‘For the Country’ นิทรรศการมาตุภูมิของศิลปินไทใหญ่ที่อยากกลับบ้าน

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.00 น. Pongnoi Community Art Space ร่วมกับสนิมทุน (Sanimthoon Community Café) จัดงาน Artist Talk เปิดตัวนิทรรศการ “For the Country” โดย เอส สายเมือง (Ess Sai Mein) ศิลปินชาวไทใหญ่ และร่วมพูดคุยกับ อ.ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไท คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ทั้ง ๆ ที่เราเป็นเจ้าบ้าน เขาก็มาไล่เราออกไปจากบ้าน มาฆ่าคนในครอบครัวเรา มันก็มีความเจ็บในใจนะว่า ทำไมเราต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนมา” เอส กล่าว

ในช่วงแรกของงานเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเสวนา Artist Talk ซึ่งเป็นการพูดคุยกับ เอส สายเมือง เจ้าของนิทรรศการ “For the Country” นิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสงคราม ความขัดแย้งรุนแรง ผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในเมียนมา ความหวังในการสร้างสันติภาพ และความเป็นปึกแผ่น ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านภาพวาด ซึ่งเอสได้พยายามถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและสลับซับซ้อนน้อยที่สุด

ทั้งนี้ เอสได้กล่าวถึง แรงบันดาลใจหลักในการสรรค์สร้างผลงานซึ่งมีที่มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เหตุการณ์สงครามความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลให้เอสต้องอพยพย้ายออกจากบ้านเกิดเมืองนอนในรัฐฉานมายังประเทศไทย ประกอบกับการเสพข่าวสารเกี่ยวกับความขัดแย้งในรัฐฉานและเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เอสเลือกที่จะนำเสนอภาพของผู้นำและทหารในงานศิลปะของเขา เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายในรัฐฉานและเมียนมาขณะนี้ 2. ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมของคนรัฐฉานต่อผู้ปกครองซึ่งมาจากภายนอก ทั้งที่เป็นเจ้าของบ้าน เป็นคนในพื้นที่ แต่กลับถูกกดขี่ข่มเหงรังแก และถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในบ้านเกิดของตนเอง สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้เอสพยายามสื่อสารประเด็นนี้ผ่านงานศิลปะ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่คนรัฐฉานต้องเผชิญ และ 3. ความรักเสียงเพลง โดยเฉพาะบทเพลงอันเกี่ยวข้องกับความรักชาติ ซึ่งขับร้องโดยศิลปินที่เอสชื่นชอบ ซึ่งผลักดันให้เอสอยากสร้างสรรค์งานศิลปะที่สะท้อนถึงความรู้สึกเหล่านี้ นำเสนอเรื่องราวและความเจ็บปวดที่คนรัฐฉานต้องประสบพบเจอผ่านงานศิลปะ

ขณะเดียวกันเอสยังได้อธิบายถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยังไม่สงบ ไม่มีความมั่นคงและปลอดภัย รวมถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจในรัฐฉานที่ทำให้เอสไม่สามารถกลับไปที่นั่นได้แม้มีความปรารถนาเพียงใดก็ตาม ดังนั้น งานศิลปะของเอสจึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงที่สะท้อนความรู้สึกเจ็บปวดจากปัญหาสงครามความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวรัฐฉาน และความหวังของคนรัฐฉาน รวมถึงการบันทึกประวัติศาสตร์ อีกทั้งความทรงจำของคนรัฐฉานในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

ช่วงถัดมาเป็นการพูดคุยกับ อ.ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไท คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงประเด็นของการสะท้อนมุมมอง ทั้งในเชิงของศิลปะ สังคม รัฐศาสตร์ และสถานการณ์ภายในรัฐฉาน โดยจากการพูดคุยกับ อ.ดร.ศิรดา สามารถสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาพวาดของศิลปินเอส และสถานการณ์ในรัฐฉานได้ดังนี้

ประการแรก ผลงานภาพวาดของศิลปินเอสถือเป็นภาพสะท้อนแนวคิดทางการเมือง เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามในรัฐฉานที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายสิบปี แสดงให้เห็นถึงผลกระทบอันโหดร้ายจากสงคราม และปฏิบัติการ 1027 ขณะเดียวกัน ภาพวาดก็ยังสื่อถึงความหวังในต่อความร่วมมือระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนอุดมการณ์สำคัญก็คือ การสร้างประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ (federalism democracy) ภายในประเทศ

ประการถัดมา อ.ดร.ศิรดา ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐฉาน โดยกล่าวว่า ปัจจุบันรัฐฉานยังคงเผชิญกับความขัดแย้งหลายระดับชั้น ทั้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพพม่า และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันเอง ความขัดแย้งเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานบังคับ (forced labour) การละเมิดสิทธิสตรีและเด็ก รวมถึง ปัญหาเศรษฐกิจ การพลัดถิ่นของคนไตจำนวนมากที่ต้องอพยพเข้ามาในประเทศไทย จึงล้วนเป็นผลพวงจากสงครามความไม่สงบสุข ความยากจน อีกทั้งความยากลำบากในการดำรงชีวิตในรัฐฉาน

ประการสุดท้าย เป็นเรื่องของความท้าทายและอนาคตของรัฐฉาน  ซึ่ง อ.ดร.ศิรดา กล่าวว่า  แม้จะมีความฝันที่จะสร้าง federalism democracy  แต่ความแตกต่างและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในรัฐฉานยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ การสร้างความเป็นรัฐ (state) ที่แท้จริงในรัฐฉานยังคงเป็นความท้าทาย เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในและการขาดการกระจายอำนาจจากรัฐบาลกลางให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่ทุกคนจะเฝ้าจับตามองเสมอ

นอกจากนี้ อ.ดร.ศิรดายังเน้นย้ำด้วยว่า แม้จะเผชิญกับความยากลำบากและความขัดแย้ง ชาวไตก็ยังคงรักษา ‘ความเป็นชาติ’ ไว้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นในงานศิลปะของเอสเช่นกัน

นอกจากการนำเสนอแรงบันดาลใจและเรื่องราวเบื้องหลังผลงานศิลปะแล้ว ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานของศิลปินเอสให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้จนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2567 นี้ 

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง