ชิวๆ กับความไม่แน่นอน: อารมณ์สายมูกับระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

ในยุคสมัยที่การดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนและอากาศแบบละติจูดเดียวกับ ‘สวรรค์’ เป็นประสบการณ์สามัญของคนทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อน ‘สายมู’ ของเราถึงยังมีเวลาไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระดังทั่วไทย สวมชุดขาวร่วมพิธีกกรรมเสริมแต้มบุญ หรือปฏิบัติธรรมอัพลงโซเชียลมีเดีย แบ่งปันความปิติอิ่มบุญให้ได้อนุโมทนากันได้เรื่อยๆ บทความนี้สำรวจความย้อนแย้งดังกล่าว พยายามทำความเข้าใจว่าสังคมแบบเสรีนิยมใหม่ที่ความไม่แน่นอนกลายเป็นทั้งปัญหาที่ผู้คนต้องเผชิญและโอกาสในการสะสมทุนของเหล่าผู้กล้าได้กล้าเสีย ได้มีส่วนในการหล่อหลอมความรู้สึก ตัวตน และวิถีชีวิต ‘ไทยๆ’ ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ยังคงมีความสัมพันธ์ผู้คนอย่างแยกไม่ออก จากการสังเกตการณ์และมีส่วนร่วมกับการมู และการสัมภาษณ์เหล่าสายมูผู้มีศรัทธาซึ่งส่วนมากเป็นพ่อค้าแม่ขายและเจ้าของธุรกิจใหญ่เล็กต่างๆ บทความนี้เสนอว่า อารมณ์ ‘ชิว ๆ’ ที่ดูเหมือนเป็นความรู้สึกที่ตรงข้ามกับชีวิตที่หวังรวยหรือแก้ปัญหาชีวิตอย่างเร่งด่วน ได้กลายเป็นความรู้สึกอันเป็นลักษณะสำคัญของยุคสมัยแห่งเสรีนิยมใหม่ในสังคมไทย สะท้อนมโนทัศน์เชิงเวลาในสังคมไทยปัจจุบันซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่น และการจัดการกับความไม่แน่นอนที่มีพื้นฐานจากทั้งคติทางพุทธศาสนาและการมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ หลากหลายเป็นทั้งผู้ช่วยและเป็นทั้งเครื่องมือทางอารมณ์ในการดำรงชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอนและความเสี่ยง อารมณ์ ‘ชิว ๆ’ นี้ มีความสืบเนื่องกับค่านิยมและคติทางพุทธศาสนาที่ให้คุณค่ากับความ ‘สงบเย็น’ และความอดทน ขณะเดียวกันอารมณ์ดังกล่าวก็เป็น ‘สภาวะ’ ที่สามารถสร้างบุญ และเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อที่จะเข้าถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ ความ ‘ชิว’ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตัวตนแบบผู้ประกอบการ ซึ่งอาจเป็นทั้งความรู้สึกจริงๆ หรือสิ่งที่ถูกแสดงออกโดยไม่ต้องสะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงหรือสัมพันธ์กับสภาวะเชิงกายภาพ (disembodied) ก็ได้ ความ ‘ชิว’ นี้ยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงพื้นที่และเวลาทางศาสนาที่สอดรับกับวิถีชีวิตในระบอบเวลาที่ยืดหยุ่นผันผวนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปอีกด้วย

สงบเย็น ปล่อยวาง เบิกบาน: ความชิวแบบพุทธ ๆ และระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

คำว่า “ชิว” ซึ่งแสดงออกถึงความไม่รีบร้อนและอารมณ์สบายๆ ไม่เคร่งครัดเคร่งเครียดนี้ เป็นคำที่ผู้เขียนมักจะได้ยินจากเหล่าสายมูที่ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามและสัมภาษณ์ เช่น การเล่าถึง ครูกายแก้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นกระแสเมื่อกลางปี 2566 ว่า “ปู่ผมชิวจะตาย ตั้งไว้ในห้องนอน เราแก้ผ้าเดินไปมาก็ได้” หรือกรณีที่ผู้เขียนและผู้ร่วมทริปสายมูต้องติดอยู่บนถนนเป็นเป็นเวลานาน หัวหน้าทริปก็บอกกับผู้เขียนว่า “เราสบายๆ ชิวๆ นะลูก ถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น” การแสดงออกทางอารมณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับกับค่านิยมและคติแบบพุทธกระแสหลักซึ่งมักอยู่ในคำสอนของพระนักเทศน์ชื่อดังซึ่งเป็นที่นับถือของชนชั้นกลาง เช่น พุทธทาสภิกขุ พระไพศาล วิสาโล หรือ พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช โดยคำสอนเกี่ยวกับความสงบเย็นและการปล่อยวางนั้นมุ่งเน้นเรื่องของการฝึกจิตเพื่อให้เกิดปัญญา เป็นการแยกผลกระทบจากความไม่ได้ดังใจ หรือความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ออกจากสภาวะจิต ดังเช่น คำเทศนาของพระอาจารย์ปราโมทย์ในหัวข้อ “อยู่ให้เป็น แล้วเย็นสบาย”[2] ซึ่งกล่าวถึงการเผชิญความไม่แน่นอนและความลำบากในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 คติและค่านิยมในศาสนาพุทธที่ให้คุณค่ากับการมีจิตที่เบิกบานไม่เป็นทุกข์นี้ เข้ากันได้ดีกับคำสอนแบบ “คิดบวก”[3] ของไลฟ์โค้ชชื่อดัง ฐิตินาถ ณ พัทลุง หรือ ที่สอนให้เชื่อในพลังของการคิดดี ว่าจะช่วยดึงดูดสิ่งที่ดีๆ และความสำเร็จเข้ามาในชีวิต

การที่จะใจเย็นกับสิ่งที่เผชิญได้ ไม่ใช่เพราะการฝึกจิตอย่างเดียว แต่เป็นเพราะมีศรัทธา รู้ว่าอำนาจศักดิ์สิทธิ์มีส่วนช่วยในการจัดการกับอนาคต เพื่อควบคุมให้มีแนวโน้มในทางดีได้ เช่น กรณีของนักลงทุนรายหนึ่งที่แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดหุ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เขาก็สามารถที่จะใจเย็น และเลือกซื้อขายโดยรู้ว่าครูกายแก้วจะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ถูกต้อง ผู้เขียนยังได้เคยร่วมการไปทำบุญฉลองการออกจากงานประจำของพนักงานบริษัทโทรคมนาคมใหญ่บริษัทหนึ่ง เขาเล่าว่าเขามีความสบายใจที่ได้ออกจากงานเสียที เพราะรู้ว่ามีทางที่จะมีชีวิตใหม่ที่ประสบความสำเร็จได้แน่ๆ เพราะเขาเป็นคนมีความสามารถและรู้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการทำบุญจะช่วยเขาได้

น่าสนใจว่าการนำเสนอความรู้สึกสบายๆ ไม่เครียด ไม่เร่งรีบนี้ ต่างกับข้อเสนอของนักสังคมวิทยาด้านการเร่งความเร็วทางสังคมอย่าง Hartmut Rosa[4] และ Robert Hassan[5] ที่เสนอว่าภาวะ ‘ขาดแคลนเวลา’ (time scarcity) และ ‘ความกังวลอันล้นเกิน’ (Hyper-anxiety) เป็นประสบการณ์สำคัญของผู้คนในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ และต่างกับข้อสังเกตของ Carla Freeman[6] ที่เสนอว่า ผู้ประกอบการในประเทศ Barbados ที่เธอศึกษามักต้องแสดงออกถึงการทำงานหนัก พูดถึงความเครียดและความกดดันที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และประสิทธิภาพในการใช้เวลาให้คุ้มค่า

การสร้างความสำเร็จและความมั่งคั่งอย่างรวดเร็วในโลกของผู้ประกอบการสายมูนั้นไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับการใช้เวลาเพื่อสร้างการผลิตให้มาก เพิ่มเวลาทำงาน หรือทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันจนไม่มีเวลาและเครียดเสมอไป การจัดการเวลาเพื่อสร้างความร่ำรวยนั้นรวมถึงความสามารถที่จะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแผนการให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เปลี่ยนการลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ และการรอคอยเพื่อให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือการทำบุญได้ สำหรับคนที่บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นส่วนสำคัญในชีวิต หากพวกเขาได้โอกาสไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้เมื่อใด ก็สามารถไปได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้านานๆ ผู้เขียนเองถูกชวนให้ร่วมเดินทางโดยไม่แจ้งล่วงหน้าอยู่หลายครั้ง ความ ‘ชิว’ นี้ยังเห็นได้ชัดจากความอดทนในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระเกจิดัง การเข้าถึงพลังศักดิ์สิทธิ์นั้นมักต้องรอ โดยเฉพาะพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงมาก การรอคอยเพื่อเข้าถึงความช่วยเหลือที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือการใช้เวลาไปทำสมาธิ หากมองอย่างวัตถุนิยมอาจมองว่าเป็นการทำให้การผลิตหยุดนิ่งหรือช้าลง แต่หากมองโดยเชื่อมโยงกับโลกทัศน์ที่อำนาจศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่มีอยู่และเข้าถึงได้แล้ว การใช้เวลาดังกล่าวนั้นเป็นลักษณะของ ‘การถดถอยของความเร่ง’ (deceleration) ที่เป็นไปเพื่อเร่งความเร็วของการสะสมทุนต่อไป

สภาวะ ‘ชิว’

อารมณ์ชิว ๆ ยังสัมพันธ์กับการเข้าถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็น ‘สภาวะ’ ซึ่งทำให้สามารถเชื่อมถึงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ดังนั้นจึงเป็นอารมณ์ที่เหล่าผู้มีศรัทธาจะต้องพยายามรักษาไว้เมื่อทำการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเข้าวัดทำบุญ คำว่า ‘สภาวะ’ นี้เดิมใช้มากกับการฝึกสมาธิ โดยเฉพาะสายวิปัสสนาที่มีการฝึกให้เห็นสภาวธรรมต่างๆ[7] แต่คำว่าสภาวะในความหมายของสายมู นั้นมีความหมายที่เปลี่ยนไป โดยมักถูกใช้ในบริบทที่กล่าวถึงสภาวะจิตที่ดี อยู่ในกระแสที่เชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ อารมณ์ความรู้สึกที่อาจเรียกอย่างหยาบๆ ว่าเป็นความสงบเย็นนี้เป็นภาวะที่เชื่อมโยงกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ดังที่มีผู้อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า “สภาวะที่มันดีอย่างนี้ เราจะติดต่อกับเทพเทวดาได้ นั่งสมาธิทำบุญ ได้บุญ แต่ถ้าติดต่อสื่อสารไม่ถึงเขาให้เขามารับบุญเราไปไม่ได้ก็เท่านั้น อยากจะรวยอยากให้ได้ผลเร็วๆ ก็ต้องทำบุญ แล้วก็ต้องมีสภาวะ แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยเรา” การเข้าถึงสภาวะที่ดีนี้ นับว่าเป็นเทคนิควิธีที่ซับซ้อนกว่าการทำดีแล้วรอผลของกรรมดี สภาวะอารมณ์ที่สื่อถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้สามารถที่จะทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์กลายมาเป็นตัวเร่งปฏิกริยาเพื่อให้ความสำเร็จและความมั่งคั่งมาถึงได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น การเข้าถึงสภาวะที่ดีนี้ทำได้หลายวิธี นอกจากการนั่งสมาธิแล้ว ยังสามารถเข้าถึงได้ด้วยการสวดมนต์เป็นเวลานาน เช่น สวดคาถาพระมหาจักพรรดิร้อยจบ การบวงสรวงบูชา หรือการรำถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเกิดของ สภาวะสงบเย็น รู้สึกดี ยังเป็นเครื่องหมายว่า ไหว้ที่ไหนแล้วน่าจะได้ผล เช่นการไปบูชาพญานาคที่คำชะโนดนั้น ผู้ที่ไปมักจะเล่าถึงความรู้สึกดีที่พิเศษ เป็นหลักฐานว่าพญานาคศรีสุทโธนั้นเชื่อมโยงกับพวกเขาได้

อย่างไรก็ตาม อารมณ์ชิวๆ นี้ ไม่จำเป็นต้องสะท้อนสภาวะทางกายภาพหรือทางใจจริงๆ เสนอไป อารมณ์ชิวๆ นี้ เป็นอารมณ์ที่ตัวตนสายมูเลือกที่จะแสดงออก เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่บางครั้งแยกออกจากร่างกาย ผู้เขียนได้เคยเดินทางเป็นเวลาสี่วันกับคณะสายมู มีผู้ที่เป็นลมหมดสติเพราะเดินทางในอากาศร้อนเป็นเวลานานและนอนน้อย แต่มิได้มีใครแสดงความกังวล แม้ว่าร่างกายจะเหน็ดเหนื่อยมากอย่างไรก็ตาม และความทุกข์อันเกิดจากปัญหา เช่น ยอดขายตกหรือตกงาน นั้นบางครั้งก็มีการเล่าถึงอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็มักต้องแสดงออกว่ามีสภาวะจิตใจที่ดี การแสดงออกดังกล่าวนอกจากจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่พึงปรารถนาในสังคมผู้ประกอบการพุทธไทยแล้ว ยังเป็น ‘สภาวะ’ ที่จะทำให้พวกเขาเข้าถึงพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย

พื้นที่และเวลาทางศาสนาที่ยืดหยุ่น

ปรากฏการณ์ทางศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทยปัจจุบันคือการยืดหยุ่นของพื้นที่และเวลาทางศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่อยู่ภายนอกพื้นที่วัด เช่น ศาลเจ้าเอกชนที่มักมีลักษณะเหมือนเป็นสวนสนุก และศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ นั้น มักเปิดให้ผู้คนเข้าถึงได้ตลอดเวลา มิได้มีเวลากำหนดเป็นทางการเหมือนวัดที่ตามกฎขององค์การพุทธศาสนาจะต้องปิดเวลาห้าโมงเย็น ผู้เขียนสังเกตว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีวัดที่เปิดให้คนเข้าไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ทั้งวันทั้งคืนมากขึ้น โดยเฉพาะวัดที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงอย่างเช่นวัดจุฬามณี โดยคนมักจะมาที่วัดมากเป็นพิเศษในตอนกลางคืน ต่างกับพื้นที่ทางพุทธศาสนาในสมัยก่อนๆ ที่มักเป็นพื้นที่มีกิจกรรมทางศาสนาในเวลากลางวันเป็นหลัก ในภาวะที่จังหวะชีวิตของผู้คนมิได้มีความเสถียร แต่ผลิกผันและยืดหยุ่น และกลางวันนั้นร้อนอย่างกับสวรรค์นี้ เวลาและพื้นที่ทางพุทศาสนาก็มีการปรับให้สอดรับกับวิถีชีวิตของเหล่าผู้นับถือศรัทธา การเข้าถึงพื้นที่ทางศาสนานั้นจึงสามารถทำได้อย่าง ‘ชิวๆ’ ไปเวลาใดก็ได้ตามความสะดวก ขณะเดียวกันก็เป็นการเร่งให้มีผลิตวัตถุและการบริโภคศาสนาไปด้วย


[1] นักวิจัยในโครงการ ฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) โดยมี ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นหัวหน้าโครงการ

[2] อยู่ให้เป็นแล้วเย็นสบาย :: หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช 11 ก.ย. 2564

[3] ความเชื่อเรื่องพลังของการคิดบวกในการดึงดูดสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตนี้ ได้รับอิทธิพลจากการเผยแผ่ศาสนาของนักเทศน์ในศาสนาคริสต์นิกายเพนเทคอสทัล (Pentecostal) ซึ่งเชื่อว่าความศรัทธาจะนำความมั่งคั่งมาให้ชีวิตได้อย่างอัศจรรย์

[4] Rosa, H. (2013). Social Acceleration. Columbia University Press.

[5] Hassan, R. (2009). Empires of speed: Time and the acceleration of politics and society. Brill.

[6] Freeman, C. (2007). The ” reputation ” of neoliberalism to name just a few). 34(2), 252–267. https://doi.org/10.1525/ae.2007.34.2.252.The

[7] ตัวอย่างเช่น การฝึกวิปัสสนาสมาธิสามวันแรกจะมีอาการเบื่อหน่าย ว้าวุ่น อยากกลับบ้าน หรือปวดขา เหล่านี้เป็นสภาวธรรมเพื่อให้ผู้ฝึกได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของจิต

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง