ธิกานต์ ศรีนารา: มอง ‘คณะราษฎร’ มุมกลับ กับ “การวิพากษ์” ที่หายไป

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

“คือด้านหนึ่ง 2475 มันสร้างแรงบันดาลใจทางการเมืองให้กับเยาวชน มีคุณูปการ แต่ว่ามันต้องมีด้านวิพากษ์ด้วย วิพากษ์มันหน่อย คือด้านที่วิพากษ์มันหายไปในสังคมไทย”

ผ่านพ้นมาร่วมเดือนแล้วสำหรับวันครบรอบ 92 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ที่เป็นหมุดหมายและสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ถึงแม้ในปี 2567 จะซบเซาลงไปบ้าง แต่แนวทางของการจัดงานรำลึกตลอดทุกปียังติดอยู่กับการเชิดชูคณะราษฎร ผ่านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์

รวมไปถึงการผลิตซ้ำผ่านสื่อในช่วงที่ผ่านมานั้น ที่มีการช่วงชิงความหมายของการปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาใหม่ อย่าง แอนิเมชั่น ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุงแห่งการปฏิวัติ 2475 Dawn of Revolution’ ในการเล่าเรื่องราวที่มองว่าคณะราษฎรเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ โดยสร้างความชอบธรรมให้กับเหล่าเจ้านาย หรือ ‘Graphic Novel 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม’ ที่แต่งเรื่องโดยใช้เรื่องราวของ 2475 ในการดำเนินเรื่อง รวมไปถึงละครเวที ‘Before 2475’ เรื่องราวชีวิตวัยหนุ่มของเหล่าคณะราษฎรขณะที่ศึกษาเล่าเรียนและฟูมฟักแนวคิดประชาธิปไตย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

แม้อาจจะไม่มีการรำลึกหรือการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ แต่ช่วงชิงความหมายของ 2475 ดูจะเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ภายใต้ห้วงยามที่สังคมไทยเดินราบเป็นเส้นตรง จนไร้ข้อถกเถียงและข้อวิจารณ์ ที่ว่า 2475 วิพากษ์ได้หรือไม่?

‘Lanner’ ชวน รองศาสตราจารย์ ดร. ธิกานต์ ศรีนารา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พลิกมุมทวนกระแส ถึงปรากฏการณ์ “ชูคณะราษฎร” กับ “จิตวิญญาณ” แห่ง “การวิพากษ์” ที่หายไปในสังคมไทย

ธิกานต์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเกริ่นถึง บทความเรื่อง “๒๔ มิถุนา: การตีความ ๔ แบบ” ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นในปีประมาณปี 2545 ถึง 2546  ที่ตีความว่าแบบที่ 1 คือเชียร์คณะราษฎรและโจมตีเจ้า ซึ่งต้นแบบของวิธีคิดแบบนี้ก็มาจากคำประกาศของคณะราษฎร แบบที่ 2 คือเชียร์เจ้าและโจมตีคณะราษฎร ต้นฉบับของความคิดพวกนี้ก็มาจากพระราชหัตถเลขาเรื่องการสละราชณสมบัติของรัชกาลที่ 7 มีการวิจารณ์คณะราษฎรว่าก่อให้เกิดการชิงสุกก่อนห่าม ก่อให้เกิดเผด็จการทหารจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม แบบที่ 3 คือด่าทั้งเจ้าด่าทั้งคณะราษฎร อันนี้ก็จะเป็นไอเดียของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต้นฉบับคือหนังสือ ไทยกึ่งเมืองขึ้น ของ อรัญญ์ พรหมชมพู พิมพ์ในปี 2493 ที่เป็นงานที่พูดถึงสังคมไทยว่าเป็นสังคมกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น แนวคิดนี้ก็มีอิทธิพลหลัง 14 ตุลา – 6 ตุลา และเสื่อมลงช่วงที่ป่าแตกในปี 2523 ถึง 2525 แนวคิดแบบที่ 4 ก็คือการเชียร์ทั้งคณะราษฎรและเชียร์ทั้งเจ้า ด้วยการชูทั้งสถาบันและชูทั้งตัวปรีดีไปพร้อมพร้อมกัน มีการตีพิมพ์งานที่พูดถึงเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีร่วมกันกับพระราชวินิจฉัยของ ร.7 และมีการยกย่อง ร.7 ไปพร้อม ๆ กับการยกย่องปรีดี

ช่วงที่ปฏิวัติ 2475 พรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พคส.) มองคณะราษฎรยังไง และคณะราษฎรมอง พคส. ยังไงบ้าง

ต้องเล่าย้อนไปตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์สยามก่อตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2473 สมาชิกร่วมก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นคนจีน และคนเวียดนาม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนเวียดนามจะเป็นผู้ที่เคลื่อนไหวอยู่ทางภาคอีสานเป็นหลัก ส่วนคนจีนก็เคลื่อนไหวอยู่ในกรุงเทพฯ ในตอนเริ่มต้นของพรรคคอมมิวนิสต์สยามมีอุดมการณ์ตั้งต้นคล้ายกับพรรคบอลเชวิค  ที่เน้นการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ ไม่เอาชนชั้นนำ เพราะเชื่อว่าการปฏิวัติไม่มีทางเริ่มจากชนชั้นนำได้ ต้องเริ่มจากชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น และสนับสนุนการปฏิวัติโลก ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นไม่เห็นด้วยจึงเกิดการปราบปรามและจับกุมเป็นจำนวนมาก ในช่วงการก่อนปฏิวัติ 2475 

หลังจากการปฏิวัติสยาม 2475 พรรคคอมมิวนิสต์สยามเชื่อว่ายังไม่ใช่การปฏิวัติที่แท้จริงเป็นเพียง “การรัฐประหาร” ที่ทำโดยชนชั้นสูงกลุ่มใหม่ที่เป็นชนชั้นนายทุนน้อย (Petty Bourgeois) และข้าราชการ ซึ่งเป็นเพียงชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำการปฏิวัติ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการปฏิวัติในครั้งนี้ และไม่มีตัวแทนชนชั้นกรรมาชีพในรัฐบาลของคณะราษฎร นี่คือจุดยืนของพรรคคอมมิวนิสต์สยามในตอนนั้น ซึ่งมีการเคลื่อนไหวโดยการแจกใบปลิวในกรุงเทพฯ ต่อต้านภายหลังการปฏิวัติ และเคลื่อนไหวตามต่างจังหวัดต่าง ๆ มีการปักธงแดงตามโรงเรียน 

ประเด็นสำคัญที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์สยามถูกจับเป็นจำนวนมาก มาจาก เค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 หรือ สมุดปกเหลือง ของปรีดี พนมยงค์ โดยหลังจาก ปรีดี ได้ออกสมุดปกเหลือง และโดนกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นข้ออ้างในการจำกัดปรีดี จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 มีการยึดอำนาจสภาโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผ่านการออกพระราชกำหนดปิดสภายึดอำนาจจากคณะราษฎร และเปลี่ยนเป็นรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งส่วนใหญ่ตำแหน่งในรัฐบาลก็มาจากฝั่งเจ้าเป็นส่วนมาก ถึงแม้มีการยึดอำนาจสภาและกล่าวหาปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์แต่กลุ่มที่ถูกจับและปราบปรามมากที่สุดคือกลุ่มที่เป็นคอมมิวนิสต์ตัวจริงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้เลย จุดนี้เองเป็นการเน้นให้เห็นความขัดแย้งที่มากขึ้นระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์สยามกับคณะราษฎร หมายความว่าพรรคคอมมิวนิสต์สยามถูกปราบปรามทั้งในรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์และในรัฐบาลของคณะราษฎรด้วยอย่างต่อเนื่อง

หากย้อนกลับมาที่ปรีดีที่ถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่าหนังสือเค้าโครงเศรษฐกิจเนี่ยเป็นคอมมิวนิสต์ไหม? ปรีดีก็พยายาม Defend ว่าไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ซึ่งถ้าคอมมิวนิสต์มาอ่านก็จะไม่ชอบหนังสือเค้าโครงเศรษฐกิจเหมือนกัน นอกจากนี้สมาชิกคนอื่น ๆ ในคณะราษฎรก็กังวลว่าแนวทางของหนังสือเค้าโครงเศรษฐกิจจะตรงกับแนวทางของพรรคบอลเชวิคหรือเปล่า เนื่องจากรัชกาลที่ 7 มีการติงถึงหนังสือเค้าโครงเศรษฐกิจ คณะราษฎรก็เลยต้องเอาตัวเองออกมาเพื่อให้ดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์สยาม

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ก่อนการปฏิวัติ 2475 คนจีนทะลักเข้ามาในสยามเป็นจำนวนมาก รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา มีนโยบายต่อต้านชาวจีน ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ท่าทีของคณะราษฎรก็มีลักษณะต่อต้านคนจีน มีการสอดส่องดูแลชาวจีนอย่างเข้มงวด เนื่องจากคณะราษฎรมีความกังวลในภาพลักษณ์ของตัวเองบนเวทีนานาชาติว่าตัวเองจะเป็นพวกเดียวกันกับบอลเชวิค 

ถึงแม้ว่าพระยาพหลพลพยุหเสนาปฏิวัติยึดอำนาจคืนกลับมาจากพยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และได้เชิญปรีดีกลับเข้ามาประเทศไทยและได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ปรีดีพ้นผิดจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 แต่ไม่มีการยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าว นี่จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการปราบพรรคคอมมิวนิสต์สยามและทำให้คณะราษฎรกับพรรคคอมมิวนิสต์สยามเป็นปรปักษ์ต่อกัน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกในปี 2489 โดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นคนเสนอ 

แต่ในทศวรรษที่เจ็ดศูนย์ตลอดช่วงระหว่างปี 2475 จนถึง 2480 ภายใต้รัฐบาลของคณะราษฎร ถือว่าเป็นช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์สยามถูกปราบปรามหนักมากจนถึงขั้นพังไป จนมีการจัดตั้งพรรคใหม่ขึ้นมานั้นก็คือ ‘พรรคคอมมิวนิสต์ไทย (พคท.)’ ใน 1 ธันวาคม 2485 ต่อมาจึงค่อยเปลี่ยนเป็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในทศวรรษ 2490

เหตุผลอะไรที่พรรคคอมมิวนิสต์สยามถึงอยากเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

น่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทยในปี 2482 โดย จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ที่ต้องการให้มีความเป็นไทยมากขึ้น อยากให้มีลักษณะของประชาชาติไทยให้ชัดเจน การเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทยต่อท้ายชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยน่าจะไม่ได้มีนัยยะอะไรมากนอกจากต้องการที่จะเปลี่ยนให้ดูเป็นคนไทยมากขึ้นเฉย ๆ

แล้วหลังการจากการถูกปราบปรามอย่างหนักหรือเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยความขัดแย้งระหว่าง พคท.และคณะราษฎรอีกไหม

พอปี 2493 มีหนังสือ “ไทยกึ่งเมืองขึ้น” โดย อรัญญ์ พรหมชมพู ขึ้นมาจากบรรดาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีข้อถกเถียงกันเรื่องของลักษณะสังคมไทยมาตลอด จนข้อถูกเถียงเหล่านี้ เริ่มอยู่ตัวเมื่อช่วงหลังปี 2500 ที่เกิดการตกลงกันหลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 3 ที่เป็นความตกลงเรื่องการใช้แนวทาง ‘ชนบทล้อมเมือง’ ที่มีแนวทางการต่อสู้มาจากแนวคิดที่ว่า ‘สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา’ ซึ่งทางพรรคเชื่อว่าการปฏิวัติต้องโค่นล้มทั้งศักดินาและจักรพรรดินิยมอเมริกา ไปพร้อมๆ กัน จากแนวคิดเช่นนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปที่การปฏิวัติ 2475 ก็มองได้ว่าไม่ใช่การปฏิวัติที่แท้จริง เพราะสังคมไทยยังคงเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาอยู่ และแนวทางการปฏิวัติแบบชนบทล้อมเมืองแล้วยึดเมืองในที่สุดเป็นการเริ่มปลุกระดมชาวบ้านจากชนบท คนที่เป็นชาวนา คนที่เป็นกรรมกร มาเป็นกำลังหลักในการปฏิวัติ เพราะว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในตอนนั้นมองว่าสภาพสังคมที่เป็นกึ่งเมืองขึ้นและกึ่งศักดินา ทำให้เกิดการขูดรีดอย่างรุนแรงที่สุดต่อชาวนาที่ถือว่าเป็นประชากรจำนวนมากที่สุดของประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงมองว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังหลักในการปฏิวัติ ซึ่งหลายคนก็มองเห็นแล้วว่าสิ่งนี้เป็นแนวทางที่เหมือนกับ เหมา เจ๋อตุง ในการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ที่ประเทศจีน 

โดยรวมแล้วพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ประเมินการปฏิวัติ 2475 ไว้ต่ำมาก และมองว่าไม่ได้เป็นการปฏิวัติที่แท้จริง และมองว่าคณะราษฎรว่าเป็นแค่ชนชั้นนำกลุ่มใหม่ เพราะฉะนั้นขนบการวิพากย์การปฏิวัติ 2475 แนวทางแบบนี้ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในยุคนั้น พอมีการเขียนหนังสือออกมาก็จะมีกรอบคิดในการเขียนแนวนี้ นายผี (อัศนี พลจันทร) ก็มีกรอบความคิดแบบนี้ คือมีลักษณะ Anti ชนชั้นนำนิยม

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบางอย่าง เช่น กรณีกบฏวังหลวง ในปี 2492 ตอนนั้นมีหลักฐานว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีความพยายามที่จะให้ความช่วยเหลือปรีดีในการปฏิวัติ คือมีความคิดที่จะร่วมมือกับชนชั้นนำในสมัยนั้นอย่างปรีดี อาจเพราะในสมัยนั้นไม่ได้มีใครประเมินปรีดีไว้สูงส่งอะไรมากมาย แต่พอมีการประชุมกันจริง ๆ ภายในพรรคฯ ก็ลงมติว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะมองว่าปรีดีก็เป็นหนึ่งในกลุ่มชนชั้นนำเหมือนกัน มติพรรคยืนยันว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยควรเข้าไปปลุกระดมชาวนาในชนบทมากกว่าที่จะมาร่วมมือกับชนชั้นนำ ประเด็นนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงความเคร่งครัดในแนวทางการทำงานของพรรคสูงมาก ถ้าแนวทางปฏิบัติขัดกับหลักกาก็จะไม่เอาทันที เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนความไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับปรีดีที่ยังคงมีต่อเนื่องมาจนถึงปี 2492 

หรืออีกครั้งหนึ่งคือตอนที่คนพวกนี้ไปเรียนสถาบันลัทธิมาร์กซ-เลนิน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่งในจีน ก็มีการทะเลาะกับปรีดี เพราะมีแนวทางที่ขัดแย้งกันกับปรีดี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเลยไม่เอาปรีดี รวมถึงปรีดีเองก็ไม่เอาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วยเหมือนกัน เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคฯ ยิ่งพอพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเลือกใช้วิธีชนบทล้อมเมือง ปรีดีก็ยิ่งไม่เห็นด้วยมากขึ้นไปอีกในช่วงปี 2500 มีการเลือกตั้งทั่วไป ตอนนั้นจอมพลสฤษดิ์ก่อตั้งพรรคชาติสังคมขึ้นมา คนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนหนึ่งคือ เปลื้อง วรรณศรี ลงไปแข่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงหนึ่งที่มีบรรยากาศเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก ปรีดีก็ส่งคนของตัวเองเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งรวมถึงมีการส่งคนมาตั้งพรรคการเมืองแข่งกับ พคท. ด้วย  ทั้งหมดจะเห็นได้ว่าปรีดีกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีความขัดแย้งกันมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

แล้วขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเดือนตุลา มองคณะราษฎรเป็นยังไง

ต้องแยกเป็นสองช่วง คือ ช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 และ ช่วงหลัง 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 ต้องเล่าก่อนว่าพอเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาจอมพล ป. เมื่อมีอำนาจก็จับพวกเลือดสีน้ำเงิน (วลีแทนชนชั้นกษัตริย์) เข้าคุกที่ตะรุเตา บางส่วนก็ลี้ภัยไปต่างประเทศ แล้วกลุ่มคนเหล่านี้ก็เผยแพร่บันทึกเกี่ยวกับเลือดสีน้ำเงินแท้ ที่หากอิงตาม ณัฐพล ใจจริง คืองานทั้งหมดมีแนวคิดในเชิงที่ว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม ร.7 กำลังจะพระราชทานประชาธิปไตยพระราชทานรัฐธรรมนูญให้อยู่แล้ว

ในช่วงแรกที่หนังสือเหล่านี้ยังไม่ถูกพิมพ์เผยแพร่ออกมาเพราะในยุคสมัยคณะราษฎรก็มีการโดนจับปราบปรามกันเยอะมาก แต่เพิ่งมาแพร่หลายมากจริง ๆ ในช่วงของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงที่คณะราษฎรหมดอำนาจ และกว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้กลับเข้ามาในประเทศไทย และกลับมามีอำนาจก็ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากปรีดีไปขอความร่วมมือกับคนกลุ่มนี้ในการต่อต้านจอมพล ป. กับญี่ปุ่น และให้ ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังสงครามโลก 2 มีการนิรโทษกรรมคนเหล่านี้ พอกลับเข้ามาก็เลยเริ่มมีการตีพิมพ์หนังสือ อย่าง เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติและชีวิตแห่งการกบฎสองครั้ง และฝันจริงของข้าพเจ้า ฝันร้ายของข้าพเจ้า 10,000 ไมล์ของข้าพเจ้า เป็นต้น

ซึ่งจะมีหนังสือแนวนี้เยอะมากในช่วงหลังสงครามโลก (ประมาณทศวรรษที่ 2500) แล้วหนังสือพวกนี้แหละก็เป็นการสถาปนาคำอธิบายว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ต่อต้านคณะราษฎรและเชียร์รัชกาลที่ 7 ว่าเป็นผู้ที่มอบประชาธิปไตยให้ สร้างพล็อตนี้ขึ้นมาทำให้คณะราษฎรกลายเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการในช่วงยุคก่อน 14 ตุลา แล้วโยง สฤษดิ์ ถนอม เข้ากับจอมพล ป. และคณะราษฎร

เพราะฉะนั้นนักศึกษาจะเชื่ออย่างนี้เพราะอ่านหนังสือเหล่านี้ ที่เชื่อว่าคณะราษฎรเป็นพวกชิงสุกก่อนห่ามเพราะว่าหนังสือเหล่านี้มันเผยแพร่ออกมามากในช่วงปี 2500 ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็เอาหนังสือเหล่านี้มาตีพิมพ์และเขียนคำนำเพื่ออธิบายว่าคนเขียนบันทึกเหล่านี้ถูกจับติดคุกเพราะลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการคณะราษฎร เพราะฉะนั้นก็เลยไม่แปลกใจที่ขบวนการนักศึกษา อย่างในกรณีของ ธีรยุทธ บุญมี แจกใบปลิวในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 มีการนำพระราชหัตถเลขาของ ร.7 มาเป็นสัญลักษณ์ว่า ร.7 เป็นผู้ให้ประชาธิปไตยเพื่อเอามาต่อต้านทรราชย์หรือจอมพลถนอมในขณะนั้น ทั้ง ๆ ที่พระราชหัตถเลขา ร.7 ฉบับนั้น เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นมาโจมตีคณะราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งปรีดีอย่างรุนแรง ดังนั้น นี่จึงถือว่าเป็นความเข้าใจผิดทางประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาในยุคก่อน 14 ตุลา

แล้วในตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีอิทธิพลอะไรบ้างต่อขบวนการนักศึกษา

ก่อน 14 ตุลาคม 2516 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังมีอิทธิพลในขบวนการนักศึกษาไม่มากเท่าไหร่ หรือแทบไม่มีเลย เพิ่งจะมามีบทบาทหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าหลัง เหตุการณ์ 14 ตุลา ความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นความคิดหลักที่นำมาใช้อธิบายสังคมไทยและใช้ในการเคลื่อนไหว ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยแรกคือนักศึกษาต้องการจะเปลี่ยนสังคม พวกเขามองว่าการไล่ถนอมออกประเทศไม่เพียงพอไม่ได้เป็นการเปลี่ยนอะไร เลยอยากเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ปัจจัยที่สองคือ จีนปฏิวัติสำเร็จ หากย้อนไปในสมัยนั้นคอมมิวนิสต์ยังไม่มีลักษณะที่เลวร้าย ลักษณะแบบพล พต หรือ เขมรแดง ยังไม่เกิด 

พอปี 2518 พรรคคอมมิวนิสต์ใน ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ก็ปฏิวัติสำเร็จ เป็นการชนะที่พร้อมกันภายในปีเดียวกัน ตอนนั้นนักศึกษารวมถึงนักคิดนักเขียนจำนวนมาก อย่าง นายผี, เปลื้อง วรรณศรี, อุดม ศรีสุวรรณ รวมถึง จิตร ภูมิศักดิ์ คนกลุ่มนี้ถึงขั้นเข้าไปอยู่ในป่า มองว่าแนวทางแบบนี้น่าจะถูกต้อง มันก็เลยมีหลายปัจจัยที่ทำให้แนวคิดของฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตอนนั้นเป็นแนวคิดนำในการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา พอนักศึกษายอมรับแนวคิดแบบนี้ เป็นผลทำให้ยอมรับความคิดที่ว่าการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรไม่ได้แตกหักกับสถาบันกษัตริย์ และการปฏิวัติที่แท้จริงต้องเกิดจากชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา ซึ่งการวิพากย์คณะราษฎรแบบนี้ก็หมายความรวมถึงการวิพากษ์ปรีดีเข้าไปด้วย

แล้วหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้นักศึกษาหันมาเชิดชูการปฏิวัติ 2475 

เรื่องนี้เริ่มยากแล้ว มันมีหลายปัจจัยด้วยกันคือเมื่ออุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมถึงคำอธิบายสังคม การวิเคราะห์สังคมรวมถึงแง่มุมที่มีต่อการปฏิวัติ 2475 ขึ้นสู่กระแสสูงแล้วเนี่ย ร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกัน ตรรกะผูกกันคำอธิบายไปในทางเดียวกัน ทีนี้พอเกิดวิกฤติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยพังลงในช่วงปี 2523-2524 วิธีคิดเหล่านี้ก็พังตามไปด้วย หมดความศักดิ์สิทธิ์ หมดมนต์ขลัง ความเชื่อถือก็เสื่อมลงไป 

ในขบวนการก็เริ่มมีคนที่สร้างคำอธิบายมาโต้แย้งกับวิธีคิดหลักก่อนหน้านั้น มีการพยายามเสนอคำอธิบายสังคมการวิเคราะห์สังคมในรูปแบบใหม่ให้พรรคฯ มีการต่อสู้กันทางความคิดระหว่างปัญญาชนภายในพรรคฯ เช่น ประทีป นครชัย ที่เสนอแนวคิดว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะการปฏิวัติ นั้นเปลี่ยนสังคมศักดินาเป็นสังคมทุนนิยม ทำให้คนในขบวนการบางกลุ่มเริ่มมองการปฏิวัติ 2475 ในทางที่ดีขึ้น จากเดิมที่มองเป็นการยึดอำนาจจากคนกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง เปลี่ยนเป็นว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการเปลี่ยนระบอบและเปลี่ยนวิถีการผลิต ในช่วงปี 2525 นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ แต่นครินทร์ไม่ใช่มาร์กซิสต์ รับวิธีคิดแบบประทีป ว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการปฏิวัติสยาม เปลี่ยนระบบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ เป็นระบบใหม่ เป็นการเมืองแบบใหม่ 

แนวคิดเหล่านี้เริ่มมีขึ้นมาในช่วงหลังปี 2525 หลังจากนักคิด ปัญญาชน เหล่านี้ออกจากป่า จึงเริ่มมีการให้ความสำคัญกับคณะราษฎรมากขึ้น ซึ่งเสกสรรค์ ณ เวลานั้นเป็นสัญลักษณ์ และผู้นำของกลุ่มขบวนการนักศึกษา การเข้าหรือออกจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยของเสกสรรค์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก และหลังจากนั้นเสกสรรค์ก็เขียนบทความ ‘ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475’ ยิ่งทำให้ขบวนการนักศึกษาเปลี่ยนแนวคิดที่มีต่อการปฏิวัติ 2475 มองว่ามีความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ 

พอปรีดีเสียชีวิตในปี 2526 ก็เริ่มมีการจัดงาน มีการสร้างอนุสาวรีย์ของปรีดีที่ธรรมศาสตร์มีการสร้างหอสมุดที่ใส่ชื่อปรีดีลงไป มีการแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ มีการพูดว่า “พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ” สิ่งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าเริ่มมีการเปลี่ยนทัศนะของขบวนการนักศึกษาที่มีต่อปรีดีและการปฏิวัติ 2475 หลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและลัทธิเหมา 

ในช่วงนี้เองชุดคำอธิบายแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ไม่ได้ถูกใช้ในการมองและวิเคราะห์สังคมอีกต่อไป หลังจากนั้นช่วงปี 2543-2544 ก็มีการจัดงานครบรอบ 100 ปีปรีดี พนมยงค์ มีการตีพิมพ์หนังสือของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ จำนวนมาก มีการเสนอชื่อให้ปรีดีเป็นบุคคลสำคัญต่อ UNESCO ประเวศ วสี ก็ได้แสดงปาฐกถาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับปรีดีพนมยงค์ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์กับปรีดีสามารถอยู่ด้วยกันได้ เป็นการเชียร์ทั้งสถาบันฯแลปรีดีไปพร้อมกัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา

แล้วสมัยการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง มองการปฏิวัติ 2475 ว่ายังไงบ้าง

ก่อนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงก็จะเน้นการเคลื่อนไหวอยู่กับชาวบ้านอย่าง ส. ศิวลักษณ์ และประเวศ วะสี ก็เน้นทำงานกับชาวบ้าน มีการสร้างและเผยแพร่ชุดคำอธิบายว่าเจ้ากับปรีดีร่วมมือกันได้อยู่ด้วยกันได้ ไม่ได้มีปัญหากับการปฏิวัติ 2475 อาจจะมีการชื่นชมยกย่องด้วยซ้ำไป และไม่ได้มีความซ้ายจัดแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พอช่วงทศวรรษ 2550 ก็มีการฟื้นฟูการปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาอีกครั้ง รวมถึงจอมพล ป. งานสำคัญที่ส่งผลต่อความคิดในช่วงนั้นคืองานของ ณัฐพล ใจจริง อย่าง หนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ รวมถึงบทความต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ในขณะนั้นงานเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงขบวนการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางความคิดที่คนมีต่อการปฏิวัติ 2475 รวมถึงตัวปรีดี และความคิดนี้ก็อบอวลวนอยู่ในขบวนการคนเสื้อแดง

การเกิดขบวนการแบบนี้ขึ้นมามีหลายปัจจัย หนึ่งมันมาจากการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการรัฐประหารปี 2549 รวมถึงในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสถาบันฯ สนับสนุนกลุ่มไหนและไม่สนับสนุนกลุ่มไหน จากกรณีงานศพน้องโบว์ (อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ) แต่กลับกันพอมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงกลับถูกปราบปรามอย่างรุนแรงซึ่งเกิดคำว่าสองมาตรฐานขึ้นมา ในแง่หนึ่งฝ่ายสถาบันเองก็ทำให้เห็นชัดเจนเลยว่าฝ่ายเสื้อแดงไม่ได้กำลังต่อสู้กับทหารแต่ว่ากำลังต่อสู้กับสถาบันฯอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นรูปธรรมในทางการเมืองที่ชัดเจน ที่ทำให้คนเสื้อแดงโกรธแค้นมากที่สุดก็คือการล้อมปราบในช่วงเดือนพฤษภา 2553 ยิ่งทำให้ชัดเจนขึ้นว่าคนเสื้อแดงกำลังสู้อยู่กับใครกันแน่ เมื่อรู้แล้วว่าคู่ต่อสู้เป็นใครก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างคำอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมในกลุ่มของตัวเองด้วย และช่วงนั้นงานของอาจารย์ณัฐพลก็เริ่มถูกตีพิมพ์ออกมาช่วงหลังการปราบปรามครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2553 และสนับสนุนคำอธิบายการต่อสู้แบบนี้ 

แล้วในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 ก็มีการพูดเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 เป็นงานที่เข้าใจว่าจัดโดยกลุ่มนิติราษฎร์ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานมีคนพูดว่าในช่วงปี 2490 ว่ามีนักกฎหมายคนหนึ่ง ชื่อ หยุด แสงอุทัย ที่พยายามลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ซึ่งเป็นการบอกเป็นนัยว่ากลุ่มนิติราษฎร์ไม่ใช่กลุ่มแรกที่ทำแบบนี้ และพูดไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่มีปัญหากับสถาบันฯ หรืออาจพูดได้อีกทางว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สถาบันฯ ทำแบบนี้ และทำมาเรื่อย ๆ และผ่านมาก็มีคนต่อต้านคนต่อสู้อยู่เรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน แต่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งหากมาย้อนมองดูคณะราษฎรกับการปฏิวัติ 2475 มันดูเป็นประชาธิปไตยมากกว่า ดูสอดคล้องและสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมากกว่า เพราะมีความชัดเจนมากว่า ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่ปราศจากการแทรกแซงของสถาบัน แต่การปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมันเป็นการปฏิวัติไปเป็นอีกสังคมหนึ่งซึ่งแตกต่างกันและดีไม่ดีก็อาจจะเป็นแบบพล พต ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่อยากเชียร์ 

กระแสการเชียร์จอมพล ป. การเชียร์ปรีดี  การเชียร์ปฏิวัติ 2475 เริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วงหลังการปราบปรามครั้งใหญ่ของคนเสื้อแดงตอนปี 2553 ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันถูกทำให้เข้มข้นขึ้นด้วยการทำงานเชิงวิชาการของอาจารย์ณัฐพลรวมถึงการก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ด้วยเพราะว่ามีชื่อที่สอดคล้องใกล้เคียงกับความเป็นคณะราษฎรต้องพูดตรงตรงว่าปัญหา ณัฐพลก็คือการที่เขาเชียร์อย่างเดียว ไม่ได้มีการพูดถึงในแง่มุมเชิงวิพากษ์ต่อ

แล้วในปี 2563 ยาวมาถึงปัจจุบันล่ะมันเป็นยังไงบ้าง มองคณะราษฎรยังไง

ส่วนการเคลื่อนไหวของปี 2563 ผมไม่ได้สังเกตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นยังไง แต่การที่ ณัฐพล ทำงานวิชาการจนเกิดการเชิดชู 2475 ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากฝั่งอนุรักษ์นิยมเหมือนกัน เช่น การถอนหมุดคณะราษฎรออก การเปลี่ยนชื่อห้องประชุม รวมถึงการย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญออกไป ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่าการที่กระแสการเชิดชู 2475 สูงขึ้นอาจจะเป็นอันตรายต่อพวกเขาเลยต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อลดทอนตรงนี้ นอกจาก ณัฐพล ยังมีนักวิชาการเข้ามาทำงานในเชิงนี้อีกหลายคน อย่าง ชาตรี ประกิตนนทการ ที่ทำเรื่องศิลปะของคณะราษฎร ยิ่งทำให้กระแสของ 2475 สูงขึ้นสำนักพิมพ์มติชนก็ตีพิมพ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ 2475 

เข้าใจว่าปี 2563 เป็นผลสะเทือนที่เกิดต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จากปี 2550 ที่เป็นช่วงบุกเบิก อย่างหนังสือ ขุนศึกศักดินาพญาอินทรี คนก็อ่านมากขึ้นมันก็สร้างอิทธพลต่อคนที่อ่าน นอกจากตีพิมพ์หนังสือก็มีการจัดงานเสวนา รวมถึง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็จัดงานเดินเที่ยวประชาธิปไตยจากรัฐสภาไปหมุดคณะราษฎร คนก็เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ จนปัจจุบันก็มีการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับ 2475 ถูกทำให้เป็นสินค้า คนก็ยิ่งบริโภคมากขึ้น

ปัญหาอีกอันหนึ่งมาจากงานของณัฐพลที่เชียร์จอมพล ป. มากจนเกินไปแต่ก็เป็นที่เข้าใจได้เหมือนกันเพราะจอมพล ป. ถือเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับสถาบันฯ ที่จริงจังที่สุด ฉะนั้นหลังจากการเชิดชูการปฏิวัติ 2475 แล้วก็เริ่มมีการเชิดชู จอมพล ป. ขึ้นมาด้วย ยังเห็น Meme ที่ว่า “เชื่อกูตั้งแต่แรกก็จบไปนานแล้ว” ที่เอามาใส่ในรูปของจอมพล ป. ทำให้สถานะของ จอมพล ป. สูงขึ้น แต่ในแง่ลบของ จอมพล ป. ที่ต่อต้านคนจีน ปิดโรงเรียนจีน จับคอมมิวนิสต์ หรือปล่อยให้ เผ่า ศรียานนท์ ฆ่า 4 รัฐมนตรีอีสาน (จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, ทองเปลว ชลภูมิ, และทองอินทร์ ภูริพัฒน์) กลับไม่ถูกพูดถึง การเข้าข้างญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกของจอมพล ป. อะไรที่เป็นด้านลบของจอมพล ป. ช่วงปี 2490 เนี่ยก็ไม่ถูกพูดถึง 

หรือมีความพยายามที่จะพูดว่าการปฏิวัติ 2475 มีประชาชนเข้าร่วมเยอะ อย่างงานที่ชวนไปดูเรื่องเหรียญของ 2475 ดูซุ้มรัฐธรรมนูญ ดูอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่อยู่ตามต่างจังหวัด การบอกว่านี่คือการที่คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับการปฏิวัติ 2475 มันไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ ต้องเข้าใจว่าในช่วงที่คณะราษฎรเป็นหัวหน้ารัฐบาล ก็สามารถสั่งข้าราชการตามหัวเมืองได้ว่าให้สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นจะบอกว่าประชาชนมีส่วนร่วมก็แปลก ๆ  

การเขียนงานแบบนี้สามารถเขียนได้แต่ว่าต้องอธิบายด้วยว่าบริบททางการเมืองและบริบทของรูปแบบรัฐมันไม่เหมือนกัน ในแง่ 2475 มันเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐต่อต้านการแทรกแซงการเมืองของสถาบันฯ แต่ควรมีการพูดถึงข้อเท็จจริงในแง่ลบด้วยว่ามันมีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ไม่ควรมองว่าใสสะอาดบริสุทธิ์จนเกินไป ควรเข้าใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ให้ครบถ้วนไม่ใช่การตัดตอนมาบางส่วน 

ปัญหาของการเชียร์ ปฏิวัติ 2475 ในปัจจุบันคือมีลักษณะที่ค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม มีลักษณะชนชั้นนำนิยมสูงมากคือเชียร์ ปรีดี เชียร์ จอมพล ป. เชียร์คณะราษฎร คือมีแนวโน้มความคิดไปทางที่ว่าทุกคนในคณะราษฎรเป็นคนที่ดีงามหมด อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา ด้านที่เป็นข้อผิดพลาดมันไม่ถูกพูดถึง ด้านที่เป็นปัญหาด้านที่ผิดพลาดในการปกครองมันไม่ถูกพูดถึง 

สุดท้ายหลายอย่างเหมือนกลับไปเอาของเก่ามาใช้ เป็นการสะสมวัตถุโบราณ มีการทำให้ คณะราษฎร และ ปฏิวัติ 2475 เป็นสินค้ามากขึ้น อารมณ์เหมือนเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นเหมือนสะสมพระ มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่คลั่งไคล้ในการสะสมของเก่าพวกนี้มันน่าจะเป็นปัญหา เวลาจัดงานเกี่ยวกับ 2475 ควรมีด้านตั้งคำถามการวิพากษ์คณะราษฎรและปฏิวัติ 2475 แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะสนับสนุนให้ประณามปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 ลูกเดียวแบบที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกำลังพยายามทำอยู่ในปัจจุบัน อันนี้ก็แย่เกินไป เพราะถึงอย่างไร สิ่งที่คณะราษฎรทำก็มีคุณูปการต่อสังคมไทยสูงมาก

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง