เรื่อง: องอาจ เดชา
หลังเกิดน้ำท่วมเชียงรายวิกฤติหนักในรอบหลายสิบปี เมื่อเกิดปรากฎการณ์โลกรวน ทำให้เกิดอิทธิพลพายุถล่มต่อเนื่อง ประกอบกับเมืองขยายตัว ทำให้สิ่งก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน ถนน สะพาน พอฝนตกหนัก ไหลบ่า ทำให้กลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล รวมไปถึงกรณีการปล่อยน้ำจากเขื่อนกั้นน้ำโขงตอนบนของจีนลงมา ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ทำให้หลายพื้นที่หลายอำเภอที่ตั้งอยู่ริมน้ำโขง น้ำอิง ได้รับผลกระทบหนักมากยิ่งขึ้น จนทำให้ภาคประชาชน และนักวิชาการได้ออกมาถอดบทเรียนน้ำท่วม-เขื่อนกั้นน้ำโขง โดยเผยให้เห็นว่าภัยพิบัติในรอบปีนี้ เกิดจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ชี้ระบบเตือนภัยของรัฐล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมดาวเจ็ดแฉก ที่ว่าการอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการจัดเวทีสาธารณะ “บทเรียนและข้อเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนาชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน” โดยมี นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานสถาบันองค์ความรู้โฮงเฮียนแม่น้ำของ กลุ่มรักษ์เชียงของ เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งมีผู้นำชุมชนลุ่มน้ำอิง-น้ำโขง สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง และเครือข่ายนักวิชาการแม่น้ำโขง (MAC) ประกอบด้วย ผศ.อภิสม อินทรลาวัณย์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศ.ทวนทอง จุฑาเกตุ สาขาวิชาประมง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เข้าร่วมแลกเปลี่ยน
สอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าข่า ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ตัวแทนประชาคมน้ำอิงตอนกลาง บอกเล่าให้ฟังว่า บ้านป่าข่าตอนนี้จมน้ำมานาน 1 เดือนกว่าแล้ว ชาวบ้านหลายครอบครัวยังไม่สามารถเข้าบ้านได้เลย ถือว่าเป็นปีที่หนักหนาสาหัสที่สุด ท่วมพื้นที่เกษตร ทั้งนาข้าว บ่อปลา สัตว์เลี้ยงเสียหายหมด ปีนี้หมู่บ้านเรานั้นเหมือนล่มสลายไปแล้ว
“ทุกวันนี้ ชาวบ้านตื่นมา ต้องลุ้นว่าน้ำจะขึ้นจะลงเท่าใด ผมยืนงงๆ จนถึงทุกวันนี้ ว่าเราต้องสู้แบบไหน สู้สภาพชีวิตที่เจอภัยพิบัติ สภาพอากาศ ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนมาช่วยกันคิด หาวิธีช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนี้กันแบบไหน แล้วถ้ายังมีการสร้างเขื่อนปากแบง ชุมชนของเราอยู่ไม่ได้ คงจะสลายหมด บางหมู่บ้านต้องโยกย้ายหนีกันแน่ๆ”
เตชะพัฒน์ มโนวงศ์ เลขาธิการสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง กล่าวว่า ธรรมชาติกำลังเตือนเรา ไม่ว่าจะเป็น rain bomb น้ำท่วม สาเหตุก็เพราะหลายพื้นที่ถูกบุกรุกด้วยพืชเศรษฐกิจ รวมไปถึงโครงการของรัฐที่เข้ามา ทำให้เกิดสถานการณ์ในขณะนี้ และทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ป่าหายไป ปลาลดลง จากเมื่อก่อน สมัยรุ่นพ่อแม่เราสามารถเลี้ยงดูลูกหลานได้เป็นสิบคน เพราะเรามีแม่น้ำผืนดินอุดมสมบูรณ์ แต่ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว
“ยกตัวอย่างบ้านผมอยู่ท้ายน้ำกว๊านพะเยา ได้รับผลกระทบน้ำท่วม อีกทั้งน้ำโขงยังหนุนสูง ทำให้ระบายน้ำช้าลงอีก ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากปัญหาการบริหารจัดการน้ำจากภาครัฐ มีการเปลี่ยนฝายชาวบ้านลดลง กลายเป็นประตูน้ำ ซึ่งยังส่งผลต่อการวางไข่ของปลา ทำให้พันธุ์ปลาเหลือเพียง 20 กว่าชนิด นอกจากนั้น ยังมีการทำถนน ทำรางรถไฟ ตัดผ่านแม่น้ำอีกหลายสายอีก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เราพยายามทำงานร่วมกับ อปท.ให้เขาได้รับรู้ข้อมูล และนำไปบรรจุในข้อบัญญัติท้องถิ่นรองรับ ซึ่งสำคัญมากเพื่อจัดการบริหารแก้ไข โดยมีการเชื่อมโยงองค์ความรู้กับนักวิชาการต่างๆ ด้วย เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือกัน”
บุญคง บุญวาส อดีตผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ คนแรก ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า สิ่งที่เราเคยต่อสู้คัดค้านกันมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหวั่นกลัวว่าจะเกิดผลกระทบ มาถึงตอนนี้มันได้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เราได้เห็นแล้วว่า น้ำโขงกำลังเปลี่ยนไป ความสมบูรณ์หายไป คนหาปลาหายไป ปลาหายไปเยอะ เยาวชนคนหนุ่มคนสาวก็ออกไปทำงานข้างนอกกันหมด เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะให้แม่น้ำโขง และวิถีชีวิตชุมชนที่มันเริ่มหายไป กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง
มานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านปากอิงใต้ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า บ้านปากอิงใต้ แต่เดิมเป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่ตอนนี้กลายเป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน ไม่มั่นคงอีกต่อไป เขื่อน ทำให้ระบบนิเวศและการผันผวนของพันธุ์ปลาเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
“จะเห็นว่า เขื่อนกั้นน้ำโขงตอนบนที่จีนทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไป จากแต่ก่อน มีเรือหาปลา 70-80 ลำ ตอนนี้เหลือ 7-8 ลำ แล้วยังทำให้พื้นที่ทำเกษตรริมน้ำ เกิดการพังทลายอีกด้วย นี่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนปากแบงยังได้รับผลกระทบหนักขนาดนี้ แล้วถ้าสร้างจะขนาดไหน ตอนนี้เราพยายามสร้างเป็นชุมชนพึ่งพาตนเอง พยายามผลักดันโครงการเพื่อพัฒนาตัวเอง ผลักดันให้ให้เกิดการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ที่เราพยายามคือ เพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ ปลาหลายชนิด ออกจำหน่ายไปยังชุมชนต่างๆ ตอนนี้เราทำไปได้ประมาณ 50% แล้ว”
นิรันดร์ กุนะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า ชุมชนบ้านสบกก ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนตอนบน รวมไปถึงโครงการเดินเรือพานิชย์ขนาดใหญ่ การสร้างท่าเรือฯการสร้างผนังกั้นตลิ่งพังทลาย และนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงแสน ซึ่งการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง เราไม่สามารถยังยั้งได้ ซึ่งหมู่บ้านเราได้รับผลกระทบมา 10-20 ปีมาแล้ว ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงตอนบนที่จีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ การหาปลา น้ำขึ้นลงผิดปกติ จนทำลายตลิ่งพังทรุดเสียหายหมด พืชผักที่อยู่ริมน้ำโขงไม่มีผักพื้นบ้านแล้ว การเปิดปิดน้ำเขื่อนของจีน ไม่เคยมีการแจ้งเตือนชุมชนลุ่มน้ำกันเลย ยกตัวอย่าง บ้านสบกก น้ำขึ้นคืนเดียวสูงถึง 2 เมตร ท่วมไร่ข้าวโพด พอสองวันน้ำลดแบบฮวบฮาบ ก็ทำตลิ่งพัง ดินสไลด์เสียหาย กระทบต่อเกษตรริมน้ำ
“ที่เรากังวลตอนนี้ก็คือ การสร้างเขื่อนปากแบง เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีการมาทำประชาคมหมู่บ้าน หรือเชิญเราไปร่วมเลย มารู้อีกที เขาก็ลงมือสร้างไปแล้ว ดังนั้น เราอยากจะให้เข้ามาประชาคมหมู่บ้าน ให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องการพัฒนาด้วย ว่าเขาจะสร้างเขื่อนปากแบง น้ำจะเท้อถึงไหน คนส่วนน้อยรับทราบ และกลัวว่าน้ำจะเท้อมาถึงเชียงแสน จะถึงขนาดไหน ถ้าขึ้นมาจริง ๆ สร้างเขื่อนขึ้นมาจริง จะมีการอพยพหาที่ให้ชาวบ้านได้มั้ย ถ้าสูง 11 เมตร ถึงเชียงแสน มันจะต้องเท้อเข้าแม่น้ำสาขา ไปถึงเวียงแก่น เชียงของ เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรแน่นอน แล้วรัฐบาล เอกชน เข้าไปถามประชาชนในพื้นที่ผลกระทบมั้ย และถ้ามีการเยียวยา ก็ไม่ใช่การเยียวยาระยะสั้น ไม่ใช้รักษาแบบฉีดยาแล้วกลับบ้าน เพราะผลกระทบอยู่ชั่วลูกหลานระยะยาว แต่ทุกวันนี้ มันเหมือนปิดหูปิดตาชาวบ้าน”
ชวลิต บุญทัน ตัวแทนเกษตรกรบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย บอกว่า ก่อนนั้น ในช่วงปี 2535 วิถีการหาปูหาปลายังเป็นปกติ ชาวบ้านทำประมง หาปลา หาไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขง และทำเกษตรริมน้ำโขง ในช่วงน้ำลด 2-3 เดือน ปลูกพืชผักไว้เป็นอาหาร เป็นรายได้ให้ชุมชน แต่มาถึงตอนนี้ หลังจากมีการสร้างเขื่อนตอนบนของจีน สถานการณ์ที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า มันกระทบกับวิถีชุมชนของเรา กระทบต่อระบบนิเวศของน้ำอิง น้ำโขง กระทบต่อคนเชียงรายทั้งหมดด้วย เพราะคนเชียงรายส่วนใหญ่อาศัยอาหารจากคนริมฝั่งโขง
“หลังการสร้างเขื่อนตอนบนของจีน เราต้องเจอกับปัญหาน้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ จนทำให้กระทบต่อวิถีชาวประมง จากเดิมเคยมีเรือประมงหาปลา 50 ลำ ตอนนี้เหลือไม่กี่ลำ น้ำขึ้นมา ทำให้ไกหาย น้ำใสจนผิดปกติ และที่สำคัญ พันธุ์ปลา 100 กว่าชนิดนั้นหายไป เพราะฉะนั้น เราอยากจะต้องช่วยกันส่งเสียง โหยหาอนาคตให้กับลูกหลาน เราต้องกลับมาร่วมกันแก้ไขปัญหากันด้วยตนเอง โดยตอนนี้ เราเริ่มขยับมามาให้ชาวบ้านห้วยลึก มาทำเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรกัน อย่างตอนนี้ เราก็เริ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ปลูกส้มโอปลอดสาร เพาะพันธุ์ปลาคัง ถ้าเราทำสำเร็จ ก็จะเป็นโมเดลให้กับชุมชนริมแม่น้ำโขงกันต่อไป”
ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน
ในช่วงบ่าย ได้มีเวทีการถอดบทเรียนการพัฒนาลุ่มน้ำอิง และบทสรุป ข้อเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนาชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน จากตัวแทนนักวิชาการ และตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กันด้วย
ผศ.อภิสม อินทรลาวัณย์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เราได้ก่อตั้งเครือข่ายนักวิชาการแม่น้ำโขง เหนือ-อิสาน จากการร่วมศึกษาได้เห็นความซับซ้อนปัญหา ทั้งเรื่องพลังงาน วิถีชีวิต พันธุ์ปลา จากเครือข่ายของไทยและต่างประเทศ ทั้งประเทศ อเมริกา จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ภายหลังการศึกษาสรุปได้ว่า เขื่อนไม่มีความจำเป็น เพราะไฟฟ้าแพงและไม่ใช่พลังงานสะอาด ตอนนี้เรามีไฟฟ้าล้นระบบ และมีเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ต้นทุนถูกกว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ การบอกว่าเป็นพลังงานสะอาดไม่ผลิตคาร์บอน แต่พบว่ากระทบสิ่งแวดล้อม สังคม กระทบทั้งหมดในลุ่มน้ำโขง
“ยกตัวอย่าง อเมริกา รื้อเขื่อนทิ้งเพื่อปลาแซลมอน เพราะว่ามันคืออาหารและความมั่นคงของอเมริกา ก็เหมือนกับที่ชาวบ้านเราที่พึ่งพาอาหารจากปลาแม่น้ำโขงนี่แหละ โดยใช้ระบบนิเวศเป็นฐานคิด และออสเตรเลีย ก็ยอมซื้อระบบนิเวศคืนมา ด้วยการเวนคืน หรือนิวซีแลนด์ ก็ให้สิทธิแม่น้ำ มนุษย์จะไปละเมิดแม่น้ำไม่ได้ เป็นต้น”
ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัย เราพบว่า ภัยพิบัติของประเทศไทย นอกจากภัยจากสึนามิแล้ว ภัยพิบัติอันดับต้นๆ ที่มีผู้เสียชีวิต ก็คือมาจากน้ำท่วมสูงมากและเกิดขึ้นบ่อยมาก โดยจังหวัดเชียงรายปีนี้ถือว่าเป็นฝนร้อยปี ท่วมมา 3 รอบ แต่แทบไม่มีการเตือนภัย มีการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำมาก ตอนที่กรมอุตุฯ เตือนนั้นน้ำไม่ท่วม แต่หลังจากนั้น น้ำท่วม ซึ่งการที่ไม่มีข้อมูลฝนตก ทั้งต้นน้ำกก และน้ำสายที่อยู่ในเมียนมา แนวโน้มการเกิดภัยพิบัตินั้นคาดการณ์ยาก แต่ชัดเจนว่าความรุนแรงจะหนักกว่าที่ผ่านมา การรับมือในการจัดการน้ำในอนาคต ต้องดูว่าเราอยากจะปกป้องพื้นที่อะไรเป็นสำคัญตามลำดับ ซึ่งเราทำให้น้ำไม่ท่วมนั้น ทำไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้ คือ การป้องกันและบรรเทา
“จะเห็นได้ว่า การเตือนภัยที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้รู้เพราะรัฐเตือนภัย แต่ทุกคนรู้เพราะสื่อโซเซียล รู้เพราะนักวิชาการในพื้นที่ รู้เพราะการตื่นตัวของภาคประชาชนด้วยกันเอง อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ฝายและประตูน้ำเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค เพราะไม่ใช่ว่ามีโครงสร้างแล้วจะจบ เพราะเหนือพวกนั้นคือการบริหารจัดการ เราเปิดปิดมันให้พอดีกับจังหวะทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สอดคล้องจะดีกว่านี้ได้หรือไม่ ใช้มันเถอะ ใช้มันอย่างชาญฉลาด สิ่งไหนดี เราก็รักษาเอาไว้ แต่ถ้าอันไหนไม่ดี เป็นอุปสรรค เราก็รื้อทิ้งได้ พังมันเถอะ ”ผศ.สิตางศุ์ กล่าว
ผศ.สิตางศุ์ ยังกล่าวแนะนำภาครัฐทิ้งท้ายด้วยว่า หยุดเรื่องการสร้างฝายหรือประตูระบายน้ำก่อนดีไหม แต่ไปติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ ระบบเตือนภัยก่อนดีไหม ดังนั้น กลไกภาคประชาคม จำเป็นต้องขับเคลื่อนกันต่อไป
ชี้ระบบการเตือนภัย การจัดการในช่วงวิกฤต ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า อุทกภัยครั้งนี้ เป็นภัยพิบัติที่ผสมกันระหว่างภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ (natural disaster) ผสมกับภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์ (anthropogenic disaster) ภัยพิบัติปีนี้ จึงไม่ใช่ฝนตกหนักและพายุเท่านั้น แต่มีสาเหตุมาจากมนุษย์มาผสมกันพอดี ทำให้เกิดความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ภัยพิบัติประเภทนี้ถือว่ารุนแรงมาก และมันจะเกิดรุนแรงมากขึ้น
“ยกตัวอย่างลุ่มน้ำอิงมี 40 ชุมชน เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกพื้นที่ จากกว๊านพะเยาถึงบ้านปากอิงใต้ มีการทำเหมืองที่ต้นน้ำ การสร้างเขื่อน ประตูน้ำ ถนน สะพานที่แคบ และการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ระบบ คือสาเหตุหลักของการเกิดภัยพิบัติ เพราะฉะนั้น เราต้องเรียกร้องให้รัฐเข้าจัดการเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา หลายชุมชนพยายามสร้างระบบเตือนภัยพิบัติขึ้นมาเอง อย่างเช่น บ้านวังศิลา มีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ช่วยบริหารจัดการ จนทำให้ลดความเสียหายลงได้ 50% พอช่วยตนเองแล้วยังได้ไปช่วยหมู่บ้านอื่นต่อไปด้วย หรือบ้านป่าข่า ก็ถือว่าน้ำท่วมหนักสุด แต่ชาวบ้านก็ระดมช่วยเหลือกัน นำรถแทรกเตอร์มาช่วยกู้ภัยกันเอง และที่บ้านปากอิงใต้ ชาวบ้านก็มีการเฝ้าระวังเตือนภัยรู้ล่วงหน้า 3 วัน โดยถ้าใช้ข้อมูลจากอำเภอนั้นไม่พอ ชาวบ้านจะเช็คระดับน้ำกันเอง จึงทำให้มีการอพยพชาวบ้านได้ทัน ซึ่งช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้ ซึ่งการที่เราในนามเครือข่ายนักวิชาการแม่น้ำโขง เหนือ-อิสาน ได้ดำเนินการใน 3 ชุมชนลุ่มน้ำอิง นี้ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ”
ทางออก 3 ระยะเร่งด่วน แก้ปัญหาภัยพิบัติ
ทั้งนี้ ผศ.ไชยณรงค์ ได้มีข้อเสนอเพื่อจะไปให้พ้นจากภัยพิบัติ ต้องวาง 3 ระยะเร่งด่วน โดยระยะแรก ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติ โดยต้องเน้นในเรื่องการเตือนภัย การกู้ภัย และการฟื้นฟู ซึ่งก่อนนั้น มีแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐกลับอ่อนแอ สิ่งที่เราจะทำได้คือชุมชนลุกขึ้นมาจัดการภัยพิบัติด้วยตัวเอง
ระยะกลาง จำเป็นต้องรื้อผังเมือง การวางผังชุมชน ให้มีพื้นที่รับน้ำและทางระบายน้ำ การเจาะถนนให้น้ำไหล การสร้างสะพานใหม่ที่น้ำไหลได้ การบริหารจัดการน้ำที่ดี การรื้อประตูน้ำที่สร้างความเสียหายมากกว่าประโยชน์ทิ้งเสีย
“ฝาย ประตูระบายน้ำ อันไหนไม่มีประโยชน์ก็ต้องรื้อ ถนนกั้นขวาง ถ้าทำได้ก็ต้องเจาะเป็นอุโมงค์น้ำลอดผ่านหรือไม่ก็รื้อ ผังเมือง ผังชุมชน อันไหนไปขวางทางน้ำ หรือทำให้เปลี่ยนทางน้ำก็ต้องรื้อผังกันใหม่ และในระยะยาว เราต้องมีแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ คือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการพัฒนา ถ้าไม่ปรับตัวก็จะเกิดภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ถ้าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เราเรียกร้องต้องการให้จีนปล่อยน้ำโขงลงมาให้เป็นปกติได้ไหม อย่างน้อยก็ 30% ก็จะช่วยลดปัญหาภัยพิบัติลงได้”
ควรมีวิชาการจัดการภัยพิบัติระดับประถม-มหาวิทยาลัย
นอกจากนั้น ผศ.ไชยณรงค์ ยังขอเสนอให้มหาวิทยาลัยมีวิชาการจัดการภัยพิบัติ อาจเป็นวิชาเลือก หรือวิชาเลือก รวมไปถึงเสนอให้มีการสอนสังคมศึกษา สาระภูมิศาสตร์ สำหรับเด็กประถมและมัธยม และควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาภัยพิบัติที่เข้มข้นกว่านี้ด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่ ผศ.ไชยณรงค์ เสนอ คือ ต้องแก้ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนในการจัดการภัยพิบัติ และรับรองชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ รวมไปถึงในแต่ละเมือง แต่ละชุมชนที่ประสบอุทกภัย ควรทำจดหมายเหตุของตน โดยรวบรวมข้อมูล ภาพ สิ่งของที่เป็นตัวแทนของความเสียหายจากอุทกภัย และลำดับเหตุการณ์สำคัญ ไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน โรงเรียน วัด เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาภัยพิบัติของชุมชนด้วย
ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การตรวจสอบโครงการเขื่อนปากแบง รัฐจะต้องตอบ และผู้พัฒนาโครงการต้องทำเอกสารอธิบายให้หมด ไม่เช่นนั้น กสม.จะไต่สวนสาธารณะ เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาอย่างไร ต้องดูว่ายังมีช่องว่างตรงไหน เพราะคนลุ่มน้ำโขงจะได้รับผลกระทบ และกสม. สามารถตรวจสอบนิติบุคคลคนไทยได้ ผู้พัฒนาเป็นใคร เราจึงต้องตรวจสอบ รวมทั้งเงื่อนไขธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เพราะสถาบันการเงินต่างจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กสม.จะมีหนังสือไปธนาคารทุกแห่ง ว่ามีการตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
“กรณีเขื่อนปากแบง ผู้รับสัมปทานเป็นคนไทย เพราะฉะนั้น กสม.มีสิทธิอำนาจในการตรวจสอบการทำงานว่ามีผลกระทบต่อชุมชน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เราจะศึกษาดูข้อกฎหมายระหว่างประเทศด้วยว่าจะใช้หลักความรับผิดชอบอย่างไร นอกจากนั้น เราจะใช้องค์ความรู้จากภาคประชาชน นำไปรายงานชี้แจงให้รัฐบาลได้รับรู้ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในแต่ละโครงการนี้ด้วย”
'องอาจ เดชา' หรือรู้จักในนามปากกา 'ภู เชียงดาว' เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขาเคยเป็นครูดอยตามแนวชายแดน จากประสบการณ์ทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ ทำให้เขานำมาสื่อสาร เป็นบทกวี เรื่องสั้น ความเรียง สารคดี เผยแพร่ตามนิตยสารต่างๆ เขาเคยเป็นคอลัมน์นิสต์ใน พลเมืองเหนือรายสัปดาห์, เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ผู้ไถ่, ประชาไท, สานแสงอรุณ ฯลฯ มาช่วงเวลาหนึ่ง . เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ในยุคก่อตั้ง ปี 2547 และในราวปี 2550 ได้ตัดสินใจลาออกงานประจำ กลับมาทำ "ม่อนภูผาแดง : ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว" เขาเคยเป็น บ.ก.วารสารผู้ไถ่ ได้ช่วงเวลาหนึ่งก่อนวารสารปิดตัวลง, ปัจจุบัน เขายังคงเดินทางและเขียนงานต่อไป เป็นฟรีแลนซ์ให้ ประชาไท และคอลัมนิสต์ใน Lanner