Meltdistrict ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 เป็นทั้งแบรนด์และยังเป็นสตูดิโอที่นำขยะพลาสติกมารีไซเคิล 100% แล้วหลอมเป็นแผ่นวัสดุสำหรับงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ อินทีเรียดีไซน์ และของใช้ในครัวเรือน แต่กว่าจะที่ได้มาซึ่งแผ่นวัสดุลายสวย ๆ แบบที่เห็น จำต้องผ่านกระบวนการคิดและทดลองที่ไม่ง่ายเลย
เรามีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานและสตูดิโอของ Meltdistrict ซึ่งแผ่นวัสดุรีไซเคิลที่พวกเขาทำขึ้นใหม่ ถูกนำไปออกแบบให้แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ ร้านอาหาร และคาเฟ่หลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯและเชียงใหม่ สิ่งที่พบเป็นอย่างแรกในโรงงาน คือกองภูเขาสูงราว ๆ 6 เมตร เต็มไปด้วยขวดพลาสติกหลากชนิด พร้อมกับคนที่กำลังนั่งคัดแยกทีละชิ้น จากนั้นไม่นาน ก็มีรถบรรทุกขนขวดพลาสติกเข้ามาเทรวมอีกครั้ง ราวกับว่าเนินเขาแห่งนี้ไม่มีท่าทีจะเล็กลง
Lanner JOY ชวนทุกคนไปสำรวจเบื้องหลังการทำงานของพาร์ทเนอร์ทั้งสอง “โบ – สลิลา ชาติตระกูลชัย” อดีตนักจัดอีเวนต์จากกรุงเทพฯ กับการไม่นิ่งนอนใจเรื่องขยะล้นโลกอีกต่อไป และ “ฟ้า – ขวัญชีวา พงศ์สิมภากรณ์” ผู้หญิงที่มีแพชชั่นอยากเห็นเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่จากการมีระบบการจัดการขยะที่ดีขึ้น เมื่อสองสาวที่มีใจเหมือนกันมาบรรจบ อำเภอแห่งนี้จึงถือกำเนิด
ทำความรู้จัก “โบ – สลิลา ชาติตระกูลชัย และ ฟ้า – ขวัญชีวา พงศ์สิมภากรณ์” และการก่อร่างสร้าง ‘อำเภอหลอมละลาย’
ฟ้า: “ฟ้าเป็นคนเชียงใหม่เลย ที่บ้านทําธุรกิจเกี่ยวกับการรีไซเคิลพลาสติกอยู่แล้ว ก็เลยสนใจในเรื่องพลาสติกมาตั้งแต่เด็กเพราะว่าเราคลุกคลีมา พอได้มาเจอพี่โบ ก็เลยหาอะไรที่สนใจทำร่วมกันค่ะ”
โบ: “ส่วนโบเป็นคนกรุงเทพฯ แล้วก็ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ได้ประมาณสามปี ตอนอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้ทําอะไรเกี่ยวกับรีไซเคิลหรือว่าพลาสติกเลย ตรงกันข้าม ก็คือทำเกี่ยวกับการจัดอีเวนต์ (Event Organizer) แล้วเราก็เริ่มรู้สึกว่าขยะมันเยอะ พอย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ตอนแรกก็ยังไม่ได้รู้ว่าจะทําธุรกิจนี้ แต่ใจเราอยากหันมาทําอะไรที่เป็นมิตรต่อโลก (Planet friendly)”
จุดร่วมที่มาจากความห่วงใยในสิ่งเดียวกัน นั่นคือเรื่อง “ขยะล้นโลก”
โบ: “พอโบได้รู้จักกับฟ้าและพบว่าที่บ้านของฟ้าทำโรงงานคัดแยกพลาสติก ที่จะมี ‘Collecting Point’ หรือ ‘จุดพักขยะ’ ไว้รับขยะพลาสติกเป็นกองมหาศาลมาก ๆ แล้วโบก็คิดว่า ทั้งหมดนี้มันจะไปที่ไหนต่อ จะย่อยสลายยังไง ใช้เวลากี่ปี”
“ทั้งโบและฟ้ามีแนวคิดคล้าย ๆ กัน คืออยากทําอะไรที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลที่ สามารถใช้งานได้พร้อมกับมีดีไซน์สวย รวมถึงเรื่องของ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่นำทรัพยากรวนกลับมาสร้างคุณค่าได้ใหม่ เราไม่อยากให้คนมาอุดหนุนแค่เพราะเราเป็นวัสดุรีไซเคิล แล้วเอากลับไปตั้งไว้เฉย ๆ สิ่งนี้เป็นแนวคิดหลักของธุรกิจเลย แล้วเราก็ค่อย ๆ แตกมาว่าจะทําอะไร ทําวิธีไหน จนมาเจอวิธีการนี้ที่เราทั้งสองคนน่าจะทําได้ ก็เป็นที่มาของการเริ่มทํา Meltdistrict ค่ะ”
อยากให้เล่าที่มาของชื่อ ทำไมต้อง ‘Meltdistrict’
“เริ่มมาจากตอนที่ไปโรงงานของฟ้า ทุก ๆ วันจะมีขยะมาส่งประมาณ 6-10 ตัน มีอยู่ประมาณ 6-7 ชนิด แล้วก็จะมีคนรับไปทำอะไรต่าง ๆ นา ๆ เป็นเส้นใยเสื้อผ้าบ้าง เอาไปฉีดใหม่บ้าง แต่พลาสติกที่หลอมมาเป็นแผ่น น่าจะไม่ค่อยมีคนทํา ก็เลยเริ่มคุยกันว่าลองทํากันมั้ย”
“โบก็เลยรู้สึกว่า เนี่ยแหละ มันเป็นเมืองแห่งการหลอมขยะให้กลายเป็นวัสดุใหม่ ก็เลยกลายเป็นชื่อว่า Meltdistrict ค่ะ”
ขยะพลาสติกธรรมดานำมา Recycle จนกลายเป็นแผ่นวัสดุสวย ๆ ได้อย่างไร?
ฟ้า: “ร้านขายของเก่าเค้าก็จะเก็บขยะพลาสติกมาขายให้เรา เบื้องต้นเค้าจะแยกชนิดมาให้เลย มีทั้งขวดน้ำ ขวดนม แต่เราก็ต้องมาแยกต่ออีกระดับนึง เพื่อให้ได้สีและชนิดที่เราต้องการก่อนจะนำเข้าเครื่องหลอมค่ะ”
โบ: “กระบวนการมันค่อนข้างจะซับซ้อน โดยปกติที่โรงงานของฟ้าจะมีหลายสเตชั่น หลัก ๆ คือคัดแยกชนิด ล้าง ตาก บด และเก็บเข้ากล่อง Storage ถ้ามีออเดอร์มาก็จะเอาพลาสติกเหล่านี้ที่สต๊อคไว้ไปชั่งกิโลขาย”
“แต่สำหรับกระบวนการของ Meltdistrict เมื่อพลาสติกที่เราบดและคัดแยกสีไว้ ถ้ามีออเดอร์มา เราก็จะชั่งน้ำหนักตามสัดส่วนของสีและลายต่าง ๆ แล้วก็เอาเข้าเครื่องหลอม พอหลอมเสร็จ ก็ต้องเอาไปคูลลิ่ง (Cooling) ประมาณหนึ่งคืน ถึงจะเอาออกมาเป็นแผ่นที่ส่งต่อให้ลูกค้าค่ะ”
เฉดสีแต่ละแผ่นเราเป็นคนเลือกเองเลยไหม?
โบ: “เรามีสีสแตนดาร์ดของเรา แล้วให้ลูกค้าเลือกตามสีที่เรามีไว้ให้ประมาณ 7-8 สี แต่สุดท้ายระหว่างทางคือคนก็จะอยากได้สี Customize เราก็เคยเปิดรับอยู่พักนึง แต่หลังจากนี้คิดว่าจะไม่รับ Customize แล้วค่ะ เพราะว่ามันเกี่ยวเนื่องกับการทดลองหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เอาสีมาผสม เหมือนเวลาเราทําพลาสติกใหม่ ตอนนี้เรามีสีสแตนดาร์ดอยู่ 8-10 สี เราจะรับสีเท่าที่พลาสติกมันมี ไม่ได้ผสมสีเข้าไปเพิ่ม”
คิดว่าส่วนไหนที่ยากและท้าทายที่สุดในการทำงาน
โบ: “โบกับฟ้าทำกันคนละแผนก มีความท้าทายต่างกัน ฟ้าจะทําโปรดักชั่นก็จะมีส่วนยากของเค้า ส่วนของโบทําการตลาด พีอาร์ กับเป็นแอดมินในการติดต่อลูกค้า ความที่ยากสุดของโบ คือเรื่องข้อมูลและความเข้าใจว่า เอ๊ะ วัสดุนี้มันคืออะไร มันแข็งแรงมั้ย มันมีคุณสมบัติยังไง เอาไปใช้ทําอะไรได้บ้าง ลูกค้าเอาไปประกอบเป็นโต๊ะต้องใช้น็อตอะไร”
ฟ้า: “ด้านโปรดักชั่นจะยากตรงกระบวนการคัดแยกสี เพราะขั้นตอนการทำแผ่น Melt สีพลาสติกมันต้องเป็นสีเดียวกันตามแบบที่เราต้องการ แล้วบางทีขยะสีนั้นมันไม่ได้มีเยอะ เราก็ต้องไปสรรหาพลาสติกใช้แล้วมาเพิ่ม”
“ขั้นตอนการทําความสะอาดก็ยาก การที่จะทำให้ขยะสกปรกมาสะอาดเพื่อเอาไปเป็น Top โต๊ะต่อ มันก็ลําบากนิดนึง หรือบางทีพลาสติกชนิดที่เราเคยใช้มาแล้วอยู่ ๆ เอามาหลอมแล้วมันไม่เหมือนเดิม ด้วยการที่ขวดนั้นมันอาจจะถูกผสมอะไรแปลก ๆ มาด้วย”
โบ: “สมมุติว่าขวดน้ำขวดเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน แต่ว่าขวดนึงส่งมารีไซเคิล อีกขวดนึงเค้าอาจจะเอาไปใส่น้ำมันอะไรมาก่อน แล้วเราไม่รู้ ลูกค้าก็จะสงสัยกับการที่มีเศษเหล็กหรือเศษอะไรอยู่ข้างใน ทั้งที่จริง ๆ ทั้งหมดมาจากขยะที่เราทําความสะอาดแล้ว แต่ว่าบางทีมันจะมีอะไรหลุดติดมา ตรงนี้มันจะไม่ได้เนี๊ยบ 100% เหมือนพลาสติกใหม่ อะไรประมาณนี้ ก็ต้องแก้หลายรอบเหมือนกัน เพราะความรู้ตรงนี้มันยังไม่มี และเราก็ไม่รู้จะขอคำปรึกษาจากใคร บางทีก็ต้องทดลองไปกับลูกค้าด้วย ด้วยความที่เราไม่ได้เรียนด้านวิศวะมา พอตรงนี้เสีย ตรงนั้นพัง เราก็จะงงกันไปเลย เช่น หลอมออกมาแล้วความหนาของแผ่นมันไม่เท่ากัน มันผิดปกติหรือเปล่า เราเคยไปปรึกษาที่ Science & Technology Park (STeP) เค้าก็ยังหาคําตอบให้เราไม่ได้ เราก็ต้องรีเสิร์ชกันเอง”
“ชาเลนจ์ที่สุดของทั้งสองฝ่ายน่าจะเป็นเรื่องกระบวนการหลอมพลาสติกให้เป็นวัสดุใหม่ แม้กระทั่งบริษัทที่เราสั่งเครื่องหลอมมาเค้าก็ยังต้องทดลองไปกับเรา”
งั้นแสดงว่าพฤติกรรมการใช้พลาสติกของคนตั้งแต่ต้นทางมา มันก็ส่งผลกับเราด้วย
ฟ้า: “ใช่ค่ะ ถ้ายกตัวอย่างง่าย ๆ ก็อย่างเช่นเวลาคนกินลูกชิ้นเสร็จแล้วเอาไม้ลูกชิ้นเข้าไปในขวดน้ำอะ อย่างงั้นก็คือยากขึ้นละหนึ่งสเต็ป เพราะเราก็ต้องมาเอาออก”
โบ: “สำหรับการใส่ไม้เสียบลูกชิ้นในขวดพลาสติกถ้าในแง่รีไซเคิลมันก็จะยุ่งยากขึ้นไปอีก วิธีการนี้จะช่วยเรื่องความปลอดภัยของคนเก็บขยะมากกว่า”
Meltdistrict จึงเป็นที่สนใจของเหล่านักออกแบบในการทดลองใช้แผ่นพลาสติกรีไซเคิล
โบ: “หลัก ๆ ลูกค้าของเราจะเป็นนักออกแบบ, อินทีเรียดีไซน์เนอร์, ศิลปิน, สถาปนิก หรือคนที่สนใจเอาแผ่นพลาสติกไปใช้ออกแบบบ้าน ออกแบบคาเฟ่ ก็จะเลือกใช้ของเราค่อนข้างเยอะ นอกนั้นก็จะมีประปรายทั้งบริษัทแล้วก็แบรนด์เสื้อผ้า เช่น Club 21 Thailand, Sardine is in your place, Short but very very cute, Madmatter Studio, loulou.bkk, และ Madbacon ”
“ถ้าในเชียงใหม่ลูกค้าก็จะเป็นร้านอาหารกับคาเฟ่ แบรนด์เสื้อผ้ามี Wood and Mountain แล้วก็ร้านอาหารจะเป็น อีเกิ้งเซิ้งไฟ, Jo’s Banoffee ล่าสุดมีที่เชียงดาวกับแบรนด์ที่ทำไวน์น้ำผึ้งชื่อว่า Daydrinker Collective”
“ลูกค้าในเชียงใหม่ยังไม่เยอะมากเท่ากรุงเทพฯค่ะ เรื่องราคาด้วย ก็เลยยังมาไม่ถึงเชียงใหม่สักเท่าไหร่ แต่ปีนี้ลูกค้าเชียงใหม่เยอะขึ้นค่ะ”
คิดยังไงกับการจัดการ ‘ขยะ’ ในเชียงใหม่ ?
ฟ้า: “เชียงใหม่ไม่ได้เป็นเมืองเล็ก ขยะมันเยอะมาก ๆ และก็ยังไม่ถูกจัดการให้ดี เราก็คาดหวังให้การจัดการมันดีขึ้น”
โบ: “ในมุมของโบที่มาจากกรุงเทพฯ โบรู้สึกว่าเชียงใหม่จัดการขยะได้ดีกว่ากรุงเทพฯ อาจเพราะด้วยจํานวนประชากร ที่เชียงใหม่เราจะไม่ค่อยเห็นขยะพูน ๆ ตามตลาด แต่ถ้าเราไปเดินตลาดกรุงเทพฯ เราจะเห็นกองพูนล้นลงมาเยอะมาก อีกอย่างที่โบเลือกมาเชียงใหม่เพราะรู้สึกว่าคอมมิวนิตี้ที่นี่เปิดรับเรื่องการรีไซเคิลและให้ความร่วมมือเรื่องความยั่งยืน (Sustainable) ในการลงมือทํามากกว่า”
จริงไหมกับการที่มีคนบอกว่า “แยกขยะไปแล้วสุดท้ายมันก็จะไปรวมอยู่ในที่เดียวกัน”
ฟ้า: “ภาพที่เห็นมันเหมือนไปรวมกันก็จริง แต่จริง ๆ แล้วเค้าแยกนะคะ ถ้าสมมุติเราแยกมาก่อน เค้าก็จะแยกไปอีกถุงนึงของเค้าอยู่ดี แต่ถ้าเราไม่แยกเค้าก็จะไม่เห็น แล้วมันก็จะไปกองอยู่ที่ ‘ลานเท’ ซึ่งเป็นบ่อขยะ แล้วคนก็จะไปแยกในบ่อขยะอีกทีนึง มันก็ค่อนข้างลําบาก
“ลองคิดภาพว่าเราต้องไปปีนกองขยะเพื่อไปฉีกถุงขยะ แล้วก็หยิบหนึ่งขวดออกมา ถ้าเราแยกมาให้ตั้งแต่ที่บ้าน มันก็จะลดโอกาสในการไปอยู่ที่แลนด์ฟิลด์หรือลานเทได้มากขึ้น”
โบ: “การแยกขยะมาตั้งแต่แรก อย่างน้อยมันช่วยคนที่เค้ารับขยะขึ้นมาบนรถได้ในระดับนึง คือเหมือนคนที่เก็บขยะเปิดเห็นว่าถุงพลาสติกนั้นทั้งถุงได้แยกมา เค้าก็จะไม่เอาไปเทรวมกับอาหาร หรือกระดาษ หรืออื่น ๆ แล้วก็จะส่งต่อได้ถูกที่ รู้ว่าขยะประเภทไหน จะต้องส่งไปที่ไหน”
ฟ้า: “ระบบการจัดการขยะอาจจะมีรถแค่หนึ่งคันเพื่อรับขยะทั้งหมด มันเลยดูเอามาเทรวม หรืออะไรก็ตาม อย่างน้อยถ้าขี้เกียจแยกหรือไม่ค่อยสะดวก เอาแค่ขวดแก้ว ขวดเหล้า ขวดเบียร์ ขวดน้ำ ขวดนม มารวมกันสักหนึ่งถุงก็ได้ ดีกว่ารวมกันทั้งหมดแล้วไม่แยกเลย”
โบ: “ถ้าเค้ามีใจจะล้าง มีพื้นที่กว้างหรือมีเวลาล้างได้ก็ดีนะ แต่ถ้ามันไม่ได้จริงๆ อะ แยกแบบที่ฟ้าบอกก็ได้ ว่าถุงนี้ขวดละกัน ถุงนี้ฟลอยหรือทิชชู่ละกัน อะไรอย่างเงี้ยค่ะ มันก็ช่วยได้ระดับนึงแล้ว”
เคยได้ยินว่า “การที่เราไม่ใช้หลอดพลาสติก แล้วจะช่วยชีวิตเต่าทะเลได้” คิดเห็นยังไงบ้าง?
โบ: “ถ้าในมุมมองของโบ มันช่วยได้นะ ไม่มากก็น้อย อาจจะไม่ได้ช่วยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จนทำให้ไม่มีเต่าตายจากขยะ แต่ว่าโบคิดว่ามันน่าจะลดเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตจากมลพิษขยะได้ แต่จริง ๆ ขยะทุกอย่างที่ลงไปในทะเลได้เช่น แห อวน ก็ค่อนข้างเป็นสาเหตุหลักในการที่สัตว์ทะเลเสียชีวิตด้วยเหมือนกัน”
“การเสียชีวิตของเต่ามันมีหลายสาเหตุ ไม่ได้บอกว่าเค้าเสียชีวิตด้วยด้วยขยะพลาสติกอย่างเดียว แต่หลอดก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะมันเล็ก เรียว กินเข้าไปง่าย แล้วก็อาจจะไปติดหลอดลมได้ง่ายกว่าพลาสติกชนิดอื่นๆ”
เป้าหมายหรือสิ่งที่อยากทำภายในปีนี้
โบ: “ในแง่ของโปรดักชั่นคุณภาพก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่อนข้างพอใจนะ 3 ปีที่ผ่านมาจากแผ่นแรกที่เราทํา ทุกอย่างที่เรารีเสิร์ชกันเอง ถือว่าดีขึ้นมาก ๆ แล้วก็เป้าหมายตอนนี้คืออยากทำนิทรรศการหรือไม่ก็จัดเวิร์คชอปให้ได้”
“มีหลายเจ้าติดต่อมาว่าอยากให้ไปทําเวิร์คชอปตามบริษัท หรือตามคอมมูนิตี้ มอลล์ แต่ตอนนี้ยังไม่ลงตัว ยังเป็นโจทย์ในการหาวิธีการที่คนเข้าร่วมเวิร์คชอร์ปมาแล้วได้อะไรกลับไปจริงๆ”
ฟ้า: “เป้าหมายปีนี้น่าจะคล้ายๆ พี่โบค่ะ อยากทําเวิร์กช็อปให้คนได้เรียนรู้กับสิ่งนี้มากขึ้น กระจายข่าวสารให้ได้มากขึ้น”
“อีกอย่างก็อยากให้คนคุ้นเคยกับแผ่นพลาสติกมากขึ้น คุ้นเคยในที่นี้ก็คือ เห็นแล้วนึกออกว่าแผ่นนี้คืออะไร เหมือนที่คนรู้จักไม้ รู้จักอะคริลิก (Acrylic) หรือรู้จักกระเบื้อง”
อยากบอกอะไรกับคนที่คิดจะทำแบรนด์ที่ช่วยลดขยะหรือใส่ใจสิ่งแวดล้อม
โบ: “ทําเลยค่ะ เร่ิมเลย (หัวเราะ) ช่วยกัน คิดแล้วมันต้องทําถึงจะได้ ทําได้แค่ไหนอันนี้แล้วแต่ไม่ว่ากัน แค่ได้เริ่มก็คือดีแล้ว มันก็ไม่ผิดด้วยที่ทําได้นิดเดียว อีกคนอาจจะต้นทุนสูง เวลาเยอะ ขยันมาก ทําได้มาก ความสามารถและพลังเค้าเยอะกว่าก็ไม่เป็นไร”
“มันเป็น Topic อีกอันที่พูดถึงผู้บริโภคด้วย การที่เราช่วยกันหิ้วกระติกไปหรือว่าไม่รับแก้ว หรือว่าไม่ใช้ Single-use Plastic ใด ๆ มันก็ช่วยได้หมด มากน้อยแค่ไหนก็คือทำเหอะ ไม่ต้องเพอร์เฟคก็ได้ แต่อย่างแบบขอให้ได้เริ่มทํา”
“ต้องบอกก่อนว่าโบกับฟ้าอายุห่างกันเยอะมาก โบอายุ 43 ฟ้า 27 ไม่มีอะไรจะบอกรุ่นใหม่เลย รุ่นใหม่น่าจะต้องบอกรุ่นเก่า (หัวเราะ) คือเราใช้พลาสติกกันเยอะมากเมื่อก่อน การรับรู้หรือ Perception ในรุ่นโบเป็นรุ่นที่พลาสติกมาใหม่ แล้วก็ใช้จนชิน ส่วนเด็กรุ่นใหม่การรีไซเคิลหรือ Eco-friendly อยู่ในดีเอ็นเอเค้าอยู่แล้ว”
ฟ้า: “เดี๋ยวนี้การตระหนักรู้มีมากกว่าเดิมจริง ๆ คน Gen ใหม่อายุประมาณ 20-30 มีข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนค่อนข้างเยอะแล้ว ขอแค่ให้ใส่ใจอีกนิดนึง เวลาเลื่อนเฟซบุ๊กเจอคอลัมน์อะไร ถ้าไม่เสียเวลามากก็กดเข้าไปอ่านเพื่อทําความเข้าใจก็น่าจะดี แล้วก็เสียเวลาสัก 5% ของพลังชีวิตในการลงมือทำ”
มุมมองต่อต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ ‘กรุงเทพ’
ฟ้า: “ฟ้าคิดว่ามันก็มีความลําบากกว่าในด้าน Facility หรือส่ิงอำนวยความสะดวก ถ้ามองกรุงเทพฯ จากเชียงใหม่”
โบ: “อยากจะพูดถึงเชียงใหม่ เพราะเป็นเมืองที่เราเลือกมาอยู่ด้วย โบรู้สึกว่าเชียงใหม่มีทรัพยากรอื่นที่ดีกว่ากรุงเทพฯ เราไม่ต้องรถติด หาที่จอดแบบ 30-40 นาที ในขณะที่กรุงเทพฯ วันนึงเราจะแพลนไปไหนใช้เวลานานมาก”
“อันที่สองเรื่องของอาหาร เชียงใหม่มีอาหารออร์แกนิคจากคนที่เค้าปลูกเค้าขายเองเยอะ เพราะฉะนั้นคุณภาพของอาหารที่เรากินมันจะค่อนข้างดีกว่าที่กรุงเทพฯ ในมุมส่วนตัวที่ใช้ชีวิตมานะคะ คนอื่นเค้าอาจจะแบบหาร้านเจอที่ดีกว่าเราได้”
ฟ้า: “จริง ๆ ชอบต่างจังหวัดมากกว่าเรื่องไลฟ์สไตล์ แต่แอบมีความน้อยใจ เรื่องการกระจายงบประมาณที่ไม่เท่ากัน เราควรจะพัฒนาได้มากกว่านี้ พูดเรื่องค่าเงินหรือบริษัทที่จะมาลงทุนในกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ ที่กรุงเทพฯ มันก็จะมีโอกาสมากกว่า”
“เชียงใหม่มันไม่ค่อยมีคนมาทํางาน เงินเดือนก็น้อย น้อยใจจุดนี้นิดนึง ก็เลยอยากทําอะไรให้เชียงใหม่มันมีอะไรเจ๋ง ๆ ขึ้นมา หรือดึงดูดคนให้เข้ามาทําอะไรสนุก ๆ ที่เชียงใหม่มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีไลฟ์สไตล์เดือด ๆ แบบคนกรุงเทพฯ ไม่ได้คาดหวังให้แบบเราต้องยิ่งใหญ่แบบเมืองหลวง แต่อยากให้เรามีอะไรที่เป็นของเราบ้าง”
อยากเห็นเชียงใหม่เป็นยังไง?
ฟ้า: “ถ้าโครงสร้างมันดี ทุกอย่างมันจะตามมาหมดเลย ภาพที่เห็นอนาคตเชียงใหม่คือ อยากให้มันมีระบบที่มันซัพพอร์ตคนได้มากกว่านี้ ไม่ใช่ทําอะไรก็ต้องลงทุนเอง ถ้าต้องแยกขยะแล้วแยกยังไง ทําไมถึงไม่มีรถมาแยกให้เห็น มีคนมาสอนวิธีการแยก มีการจัดการที่ดีขึ้น หรือเป็นเมืองที่ทำให้คนรู้สึกอยากใช้ชีวิตมากกว่านี้”
โบ: “ในแง่ของการอยู่อาศัยสําหรับโบไม่อยากได้อะไร เพราะไปไหนก็ใกล้ กาแฟดีทุกร้าน อาหารก็อร่อย คนก็น่ารักมีน้ำใจ สมมุติง่ายๆ เวลาขับรถกรุงเทพฯ ทีคือเครียดเลยนะ เราเปิดไฟเลี้ยวขวา ไม่มีใครให้เราไปเลย ในขณะที่เนี่ยคือแบบเปิดปุ๊บคนก็ชะลอรถให้ แบบเรารู้สึกว่า เออ น่ารัก”
“ถ้าในแง่ของเศรษฐกิจ เราก็ลองถามเพื่อนๆ ที่เปิดร้านขายวิตามินบํารุงผิว ผลิตภัณฑ์ที่เขาเอาเข้ามาก็มีคุณภาพ เราก็แบบเห้ย ไม่มาลองเปิดเชียงใหม่เหรอ เขาก็จะ “โห เชียงใหม่ไม่มีใครซื้อเลย” คือทุกคนพูดแบบนี้หมดเลย เพื่อนที่ทําบริษัทดีไซน์เค้าก็อยากย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เค้าก็จะบอกว่ามันไม่มีคนซื้อ มันไม่มีลูกค้า ทุกคนก็จะพูดประมาณนี้”
“เรื่องฝุ่นควันคือเรื่องฉุกเฉินแล้วอะ ที่ผ่านก็มาเคยรมดมทุนช่วยเรื่องไฟป่า ใดๆ สุดท้ายสิ่งที่เราทําไปมันเป็นส่วนปลายเหตุทั้งหมด และต้นเหตุมันต้องมีการจัดการกว่านี้ ซึ่งมันก็ไม่มี”
“เหมือนต้นเหตุมันไม่ไปด้วยกัน มันไม่มีใครมาช่วย ทั้งเรียกร้องไป ลงนามไปอะไรก็แล้ว มีเพื่อนที่เคยตั้งบริษัทจริงจังเลยเป็นแบบ Clean Air Collective จะทําเรื่องนี้ก็คือไปไม่ถึงฝันเหมือนกัน เหมือนเขาไม่อยากจะช่วย ไม่อยากจะทํา ไม่อยากจะแก้ปัญหานี้ยังไงไม่รู้”
พบว่าการสร้างความเข้าใจคือโจทย์ที่ยากพอ ๆ กับเรื่องการหลอมพลาสติกขึ้นมาสักชิ้น
โบ: “มีลูกค้าบางคนถามว่า “สวัสดีค่ะ อยากอยากสั่งแผ่นหน่อยค่ะ เท่าไหร่คะ” พอบอกราคาไป “โห แรงจัง” (หัวเราะ) แล้วเค้าพูดประมาณว่า “มันเป็นขยะ แล้วทําไมมันแพง” ซึ่งเพราะมันเป็นแบบเนี้ยแหละมันถึงแพง สิ่งที่มันเป็นขยะแล้วมันจะต้องแบบไปถมอยู่ในแลนด์ฟีล แล้วไม่รู้ว่าอีกกี่ร้อยปีมันจะย่อย กระบวนการรีไซเคิลมีขั้นตอนที่ไม่ง่ายเลย ไม่ใช่ว่าเอาขยะแล้วก็เสก ๆ หลอม ๆ ก็ออกมาได้”
“เราทดลองเป็นปีเหมือนกันนะ ความรู้สึกเหมือนว่ายน้ำในมหาสมุทรมาก แต่ละวันคือลุ้นกับฟ้า มันต้องรอพักคืนนึง อีกวันหนึ่งเราถึงจะรู้ว่าแผ่นที่เราทําวันเนี้ย มันออกมายังเป็นยังไง ค่อนข้างลุ้นเพราะตรงเนี้ยมันเป็นจุดที่เราต้องทั้งทดลอง ทั้งลงทุน แรงกาย แรงใจเยอะมากจริง ๆ บางทีก็คือท้อไปหลายรอบเหมือนกันว่าแบบโอ้ยเหนื่อย มาผิดทางรึเปล่า? แต่จริง ๆ พอมาถึง 3 ปีแล้วโบรู้สึกว่าไม่ผิดหรอก ทางนี้แหละ ถูก”
“แยกขยะกันเถอะค่ะ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดี” ฟ้าทิ้งท้าย
(ไอซ์) เกิดและโตที่เชียงใหม่ ก่อตั้งกลุ่ม SYNC SPACE ผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะโดยชุมชนและคนรุ่นใหม่