“เรื่องอะไรอีกที่ประวัติศาสตร์เดือนตุลาในภาคเหนือยังไม่ถูกเขียน?” ประวัติศาสตร์ขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือของไทยและช่องว่างของประวัติศาสตร์นิพนธ์คนสามัญ 

เรียบเรียง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

เนื้อหาจากการบรรยายพิเศษระดับปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่องสะท้อนย้อนคิด “ประเด็นปัญหา” ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์สามัญชนขบวนการชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือ” บรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567

ประวัติศาสตร์ขบวนการชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือ 

ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) ตั้งประเด็นในการบรรยายครั้งนี้ว่า “ผู้คนต่อสู้ได้ยังไง ทำไมคนถึงลุกขึ้นมาต่อสู้” ปัญหาของคำอธิบายประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 คือการชี้ให้เห็นถึงกลุ่มคนกลุ่มเดียวในการเคลื่อนไหวและกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ก่อให้เกิดคำถามวิจัยของเธอก็คือ “อะไรเกิดขึ้นที่เชียงใหม่กับลำพูน ช่วง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519” ซึ่งพบว่าประเด็นหลักในการต่อสู้ของขบวนการชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือของประเทศไทยคือ “ค่าเช่าที่ดิน” 

สิ่งที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาฯ ไม่ใช่นักศึกษาลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างเดียว แต่มีหลากหลายกลุ่ม หลากหลายอาชีพ มีการรวมตัวกันต่อสู้ กลุ่มการต่อสู้ที่น่าสนใจคือ ครูประชาบาล ที่จัดกลุ่มกันต่อสู้ โดยไทเรลล์เน้นย้ำว่าประเด็นนี้ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เนื่องจากครูประชาบาลเป็นอาชีพที่อยู่กับชาวบ้านจึงเห็นปัญหาของชาวนาชาวไร่ กลุ่มขบวนการ ชาวนาชาวไร่ มีปัญหาเรื่องที่ดิน เนื่องจากเจ้าที่ดินส่วนใหญ่ได้กดขี่ขูดรีดจากชาวนาถึง 50% ปัญหาเรื่องที่ดินมีต้นตอจาก “พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ.2497” ช่วงเวลานั้นคือการเรียกเจ้าที่ดินมาประชุม เพื่อออกกฎหมาย และไม่เห็นหัวชาวบ้านก่อให้เกิดระบบค่าเช่าที่ไม่เป็นธรรม

ด้วยระบบค่าเช่าที่ไม่เป็นธรรม การจัดตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” เมื่อปี 2517 เป็นครั้งแรกที่มีองค์กรชาวนาชาวไร่ขึ้นมาเอง สิ่งที่เรียกร้องคือ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าที่เป็นธรรมทั้งประเทศ และประกาศใช้ช่วงเดือนธันวาคม 2517 หลังจากประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายในครั้งนี้ จึงมีการร่วมมือกันระหว่างสหพันธ์ชาวนาชาวไร่และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และวิทยาลัยครูเชียงใหม่ เพื่ออธิบายว่ากฎหมายนี้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพ.ร.บ.นี้ว่ามีความสำคัญอย่างไรสำหรับชาวนาชาวไร่พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าระบุว่า “ในแต่ละที่สามารถกำหนดได้ตามกรรมการในที่ประชุมกันว่าพื้นที่ต่าง ๆ ควรมีการควบคุมค่าเช่าเท่าไหร่” การออกกฎหมายลักษณะนี้จึงมีผลต่อกำไรของเจ้าที่ดิน และมองชาวนาเป็นผู้กดขี่

ไทเรลล์ยังวิเคราะห์ต่อว่า กรณีนี้มีความสำคัญอย่างหนึ่งคือ “วัฒนธรรมการเมือง” เนื่องจากทำให้ชาวนาชาวไร่มีสิทธิมีเสียงขึ้นมา ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกทำให้ไม่มีเสียง เพื่อได้ความเป็นธรรมในชีวิตของตนเอง การได้ใช้กฎหมายนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสำหรับชาวนาชาวไร่มหาศาลและทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกกลัวขึ้นมา

การลอบสังหารผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2518 เนื่องจากได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า เช่น พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง น่าสนใจที่ว่า นี่ไม่ใช่การต่อสู้กับรัฐแต่เป็นการใช้กฎหมายที่ผ่านโดยรัฐมาเผยแพร่เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับชาวนาชาวไร่ การเรียกร้องทำนองนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใดจึงจัดการด้วยกฎหมายไม่ได้ ดังนั้นผู้มีอำนาจจึงใช้วิธีการลอบสังหารผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แทน

ควรจะเขียนประวัติศาสตร์สามัญชนอย่างไร Manifesto เพื่อประวัติศาสตร์ที่ไม่ต้อนรับ (Unwelcome Histories)

ไทเรลล์ตั้งคำถามต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สามัญชนไว้ว่า “เรื่องอะไรอีกประวัติศาสตร์เดือนตุลาในภาคเหนือยังไม่ถูกเขียน?”

ประวัติศาสตร์นิพนธ์สามัญชน หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ “การเขียนประวัติศาสตร์สามัญชน” ควรศึกษาออกไปให้กว้างขวางขึ้นเนื่องจากการเคลื่อนไหวของผู้คนมิได้อยู่ในศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว และอีกแง่หนึ่งคือมิติเรื่องเพศ (Gender) ซึ่งการเขียนถึงเคลื่อนไหวที่ผ่านมามักมีบทบาทของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ มิติของผู้หญิงและกลุ่ม LGBTQ+ น่าจะมีเพิ่มมากขึ้น

ไทเรลล์เสนอวิธีการศึกษาในการเขียนประวัติศาสตร์สามัญชนที่ควรเน้นมีสามกลุ่มคือ 1.คนที่ถูกเนรเทศ 2.คนที่ถูกสังหาร และ 3.คนที่ถูกจำคุก ทั้งสามกลุ่มนี้เป็นการศึกษากลุ่มคนที่เป็นกลุ่มความคิดที่ไม่ต้อนรับ น่าจะเป็นขอบเขตที่พอทำได้ และอีกลุ่มหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนในทางประวัติศาสตร์นิพนธ์คือ “ประวัติศาสตร์หลังสิงหาคม 2563”

แนวคิดนี้เธอได้รับอิทธิมาจากธงชัย วินิจจะกูล[1] ในบทความเรื่อง การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอดีต : ประวัติศาสตร์ใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลาคม โดยเสนอว่าหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมและทางปัญญา ซึ่งมีอายุยาวนานกว่าการปฏิวัติกว่าการปฏิวัติทางการเมือง[2] ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ได้ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบใหม่เกิดขึ้น ที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์ต่อประวัติศาสตร์สกุลดำรงรานุภาพ[3] และได้เกิดความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์นิพนธ์ในหลายระนาบที่สลัดตนเองออกจากการครอบงำจากประวัติศาสตร์แบบรัฐชาติที่เน้นมหาบุรุษเป็นองค์ประธานของการอธิบาย เช่น ประวัติศาสตร์แนวมาร์กซิสต์ที่เน้นลักษณะของการขูดรีด ประวัติศาสตร์ชุมชน/หมู่บ้านที่เป็นอนาธิปัตย์นิยม และประวัติศาสตร์โบราณที่ปฏิเสธความคิดเรื่องเทือกเขาอัลไต[4]

สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2563 ก็มีลักษณะเดียวกัน เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลานี้เป็นสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเปลี่ยนแปลงเชิงความคิด ประวัติศาสตร์นิพนธ์จึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนเหมือนกัน เธอตั้งคำถามต่อมาว่า “ในช่วงที่สังคมการเมืองเปลี่ยน เราควรจะเขียนประวัติศาสตร์ยังไง”

ดังนั้น เธอจึงกลับมาที่ 3 กลุ่มในการศึกษา กลุ่มที่ 1 การเนรเทศ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่สามารถเห็นความคิดทางสังคมแบบหนึ่งที่ผลักให้คนต้องเนรเทศ ออกจากบ้านเมือง และความคิดของคนถูกเนรเทศอาจเป็นความคิดที่ผู้มีอำนาจไม่ยอมรับ การศึกษาของคนกลุ่มนี้คือ ศึกษาสิ่งที่คนกล้าจินตนาการในตอนนั้นโดยดูจากประวัติศาสตร์ของคนที่ไม่อยู่ในประเทศ แทนที่จะดูผ่านประวัติศาสตร์ผ่านคนที่อยู่ในประเทศ กล่าวคือ นำผู้คนที่ถูกเนรเทศเป็นองค์ประธานในการอธิบายประวัติศาสตร์ กลุ่มที่ 2 คนที่ถูกสังหาร คนเหล่านี้มีอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มากมาย เช่น พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ครูครอง จันดาวงศ์ สมชาย นีละไพจิตร ฯลฯ หากสามารถนำพวกเขาเหล่านั้นมาเป็นองค์ประธานของประวัติศาสตร์ได้ก็อาจเห็นชีวิตและการต่อสู้ของสามัญชนมากขึ้น

ภาพจาก https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/100549

และ 3) คนที่ถูกจำคุก กล่าวคือ คนที่เป็นนักโทษทางการเมือง เนื่องจากหลายคนก็เขียนประสบการณ์ของตนเองตอนอยู่ในคุก เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ สุรชัย แซ่ด่าน อานนท์ นำภา ฯลฯ วิธีอย่างหนึ่งในการ “อ่าน” ที่อาจทำได้ก็คือสภาพแวดล้อมในคุกเป็นยังไง สิ่งที่อยากเสนอก็คือ สมมุติว่าเราอ่านสมุดบันทึกของนักโทษทางการเมืองเป็นประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ไม่ใช่แหล่งข้อมูลแต่เป็นประวัติศาสตร์ เช่น อ่านงานเขียนของผู้ที่ถูกจับกุมช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นประวัติศาสตร์ได้ไหม? เนื่องจากในแง่หนึ่งเขาเขียนถึงความเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา

ไทเรลล์ทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามที่ว่า จดหมายของทนายอานนท์เป็นการเขียนทางประวัติศาสตร์ได้ไหม หากเป็น น่าจะเป็นสิ่งที่ควรขยายต่อไปว่า “ประวัติศาสตร์คืออะไร?” และ “นักประวัติศาสตร์คือใคร?” อาจจะผิดหรือถูกก็ควรที่จะถกเถียงกันอีกที

จดหมายของอานนท์ นำภาที่เขียนภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567

[1] ธงชัย วินิจจะกูล, “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอดีต: ประวัติศาสตร์ใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลาคม,” ใน, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, สถานภาพไทยศึกษา : การสำรวจเชิงวิพากษ์ , (เชียงใหม่ :  หจก. สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์), 2543).

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 19-20.

[3] กรณีนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พร้อมเสนอว่าการเขียนประวัติศาสตร์ที่ดีนั้นควรทำอย่างไร โปรดดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา, ใน ปากไก่และใบเรือ: ความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์และประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา, พิมพ์ครั้งที่4 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2548).

[4] ธงชัย วินิจจะกูล, “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอดีต: ประวัติศาสตร์ใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลาคม,” ใน, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, สถานภาพไทยศึกษา : การสำรวจเชิงวิพากษ์ , (เชียงใหม่ :  หจก. สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์), 2543).

เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง