ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา: เจ้าและไพร่ในล้านนา ณ ช่วงเวลาการปฏิรูปมณฑลพายัพถึงก่อน พ.ศ.2475

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

สังคมล้านนาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีโครงสร้างทางสังคมเป็นลำดับชั้นบนลงล่างเฉกเช่นเดียวกันกับสังคมศักดินาทั่วไปที่มีเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ ทาสและพระสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งผู้คนในลำดับชั้นต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ล้วนต่างมีความสัมพันธ์ตามบทบาทและหน้าที่ตามแต่ละส่วนของสังคมที่พวกเขาอยู่อาศัย เจ้าผู้ครองนครและเจ้านายจึงถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนซึ่งมีสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในลำดับชั้นสูงสุด โดยเป็นชนชั้นผู้ปกครองซี่งมีอำนาจในการจัดการและบริหารบ้านเมือง การพิจารณาตัดสินคดีความต่าง ๆ ตลอดจนเป็นเจ้าแผ่นดินที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรป่าไม้ การจัดเก็บภาษีอากร ตลอดจนที่กะเกณฑ์ จัดสรรและการใช้แรงงานจากเหล่าบรรดา “ข้าคน” ที่เป็นไพร่หรือทาสในสังกัด แน่นอนว่าเจ้าผู้ครองนครที่นอกเหนือจะมีฐานะเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว พระองค์ยังทรงมีฐานะประดุจ “เจ้าชีวิต” ของทุก ๆ คนในสังคมล้านนาเพราะมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองบ้านเมืองอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทว่ามีเงื่อนไขยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นาคือดินแดนล้านนามีฐานะเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรสยามที่ผูกพันธะกับเจ้าผู้ครองนครไว้เพียงการส่งเครื่องราชบรรณาการ ไปทูลเกล้าฯ ถวายให้ในฐานะ “พี่ใหญ่” ใช่หมายความถึงผู้ปกครองหรือบังคับบัญชาโดยตรงแต่อย่างใด ขณะเดียวประเทศราชต่าง ๆ ก็ยังจะต้องให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ครั้นยามที่ราชสำนักกรุงเทพฯ ต้องการ

ขณะที่ชนชั้นไพร่นั้น ก็จัดเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมล้านนาที่ต้องถูกขึ้นทะเบียนไว้สังกัดมูลนาย แน่นอนมูลนายที่ว่าในสังคมล้านนาส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเจ้านายคนใดคนหนึ่งเสมอ ด้วยเหตุนี้ไพร่จึงมีพันธะในการส่งส่วยแรงงานหรือส่วยสิ่งของ รวมทั้งการทำงานรับใช้เจ้านายที่ขึ้นสังกัด ส่วนชนชั้นทาสมีฐานะเป็นหลักทรัพย์อย่างหนึ่งของนายเงินที่สามารถซื้อขายได้ ด้วยเหตุนี้ ทาสจึงมีพันธะที่จะต้องอยู่ทำงานรับใช้ผู้ที่เป็นนายเงินซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นเจ้านายและขุนนาง ภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างมูลนายกับไพร่และนายเงินกับทาสนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบของการอุปถัมภ์โดยมูลนายมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือไพร่ในสังกัดตามสมควร แต่สำหรับนายเงินนั้นก็มีภาระเลี้ยงดูทาสซึ่งอาศัยในบ้านเรือนของตนตามควรแก่ฐานะ

จะเห็นได้ว่าก่อนการปฏิรูปมณฑลพายัพโดยรัฐบาลสยามซึ่งได้ค่อย ๆ ลดทอนอำนาจจากเจ้าผู้ครองนครตามหัวเมืองประเทศราชเพื่อรวบอำนาจเข้ามาสู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯนั้น ชนชั้นต่าง ๆ ทั้งเจ้านาย ขุนนาง ไพร่ ทาส และพระสงฆ์ต่างมีบทบาทและภาระในหน้าที่ในสังคมโดยเฉพาะพระสงฆ์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในสังคม ตลอดจนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกชนชั้นอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมล้านนาเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษก่อนหน้าเมื่อระบบเศรษฐกิจการค้าภาคพื้นทวีปได้มีการขยายตัวและต่อติดระบบการค้าแบบพาณิชย์นิยมชายฝั่งเป็นครั้งแรกราวทศวรรษ 2390s เมื่ออังกฤษมีชัยชนะเหนือพม่าในสงครามครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2369 โดยได้เข้ายึดดินแดนตะนาวศรีทางตอนใต้ของพม่าและมีผลให้เขตอิทธิพลของอังกฤษเข้ามาประชิดกับดินแดนล้านนาโดยเชื่อมต่อผ่านทางเมืองเมาะละแหม่งที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำสาละวินซึ่งได้ทำให้มีการเดินทางเข้ามาค้าไม้ของคนในบังคับอังกฤษบริเวณด้านตะวันตกของเมืองเชียงใหม่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้การค้าไม้ที่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมป่าซึ่งกําลังขยายตัวในล้านนา กลายเป็นรายได้และผลประโยชน์มหาศาลต่อทั้งเจ้านายล้านนาและอังกฤษจวบจนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญภายหลังที่รัฐบาลสยามส่งเข้ามาจัดการปฏิรูปการปกครอง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2427 เป็นต้นไป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมดินแดนล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักร ซึ่งการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสยามนั้น ได้ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพและการลดบทบาทลงของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมล้านนาซึ่งสามารถกล่าวให้เห็นได้ดังนี้

ประการแรก การลดทอนอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจจากเหล่าบรรดาเจ้าผู้ครองนครและเจ้านาย นั้นเกิดขึ้นในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างไม่รวบรัดตัดอำนาจ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งเสนา 6 ตำแหน่งเพื่อโอนอำนาจจากเจ้าผู้ครองนครและเจ้านายบุตรหลานไปสู่ข้าราชการสยามที่มาจากส่วนกลาง การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอากรและการโอนอำนาจกิจการป่าไม้อันถือว่าเคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเจ้าผู้ครองนครและเจ้านายให้มาเป็นของรัฐบาล ทั้งนี้รัฐบาลสยามได้จัดตั้งกรมป่าไม้ในพ.ศ. 2439 จวบจนกระทั่งมาถึงสมัยการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลที่เริ่มต้นใน ปี พ.ศ. 2442 รัฐบาลจึงได้ดำเนินการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชพร้อมกับเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของเจ้าผู้ครองนครได้อย่างแท้จริงซึ่งเจ้าผู้ครองนครนั้นก็มีฐานะเป็นเพียงข้าราชการของรัฐเท่านั้นและในที่สุดรัฐบาลก็สามารถยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครได้สำเร็จ

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่ที่ได้มีการโยนสังกัดไพร่ให้มาขึ้นกับกรมมหาดไทยและกรมทหารเพื่อให้มีผลทำให้อำนาจการควบคุมไพร่ของมูลนายแต่เดิมนั้นหมดสิ้นไป ขณะเดียวกันรัฐบาลได้เร่งจัดทำบัญชีสำมะโนครัวเพื่อความสะดวกสบายในการควบคุมแหล่งกำลังคนมากขึ้น ส่วนการดำเนินงานยกเลิกระบบไพร่และทาสในสังคมล้านนาก็มีลักษณะที่ล้อกันไปกับพระราชวิเทโศบายทางการเมืองของรัฐบาลสยามที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่คราสมัยเทศาภิบาลและดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปการปกครองโดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติ เก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์ของมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) การใช้ข้อบังคับและพระราชบัญญัติใหม่ที่กล่าวไปนี้ก็ยังมีผลทำให้ระบบไพร่ได้เปลี่ยนเป็นระบบที่เก็บเงินโดยตรงและในปีเดียวกัน รัฐบาลสยามก็ยังได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. 119 ซึ่งมีผลหาให้ทาสเชลยและทาสสินไก่ส่วนหนึ่งเป็นอิสระ จนกระทั่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติเลิกทาสรัตนโกสินทรศก 124 ฉบับ พ.ศ. 2455 จำนวนทาสตามครัวเรือนในล้านนาก็จึงค่อย ๆ มีจำนานที่ลดลงเพราะทาสที่มีอยู่จะถูกลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาทจนหมดค่าตัว  ครั้นต่อมาใน พ.ศ. 2457 รัฐบาลจึงประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 120 ซึ่งได้มีการกำหนดให้ชายฉกรรจ์ต้องเข้ารับราชการทหารอันนับได้ว่าเป็น วิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของระบบไพร่ในสังคมล้านนา

ประการที่สาม รัฐบาลสยามได้ดำเนินโยบายสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ดินแดนล้านนาโดยการปฏิรูปการศึกษาราว พ.ศ. 2442 โดยต่อมาก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 โดยได้มีการกำหนดให้ราษฎรทุกคนได้รับการศึกษาเล่าเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับ อันเป็นมีอยู่เป็นระบบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ นอกจากการจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่แล้ว รัฐบาลยังเร่งสร้างเส้นทางคมนาคมทั้งถนนและทางรถไฟ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่มีผลทำให้ระบบ เศรษฐกิจมีการขยายตัวเป็นแบบการค้ามากขึ้น

จากปัจจัยทั้งสามประการที่กล่าวมา ผู้เขียนมองว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลทำให้ทั้งเจ้านายและราษฎรนั้นต่างก็ได้มีการพยายามปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทของผู้คนในสังคมล้านนาท่ามกลางสภาพการณ์ของการบ้านการเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะช่วงหลังการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ. 2441 สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและโอกาสของเจ้านายแต่ละท่านว่า จะมีแนวทางแสวงหาโภคทรัพย์ได้อย่างไรซึ่งเจ้านายส่วนใหญ่ได้ใช้เงื่อนไขที่เกี่ยวกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบการค้ามากขึ้น ตลอดจนได้มีการสร้างความคุ้นเคยกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีความแปลกและแตกต่างออกไปเพื่อมุ่งหวังสร้างลู่ทางในการแสวงหาโภคทรัพย์จากการประกอบธุรกิจต่าง ๆ อันได้แก่ การสร้างตลาดสดและมีห้องแถวให้เช่า การดำเนินธุรกิจป่าไม้ การเช่าที่ดินเพื่อการทำนา รวมทั้งเจ้านายบางคนก็ได้มีการใช้อำนาจและอิทธิพลที่ตนมีหลงเหลืออยู่ในการลงทุนขุดลำเหมืองและจัดทำฝายเพื่อบุกเบิกจับจองเป็นเจ้าของที่นา นอกเหนือไปจากการประกอบธุรกิจต่าง ๆ แล้ว บรรดาเจ้านายยังได้แสวงหาแนวทางอื่น ๆ เช่น การเข้าสู่ระบบราชการโดยเจ้านายส่วนใหญ่ได้พยายามส่งบุตรหลานของตนให้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่   โรงเรียนประจำจังหวัด ตลอดทั้งสถานศึกษาในกรุงเทพฯ และแม้กระทั่งการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้มีโอกาสให้ดำรงตำแหน่งสูงในทางราชการ

สำหรับราษฎรโดยทั่วไปในบางส่วนนั้น ภายหลังจากการหลุดพ้นออกไปจากพันธนาการของระบบไพร่และทาสแล้วแต่ก็กลับมีปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัยที่มีผลต่อการไม่ถึงพร้อมของพวกเขาสำหรับการมีชีวิตรอดและเติบโตภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่หลายประการ เช่น การจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ การพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนนและทางรถไฟ ตลอดจนเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็นรูปแบบของการค้ามากยิ่งขึ้น โดยความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มีผลทำให้ราษฎรได้ประกอบอาชีพอย่างอิสระตามความสามารถและความถนัดของผู้คนได้อย่างหลากหลายแต่ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ภายใต้สภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ส่งผลทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในดินแดนล้านนาเกิดความเปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่ในสังคมล้านนาที่เป็นชาวนาซึ่งก็ยังคงประสบพบกับความทุกข์ยากอันเนื่องมาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนและพ่อค้าคนกลางในบริบทเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเพื่อการค้ามากกว่าการผลิตเพื่อการยังชีพ นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวนาในสังคมล้านนา (และสังคมไทยทั่วไป) อยู่ในวัฏจักรวังวนของการมีภาระหนี้สินจนกระทั่งอาจสูญเสียที่ดินของตนไปในที่สุด และแม้ว่าผู้คนในสังคมล้านนาบางส่วนก็เริ่มคุ้นเคยกับการบริโภคสินค้าแปลกใหม่ที่มาพร้อมกับยุคสมัยเศรษฐกิจการค้าแบบพาณิชย์นิยมซึ่งนำพาสินค้าประเภทจาน ชามสังกะสีหรือสบู่ เป็นต้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงบริบทที่พื้นที่บริเวณตัวเมืองกลายเป็นแหล่งรวมของความเจริญด้านต่าง ๆ ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานในเขตตัวเมืองและบริเวณเคียงได้รับอิทธิพลจากกระแสวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งกำลังหนึ่งไหลจากกรุงเทพฯ เข้ามาสู่สังคมล้านนาพร้อมกับการเข้ามาของรถไฟที่ปลายชานชลาของสถานีนครเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2464 แล้ว ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นผู้คนทั่วไปในสังคมล้านนาส่วนหนึ่งก็ยังคงยึดมั่นในจารีตประเพณีและวัฒนธรรมทั้งเดิมของคนที่เคยยึดถือสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน  ขณะที่ช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชมาสู่ยุคราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นจึงสร้างความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมล้านนาให้มีลักษณะเป็นสังคมกึ่งสมัยใหม่กึ่งจารีตประเพณีซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกระลอกภายหลังการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา

ขณะที่ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ที่สำคัญในสังคมล้านนาซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ.2427 ก็ยังคงความสำคัญเรื่อยมาจนถึงปีพ.ศ.2476 อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีที่มีต่อลูกหลานเจ้านายในเชื้อพระวงศ์ทิพย์จักรเอง และยังคงมีความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายพื้นเมืองที่คอยอุปถัมภ์ราษฎรในสังคมล้านนาผ่านการเป็นผู้ให้เช่าที่นา (นาเจ้า) กับ ผู้เช่า ที่รอวันปะทุเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ถึง ทศวรรษ 2520 เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง