ทำความรู้จัก ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ มรดกทางวัฒนธรรมแห่งเพชรบูรณ์ ก่อนขึ้นบัญชีมรดกโลก

ภาพ: flickriver

ในประเทศของเรา นับว่ามีโบราณสถานอยู่มากมายที่เป็นหลักฐานแสดงความเชื่อมโยงประวัติศาสตร์เข้ากับปัจจุบัน ทำให้เราได้เข้าใจประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ รวมถึงยังทำให้เห็นพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะจากการพัฒนาขึ้นในพื้นที่เดิม หรืออิทธิพลจากต่างถิ่นที่แวะเวียนเข้ามา

หนึ่งในโบราณสถานอย่าง ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ ถือเป็นอีกหนึ่งโบราณสถานที่มีความน่าสนใจและคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอยู่มาก เนื่องจากหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงและผลกระทบจากวัฒนธรรมสมัยทวารวดี และอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรโบราณ

โดยนอกจากจะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่เปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ก็ยังมีความพยายามของกรมศิลปากรที่ต้องการผลักดันให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมดังกล่าวกลายเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ช่วงพ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะมีวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10-25 กันยายน 2566 ณ กรุงกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย โดยอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก็เป็นอีกหนึ่งรายชื่อที่รอพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกอยู่ด้วยเช่นกัน

ที่มาที่ไปของ ‘เมืองศรีเทพ’ ในประวัติศาสตร์ไทย

พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้ พระองค์ได้ค้นพบทำเนียบเก่าที่บอกรายชื่อหัวเมืองและมีชื่อเมืองศรีเทพ แต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใด 

ต่อมาพระองค์ทรงค้นพบสมุดดำเล่มหนึ่ง กล่าวถึงการให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสิ้นพระชนม์ของรัชการที่ 2 ไปตามหัวเมืองต่างๆ และมีอยู่เส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งสมมติฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะอยู่ทางลำน้ำป่าสัก

เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ได้จัดหาผู้ชำนาญพื้นที่ เพื่อที่จะสอบถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ใกล้ลำน้ำป่าสักที่ไหนบ้าง และถามไถ่หาความจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ออกมาต้อนรับว่า ละแวกนี้นั้นมีเมืองโบราณอยู่หรือไม่ และได้ทำการค้นหาอย่างจริงจัง จนในที่สุดก็ค้นพบเมืองโบราณแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำป่าสัก และทรงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองศรีเทพ”

ทำความรู้จัก ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ หลักฐานทางวัฒนธรรมก่อนขึ้นบัญชีมรดกโลก

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 10 แห่งของประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมในปีพ.ศ. 2527 ณ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยชื่อเรียก “ศรีเทพ”  เป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย  ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

โดยภายในส่วนของอุทยานนั้นมีสถาปัตยกรรมทั้งจากวัฒนธรรมเขมรโบราณและวัฒนธรรมจากสมัยทวารวดี ไม่ว่าจะเป็น ปรางค์สองพี่น้อง, เทวรูปพระอาทิตย์ หรือ สุริยเทพ, ปรางค์ศรีเทพ, เขาคลังใน, ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ, เขาคลังนอก และปรางค์ฤาษี 

พื้นที่ตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ ‘เมืองศรีเทพ’ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงปรากฎร่องรอยหลักฐาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมทวารวดี และเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่ง หรือทั้งสองประการ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากรองอธิบดีกรมศิลปกร สถาพร เที่ยงธรรม กล่าวไว้ว่าแม้ความยิ่งใหญ่อลังการอาจจะเทียบไม่ได้กับอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา หรือสุโขทัย แต่ในทางวิชาการแล้วเมืองโบราณศรีเทพมีความสำคัญค่อนข้างมาก มีร่องรอยความเก่าแก่จากยุคทวารวดี ซึ่งโบราณสถานแห่งอื่นๆ ในประเทศไทยไม่มีหลงเหลืออยู่อีกแล้ว


ปรางศรีเทพ (ภาพ: Thailand Tourism Directory)

นอกจากร่องรอยทางประวัติศาสตร์จากยุคทวารวดี เมืองศรีเทพยังมีร่องรอยทางวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากเขมรโบราณ หลักฐานที่ชัดเจนคือปรางค์ศรีเทพ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟักแบบเดียวกับ สถาปัตยกรรมเขมรทั่วไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ จะเห็นได้ว่าเมืองศรีเทพเป็นเมืองที่พัฒนาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการรับอิทธิพลจากพื้นที่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเขมรโบราณ หรือจากวัฒนธรรมที่เกิดจากการที่เป็นเมืองที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ซึ่งเมื่อดูจากจุดที่ตั้งของเมืองศรีเทพตั้งอยู่ขอบของที่ราบกลางตอนบน เพื่อจะเดินทางเชื่อมต่อไปทางแถบที่ราบสูงภาคอีสาน คนที่อยู่ทางภาคอีสานก็ต้องการสินค้าที่อยู่แถบภาคกลาง ก็เลยมีการเดินทางไปมาผ่านเมืองศรีเทพ

“เมืองศรีเทพเหมือนเป็นจุดแวะพักระหว่างทางและแลกเปลี่ยนสินค้า ทำให้อิทธิพลวัฒนธรรมทางด้านศาสนาและศิลปกรรมค่อนข้างมีมาก อาทิ การขุดค้นพบลูกปัดแก้วกระจายรอบๆ เมืองศรีเทพ ส่วนแหล่งผลิตลูกปัดอยู่ภาคใต้ของประเทศไทย ยังขุดพบลูกปัดหินอาเกต หินคานิเดียน หินเหล่านี้อาจมาจากอินเดีย แต่มิใช่หมายความว่าหินเหล่านี้มาจากแหล่งโดยตรง อาจมีการแลกเปลี่ยนกันมาเป็นทอดๆ กระทั่งเดินทางมาที่เมืองศรีเทพ”

ในด้านการวางผังเมือง เมืองศรีเทพได้ใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิศาสตร์ มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ได้อยู่ติดกับแม่น้ำโดยตรง คนในยุคสมัยนั้นต้องหาวิธีให้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคภายในเมือง ลักษณะง่ายๆ ของเมืองยุคทวารวดีคือการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบ นอกจากเป็นขอบเขตของเมืองแล้ว อีกวัตถุประสงค์ก็คือการเป็นแหล่งน้ำไว้อุปโภคบริโภค โดยเมืองศรีเทพจะแบ่งเป็นเมืองชั้นใน ที่มีรูปร่างกลมๆ เป็นเมืองที่มีมาก่อน เป็นยุคต้นๆ ร่วมสมัยทวารวดี แม้เมืองชั้นในจะมีปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง สร้างขึ้นมาในช่วงเขมรโบราณ ถ้าขุดตรวจสอบชั้นดินด้านล่างของปรางค์สองพี่น้องจะพบร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนสมัยทวารวดีมาก่อน และเมืองชั้นนอก ที่หลังจากผู้คนอาศัยมากขึ้นจึงย้ายออกไปทางทิศตะวันออกและขุดคูน้ำเชื่อมต่อออกไป

นอกจากนี้ เมืองศรีเทพจะมีโบราณสถานอยู่นอกเมือง ได้แก่ เขาคลังนอกเป็นสถูปเจดีย์สมัยทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และคงเหลือสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด แม้ปัจจุบันจะเหลือเฉพาะส่วนฐาน ส่วนสถูปเจดีย์เหลือร่องรอยเป็นส่วนน้อย แต่ก็พอเห็นรูปร่างอยู่

สำหรับสาเหตุที่เมืองศรีเทพถูกทิ้งร้างไปนั้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ ภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะความแล้งแห้ง หรือโรคระบาด แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานถูกทิ้งร้างมาจากภัยสู้รบแย่งชิง ไม่มีการเกณฑ์ไพร่พลไปไหน แต่แค่เหมือนกับผู้คนอพยพออกจากเมืองไปด้วยเหตุผลบางอย่าง

อย่างไรก็ตาม ชื่อเมือง ‘ศรีเทพ’ อาจไม่ใช่ชื่อแต่ดั้งเดิมของเมืองโบราณแห่งนี้ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ให้ข้อมูลไว้ในรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2562 ว่าชื่อเมืองศรีเทพ เป็นชื่อที่เพิ่งถูกเรียกกันในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ได้มีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิง ซึ่งเป็นโครงกระดูกที่มีอายุถึง 2,000 ปี นั่นหมายความว่าก่อนที่จะเป็นเมืองศรีเทพที่เรารู้จัก เมืองโบราณแห่งนี้เคยดำรงอยู่ด้วยชื่ออื่นด้วย

ชื่อ ‘ศรีเทพ’ สามารถสืบย้อนไปได้ถึงพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีชื่อตำแหน่ง ‘หมอศรีเทพ’ ถูกกล่าวถึงคู่กับ ‘หมอศรีทณ’ นอกจากนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ยังได้เสนอว่าชื่อ ‘ศรีเทพ’ อาจเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ในอดีต เพราะในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีนิทานชื่อ ‘พันบุตรศรีเทพ’ ถูกแต่งขึ้น อาจจะนัยยะว่าตัวละครพันบุตรนี้อาจจะมาจากเมืองศรีเทพ โดยข้อมูลทั้ง 2 ข้อนี้เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าชื่อ ‘ศรีเทพ’ ไม่ใช่ชื่อที่เพิ่งถูกใช้ แต่เป็นชื่อที่ถูกใช้สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน แม้ว่าในปัจจุบันจะยังคงสืบหาความเชื่อมโยงของการใช้งานแต่ละครั้งอยู่


“คนแบกใต้ฐานเขาคลังใน” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (ภาพ: Silpa-Mag)

ความพยายามในการผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพสู่การเป็นมรดกโลก

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปกรพยายามจะผลักดันสู่การขึ้นบัญชีมรดกโลกมาตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2562 เรื่อยมาจนถึงสมัยของ ประทีป เพ็งตะโก ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปกรในช่วงปีพ.ศ. 2564 ซึ่งในตอนนั้นมีข้อเสนอจากศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ให้ประเทศไทยปรับปรุงเอกสารเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปกรในตอนนั้นร่วมกับ จ.เพชรบูรณ์ จึงได้ทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์ ไม่ให้มีผลกระทบกับชุมชนหรือปัจจัยภายนอกในภายหลัง อีกทั้งมีการพัฒนาพื้นที่แนวเขตที่จะมีการกันแนวเขตของพื้นที่แหล่งมรดกโลก การปรับปรุงผังเมืองรวมเพชรบูรณ์รวมที่จะมีขอบเขตครอบคลุมแหล่งโบราณสถานด้วย

นอกจากจะต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วน กรมศิลปกรยังต้องดูแลรักษาอุทยานศรีเทพเป็นอย่างดีด้วย โดยในช่วงเดือน มีนาคม พ.ศ. 2562 บริษัทอีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด มีแผนที่จะดำเนินโครงการผลิตปิโตรเลียม ฐานผลิต STN-๒ พื้นที่ผลิตศรีเทพเหนือ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยแผนการผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกลุ่มโบราณสถานเขาคลังนอก ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญนอกเมืองศรีเทพทางทิศเหนือ อยู่ในองค์ประกอบของเมืองโบราณศรีเทพที่กรมศิลปากรอยู่ระหว่างนำเสนอเข้าสู่บัญชีมรดกโลก กรมศิลปากรจึงมีความเห็นว่าหากมีการก่อสร้างแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มโบราณสถานเขาคลังนอก ยังจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาเมืองศรีเทพเข้าสู่บัญชีมรดกโลกด้วย


โบราณสถานเขาคลังนอก (ภาพ: Silpa-Mag)

ความพยายามในการผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10 – 25 กันยายน 2566 ณ กรุงกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งในวาระการประชุมนี้ มีรายชื่อแหล่งมรดกทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และแบบผสม ซึ่งหนึ่งในนั้นมีรายชื่อของ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่รอพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโก้อยู่ด้วย กลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญของชาวไทยให้ได้ลุ้นกันต่อไป ว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญชิ้นนี้จะสามารถเลื่อนขั้นขึ้นเป็นมรดกโลกได้หรือไม่

“ส่วนประเด็นศรีเทพเป็นมรดกโลกนั้น ประเทศไทย หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะได้อะไรนั้น อันดับแรกคือได้ชื่อเสียง การเป็นมรดกโลกก็ไม่ได้ให้อะไรกับเรา ไม่ได้มีให้งบประมาณ เพียงแต่กรณีที่ตัวแหล่งมรดกโลกถูกคุกคาม หรือไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดี ทางศูนย์มรดกโลกจะมีผู้ชำนาญการอนุรักษ์ให้คำแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร ส่วนสิ่งที่เราจะได้อย่างชัดเจน คือได้ชื่อเสียงว่าเรามีแหล่งมรดกโลกเพิ่มขึ้น ส่วนผลที่ตามมาก็คือการท่องเที่ยว จะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้น” สถาพร เที่ยงธรรมกล่าว


อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง