ประมวลน้ำท่วม 6-7 ตุลา เมืองเชียงใหม่หลายที่คลี่คลาย เชียงใหม่ตอนล่าง-ลำพูนยังน่าห่วง

ในวันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่ยังคงเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านสถานีวัดระดับน้ำสะพานนวรัฐ ในวันที่ 6 ต.ค. เวลา 01.00 น. ถูกบันทึกไว้ที่ 5.21 เมตร พร้อมกับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอยู่ที่ 638 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานการณ์นี้ส่งผลให้หลายพื้นที่ในตัวเมืองและเขตใกล้เคียงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 ต.ค. แม้ว่าสถานการณ์น้ำจะเริ่มคลี่คลายลง และน้ำในหลายจุดเริ่มลดระดับลง แต่ยังคงมีมวลน้ำที่เคลื่อนแผ่ขยายออกไปรอบนอก โดยเฉพาะไปทางจังหวัดลำพูน ทำให้ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมซ้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

สถานการณ์น้ำปิงเชียงใหม่ และการช่วยเหลือ (6 ต.ค. 67)

6 ตุลาคม 2567 กรมประชาสัมพันธ์ รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงจังหวัดเชียงใหม่ ว่าได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนถึง 3 ตุลาคม 2567 โดยมีปริมาณฝนสูงสุดที่วัดได้ระหว่าง 100 – 150 มิลลิเมตร พื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่และเขตเทศบาลได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม เวลา 17.00 น. ซึ่งมีระดับน้ำสูงสุดที่ 5.30 เมตร เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม เวลา 12.00 น. สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.10 เมตร ทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่โซน 1 – 7 และบางจุดนอกขอบเขตโซน 7 บางแห่ง

ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ได้มีการบูรณาการกับจังหวัดเพื่อสนับสนุนรถขนย้ายผู้ประสบภัย กระสอบทราย และถุงยังชีพ สำหรับมวลน้ำที่ไหลล้นตลิ่งจะไหลเข้าสู่พื้นที่อำเภอสารภีและเข้าสู่เขตตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และไหลลงสู่ลำน้ำแม่กวง ก่อนจะไหลผ่านตัวเมืองลำพูน และกลับลงสู่แม่น้ำปิงที่บ้านสบทา อำเภอป่าซาง

ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอสารภี โดยเฉพาะตำบลหนองผึ้ง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.8 – 1.50 เมตร ส่วนในพื้นที่จังหวัดลำพูน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.3 – 0.5 เมตร โดยคาดการณ์ว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในพื้นที่ลุ่มต่ำจังหวัดลำพูนอาจสูงถึง 0.8 – 1.5 เมตร สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการกำจัดวัชพืชในทางน้ำและเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่แล้ว

กาดหลวง (ตลาดวโรรส)

แนวหน้า รายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่ตลาดวโรรส หรือกาดหลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ วันที่ 6 ตุลาคม 2567 หลังจากเผชิญน้ำท่วมต่อเนื่องนานกว่า 24 ชั่วโมง ระดับน้ำในพื้นที่นี้สูงเกือบ 60 เซนติเมตร ทำให้ร้านค้าไม่สามารถขายของได้ แม้ว่าจะมีกระสอบทรายกั้นน้ำไว้หน้าร้าน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันน้ำที่ทะลักเข้ามาผ่านท่อระบายน้ำด้านหลังได้ ทำให้สินค้าหลายร้านได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่านับแสนบาท

แม้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่จะเริ่มลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงสูงอยู่ที่ประมาณ 5 เมตร ส่งผลให้หลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพผู้คนที่ติดค้างในพื้นที่น้ำท่วมในหลายจุดทั่วเมือง ทั้งนี้ คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำปิงจะค่อย ๆ ลดลงเฉลี่ยชั่วโมงละ 4 เซนติเมตร และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วันกว่าที่น้ำท่วมจะกลับเข้าสู่ลำน้ำทั้งหมด

สถานีรถไฟเชียงใหม่

ตามรายงานของ แนวหน้า และ มติชน เมื่อ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 09.40 น. สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ยังคงวิกฤติ โดยเฉพาะที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ระดับน้ำท่วมสูงเกือบถึงระดับเอว โดยวัดได้ที่ 5.28 เมตร ความเร็วและแรงของน้ำที่ไหลเชี่ยวทำให้พนังกั้นน้ำและกระสอบทรายที่เทศบาลนครเชียงใหม่ตั้งไว้เพื่อป้องกันการทะลักของน้ำจากแม่น้ำปิงพังลงต่อเนื่องหลายจุด

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ครอบคลุมบริเวณตั้งแต่พนังที่ตั้งอยู่ใกล้ตำรวจภูธรภาค 5 ย่านเชียงใหม่แลนด์ ไปจนถึงตลาดวโรรส หรือกาดหลวง ส่งผลให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมผิวถนน ร้านค้า และบ้านเรือนประชาชนในวงกว้าง โดยหลายจุดที่ถูกน้ำท่วมครั้งนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่เคยเผชิญกับน้ำท่วมมาก่อน สถานการณ์ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. ระดับน้ำยังคงทรงตัวที่ 5.28 เมตร โดยมีการเฝ้าระวังต่อเนื่องเนื่องจากพนังกั้นน้ำที่พังลงอย่างต่อเนื่องตลอดแนวแม่น้ำปิง ทำให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่

อำเภอสารภี

ประชาไท รายงานว่า 6 ตุลาคม 2567 มวลน้ำที่ท่วมขังในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ได้ไหลลงไปยังพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอสารภี ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำต่อจากตัวเมืองเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักหลายจุด โดยเฉพาะถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายเชียงใหม่-ลำปาง หรือทางหลวงหมายเลข 11 ขาเข้าเมืองเชียงใหม่ บริเวณสี่แยกหนองประทีป ทางต่างระดับดอนจั่น ทางต่างระดับเชียงขาง รวมถึงถนนมหิดลที่มีน้ำท่วมตลอดทั้งสาย ทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ ผู้ใช้เส้นทางจึงต้องเลี่ยงไปใช้ถนนสมโภช 700 ปี และวงแหวนรอบ 3 ในการเดินทางเข้าออกตัวเมือง

ในพื้นที่ลุ่มต่ำอื่น ๆ ของอำเภอสารภี ได้แก่ ตำบลท่าวังตาล ตำบลไชยสถาน ตำบลชมภู ตำบลหนองผึ้ง ตำบลดอนแก้ว และตำบลหนองแฝก ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณถนนหน้าโรงเรียนสารภีพิทยาคม (ถนนทางหลวงชนบท 4091) และปากทางขัวดำ ตำบลหนองแฝก ที่มีน้ำท่วมสูงและกระแสน้ำไหลเชี่ยว ทำให้บางจุดรถไม่สามารถผ่านได้

นอกจากนี้ ในเวลา 16.10 น. มีรายงานจากศูนย์เอราวัณว่าเกิดเหตุเรืออพยพผู้ป่วยล่มบริเวณบ้านกานกนกทาวน์ 1 ถนนเลียบเชียงแสน (ถนนเลียบรางรถไฟ) ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี มีผู้จมน้ำ 3 ราย เจ้าหน้าที่สามารถช่วยขึ้นมาได้ แต่ต้องทำการ CPR หนึ่งราย อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นมีรายงานว่ามีผู้ป่วย 1 รายได้เสียชีวิตลงจากเหตุการณ์นี้ ส่วนอีก 2 รายปลอดภัยแล้ว

จังหวัดลำพูน

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ส่วนติดตามภัยพิบัติ ลำพูน-เชียงใหม่

เพจเฟซบุ๊ก ‘ส่วนติดตามภัยพิบัติ ลำพูน-เชียงใหม่’ ได้โพสต์เตือนประชาชนในจังหวัดลำพูนให้เตรียมรับมวลน้ำขนาดใหญ่ที่จะไหลเข้ามาจากอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านถนนเลียบทางรถไฟ เนื่องจากระดับน้ำปิงที่ล้นจากตัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้หลายพื้นที่ในตำบลต่าง ๆ ของสารภีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง น้ำได้ทะลักเข้าสู่บ้านเรือน และไหลอย่างไม่เป็นทิศทาง

ขณะนี้ อำเภอสารภีกำลังเผชิญกับปริมาณน้ำจำนวนมาก และมวลน้ำกำลังไหลเข้าสู่จังหวัดลำพูน โดยเฉพาะบริเวณถนนเลียบทางรถไฟ ที่จะเป็นเส้นทางหลักของน้ำ คาดว่ามวลน้ำมหาศาลจะไหลเข้าสู่ตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน และหากสามารถจัดการน้ำที่ไหลได้ น้ำจะถูกระบายลงสู่น้ำกวง ซึ่งอาจทำให้พื้นที่ในอำเภอเมืองลำพูนเผชิญน้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่งซ้ำอีกครั้ง

พื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่ บ้านก่อม่วง บ้านป่าเห็ว บ้านป่าเส้า บ้านไร่ บ้านหนองหมู และบ้านชัยสถาน ตำบลอุโมงค์ รวมถึงบ้านต้นผึ้ง บ้านเหมืองง่า และบ้านศรีบุญยืน ตำบลเหมืองง่า ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลเข้ามา หากน้ำกวงมีระดับสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการเตือนพื้นที่บ้านเวียงยอง บ้านศรีเมืองยู้ บ้านวังไฮ บ้านสันต้นธง บ้านหลวย บ้านสันมะกรูด บ้านท่าศาลา และบ้านปากล้อง ตลอดจนหมู่บ้านติดน้ำกวง ให้เฝ้าระวังน้ำที่อาจล้นตลิ่งและเข้าท่วมบ้านเรือนได้

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ส่วนติดตามภัยพิบัติ ลำพูน-เชียงใหม่

ตามแผนการจัดการน้ำของเทศบาลตำบลอุโมงค์ ได้เตรียมพื้นที่บริเวณหมู่บ้านอุโมงค์งาม เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่จะไหลลงมาจากถนนเลียบทางรถไฟ โดยจะพยายามกำหนดทิศทางให้น้ำไหลลงสู่ลำน้ำสาขาและลำน้ำสายหลัก อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่มากเกินระดับวิกฤติและยาวนานต่อเนื่องหลายชั่วโมง ทำให้การควบคุมทิศทางการไหลของน้ำเป็นไปอย่างยากลำบาก จังหวัดลำพูนกำลังเร่งหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด

สะพานนวรัฐ

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก PPTV HD 36

7 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 PPTV HD 36 รายงานว่า เจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้เร่งทำความสะอาดถนนและกำจัดโคลนบริเวณถนนใกล้กับสะพานนวรัฐ หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำปิงเริ่มลดลง ทำให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจจราจรเชียงใหม่ – TFCM
ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจจราจรเชียงใหม่ – TFCM

ทั้งนี้ เวลา 16.00 ของวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก ‘ตำรวจจราจรเชียงใหม่ – TFCM’ รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์จราจรในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยมีการเปิดเส้นทางจราจรใหม่เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมแจ้งจุดที่มีการปิดกั้นการสัญจรในบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำเส้นทางในการเดินทางไปยังท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพและหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูง

ขณะเดียวกันด้าน สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย ได้แจ้งว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้สั่งการให้ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) ปรับกำลังเพื่อเข้าช่วยเหลือจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีการประเมินสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

ในขณะนี้ระดับน้ำที่จุด P1 สะพานนวรัฐ มีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับตลิ่งที่ 3.70 เมตรได้ในวันนี้ อย่างไรก็ตาม มวลน้ำจากแม่น้ำปิงที่ยังคงเคลื่อนตัวผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ จะส่งผลกระทบในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำปิง

นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสารภี อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง ให้เคลื่อนย้ายสัตว์ สิ่งของ และยานพาหนะขึ้นที่สูง พร้อมทั้งอพยพผู้ป่วยติดเตียงและกลุ่มเปราะบางไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวในจังหวัดเชียงใหม่ โดยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านสายด่วน 1567

สำหรับพื้นที่ในจังหวัดลำพูน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งข้อความเตือนภัยระดับ 3 ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งใน 7 ตำบล ของอำเภอเมืองลำพูน ซึ่งได้แก่ ตำบลเหมืองง่า, ตำบลอุโมงค์, ตำบลต้นธง, ตำบลประตูป่า, ตำบลริมปิง, ตำบลหนองช้างคืน และตำบลมะเขือแจ้

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง