“จิบน้ำชา แลหาเสรีภาพ” ‘นิติซ้าย’ ตั้งวงถก นิรโทษกรรมประชาชน  

8 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่ม Law of Left นิติซ้าย จัดกิจกรรม ‘จิบน้ำชา แลหาเสรีภาพ’ ตั้งแต่เวลา 17.00-18.12 น. บริเวณ คณะนิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดคุยและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน  

กิจกรรม ‘จิบน้ำชา แลหาเสรีภาพ’ จะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 8 – 13 กุมภาพันธ์ 2567 ในเวลา 17.00-18.12 น. (1 ชั่วโมง 12 นาที) โดยในวันที่ 13 กุมภาพันธ์วันสุดท้ายของการจัดกิจกรรมจะมีการฉายหนัง “ไกลบ้าน (AWAY)” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ว่าด้วยฉากและชีวิตลี้ภัยของ วัฒน์ วรรลยางกูร หลังรัฐประหาร 2557 วัฒน์ วรรลยางกูร ถูกหมายเรียกและตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ นับจากนั้นนิยามของคำว่าบ้านก็กลายเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกล และต้องใช้ความหวังอย่างมากในการเฝ้ารอให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง

ลำพู กุหลาบวงษ์ สมาชิกกลุ่ม นิติซ้าย หนึ่งในผู้จัดกิจกรรม เล่าว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ต้องการจะเชื่อมโยงนักศึกษาคณะนิติศาสตร์กับปัญหาสังคมเข้าด้วยกัน ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จัดในพื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อที่จะดึงนักศึกษาคณะนิติศาสตร์และคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้มาสนใจในประเด็นทางสังคม ซึ่งการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ก็เป็นประเด็นปัญหาส่วนหนึ่งของสังคมที่อยากผลักดัน

‘นิรโทษกรรม’ ก้าวแรกสู่สมานฉันท์

ด้าน วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน มีความชัดเจนกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับอื่น การ นิรโทษกรรมจะครอบคลุมตั้งแต่ความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน 

วัลย์นภัสร์ เล่าว่าเหตุที่ต้องมีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนในช่วงเวลานี้เพราะหากไม่ทำตอนนี้และปล่อยให้มีการดำเนินคดีทางการเมืองไปเรื่อย ๆ จำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองก็จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งประชาชนเผชิญกับวิบากกรรมเป็นจำนวนมาก คนที่ถูกดำเนินคดีก็รับภาระในการต่อสู้ในชั้นศาลเป็นเวลานาน ซึ่งตอนนี้ถึงจุดที่ต้องมีการนิรโทษกรรมประชาชนจากมูลเหตุทางการเมืองเสียที

วัลย์นภัสร์ เสริมในประเด็นที่ว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จะมีการละเว้นเจ้าหน้าที่รัฐไว้ว่า การนิรโทษกรรมประชาชนนั้นเกี่ยวกับการเมือง คดีส่วนใหญ่ที่จะนิรโทษกรรมจะเกี่ยวกับความคิดเห็น การชุมนุม การออกไปเรียกร้อง ซึ่งสถานะเชิงอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นแตกต่างกับประชาชนเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่รัฐที่มีการกระทำละเมิดทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุม การใช้กระสุนยางหรือกระสุนจริง หรือยุทโธปกรณ์ในการสลายการชุมนุม 

“หากมีการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เป็นการส่งเสริมความรุนแรงให้เกิดขึ้นต่อไป หากมีการชุมนุมเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต เจ้าหน้าที่รัฐก็จะกล้าใช้ความรุนแรงเหมือนเคย เพราะว่ายังไงก็จะได้นิรโทษกรรมอยู่ดี” วัลย์นภัสร์ กล่าว

วัลย์นภัสร์ กล่าวต่ออีกว่า ประชาชนมีอำนาจที่ต่ำกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ การต่อสู้ไม่ว่าในทางคดีหรือทางกายภาพ ไม่สามารถต่อสู้ได้ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ไม่ได้รับผิด เจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมารับผิดชอบการกระทำต่อประชาชนมีไม่กี่คนหรืออาจจะไม่มีเลย ประชาชนที่บาดเจ็บและล้มตายในช่วงการสลายการชุมนุมที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้ออกมารับผิดชอบเลย การเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเลยเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

“เรามองว่านิรโทษกรรมฉบับประชาชน จะเป็นก้าวแรกของการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ก่อนหน้านี้ประชาชนอาจจะเป็นคู่ขัดแย้งของรัฐ แต่ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่ หากรัฐบาลปัจจุบันจะผลักดันเรื่องนี้ก็ไม่มีฝ่ายใดเสียหาย คนที่เคยรับบาดแผลจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็จะได้การบรรเทาและเบาบางลง” วัลย์นภัสร์ กล่าวปิด

เปิดจุดเข้าชื่อนิรโทษกรรมภาคเหนือ ใกล้ไหมไปนั่น

ปัจจุบันมีการตั้งโต๊ะลงชื่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ทั้งหมด 118 จุด ใน 36 จังหวัด โดยในภาคเหนือมีการตั้งโต๊ะลงชื่อทั้งหมด 24 จุด ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และอุตรดิตถ์ สามารถดูตำแหน่งลงชื่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ได้ที่ https://amnestypeople.com/locations/

ร่วมลงชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ได้ที่ https://amnestypeople.com/…

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง