พิษข้ามแดนใครรับผิดชอบ? รัฐไทยทำอะไรอยู่ ในวิกฤติแม่น้ำกก

มีนาคมถึงเมษายน 2568 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้รับความสนใจจากประชาชนและหน่วยงานรัฐเป็นจำนวนมาก จากสถานการณ์ที่ชาวแม่อายส่งเสียงให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหามลพิษในแม่น้ำกกอย่างจริงจัง

จนกระทั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่อายให้หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำและการใช้น้ำจากแม่น้ำกก หลังพบว่าสีของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติและมีรายงานความกังวลจากชาวบ้านเกี่ยวกับการใช้แม่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค

จากการตรวจวิเคราะห์น้ำผิวดินเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ณ 3 จุด ได้แก่ บ้านแก่งตุ๋ม สะพานมิตรภาพแม่นาวาง-ท่าตอน และบ้านผาใต้ ผลวิเคราะห์พบว่า แม่น้ำกกอยู่ในเกณฑ์ “เสื่อมโทรม” อย่างชัดเจน ทั้งในด้านคุณภาพน้ำอินทรีย์ ค่าความขุ่น การปนเปื้อนของแบคทีเรียจากอุจจาระสัตว์ และที่สำคัญคือ การตรวจพบโลหะหนักอย่างตะกั่ว (Pb) และสารหนู (As) ในระดับที่ “เกินมาตรฐาน” มากกว่าเท่าตัว สูงถึง 0.076 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินจากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 0.05 mg/L ขณะที่สารหนูถูกพบเกินค่ามาตรฐานทุกจุด โดยเฉพาะจุดที่ 1 มีค่า 0.026 mg/L สูงกว่าค่าปลอดภัยถึงเกือบ 3 เท่า

สำนักงานสวล.และควบคุมมลพิษที่ 1 เผยสารหนูมักพบร่วมกับแร่ทองคำ

ข้อมูลจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ และการลงพื้นที่ของชาวบ้านในแม่อาย ต่างตั้งข้อสังเกตไปในทางเดียวกันว่า สาเหตุของมลพิษครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองทองคำในเขตเมืองยอน และเมืองสาด รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 30 กิโลเมตร และมีการดำเนินกิจกรรมร่อนทองตลอด 24 ชั่วโมง

บริษัทจีน 4 แห่ง ถูกระบุว่าเป็นผู้ดำเนินการหลักในการขุดแร่ทองคำและใช้เรือขุดทองบนลำน้ำกกโดยตรง มีรายงานว่ามีพนักงานกว่า 300 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีน การขุดแร่ด้วยสารเคมี เช่น ไซยาไนด์ อาจก่อให้เกิดการชะล้างตะกั่วและสารหนูลงสู่แหล่งน้ำ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 อาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ได้เปิดเผยกับศูนย์ข่าวไทยพีบีเอสภาคเหนือถึงประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองคือ การปนเปื้อนของสารหนู เป็นสารที่มักพบร่วมกับแร่ทองคำ หากกระบวนการสกัดและบำบัดสารหนูไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนโดยตรง พิษของสารหนูสามารถก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘ไข้ดำ’ หรือโรคทางผิวหนัง ซึ่งแสดงออกเป็นจุดสีดำบนร่างกาย และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงได้

รมช.มหาดไทยหารือกงสุลใหญ่เมียนมา – สทนช. ต่อสายตรงภูมิภาคน้ำโขง แก้วิกฤตน้ำกก

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ มอบหมายให้การประปาส่วนภูมิภาค เข้าหารือกับกงสุลใหญ่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแจ้งข้อกังวลเรื่องสารเคมีที่อาจไหลบ่าจากฝั่งเมียนมาสู่แม่น้ำกก

ทางเมียนมา โดยมีง จอ ลีน กงสุลใหญ่ ตอบรับความร่วมมือ และให้คำมั่นว่าจะประสานกับผู้ว่าการเมืองสาด เมืองยอน และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อร่วมกันหามาตรการรับมือและลดผลกระทบจากการทำเหมืองแร่

ภาพ: Thai PBS ภาคเหนือ

ด้าน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการฯ เปิดเผยว่า นอกจากการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานไทยแล้ว ยังได้ประสานผ่านกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง – ล้านช้าง (LMC) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อผลักดันให้เมียนมาดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน พร้อมเสนอให้กำหนดแนวทางการจัดการวิกฤตน้ำข้ามพรมแดนในระยะยาว

ผู้ว่าฯ เชียงราย สั่งเฝ้าระวังน้ำกกเต็มพิกัด – กปภ.เชียงราย ยืนยันน้ำประปาจากแม่น้ำกกสะอาดปลอดภัย 

ที่จังหวัดเชียงราย ชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัด ชรินทร์ ทองสุข สั่งการให้เพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำ ตั้งแต่จุดเชื่อมต่อกับเชียงใหม่ไปจนถึงแม่น้ำโขง พร้อมเร่งสำรวจการใช้น้ำในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ระบบประปา เกษตรกรรม และกิจกรรมท่องเที่ยว พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนหลีกเลี่ยงการใช้น้ำโดยตรงในช่วงเวลานี้

สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายประกาศเตือนประชาชนให้ระวังการใช้น้ำกก ทั้งอาบ ดื่ม และใช้สอย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และหากพบอาการผิดปกติ เช่น ผื่นคัน อาเจียน ท้องเสีย หรือผิวหนังอักเสบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ภาพ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ในวันที่ 8 เมษายน 2568 ทวีศักดิ์ สุขก้อน ผู้จัดการ กปภ.เชียงราย ยืนยันน้ำประปาที่ผลิตจากแม่น้ำกกยังสะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน หลังเกิดความกังวลเรื่องสารปนเปื้อน โดยระบุว่ามีการควบคุมคุณภาพน้ำในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสูบน้ำดิบ การกรอง ไปจนถึงการฆ่าเชื้อ พร้อมแสดงความมั่นใจด้วยการล้างหน้าต่อหน้าสื่อมวลชนจากน้ำที่ผ่านระบบผลิตแล้ว

แม้ว่ารัฐจะเริ่มขยับหน่วยงานและดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง แต่คำถามที่สังคมยังรอคำตอบคือ “ใครควรรับผิดชอบ?” กับความเสียหายที่เกิดขึ้นในแม่น้ำกกที่ไม่ได้มีเฉพาะในฝั่งไทย การทำเหมืองทองคำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในจีน โดยใช้สารเคมีรุนแรง เช่น ไซยาไนด์ อาจกำลังคุกคามลุ่มน้ำที่เคยเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของชุมชนสองฝั่งแดน ให้กลายเป็นเส้นทางนำพามลพิษเข้าสู่ชีวิตผู้คนโดยไม่ทันรู้ตัว

ล่าสุดภาคประชาชนได้มีเปิดเข้าชื่อผ่าน Change.org ในชื่อยุติเหมืองเหนือลำน้ำกก เพื่อลดความเสี่ยงและความอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในลุ่มน้ำโขง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong