นงเยาว์ เนาวรัตน์: เพื่อนหญิง พลังสตรี บนประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อการ “กระจายอำนาจ”

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2451 เมื่อผู้หญิง 15,000 คน เดินขบวนไปทั่วนครนิวยอร์กเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง เพิ่มค่าแรง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ก่อนที่จะถูกกำหนดให้วันที่ดังกล่าวกลายเป็นวันสตรีแห่งชาติ (National Woman’s Day) โดยพรรคสังคมนิยมแห่งอเมริกา (Socialist Party of America) ในอีก 1 ปีให้หลัง

ส่วนวันสตรีสากลนั้น มีแนวคิดริเริ่มมาจาก คลารา เซทคิน (Clara Zetkin) นักทฤษฎีลัทธิมากซ์ นักกิจกรรม และนักการเมืองผู้สนับสนุนสิทธิสตรีชาวเยอรมัน ที่เสนอแนวคิดในปี 1910 เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จและความก้าวหน้าของผู้หญิงทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ พร้อมย้ำเตือนถึงการต่อสู้เพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศที่ยังคงดำเนินต่อไป ต่อที่ประชุมนานาชาติของผู้หญิงทำงาน ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ด้วยมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ทำให้การเฉลิมฉลองวันสตรีสากลแห่งแรกเกิดขึ้นในประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางในภายหลังการจากองค์การสหประชาชาติในปีพ.ศ. 2518

คลารา เซทคิน (Clara Zetkin) นักทฤษฎีลัทธิมากซ์ นักกิจกรรม และนักการเมืองผู้สนับสนุนสิทธิสตรีชาวเยอรมันผู้เสนอแนวคิดวันสตรีสากล (ภาพ: https://www.salika.co/2019/03/08/clara-zetkin-womens-rights-activist/)

ซึ่งในปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศก็ยังมีอยู่อย่างเข้มข้น แม้ว่าผู้หญิงจะได้รับการยอมรับ เข้าถึงสวัสดิการหรือกระบวนการต่าง ๆ ในสังคมได้ไม่ต่างจากผู้ชาย แต่ก็ยังคงมีปัญหาในหลายมิติที่ผู้หญิงต้องเผชิญในวันสตรีสากลปีนี้ Lanner ขอพาย้อนประวัติศาสตร์ของการความตื่นตัว การต่อสู้ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งแม้ว่ามันยังคงดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้แต่ประวัติศาสตร์ยังคอยย้ำเตือนว่าในทุกการต่อสู้ล้วนมีการเปลี่ยนแปลง และต้องใช้เวลา 

จุดเปลี่ยนของชายเป็นใหญ่ ในสังคมสยามที่สตรีเริ่มตื่นตัว

ประเทศไทย หรือ ‘สยาม’ มีโครงสร้างสังคมที่ถูกกดทับด้วยระบบชายเป็นใหญ่มาอย่างยาวนาน ผู้หญิงหรือสตรีเพศเป็นเพียงสิ่งประดับบารมี หรือเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่าในการแลกเปลี่ยนไม่ต่างจากสิ่งของหรือเงินตรา ถูกกีดกันจากการเข้าถึงสถาบันต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หน้าที่การงาน หรือการปกครอง

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2398 สยามเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนนิยมหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง นำมาซึ่งมุมมองใหม่ ๆ ทางวัฒนธรรมอย่างแนวคิด “ผัวเดียวเมียเดียว” ซึ่งขัดกับโครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ในเวลานั้นอย่างรุนแรง แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิดนี้ก็กลายเป็นรากฐานที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’ เริ่มมีความคิดวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่นี้

จนช่วงปี พ.ศ. 2460 ผู้หญิงสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้มากขึ้นเทียบเท่าผู้ชาย แต่ทางเลือกในวิชาชีพยังคงมีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงชนชั้นกลางเริ่มนิยามตนเองด้วยการสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมใหม่ ที่ต่างไปจากชนชั้นอื่น ๆ โดยเฉพาะชนชั้นสูง ความตึงเครียดทางชนชั้นทวีมากขึ้นจนถึงขั้นที่รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องออกกฎหมายกำหนดโทษของการกระทำที่ “กวนให้เกิดขึ้นซึ่งความเกลียดชังระวางคนต่างชั้น” ในปีพ.ศ. 2470 เพื่อกดเพดานการวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นสูงที่กำลังดำเนินไปอย่างกว้างขวาง

แม้ประเด็นที่ถูกวิพากษ์ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของระบบชายเป็นใหญ่ในสังคม แต่การตั้งคำถามของกลุ่มผู้หญิงในประเทศก็เริ่มขยับขยายไปสู่ประเด็นการเมืองการปกครอง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ยังทำให้เกิดการกดทับประชาชนที่มีเพศสภาพต่างกันอย่างไร้ความเท่าเทียม ความเห็นเหล่านี้แพร่กระจายตามหน้านิตยสาร หนังสือพิมพ์รายวัน วรรณกรรม เรื่องอ่านเล่น ฯลฯ พร้อม ๆ กับการขยายตัวของสิ่งพิมพ์และอัตราการรู้หนังสือที่เพิ่มขึ้น

“ผู้หญิงกับการกระจายอำนาจ” เกิดขึ้นเมื่อไหร่

จากการพูดคุยกับ รศ.ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิด “สตรีนิยม” โดยเป็นแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นจากผู้ปฏิบัติการหลากหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ต่างขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายและสิ่งที่กลุ่มตนให้คุณค่าแตกต่างแต่เชื่อมโยงกัน ทั้งในแง่ของเป้าหมายและยุทธวิธี สิ่งหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติการกลุ่มต่าง ๆ มีร่วมกัน คือความอ่อนไหวต่อรัฐ ซึ่งเป็นผู้ควบรวมอำนาจทั้งหมด และสตรีก็ไม่ถูกมองเห็นจากผู้กุมอำนาจเหล่านั้น อีกทั้งการสนทนาในประเด็นดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นในวงครอบครัว ภรรยาปรึกษาสามี แต่เป็นวงพูดคุยกันในกลุ่มที่สตรีแต่ละคนสังกัดอยู่

นอกจากจะได้เข้าถึงสิทธิในการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญปี 2475 การศึกษาของ โคทม อารียา พบว่าผู้หญิงไทยมีการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองเรื่อยมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2475 โดยเน้นการเรียกร้องสิทธิในทางการเมืองที่เท่าเทียมกันของหญิงและชาย แม้ว่าในช่วงเวลาด้งกล่าวแนวคิดเรื่องนี้ยังคงเป็นแนวคิดใหม่ โดยหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากโดยเฉพาะในช่วงปีพ.ศ.2517 คือการเรียกร้องให้ผู้หญิง สามารถเลือกเรียนวิชาสามัญต่าง ๆ ได้เท่ากับผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเข้าถึงอาชีพต่าง ๆ ได้กว้างขวางเท่ากันกับผู้ชาย อีกทั้งการรวมกลุ่มกันของผู้หญิงก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกลุ่มแวดวงชนชั้นสูงอีกต่อไป แต่กลายเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้หญิงหลากหลายชนชั้น หลากหลายอาชีพ

“ถ้ารัฐจะกระจายอำนาจออกมา ไม่ว่าจะในเชิงผลประโยชน์ ในเชิงกำลังคน หรือตัวอำนาจจริง ๆ รัฐก็จะกระจายไปให้กับเพศชายก่อน แล้วถึงหล่นต่อมาที่เพศหญิง” 

เป้าหมายของกระสตรีนิยมในระยะเริ่มต้น จึงเป็นการวิเคราะห์ปัญหาการต่อสู้เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกกดทับ และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและภารดรภาพสำหรับคนทุกเพศในสังคม โดยมีรัฐเป็นจุดศูนย์กลางเป้าหมายในการทำให้ตัวรัฐ มอบคืนอำนาจทั้งหมดแก่ประชาชน

ช่วงเวลาที่แนวคิดสตรีนิยมลุกขึ้นมาต่อสู้เคียงข้างกับกลุ่มปฏิบัติการอื่น ๆ ในโลก ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคมที่เป็นการต่อสู้เพื่อทวงคืนอำนาจและเสรีภาพคืนจากเมืองเจ้าอาณานิคม ซึ่งประเทศที่ผู้หญิงเข้าร่วมต่อสู้ได้ประชาธิปไตยที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงระบบการเมืองได้ง่ายกว่าประเทศที่ผู้หญิงไม่ได้ร่วมการต่อสู้ อีกทั้งผู้หญิงยังมีบทบาทอย่างมากในช่วงการก่อตั้งรัฐใหม่ในกระบวนการการก่อตั้งกติกา อย่างเช่นระบอบประชาธิปไตยที่ผู้หญิงจะมีความเป็นพลเมืองเทียบเท่าผู้ชาย

นอกจากนั้น ผู้หญิงยังมีบทบาทในการร่วมกำหนดทิศทางของรัฐที่กำลังก่อตั้งใหม่ ทำให้อำนาจของรัฐที่เพิ่งก่อตั้งใหม่หมุนเวียนอยู่ในระดับเดียวกับประชาชน ส่วนสถาบันกษัตริย์ที่อำนาจลดน้อยถอยลงไปในช่วงการต่อสู้กับเมืองเจ้าอาณานิคม ก็ไม่ได้กลับมามีส่วนในอำนาจที่ประชาชนเป็นผู้จัดการแต่อย่างใด

การกระจายอำนาจจากการเข้ามามีบทบาทผลักดันการเข้าถึงสิทธิทางการเมืองของกลุ่มสตรี นอกจากจะทำให้เกิดความเสมอภาคขึ้นในสังคมแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เริ่มมีการพูดถึงระบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ในช่วงนี้ มีการกระจายอำนาจให้ผู้หญิงได้มีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ รวมถึงในหลายประเทศ ยังมีการผลักดันสิทธิพลเมืองให้แก่ผู้หญิง เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงในสังคมได้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ อย่างเช่นการศึกษา หรือการประกอบอาชีพข้าราชการด้วย

ในบริบทของประเทศไทยที่แม้จะไม่เคยเป็นเมืองใต้อาณานิคมนั้น แต่ในหลายพื้นที่ก็มีผลลัพธ์จากการเข้ามามีบทบาทของกลุ่ม “มิชชันนารี” ในฐานะการเป็นผู้ช่วยให้ผู้หญิงได้เข้าถึงการศึกษาระดับสูง ผ่านการเป็นผู้สอนด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นโรงเรียนผู้หญิงสมัยใหม่ขึ้นมา เช่น โรงเรียนสตรีวังหลัง (2417) โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ (2450) ซึ่งบริบทที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาที่ไม่ได้มาจากรัฐครั้งนี้ โดยนงเยาว์ มองว่าเป็นการมอบอาวุธให้แก่กลุ่มสตรีในสังคม ให้ได้หันมาใช้ความรู้ตั้งคำถามในประเด็นการกระจายอำนาจภายในประเทศ ผ่านการเขียนวรสาร ซึ่งเป็นการผลักดันแนวคิดพลเมืองในรัฐสมัยใหม่ ที่จะต้องมีความเสมอภาคและเสรีภาพ 

นงเยาว์สรุปสถานการณ์การต่อสู้ของผู้หญิงในช่วงนั้นว่าแตกต่างจากในปัจจุบันอยู่พอสมควร เนื่องจากมุมมองของผู้หญิงที่มีต่อรัฐในช่วงเวลานั้น มองว่าการปรับโครงสร้างรัฐ เท่ากับการปรับโครงสร้างความเป็นธรรมในสังคม และจะนำไปสู่การที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงสถานะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

โรงเรียนผู้หญิงสมัยใหม่ได้สลายความรู้ในสมัยเก่า ที่จากเดิม คือ ผู้หญิงไม่สามารถเข้าเรียนหรือมีการศึกษาได้เลย ถ้าบุคคลทั่วไปหรือสามัญชนอยากมีการศึกษา ก็ต้องเข้าไปอยู่ในราชสำนัก สมัครเข้าไปเป็นแรงงานให้กับชนชั้นเจ้าในการรับใช้ ซึ่งก็จะไม่ได้ความรู้เป็นกิจจลักษณะ เพราะจะขึ้นอยู่กับเจ้าว่าจะใช้สอยอะไร แต่เมื่อมีโรงเรียนสมัยใหม่ขึ้นมาแล้ว ก็เริ่มมีตำราเรียน มีแบบฝึกหัดที่ทำให้เขารู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และการที่สมัครเข้าไปเรียน เท่ากับว่าคนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนที่จ่ายค่าเทอมเข้าไปเรียน ไม่ใช่เป็นข้ารับใช้ ทำให้มีสำนึกของความเท่าเทียมมากขึ้นกว่าการไปศึกษาอยู่ในตำหนักต่าง ๆ ของชนชั้นสูง

นักเรียนจากโรงเรียนหญิงล้วนสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นการนำเข้าความรู้จากมิชชันนารี (ภาพ: https://pridi.or.th/th/content/2021/01/572)

ผู้หญิงสมัยใหม่เหล่านี้ เมื่อเรียนจบมาแล้วมักจะเป็นนางพยาบาล เป็นคุณครู ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ในช่วงเวลานั้น และกลุ่มบุคคลเหล่านี้มักมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยด้วยตัวเอง ซื้อหนังสืออ่านเอง เพราะว่าตัวเองมีการศึกษา สามารถทำงานนอกบ้านได้ ถ้าไม่เป็นแม่บ้านชนชั้นนำก็ทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงเริ่มมีพื้นที่อิสระนอกบ้านมากขึ้น จากสมัยก่อนที่เชื่อว่าลูกสาวจะต้องมีการเก็บตัวมากกว่า การไปโรงเรียน การออกไปเจอโลก รวมไปถึงการเข้าถึงการผลิตสื่อหัวก้าวหน้าในช่วงเวลานั้น อย่างเช่น สตรีนิพนธ์ (2457) หรือ สตรีศัพท์ (2465) ที่มีการเขียนต่อต้านการเมืองที่ไม่ชอบธรรม อย่างเช่นแนวคิดผัวเดียวหลายเมียของรัฐบาลในยุคสมัยนั้น 

“มีข้อเขียนบางเล่มที่ผู้หญิงเขียนในหนังสือ ว่าพลเมืองในรัฐสมัยใหม่ต้องมีเสรีภาพ มีความเสมอภาค รัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัวเองถึงจะเป็นรัฐบาลผูกขาดยังไงก็แล้วแต่ ต้องตรวจสอบได้ ตอบคำถามกับประชาชนได้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำ ทำไปเพื่ออะไร อะผู้หญิงเองก็มีสิทธิจะทวงถามสิ่งเหล่านี้ เมื่อมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้หญิง”

ภาพ: https://pridi.or.th/th/content/2021/01/572

บทบาทของสตรีหลัง 2475

ในยุคสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “สภาสตรี” ก็ถูกก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2499 โดยมี ละเอียด พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกสภา โดยมีทำงานเพื่อรวมกลุ่มผู้หญิงเพื่อร่วมกันพิจารณานโยบายส่งเข้าสภาต่อไป อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตุโดยกลุ่มสตรีนิยมในช่วงหลัง ว่าสภาสตรีในยุคของ ละเอียด พิบูลสงคราม อาจเป็นเพียงกลไลของรัฐบาลหรือไม่?

ละเอียด พิบูลสงคราม (ภาพ: สำนักงานเลขารัฐสภา)

ภายหลัง การต่อสู้ของกลุ่มผู้หญิงในสังคมไทยขยายขอบเขตไปสู่การรวมตัวผ่านวรสาร “สตรีไทย” (2518) ซึ่งเป็นวรสารตัวแทนแนวคิดสังคมนิยม โดยการรวมตัวครั้งนี้มาพร้อมข้อเรียกร้องในประเด็นความเสมอภาคของผู้หญิงในสังคมเสรีนิยม จะต้องถูกมองไปให้ไกลกว่าการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเพียงบางคนเข้าไปเป็นนักการเมือง เพราะเป็นการนำผู้หญิงเพียงบางส่วนเท่านั้นเข้าไปสู่อำนาจทางการเมือง แต่ควรที่จะกระจายอำนาจไปสู่ผู้หญิงทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะผู้หญิงกลุ่มชายขอบ รวมไปถึงกลุ่มผู้หญิงที่เป็นแรงงานรถรางที่มีจำนวนอยู่มากในช่วงเวลานั้น และควรที่จะสามารถรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานได้ ซึ่งการรวมกลุ่มนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งนัยยะของการกระจายอำนาจด้วยเช่นกัน

วรสารสตรีไทย (ภาพ: https://picpost.postjung.com/106904.html)

“ประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ การเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่าง ๆ สามารถรวมตัวเพื่อสะท้อนผลประโยชน์ได้ก็เป็นอีกนัยยะหนึ่งของการกระจายอำนาจ”

การรวมตัวเรียกร้องเสรีภาพที่คนกลุ่มต่าง ๆ จะสามารถรวมกลุ่มกันได้ของกลุ่มผู้หญิงวารสารสตรีไทยไม่ได้มีเพียงเพื่อการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผู้หญิงชายขอบหรือแรงงานรถรางเท่านั้น แต่ยังควบคู่ไปกับการเรียกร้องเสรีภาพการจัดตั้งสหกรณ์ชาวนา สหภาพแรงงาน สหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการผลักดันให้รัฐสนับสนุนการลงทุนร่วมกันของชาวบ้านบนแนวคิดว่ารัฐบาลที่แม้จะมาจากประชาธิปไตย แต่ถ้ายังคงสนับสนุนกลุ่มทุนเหมือนเก่า ท้ายที่สุดประชาชนก็จะถูกผลักดันไปสู่สถานะแรงงานอย่างไร้ทางต่อต้านใด ๆ บนระบบการทำงานของทุน

“กลุ่มนี้มีแนวคิดสังคมนิยมในเชิงเศรษฐกิจ ที่คิดว่าการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองในระบบเศรษฐกิจ รัฐต้องส่งเสริมให้มีรูปแบบลมหายใจแบบทุนนิยมมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ปัจเจกต่อสู้กับระบบทุนนิยมเพียงลำพัง”

หนึ่งในการต่อสู้ระหว่างผู้หญิงในชนชั้นแรงงานและนายทุน คือเหตุการณ์การนัดหยุดงานของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า ตรอกจันทน์ เขตยานนาวา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518 เพื่อขอขึ้นค่าแรงและการปรับปรุงสวัสดิการ โดยมี ชอเกียง แซ่ฉั่ว และ นิยม ขันโท เป็นผู้นำการรวมตัว

ชอเกียง แซ่ฉั่ว และ นิยม ขันโท (ภาพ: https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/266?fbclid=IwAR2JUSXtzdIIMJ5vZTODKu0k0e4bIOwGUiG7hhsBz0Qo_wPi8s7Wde82HoI)

การต่อสู้ในครั้งนั้นดุเดือดมากขึ้น แม้มีคำสั่งให้ไล่ผู้ประท้วงออกจากงาน แต่คำสั่งดังกล่าวจากนายทุนก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มแรงงานผู้หญิงกลุ่มนี้หมดเรี่ยวแรงลงแต่อย่างใด แต่ตัดสินยึดโรงงาน โดยผันตัวแรงงานมาเป็นผู้ผลิตเองพร้อมขายหุ้นโรงงานให้กับประชาชน และขายสินค้าในราคาถูก ภายใต้ชื่อโรงงานที่ถูกเปลี่ยนใหม่เป็น “สามัคคีกรรมกร” 

“ผู้หญิง” ในกระแสการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

ในยุคสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถือเป็นยุคที่สภาพของผู้หญิงถูกกดทับอย่างรุนแรง ถูกผลักดันให้กลายเป็นกลุ่มชายขอบในสังคม มีกลุ่มผู้หญิงเคลื่อนไหวในประเด็นการเปลี่ยนรัฐรวมศูนย์ให้เป็นรัฐประชาชนอยู่ทั้งหมด 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ต่อสู้ในประเด็นเสรีภาพ ความเสมอภาค และการปลดปล่อยความทุกข์ยากของพลเมือง โดยใช้วิธี “เข้าป่าจับปืน” บนความเชื่อที่ว่ารัฐจะต้องถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่รัฐกรรมาชีพที่โค่นล้มศักดินา เพื่อแก้ไขปัญหาและการได้มาซึ่งอำนาจรัฐที่จะกระจายไปสู่ประชาชน 

อีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้จากภายในเมือง พร้อมกับแนวคิดการกระจายอำนาจบนพื้นฐานของระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ด้วยการทำงานจากตำแหน่ง NGOs เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับกฏหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้หญิงกลุ่มต่าง ๆ ต้องเผชิญ ซึ่งการต่อสู้ของกลุ่มแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ใช่เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ แต่มุ่งเน้นไปที่การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ด้วยสถาบันทางการเมืองหลักอย่าง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ พร้อมกับการสร้างที่ว่างสำหรับผู้หญิงในสังคม เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการปกครอง รวมไปถึงการนำปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญไปสู่การแก้ปัญหาในระดับสาธารณะ รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองท้องถิ่น เพื่อให้อำนาจอยู่ใกล้ตัวประชาชนที่สุด ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ

“เราเรียกว่าเป็นการขยับของผู้หญิงในแนวเสรีนิยม ที่ต้องการให้ระบบประชาธิปไตยที่ขาดอำนาจระหว่าง 3 เสาหลัก ยังมีการกระจายไปสู่ท้องถิ่นให้ใกล้ตัวประชาชนขึ้น”

ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 กลุ่มผู้หญิงเองก็มีบทบาทในการเรียกร้องให้มีการร่างพ.ร.บ. เสนอแนวคิดที่ผู้หญิงและประชาชนจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด อย่างเช่นพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 รวมถึงยังมีการจัดกิจกรรมให้ผู้หญิงได้เข้ามาทดลองการเป็นตัวแทนในระดับสภาตำบล รวมถึงยังเกิดการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะบุคคลและลักษณะครอบครัวซึ่งเดิมมีการจำกัดสิทธิของหญิงที่มีสามีอยู่ นำไปสู่การแก้ไขระเบียบของกระทรวงการยุติธรรมว่าด้วยการสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาและระเบียบของกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทยต้นสังกัดเพื่อให้ผู้หญิงสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นอัยการได้และส่งผลต่อการรับราชการของสตรีในตำแหน่งอื่น ๆ โดยกระบวนการเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นตลอดมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517 ต่อเนื่องมาจนถึงปีพ.ศ. 2540 ซึ่งมีการผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีมาตราที่ 30 ที่กล่าวถึงการกระจายอำนาจอยู่ในนั้นด้วย

“มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้
มาตรการที่รัฐกำหนดเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรค 3”

อย่างไรก็ตาม สถิติของจำนวนผู้หญิงที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาไทยในปัจจุบันยังถือว่าน่าเป็นห่วง จากข้อมูลประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ของสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union : IPU) ค่าเฉลี่ยของผู้หญิงในสภาทั้งสองสภาทั่วโลกอยู่ที่ 26.1% โดยที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 138 จากทั้งหมด 187 อันดับ โดยข้อมูลสถิติในปี 2566 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยนั้น มีสมาชิกเป็นผู้หญิงจำนวน 73 คนจากทั้งหมด 474 คน ในวุฒิสภามีสมาชิกผู้หญิงจำนวน 26 คนจากทั้งหมด 250 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คนที่ไม่มีผู้หญิงเลยแม้แต่คนเดียว 

จะเห็นได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยปรับเปลี่ยนและพัฒนาโครงสร้างสังคมไทยให้เดินทางมาในทิศทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และถึงแม้ว่าการต่อสู้ของคนกลุ่มนี้จะยังไม่สิ้นสุดลง แต่ก็เป็นที่เห็นชัดแล้วว่าพวกเธอไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังอีกต่อไป แต่ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่มองเห็นความพยายามและน้ำพักน้ำแรงที่ถูกลงทุนไป และพร้อมจะเดินทางเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในอนาคต

อ้างอิง

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง