ชาดา ไทยเศรษฐ์ การเมืองนักเลงแบบ ‘อุทัยธานีโมเดล’

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.จังหวัดอุทัยธานี สังกัดพรรคภูมิใจไทย และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้รับการจับตามมองและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก หลังวันโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่นายชาดาลุกขึ้นมาอภิปรายคุณสมบัติของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกจากพรรคก้าวไกล พร้อมกับวลีเด็ดที่ว่า “ผมก็เลือกตั้งมาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ฝั่งประชาธิปไตย ฝั่งไหน ฝั่งโจรเหรอ เป็นโจรก็ยอมครับ เป็นโจรที่รักชาติ เป็นโจรที่รักสถาบัน เป็นโจรที่ปกป้องบ้านเมืองนี้ และปกป้องสถาบันด้วยหัวใจ ด้วยเลือดเนื้อของผม” จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์คำพูดดังกล่าวของนายชาดา พร้อมกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์บุคลิกของนายชาดาไปพร้อมกัน


ภาพ: กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/politics/1078331

นายชาดาเริ่มก้าวเข้าสู่สนามการเมืองจากการลงสมัครเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองอุทัยธานี เมื่อปี 2535 ต่อมาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ในปี 2538 จากนั้นในปี 2551 นายชาดาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขตจังหวัดอุทัยธานี ภายใต้สังกัดพรรคชาติไทย และชนะการเลือกตั้งทุกครั้งหลังจากนั้นเป็นต้นมา กระทั่งปี 2561 นายชาดาได้ย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย พร้อมกับได้รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค กระทั่งล่าสุดนายชาดาได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ได้รับฉายาจากสื่อว่า “เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง” แสดงถึงความเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานีอย่างชัดเจน ประกอบกับนายชาดา ไทยเศรษฐ์ มักแสดงออกถึงภาพลักษณ์ความเป็นนักเลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์ การแต่งกาย ภาษาและท่าทางที่ใช้ในการสื่อสารกับสาธารณะ นายชาดา ไทยเศรษฐ์จึงถูกเสนอภาพให้เป็นนักเลง/ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเสมอ 

อย่างไรก็ตาม นายชาดามิเคยปฏิเสธภาพลักษณ์ความเป็นผู้มีอิทธิพลของตนแต่อย่างใด กลับยอมรับและแสดงความภาคภูมิใจต่อภาพลักษณ์ดังกล่าว นายชาดาเคยให้สัมภาษณ์กับ Voice Online ว่า “ผมเป็นผู้มีอิทธิพล แต่ผมใช้อิทธิพล สร้างบ้านสร้างเมือง ช่วยเหลือคน” 


ภาพ: ประชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/politics/news-1349626

ภาพลักษณ์ความเป็นผู้มีอิทธิพลของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ เริ่มปรากฏเมื่อครั้งเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 นายชาดาได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมหนัก ประชาชนไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและทันท่วงทีจากหน่วยงานราชการ นายชาดา ไทยเศรษฐ์กลับเป็นผู้ที่ช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดอุทัยธานีก่อนหน่วยงานราชการ เหล่านี้เป็นผลให้นายชาดาถูกรับรู้เป็นวงกว้างมากขึ้น กระทั่งภาพลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานีและนายชาดา ไทยเศรษฐ์ เริ่มกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

เมื่อนายชาดาก้าวขึ้นมาอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน ประวัติของนายชาดาก็ถูกสืบค้นและถูกพูดถึงออกไปในวงกว้างมากขึ้น ทั้งการเคยถูกจับกุมในข้อกล่าวหาว่าจ้างวานฆ่า นายสมเกียรติ จันทร์หิรัญ เลขานุการของ นายประแสง มงคลศิริ ส.ส.พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2546 การถูกลอบยิงเมื่อปี 2555 หรือการถูกตรวจพบอาวุธสงครามพร้อมยาเสพติดเมื่อปี 2560 จากประวัติทางคดีและภาพลักษณ์ความเป็นนักเลง/ผู้มีอิทธิพล เป็นผลให้ภาพลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานีกลายมาเป็นจังหวัดที่มีนักเลงครองเมือง เป็นจังหวัดของผู้มีอิทธิพล 

นายชาดานิยามคำว่านักเลงว่าคือ คนที่จริงใจ พูดคำไหนคำนั้น ช่วยเหลือคน ไม่รังแกคนทีอ่อนด้อยกว่า และไม่ยอมที่จะให้ใครมารังแก โดยนายชาดาโยงคำนิยามของคำว่านักเลงข้างต้นเข้าประวัติชีวิตของตนเอง ที่มักกว่าถึงความยากลำบากในวัยเด็ก การต้องต่อสู้กับอิทธิพลต่าง ๆ ทั้งภายในท้องถิ่น ไปจนถึงการโดนรังแกจากฝ่ายรัฐ นายชาดาจึงมีภาพจำของการเป็นนักเลงนักการเมือง แต่ไม่รังแกใคร จริงใจ พร้อมช่วยเหลือผู้คน  


ภาพ: มติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/region/news_3623663

ธาตรี มหันตรัตน์ ผู้ทำการศึกษานักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานีได้เสนอว่า นายชาดา ไทยเศรษฐ์ มีบุคลิกภาพเป็นคนที่พูดจริงทำจริง กล้าตัดสินใจ ใจนักเลง และมีบารมีกล้าวขวาง ถือเป็นบุคลิกอันโดดเด่นของนายชาดา ที่จะแตกต่างจากนักการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดอุทัยธานีคนอื่น ๆ พร้อมกันนี้นายชาดายังมียุทธศาสตร์ในการหาเสียงคือการเยี่ยมเยียนผู้คนในพื้นที่อย่างครอบคลุมและสม่ำเสมอ รวมไปถึงเข้าร่วมงานทางศาสดาแม้มิใช่ศาสนาอิสลาม ยุทธศาสตร์นี้เป็นเงื่อนไขที่ช่วยตอกย้ำความเป็นคนจริง คำไหนคำนั้น อันเป็นภาพลักษณ์ของความเป็นนักเลงของนายชาดา 

แต่ภาพลักษณ์ความเป็นนักเลง/ผู้มีอิทธิพลของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ มิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ดำรงอยู่ควบคู่กับความเป็น “จังหวัดนิยม”


ภาพ: Voice TV https://www.youtube.com/watch?v=8vLiqV4PRT8&t=954s

นายชาดายังให้สัมภาษณ์ถึงอุดมการณ์การทำงานการเมืองของตนว่า“ผมเล่นการเมืองก็เพื่ออุดมการณ์ ว่าผมต้องทำ บ้านผมให้ดี ด้วยทัศนคติที่ว่า อำเภอดีจังหวัดต้องดี ตำบลดี อำเภอดี จังหวัดดี ประเทศนี้ก็ดีแน่นอน” แสดงออกถึงความเป็นท้องถิ่นนิยม หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงคือ “จังหวัดนิยม” ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเทคนิคทางการเมืองที่ถูกใช้โดยนักการเมืองท้องถิ่นบ่อยมากตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา อาทิ นายมนตรี พงษ์พานิช ที่แสดงออกถึงความนิยมในจังหวัดอยุธยาบ้านเกิดของตนอย่างชัดเจน หรือนายบรรหาร ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยต้นสังกัดของนายชาดา ที่แสดงออกถึงความนิยมในจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างแจ่มชัด จนครั้งหนึ่งสื่อมวลชนตั้งฉายาจังหวัดทั้ง 2 ว่าบรรหารบุรี และมนตรีนคร เนื่องจากความนิยมในจังหวัดบ้านเกิดของนักการเมืองทั้งสอง จนเกิดเป็นข้อครหาว่า นักการเมืองทั้งสองเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งบริหารในคณะรัฐมนตรีมีความลำเอียงทางนโยบาย ที่ต่างมุ่งออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาพื้นที่จังหวัดของตน 

นอกจากนี้ นายชาดามีสถานะเป็นผู้บริหารของสโมสรฟุตบอลอุทัยธานี เอฟซี พร้อมดำรงตำแหน่งประธานสโมสรไปด้วยพร้อมกัน สถานะดังกล่าวยิ่งยืนยันภาพจำของความนิยมในจังหวัดอุทัยธานีของนายชาดายิ่งขึ้นไปอีก  


ภาพ: ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/local/detail/9650000050657

ภาพลักษณ์ความเป็นจังหวัดนิยมในนักการเมืองท้องถิ่น ที่มักถูกโจมตีว่าเป็นเทคนิคทางการเมืองที่ไม่บริสุทธิ์ นักการเมืองเหล่านี้มุ่งเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดึงงบประมาณหรือโครงการพัฒนาเข้าสู่พื้นที่จังหวัดของตนเอง มิได้มีเจตนาบริสุทธ์ในการเดินบนเส้นการเมือง ยิ่งเมื่อนำเอาความเป็นจังหวัดนิยมมาประกอบรวมกับความเป็นความเป็นนักเลง/ผู้มีอิทธิพลของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ แล้ว ภาพลักษณ์ของนายชาดาเหมือนว่าจะเป็น “สีเทา” มากกว่าเป็นสีขาว 

แม้เป็นเช่นนั้น ความเป็นจังหวัดนิยมเมื่อประกอบความเป็นนักเลง/ผู้มีอิทธิพลของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ กลับได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดของนักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ เห็นได้จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมานายชาดา ไทยเศรษฐ์ยังคงชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนมากกว่า 4 หมื่นคะแนน โดยมีคะแนนทิ้งห่างผู้สมัครคู่แข่งที่ได้อันดับสองมากกว่า 2 หมื่นคะแนน และเคยได้รับคะแนนเลือกตั้งพุ่งสู่งสุดถึง 8 หมื่นคะแนนเมื่อครั้งเลือกตั้งทั่วไปปี 2551 

ความเป็นจังหวัดนิยม และความเป็นนักเลง/ผู้มีอิทธิพลคือ เครื่องมือทางการเมืองชิ้นสำคัญในการยึดกุมและรักษาพื้นที่ทางการเมืองของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ จนอาจนิยามได้ว่าเป็นการเมืองนักเลงแบบ “อุทัยธานีโมเดล” 


ภาพ: facebook ชาดา ไทยเศรษฐ์ https://www.facebook.com/photo?fbid=155643970143567&set=a.155643960143568

เครื่องมือทางการเมืองทั้งสองชิ้นนี้ ยังผลักดันคนในตระกูลไทยเศรษฐ์ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากการเป็น ส.ส. แล้ว นายชาดายังผลักนายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ หลายชายของตนลงสมัครรับเลือกตั้ง เขต 1 จังหวัดอุทัยธานีเมื่อครั้งปี 2562 จนชนะการเลือกตั้ง เป็นผลให้ตระกูลไทยเศรษฐ์ครองพื้นที่การเมืองในจังหวัดอุทัยธานีได้ในท้ายที่สุด และยังคงรักษาพื้นที่ทางการเมืองของตนเองไว้ได้จนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ นายชาดายังยึดกุมพื้นที่ทางการเมืองท้องถิ่นได้อย่างแข็งแกร่งด้วยเช่นกัน โดยหลังจากที่นายชาดา ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ก็ได้ผลักดันให้นางสาวมนัญญา ไทยเศรฐ์ น้องสาวของตนให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีต่อจากตน นางสาวมนัญญาเองก็รักษาตำแหน่งนายกเทศมนตรีไว้อย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด กระทั่งในปี 2564 ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีได้ส่งต่อมาสู่ นางสาวปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ ลูกสาวของนายชาดา และเมื่อกวาดสายตามองไปที่ตำแหน่งอื่น ๆ ในการเมืองท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี เราจะพบรายชื่อผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับตระกูลไทยเศรษฐ์อีกมาก อาทิ นายกเทศบาลตำบลตลุกดู่ นายวีระชาติ รัศมี ลูกเขยของนายชาดา หรือกฤษฎา ซักเซ็ค หลานชายของนายชาดา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าบ้านไทยเศรษฐมิได้เพียงยึดกุมพื้นที่การเมืองระดับในตำแหน่ง ส.ส. เท่านั้น แต่ยังยึดกุมพื้นที่การเมืองระดับท้องถิ่นในจังหวัดอุทัยธานด้วยเช่นกัน


ภาพ: facebook ชาดา ไทยเศรษฐ์ https://www.facebook.com/photo/?fbid=214778004230163&set=a.155643963476901

เหล่านี้เป็นให้เราอาจกล่าวได้เต็มปากว่า นายชาดาได้สร้าง “โมเดลนักการเมืองนักเลง ผู้ที่นิยมในจังหวัดตนเอง” จนผลักดันให้ตัวของนายชาดา และตระกูลไทยเศรษฐ์เข้ายึดกุมพื้นที่ทางการเมืองในจังหวัดอุทัยธานีได้ในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีข้อน่าสังเกตว่า แม้ผู้สมัครจากตระกูลไทยเศรษฐ์ยังคงรักษาเก้าอี้ ส.ส. แบบแบ่งเขตไว้ได้ แต่กลับไม่สามารถส่งผ่านคะแนนไปให้พรรคต้นสังกัดอย่างพรรคภูมิใจไทยได้ กลับกลายเป็นพรรคก้าวไกลที่กวาดคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากผู้คนในจังหวัดอุทัยธานีไปได้เกือบ 2 หมื่นคะแนนในทั้งสองเขตการเลือกตั้ง อาจเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าเหตุใดนายชาดามิอาจถ่ายโอนคะแนนการเลือกตั้งของตนให้พรรคการเมืองต้นสังกัดได้ หรือคนอุทัยธานีมีเงื่อนไขการตัดสินใจเลือกลงคะแนนแบบใด คงเป็นคำถามที่น่าจะถามกันต่อไป  

คำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และเป็นคำถามที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ “เกิดอะไรขึ้นกับจังหวัดอุทัยธานี” จึงเป็นเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดการเติบโตของนักการเมืองท้องถิ่นรูปแบบนี้? 


อ้างอิง

  • The MATTER, (2566), “เป็นโจรก็ยอมครับ เป็นโจรที่รักชาติ เป็นโจรที่รักสถาบัน” ชาดา ไทยเศรษฐ์, https://thematter.co/brief/208245/208245 
  • Voice Online, (2566), Voice Politics : “ผมคือผู้มีอิทธิพล” – ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ หมดสมัยปลายกระบอกปืน, https://voicetv.co.th/read/0CN1qa1oC
  • ธาตรี มหันตรัตน์, (2558), นักการเมืองถิ่นจังหวัดอุทัยธานี, สถาบันพระปกเกล้า, กรุงเทพฯ 

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง