธีการดำเนินงาน รวมถึงผลกระทบของนโยบายที่นำมาใช้ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรถูกปกปิด หรือถูกบิดเบือนเพื่อสร้างภาพลวงตาว่านโยบายของรัฐมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ การแก้ไขปัญหาไฟป่าควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ใช่การตัดสินใจโดยรัฐเพียงฝ่ายเดียว เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผลกระทบจากไฟป่าตกอยู่กับประชาชนโดยตรง
ความโปร่งใสไม่ได้เป็นเพียงข้อเรียกร้องทางนโยบายเท่านั้น แต่เป็นหลักการสำคัญที่ช่วยให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สร้างความไว้วางใจ และทำให้การแก้ปัญหาไฟป่าเป็นไปอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ที่มา:
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ. ชุดข้อมูลการเกิดไฟไหม้ป่า
- สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. มาตรการป้องกันและแก้ไขปญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2567/68
- สถาบันพระปกเกล้า. โครงการวิจัย การสำรวจพื้นที่ข้อมูลประเด็นความขัดแย้งในไทย:กรณีมิติสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
กรมอุทยานแห่งชาติฯ. รายงานผลตามแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงจากส่วนติดตามประเมินผล
กรมอุทยานแห่งชาติฯ. รายละเอียดตัวชี้วัดการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - Rocket Media Lab. งบไฟป่า 2566 [ข้อมูลดิบ]
- ThaiPBS. “ชัยวัฒน์” เปิดเบื้องหลังอธิบดีกรมอุทยานฯ เรียกรับสินบน
- สำนักข่าวอิศรา. คดี ‘รัชฎา’ เรียกสินบนชะงัก! อสส.แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ตีกลับ2 สำนวน ตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.
- ประชาไท. สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาผู้ว่าฯ ไม่กล้าประกาศภัยพิบัติเพราะงบฯ หมด
- สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน. จังหวัดแม่ฮ่องสอนร่วมตรวจติดตามคดีการร้องเรียนกล่าวหาการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อกล้าไม้