‘ภูธรคอนเนค’ เมื่อศิลปินภูธรสำแดงเดชไม่อิงเมืองหลวง

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม
ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว



“ภูธรคอนเนค คำประสมระหว่างคำว่า ภูธร ที่หมายถึง กษัตริย์ ภูเขา หรือความหมายโดยสามัญสำนึกของคนไทย คือพื้นที่ที่อยู่นอกเมืองหลวง กับคำว่า คอนเนค คำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ ที่หมายถึง การเชื่อมต่อกัน ซึ่งเมื่อรวมกัน จึงหมายถึง การเชื่อมต่อหรือเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่นอกเมืองหลวง”

เป็นอีกเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับการรวมตัวที่มีชื่อเชย ๆ แต่แฝงเร้นไปด้วยความแสบสัน ในชื่อ Pootorn Connect : ภูธรคอนเนค เครือข่ายการดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ ที่จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายศิลปินภูธรในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปัน เรื่องราว ข่าวสาร ประสบการณ์ ข้อมูล องค์ความรู้ วัฒนธรรม โอกาส และการดำเนินกิจกรรมทางศิลปะร่วมกันระหว่างศิลปินท้องถิ่นที่อยู่นอกเมืองหลวง ซึ่งเป็นการลดการกระจุกทางโอกาส เปิดพื้นที่การแสดงออกในท้องถิ่นที่หลากหลาย ส่งเสริมการเข้าถึงฐานการรับรู้ของผู้คนที่แตกต่าง สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อสังคมศิลปะในประเทศไทยให้มีฐานราก เติบโตกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และที่สำคัญเป็นการผลักดันให้ศิลปะเป็นสิ่งสามัญสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม

เรานัดเจอกับคนทำงานศิลปะจากทั้ง 5 กลุ่มที่กระจายตัวอยู่ในต่างจังหวัดทั่วดินแดนประเทศไทย ในวันเปิดนิทรรศการเพื่อประกาศศักดาในชื่อ OPEN WORD: เปิดคำ Announcement Exhibition for “Pootorn Connect” Decentralized Autonomous Art Operation Network. เมื่อวันที่ 23 กันยายน ณ Kai Kaew Lamphun ไก่แก้วลำพูน จังหวัดลำพูน

ในบรรยากาศที่เหมือนเพื่อนเจอเพื่อนนัดพบปะสังสรรค์ มากกว่าที่จะเหมือนการมาดู Exhibition ที่จัดใน Gallery และนี่คือประโยคจากเพียงวรรคตอนหนึ่งที่เชื้อเชิญให้เราเดินทางมาโดยไม่ต้องคิดอะไรเพิ่มอีกแล้ว

“ถึงแม้ในโลกศิลปะของประเทศไทย จะไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีสิทธิ์ในการผูกขาดอำนาจการปกครองหรือการจัดการการเมืองทางศิลปะ(ในทางนิตินัย) แต่(ในทางพฤตินัย)สังคมแบบรวมศูนย์ กลับฝังรากลึกและเติบโตอยู่คู่กับสังคมศิลปะไทยเสมอมา เนื่องจากองค์กร มูลนิธิ สถาบัน หน่วยงาน ด้านศิลปะ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ ต่างก็กระจุกการบริหารจัดการจากศูนย์กลาง วัฒนธรรมของการดำเนินกิจกรรมทางศิลปะ แหล่งทุน รวมถึงโอกาสต่างๆ จึงไม่ถูกกระจายไปยังภูมิภาคหรือท้องถิ่นอื่นๆเท่าที่ควร ในขณะที่องค์กรทางศิลปะของรัฐจะพยายามกระจายอำนาจโดยการก่อตั้งองค์กรศิลปะในส่วนท้องถิ่นขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เพราะก็ยังต้องมีการบริหารจัดการและการตัดสินใจจากศูนย์กลาง และกลุ่มคนที่ยังผูกขาดการเข้าถึงแหล่งโอกาสต่างๆ ส่งผลกระทบต่อโอกาสของศิลปินท้องถิ่น ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญด้านศิลปะ ที่พวกเขาเหล่านั้นพยายามส่งเสียงแห่งมาตุภูมิของพวกเขาออกไป แต่ด้วยโครงสร้างทางสังคมแบบรวมศูนย์ที่กล่าวมา ทำให้เสียงเหล่านั้นเบาเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะได้ยิน การรับรู้ถึงตัวตนของการมีอยู่ทั้งด้านพื้นที่และบุคคล การถูกยอมรับ การแก้ไขปัญหา และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทางศิลปะจึงหล่นหายไปด้วย”

ทำไมต้องภูธรคอนเนค?

“เพราะพวกเราก็เจ๋งเหมือนกัน”


(พงศ์ธร กิจพิทักษ์, ชินดนัย ปวนคำ)

พงศ์ธร กิจพิทักษ์ และ ชินดนัย ปวนคำ จาก ฮอมจ๊อยซ์ (Home Joint Artist)  2 ศิลปินจากจังหวัดเชียงรายที่ทำงานศิลปะเพื่อขับเคลื่อนประวัติศาสตร์พื้นถิ่น กล่าวถึงการรวมตัวกันของคนทำงานศิลปะเพื่อกระจายการรวมศูนย์ ว่าเป็นการสร้างเครื่อข่ายจากคนนอกศูนย์กลาง เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าศิลปินภูธรนั้นมาการผนึกกำลังที่ใหญ่แค่ไหน เพื่อให้ศูนย์กลางหรือกรุงเทพฯ หันมามองศิลปินภูธรอย่างจริงจัง เพราะคนทำงานศิลปะในภาคเหนือก็มีความเจ๋งไม่ต่างจากศูนย์กลาง อีกทั้งนี่ยังเป็นการสร้างโอกาสเพื่อคนที่ทำงานศิลปะในพื้นที่นอกศูนย์กลางเพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าต้นทุนทางวัฒนธรรมภาคเหนือมีเยอะแค่ไหน

ด้าน อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล จาก Patani Artspace บอกว่าภูธรคอนเนคคือการเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ Mindset ของผู้คน หรือแม้กระทั่งเรื่องของวิธีคิดหรือกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะหรืองานสร้างสรรค์ หรือ Sub-Culture ของท้องถิ่นให้เปลี่ยนมุมมองไป


(อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล)

“อย่างที่นี่( ไก่แก้วลำพูน) ก็ไม่ใช่ Art Space มาก่อน แต่เราก็ใช้พื้นที่นี้เพื่อเป็นตัวอย่างว่าไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียง ไม่ต้องเป็นจังหวัดที่คนส่วนใหญ่รู้จัก ไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์กลาง ถ้ามันมีความพร้อม เชื่อมโยงกับชุมชนได้ ผมคิดว่านี่คือจุดสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่ทั้งคู่สัมผัสได้ก็ไม่ได้มีเพียงข้อเสียเท่านั้น เพราะ สุพิชญา ขุนชำนิ และ อวิกา สมัครสมาน กลุ่มคนทำงานทางศิลปะในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ก็มองว่าศิลปินภูธรเองก็สามารถเก็บข้อมูลจากงานศิลปะในศูนย์กลางมาประกอบใช้ในกลุ่มของตัวเองได้เช่นกัน เธอมองว่ามันเป็นแรงจูงใจเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนการทำงานต่อไป เหมือนเป็นการหยิบประโยชน์จากความเป็นศูนย์กลางมาตอบโต้กลับไปอีกที

ศิลปินภูธรมีสิทธิ์ไหมคะ?


Lawnmower Man – I’m fine in my backyard โดย กฤตพร มหาวีระรัตน์/ Krittaporn Mahaweerarat

“กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางประเทศจากการแต่งตั้ง จากการเป็นเมืองหลวง แต่เราไม่คิดว่ากรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางงานศิลปะ แต่เรารู้สึกว่าคนที่เข้าใจงานศิลปะจะอยู่ในกรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่ การทำงานของศิลปินในกรุงเทพฯจึงไม่ต้องลงแรงมาเท่ากับการทำงานกับคนดูนอกเขตกรุงเทพฯ โอกาสที่คนจะเข้าถึงศิลปะมักกระจุกกันอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่งานศิลปะไม่ได้ทำตัวเป็นศูนย์กลางแต่อย่างใด อยู่ที่คนมากกว่า ไม่ว่าจะที่ไหนในประเทศไทยก็มีศิลปะ ถ้าอยากทำงานในพื้นที่ ก็ต้องสื่อสารกับคนในพื้นที่ หาวิธีนำงานศิลปะเข้าไปอยู่ในชุมชนพร้อมกับทำให้คนในชุมชนเข้าใจถึงสิ่งที่พวกเราทำอยู่ ไม่ใช่ทำเองดูเอง เป็นการขยายฐานคนดูและเพิ่มคุณค่าของงานศิลปะลงไปในพื้นที่ห่างไกล”


(ประภัสสร คอนเมือง)

ประภัสสร คอนเมือง จาก ผีฟ้าคอลเล็คทีฟ มองว่าการทำงานของศิลปินในกรุงเทพฯ นั้นไม่จำเป็นต้องลงแรงมากเท่ากับการทำงานกับความเข้าใจของผู้ชมนอกเขตกรุงเทพฯ เธอจึงมองว่านี่เป็นประเด็นที่ขึ้นอยู่กับผู้คนเสียมากกว่า

“โอกาสของศิลปินต่างจังหวัด คือวัตถุดิบในพื้นที่มากมายที่มีให้หยิบมาใช้สอย ความเป็นท้องถิ่นคือความร่ำรวยทางวัฒนธรรม อยู่ที่ว่าจะหยิบมาใช้กับงานศิลปะอย่างไร กลายเป็นโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้การมารวมตัวกันเกิดความแข็งแรง ขยายโอกาสที่ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ แต่เป็นคนที่ไหนก็ตามที่ได้มาเรียนรู้งานในเครือข่ายจะสามารถสร้างจุดเชื่อมโยงกับเครือข่ายได้”

ซึ่ง พงศ์ธร และ ชินดนัย จาก ฮอมจ๊อยซ์ เชื่อว่าแม้โอกาสของศิลปินภูธรจะมีอยู่น้อย ต่างจากเมืองหลวงที่กระจุกไปด้วยโอกาสจากปัจจัยต่าง ๆ สิทธิต่าง ๆ น้อยกว่า มันเลยวกกลับมาว่านี่แหละเราถึงต้องรวมตัวกัน เพื่อเพิ่มสิทธิ์และโอกาส

พิชิต สอนก้อม และ อาทิตยาภรณ์ แสนโพธิ์ จาก KULTX จังหวัดขอนแก่น มองว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นพื้นที่ของศิลปะมันกระจุกตัวอยู่เยอะมาก ที่สำคัญคือคนเสพงานศิลปะก็กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางเช่นเดียวกัน นี่เป็นความไม่ปกติของวงการศิลปะในท้องถิ่นที่ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเท่าเทียมกัน ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่มีไม่เท่ากันในสองพื้นที่


(พิชิต สอนก้อม, อาทิตยาภรณ์ แสนโพธิ์)

“ในความรู้สึกเรา เรามองเห็นความไม่เท่าเทียมกันในพื้นที่ของเราซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทที่แตกต่างจากกรุงเทพฯ ทำให้เรามองเห็นความไม่ปกติในศิลปะในพื้นที่ของเราที่ไม่สามารถแสดงออกได้เท่าที่ควร เพราะคนในพื้นที่ก็ยังต้องรับผิดชอบหน้าที่การงานของตัวเอง แต่ในพื้นที่ศูนย์กลางมีการสนับสนุนด้านงบประมาณ มีมหาวิทยาลัยที่ช่วยส่งเสริมในการเป็นศิลปิน ซึ่งเรามองว่าเป็นความไม่เท่าเทียมกันทางด้านสถานภาพ ทางด้านพื้นที่ กลายเป็นประเด็นที่เราจะต่อต้านพื้นที่จะศูนย์กลางไปเลย งานศิลปะที่เราทำ พยายาม Perform ออกมาในลักษณะนี้” อาทิตยาภรณ์กล่าว

เมื่อพูดถึงโอกาสของศิลปิน อวิกา และ สุพิชญา เลือกกลับมาทบทวนคำนิยามของการเป็น ‘ศิลปิน’ และความกว้างขวางของงานศิลปะ ศิลปะในโรงเรียน หรือศิลปะที่ศิลปินไปเรียนจากศูนย์กลาง หรือศิลปินในท้องถิ่น ต่างก็เป็นงานศิลปะทั้งสิ้น พวกเธอจึงมองว่าโอกาสสำหรับศิลปินภูธรนั้นมีอยู่จริง แต่อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าศิลปินในเมืองหลวงสักหน่อย


(สุพิชญา ขุนชำนิ และ อวิกา สมัครสมาน)

“ศิลปินเป็นคำนิยามที่พูดยากเพราะคนที่ทำงานศิลปะก็มีเยอะมาก นักเรียน ครู คนทั่วไปที่ชอบวาดรูป อย่างในต่างจังหวัดก็มีคนอยู่หลากหลายมาก” สุพิชญากล่าว

ก้าวให้ไกลกว่าอาณาบริเวณเดิม

อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล เล่าให้เราฟังว่าเขาและสมาชิกภูธรคอนเนคหลายคนก็รู้จักกันมาก่อนแล้ว ผ่านกิจกรรมศิลปะต่าง ๆ ที่ผ่านมาของแต่ละพื้นที่ ตนมีโอกาสได้ไปขอนแก่น หรือเพื่อนที่ขอนแก่นมาแสดงงานที่ปัตตานี ทำให้เกิดการพูดคุยที่ทำเกิดเป็นไอเดีย และทำให้เห็นผลกระทบร่วมกันจากการเป็นศิลปินภูธร

“เราก็รู้สึกว่าถ้าเราจะพูดถึงความเป็นภูธร ถ้าเราจะต่อสู้กับความเป็นศูนย์กลางนิยม มันจะต้องทำยังไง เลยเกิดเป็นการรวมกลุ่มกัน การก่อตั้งภูธรคอนเน็คก็การทำให้ภาพชัดเจนขึ้นว่าเราจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนความเป็นศิลปะที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ”

“มันเหมือนการปลูกดอกไม้ เป้าหมายของภูธรคอนเนคคือการไปปลูกดอกไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ ”

อวิกา มองว่าทิศทางปัจจุบันของภูธรคอนเนค ถ้าจะให้ชัดเจนในแนวทางกระบวนการเลยอาจจะยาก แต่เธอก็รับรู้แล้วว่าทุกคนมีเรื่องที่อยากจะทำ เกิดเป็นการแบ่งปันกันในปัจจัยต่าง ๆ กลายเป็นจุดที่ถูกใช้เพื่อหาแนวทางไปต่อ หาวิธีการที่เหมาะกับการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นการบ้านของแต่ละคนแล้วว่าจะมองเห็นอะไรจากจุดนี้ และจะเอาไปปรับใช้กับตัวเองอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนสำหรับ อวิกา คือการใช้งานศิลปะเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพื่อศิลปินภูธร

“เราอยากพูดถึงการสร้างพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อมาทำงานด้วยกัน เราอยากจะสร้างอำนาจต่อรองเพื่อเข้าถึงทุน ที่เขาบอกกันว่าเราเขาถึงทุนได้น้อย มันเป็นเพราะอะไร ? เราจะทำยังไงให้ทุนเห็นว่าเขาควรจะซัพพอร์ตสิ่งนี้อีก คิดว่าการรวมตัวกันจะสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างแรงคานให้เขาหันมามองว่ายังมีคนที่สร้างงานศิลปะในรูปแบบอื่นนอกจากที่เขาเคยให้ทุนมา” อวิกากล่าว

สุพิชญา เสริมอีกหนึ่งมิติในการร่วมมือกันของภูธรคอนเนค ว่าการทำงานขับเคลื่อนโดยไม่รอการสนับสนุนจากรัฐ นั่นคือการแบ่งปัน ไม่ว่าจะประสบการณ์ ทักษะ หรือเวลา สุพิชญา เชื่อว่าศิลปินที่มาร่วมงานกันในภูธรคอนเนคก็ไม่สามารถลงแรงทั้งสามอย่างพร้อมกันได้ กลายเป็นโจทย์ที่จะต้องกลับไปดูว่าแต่ละคนจะมีวิธีปรับใช้ยังไงให้กลุ่มมันขับเคลื่อนแบบนี้ต่อไป ทำงานต่อไปได้โดยเข้าใจรัฐ และรัฐเข้าใจพวกเธอ

“เรารู้สึกว่าการที่บ้านเขาสามารถ Host กลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน กระจายความรับรู้ออกไปเรื่อย ๆ มันเป็นข้อดีที่ทำให้คนเห็นภาพได้ถี่ขึ้น เห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างโมเดลแบบนั้นในหลาย ๆ ที่ อาจจะไม่ได้ทำในรูปแบบเดียวกัน แต่มันก็จะไม่ใช่การรวมตัวแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว”



สามารถติดตามรายละเอียดและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ต่อได้ที่ https://www.facebook.com/events/1332813964294235/?ref=newsfeed

และ OPEN WORD: เปิดคำ Announcement Exhibition for “ Pootorn Connect”Decentralized Autonomous Art Operation Network. สามารถเข้าดูได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ที่ Kai Kaew Lamphun ไก่แก้วลำพูน

บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )

ข่าวที่เกี่ยวข้อง