ต่างจังหวัดในแดนไทย: การควบคุมพื้นที่ ความรู้ และความทรงจำนอกกรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 MAIIAM pavilion (ใหม่เอี่ยมพาวิลเลี่ยน) ได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ต่างจังหวัดในแดนไทย: การควบคุมพื้นที่ ความรู้ และความทรงจำนอกกรุงเทพฯ” ขึ้น ณ MAIIAM pavilion ร้านหนังสือเวียงทองเก่า จังหวัดเชียงราย โดยมี ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ขึ้นบรรยาย ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง

การเสวนาในครั้งนี้ เป็นการกล่าวถึงประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกรุงเทพฯ และเขตแดนภายนอก ที่ถูกเรียกว่าเป็นต่างจังหวัด ผ่านความเหลื่อมล้ำทางการเมือง การกระจายทรัพยากร และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นบนฐานชุดความรู้ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยต่าง ๆ 

กลไกจัดการชุดความรู้ยุครัฐสยามสมัยใหม่ การตีความต่างจังหวัดในฐานะ “เมืองใต้อาณานิคม” 

ภิญญพันธุ์ เปิดประเด็นการเสวนาด้วยการตั้งคำถาม ตีความความเป็น “ต่างจังหวัด” ที่ถูกสร้างขึ้นจากเมืองหลวงและส่วนกลาง โดย ภิญญพันธุ์ ได้ตีความประเด็นดังกล่าวออกมาเป็น 2 รูปแบบ คือความเป็นต่างจังหวัดในฐานะพื้นที่แห่งการถูกควบคุมภายใต้อำนาจและความรู้ และการโต้กลับของต่างจังหวัดผ่านการ “พูดนอกประโยค ซึ่งทั้ง 2 รู้แบบนี้ ภิญญพันธุ์ อธิบายไว้คร่าว ๆ ว่าเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อส่วนกลางมีแรงกระทำต่อต่างจังหวัด และตัวพื้นที่ต่างจังหวัดเองก็มีการตอบสนองต่อแรงกระทำจากส่วนกลางด้วยเช่นกัน

“มันมีการกระทำ กิริยา ที่กระทำกับท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันท้องถิ่นก็ดันขึ้นมา เป็นแรงปฏิกิริยา” ภิญญพันธุ์กล่าว

(ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์)

ในรูปแบบแรก ภิญญพันธุ์ กล่าวถึงชุดความรู้และมิติทางการเมือง ที่ถูกนำมาใช้นิยามความเป็นต่างจังหวัด ซึ่ง ภิญญพันธุ์ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือชุดความรู้ช่วงยุคอาณานิคม, ยุคสงครามเย็น และยุคชุมชนนิยม

ชุดความรู้และมิติทางการเมืองในช่วงยุคอาณานิคม เป็นช่วงที่รัฐสยามมีความพยายามในการสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างจากรัฐสมัยใหม่ของทางตะวันตก จากการที่รัฐสมัยใหม่ในมุมมองของสยาม มีการใช้อำนาจบนพื้นที่ของการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ไม่ได้ยอมรับประชาชนในฐานะพลเมือง แต่เป็นผู้อยู่ภายใต้การควบคุมเท่านั้น ชุดความรู้ในช่วงเวลานี้จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างพื้นที่ส่วนกลางเพื่อรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งเป็นการสร้างกลไกการเมืองการปกครองเพื่อควบคุมดินแดนและผู้คน เหมือนการปกครองผู้อยู่ใต้อาณานิคม (Subject)

“ในยุคนี้ยังมีศักดินาอยู่นะครับถึงจะเป็นรัฐสมัยใหม่ กฎหมายระบุเลยนะครับว่าตำแหน่งนี้ศักดินาเท่าไหร่ ชาวนามีศักดินาเท่าไหร่” ภิญญพันธุ์กล่าว

ภิญญพันธุ์ อธิบายต่อ ว่าชุดความรู้และกลไกการปกครองรูปแบบดังกล่าว ได้สร้างความเป็นเมืองหลวงในฐานะเมืองส่วนกลาง และพื้นที่ภายนอกเมืองหลวงราวกับเป็นเมืองภายใต้อาณานิคม ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการชุดความรู้ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยส่วนกลาง ยังมาพร้อมกับกลไกการจัดการ “ความทรงจำ” ผ่านการประชุมพงศาวดาร โดยที่ผู้ปกครองพื้นที่ต่าง ๆ จะนำพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากพื้นที่ต่าง ๆ นำมาจัดสรรใหม่ และบอกเล่าผ่านมุมมองของส่วนกลางอีกครั้ง

การจัดการความทรงจำในพื้นที่ล้านนา ภิญญพันธุ์ กล่าวว่ายังถือว่ามีความโชคดีอยู่บ้าง จากการที่เค้าโครงของพงศาวดารในพื้นที่ภาคเหนือมีการอธิบายว่ากษัตริย์ของอยุธยามาจากภาคเหนือ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความพยายามจากส่วนกลางในการอธิบายว่าคนเหนือในช่วงเวลานั้น มีรากฐานมาจากคนเชื้อสายลาว ซึ่งถูกมองโดยส่วนกลางว่ามีความด้อยอารยธรรมกว่า จำเป็นต้องถูกปกครองโดยชนชั้นนำของสยามที่มีความเป็นอารยะกว่า

“มันคล้ายกันกับที่อังกฤษครอบครองอินเดีย หรือฝรั่งเศสครอบครองกัมพูชาเลย แล้วบอกว่าคนอินเดียในปัจจุบันไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากอดีต คนพวกนี้มันด้อยอารยธรรม สมควรแล้วที่จะต้องถูกปกครอง” ภิญญพันธุ์กล่าว

การต่อสู้ของสองแนวคิดและผู้ถูกนิยามใหม่บนชุดความรู้ยุคสงครามเย็น 

ภิญญพันธุ์ นิยามแนวคิดคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยช่วงสงครามเย็นว่าเป็นแนวคิดที่ “อยู่ผิดที่ผิดทาง” เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว แนวคิดคอมมิวนิสต์มักถูกใช้เพื่อโค่นล้มเจ้าอาณานิคมในประเทศต่าง ๆ ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศเจ้าอาณานิคม แต่กับประเทศไทยที่ยังไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใด ๆ จึงเกิดเป็นคำถามว่าแล้วใครคือเจ้าอาณานิคม?

อย่างไรก็ตาม หลังปี พ.ศ.2500 ประเด็นการต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์และรัฐบาลในประเทศไทยเริ่มมีความเข้มข้นขึ้น ทำให้พื้นที่ต่างจังหวัดหรือพื้นที่ป่าเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กลายเป็นพื้นที่ซ่องสุมคอมมิวนิสต์ และภัยความมั่นคงของประเทศไป 

“พื้นที่ในป่าหรือชายขอบกลายเป็นพื้นที่หวาดระแวงของรัฐ มีความสำคัญพอ ๆ กับความรู้ที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ ที่อธิบายว่าชาวนาคือใคร ชาวเขาคือใคร”

ภิญญพันธุ์ อธิบายถึงความเชื่อมโยงของชุดความรู้ในช่วงเวลาดังกล่าวกับมุมมองต่อชาวชาติพันธุ์ ซึ่งถูกจำแนกผ่านเหตุผลทางวิชาการ รวมถึงยังถูกทำให้เป็นสินค้าที่มีนัยยะทางเพศ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตีพิมพ์ของ ‘อนุสาร อ.ส.ท.’ ที่ทำการเผยแพร่เนื้อหาการท่องเที่ยวพร้อมแนบมิติความเย้ายวนทางเพศของหญิงสาวชาวชาติพันธุ์ในช่วงเวลานั้นเอง

นอกจากนั้น ช่วงเวลายุคสงครามเย็นยังสร้างเส้นเขตแดนจังหวัดที่มีความชัดเจนขึ้น เป็นผลมาจากการจัดพื้นที่แบบภูมิภาค ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกแต่งตั้ง เป็นผู้นำสูงสุดของแต่ละพื้นที่ภายใต้การจัดการภูมิศาสตร์รูปแบบดังกล่าว รวมถึงยังเป็นกลไกในการควบคุมผู้คน ซึ่งเป็นกลไกที่ยังคงทำงานมาจนถึงในปัจจุบัน

การตีกรอบต่างจังหวัดอย่างไม่เข้าใจโดยคนเมืองบนชุดความรู้ยุคชุมชนนิยม

ชุดความรู้ในยุคชุมชนนิยม ภิญญพันธุ์ อธิบายว่าเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นแนวคิดการ “กลับไปอยู่ต่างจังหวัด” ที่เริ่มมีรากฐานเกิดขึ้นอยู่แล้วก่อนหน้านั้น ผนวกเข้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ และวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้แนวคิดดังกล่าวกลับมามีความนิยม เริ่มก่อร่าง และผนวกเข้ากับมิติของราชการไปในที่สุด

ภิญญพันธุ์ กล่าวต่อ ว่าแนวคิดแบบดังกล่าว มีส่วนทำให้ชุมชนไม่ถูกแปดเปื้อนไปกับการเมือง ตัวอย่างหนึ่งคือการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวในเมืองหลวง ภิญญพันธุ์ มองการโต้กลับของรัฐบาลในช่วงเวลานั้นว่าเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้เลยว่า “ชนบท” แท้จริงแล้วคืออะไร

“คนจำนวนมากพอเห็นเสื้อแดงบุกเข้าไปในเมือง ไม่มีใครนึกว่ามันมีแบบนี้ได้ยังไง ถูกจ้างมาแน่ ๆ เพราะงั้นการที่พวกเขามาปรากฎในเมือง มาสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้คนเมือง มันจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในฐานะที่คนเมืองไม่รู้เลยว่าชนบทคืออะไร” ภิญญพันธุ์กล่าว

ภิญญพันธุ์ อธิบายว่าผู้คนและดินแดนภายนอกกรุงเทพฯ ต่างถูกครอบงำโดยรัฐและทุน คนต่างจังหวัดและชนบทจึงถูกมองว่าควรจะเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แต่อาจจะหลงลืมไปว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างการส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาหรือการประกอบอาชีพส่วนใหญ่แล้วจะต้องเข้ามาพัวพันกับเมืองหลวงอยู่ดี

“พูดนอกประโยค” การโต้กลับของต่างจังหวัดต่อเมืองหลวง

ภิญญพันธุ์ ได้กล่าวถึงแนวคิดการพูดนอกประโยค (To Speak Outside of the Sentences) และมุมมองการศึกษาประวัติศาสตร์ของ Homi J.Bhabha ที่กล่าวว่าผู้อยู่ใต้อาณานิคม มักจะพูดภาษาของเมืองเจ้าอาณานิคมไม่ชัด บริบทดังกล่าวในประเทศไทยคือการที่ผู้คนต่างจังหวัดพูด “ภาษากรุงเทพฯ” ไม่ชัด ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่กลับถูกมองว่าเป็นคน “บ้านนอก” ผ่านมุมมองของคนเมือง ดังที่เห็นได้จากตัวอย่างตามสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ บูญชูผู้น่ารัก ที่บุญชู ถูกนิยามว่าเป็นคนบ้านนอกในเมืองกรุง ทั้ง ๆ ที่เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ห่างไกลกับกรุงเทพฯแต่อย่างใด

“กรุงเทพฯ น่าจะเป็นที่เดียวที่พูดภาษาแบบนั้น สุพรรณ กาญจนบุรี นครปฐม ภาคกลางแทบทั้งหมดแม้กระทั่งพิษณุโลกยังพูดสำเนียงที่คนกรุงเทพฯ เรียกว่าพูดเหน่อ” ภิญญพันธุ์กล่าว

ภิญญพันธุ์ มองว่าภายใต้มิติทางภาษา ก็มีมิติทางอำนาจทับซ้อนอยู่ อีกทั้งการพูดภาษาเจ้าอาณานิคมไม่ชัด ยังทำให้เกิดการเยาะเย้ย เสียดสี ล้อเลียน ในมุมมองของ Homi J.Bhabha มองว่าพูดคนเหล่านี้ต่างเป็นเหยื่อผู้ได้รับความเดือดร้อนจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งสิ้น จนเกิดเป็นการบีบให้คิดหรือกระทำนอกเหนือจากสิ่งที่ขัดจากแบบแผนและกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการโต้กลับแบบหนึ่ง

หนึ่งในการกระทำนอกเหนือจากแบบแผนและกฎหมายผ่านการบีบคั้นจากอำนาจ คือกบฎชาวนาและประชาชน ที่กลายเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ให้ถูกพูดถึงในประเทศไทย แต่ถึงอย่างนั้น การตอบโต้ของพื้นที่นอกเมืองหลวงก็เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ประเทศไทย อย่างเช่นในช่วงปี พ.ศ.2445 ที่มีการเกิดขึ้นของกบฎเงี้ยว และการต่อสู้ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นดินแดนประเทศราชอย่างในพื้นที่ล้านนา การตอบโต้เหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผ่านระบบมณฑลเทศาภิบาล ที่ถูกสร้างโดยรัฐสยาม ซึ่ง ภิญญพันธุ์ มองว่าเป็นการจัดการระบบอาณานิคมและการสร้างผู้อยู่ใต้อาณานิคมขึ้นมา

นอกจากนั้น ในช่วงปี พ.ศ.2500 ผลจากสงครามเย็นทำให้เกิดคู่ขัดแย้งและการโต้กลับจากกลุ่มมวลชนที่มีแนวร่วมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างกลุ่มแนวคิดคอมมิวนิสต์ ที่ในประเทศไทยมีทั้งกองกำลังอย่าง พคท. รวมไปถึงแนวร่วมของพรรค และมวลชนชาวนาชาวไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกรัฐสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงผ่านการลอบสังหารผู้นำชาวนาชาวไร่ และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์เดือนตุลา ภิญญพันธุ์ สรุปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการตอบโต้โดยใช้ความตรงไปตรงมาและความไม่พอใจต่อรัฐ

Pop-Culture เฉพาะถิ่น กระแสประชานิยมภาคเหนือที่ประชาไม่ค่อยนิยม

ภิญญพันธุ์ กล่าวต่อถึงการตอบโต้ของต่างจังหวัด ผ่านวัฒนธรรมประชานิยม หรือ Pop-Culture ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ถูกใช้เพื่อปรับตัวในอยู่ร่วมกับรัฐ 

“ผมคิดว่าการผูกตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ มันเป็นสิ่งที่ทั้งสร้างขึ้น และคนพยายามที่จะเอาตัวเองไปผูกกับวัฒนธรรมของตัวเอง” ภิญญพันธุ์กล่าว

ภิญญพันธุ์ กล่าวถึงวัฒนธรรมประชานิยมในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมักจะมีภาพลักษณ์ที่ผูกโยงกับจำนวนประชากรที่มีอยู่น้อย รวมถึงยังเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้กระแสวัฒนธรรมของภูมิภาคไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดยเฉพาะในด้านศิลปะ ซึ่งมักจะเกี่ยวโยงกับประเด็นศาสนาและสถานะชนชั้นสูง ภิญญพันธุ์ จึงสรุปว่าวัฒนธรรมภาคเหนือ เป็นวัฒนธรรมที่อยู่ไกลตัว ยิ่งเมื่อผนวกกับจำนวนประชากรภาคเหนือที่มีอยู่น้อย แรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมท้องถิ่นจึงเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย

“เราฟังเพลง จรัล มโนเพ็ชร เมื่อไหร่? ปีใหม่ งานเลี้ยงต้อนรับ อาหารเหนือก็เช่นกัน อยู่ในสำรับการต้อนรับแขก เรารู้จักอาหารเหนือผ่านของฝาก แต่เราหาร้านอาหารเหนือได้ที่ไหนนอกภาคเหนือ? ขณะที่ร้านอาหารอีสาน ร้านอาหารใต้ไปที่ไหนก็เจอ” ภิญญพันธุ์กล่าว

สุดท้าย ภิญญพันธุ์ กล่าวถึงกระแสประชานิยมในภูมิภาคต่าง ๆ ในแง่ของการเป็นสินค้าที่ขายได้ และเป็นมิตรต่อนายทุน จึงเกิดเป็นคำถามว่าแท้จริงแล้ว กระแสประชานิยมในพื้นที่ต่างๆ คือการกลบเกลื่อนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันโดยทุนหรือไม่ และนั่นจะทำให้ประชาชนต่างจังหวัดจะยังคงเป็นผู้อยู่ใต้อาณานิคมโดยรัฐและนายทุนอยู่ดีหรือไม่

บัณฑิตการพัฒนาระหว่างประเทศช่างฝันที่อยากทำงานเขียน เฝ้าหาโอกาสที่จะสื่อสารส่งผ่านความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของสังคมในทางที่ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง