เรื่องและภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว
“เชียงใหม่มีร้านแผ่นเสียงเยอะ แล้วทำไมไม่มี Festival เป็นของตัวเองบ้าง”
นี่เป็นคำถามที่ติดค้างอยู่ในใจของ ซี-สิโมนา มีสายญาติ และ ไมลส์-ดนตรี ศิริบรรจงศักดิ์ ก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนาไอเดียและชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมลงแรง จนเกิดเป็น ‘Poy Festival’ หรือ ‘ปอยเฟสติวัล 2024’ เทศกาลแผ่นเสียงและดนตรีที่รวมเหล่าคนรักในเสียงเพลงและวัฒนธรรมแผ่นเสียงจากทั่วทุกมุมโลก ที่จะจัดขึ้น 14-15 ธันวาคมนี้แล้ว ณ บ้านฟ้าฮ่าม เชียงใหม่
Poy ในที่นี้มาจากคำว่า ‘ปอย’ ในคำเมืองเราจะรู้กันว่าคำนี้มีความหมายว่า ‘งานรื่นเริง’ (นอกเสียจากที่จังหวัดลำปางจะเป็นในอีกความหมาย) นอกจากแค่เป็นเทศกาลสำหรับให้คนรักแผ่นเสียงมาเจอกันแล้ว ยังมีการแสดงสดจากศิลปินมากหน้าหลายแนว รวมไปถึงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ทางดนตรี เพื่อสร้างความรื่นเริงหรรษาให้กับชุมชนคนรักเสียงเพลงไปด้วยกัน
ทั้งสองคนเริ่มเก็บแผ่นเสียงกันตั้งแต่ตอนไหน
ไมลส์ : เราคลุกคลีกับดีเจและแผ่นเสียงอยู่แล้ว เริ่มเก็บสะสมแผ่นเสียงจริงจังก็ช่วงโควิดนี่แหละ เห็นหลายๆ คนก็เริ่มเก็บแผ่นเสียงช่วงนั้นเหมือนกัน
ซี : วงการแผ่นเสียงเริ่มกลับมาช้าๆ แต่พอโควิดก็กลับมาค่อนข้างบูม
ไมลส์ : แต่ก็ถือว่ากราฟมันลงนิดหน่อยนะ แต่คนยังซื้ออยู่ วงใหม่ๆ ก็ยังสนใจที่จะผลิตแผ่นเสียงออกมา เหมือนว่าพอสมัยนี้ทุกอย่างมันเป็น Streaming คนก็ไม่รู้จะหยิบจับอะไร ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราชอบและอยากสนับสนุนวงนี้จัง
เราสะสมแผ่นเสียงมันก็เป็น Format ที่ Analog ที่สุด แล้วก็เสียงดีที่สุด และเก็บได้นานที่สุด ถือว่าเป็น Format ที่อยู่มานานมากๆ ของวงการดนตรี
ซี : ส่วนเราเริ่มสะสมเพราะพ่อ สะสมมาตั้งแต่เรียนปี 1 แล้ว แผ่นเสียงสำหรับเรา ทุกแผ่นเราจำได้ว่าได้มาจากไหน เหมือนมันมีเรื่องราวอยู่ในนั้น พอเราฟังเพลงใน Streaming เราก็ชอบนะ แต่เราจำเรื่องราวไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่พอเป็นแผ่นเสียงแต่ละแผ่นที่เราซื้อ มันบอกถึงเรื่องราวและยุคสมัยว่าแผ่นนี้ซื้อตอนไหน นอกจากจะได้สะสมนักดนตรีที่เราชอบแล้ว เรายังได้ Reminder ตัวเองด้วย
แล้วเรากับพี่ไมลส์ก็ชอบไปคอนเสิร์ต หรืองาน Festival มาก เวลามีวงอะไรมาเล่นที่เชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ เรากับพี่ไมลส์ก็จะไปดูกัน อีกอย่างคือพี่ไมลส์มีเพื่อนเปิดร้านแผ่นเสียงในเชียงใหม่เยอะ เลยคุยกันว่าเชียงใหม่มีร้านแผ่นเสียงเยอะ แล้วทำไมไม่มี Festival เป็นของตัวเองบ้าง
ก็เลยมาจัดปอยเฟสกัน?
ไมลส์ : มันจะมีวัฒนธรรมหนึ่งคือ Record Store Day เป็นงานที่ร้านแผ่นเสียงจะมาเปิดขาย เอาแผ่นหายากมาโชว์ มีแผ่นพิเศษเฉพาะอีเว้นท์นี้ มันจะอยู่ในช่วงเมษายนของทุกปีทั่วโลก คือแล้วแต่ว่าใครจะจัดก็ได้ ร้านแผ่นเสียงก็จะขายแผ่นในวัน Record Store Day ส่วนศิลปิน กับค่ายเพลงก็จะทำแผ่นพิเศษออกมาในวันนั้นเหมือนกัน มันก็จะผลิตจำนวนน้อยๆ แล้วก็หายาก คนเล่นแผ่นเสียงก็จะเฝ้ารอวันนี้
เราก็คุยกับร้านหนุ่มเท้าไฟ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำ Record Store Day ที่เชียงใหม่ แล้วก็จะมีชาวแก๊งกรุงเทพฯ ที่มาจอยกันบ้าง
ซี : พอคุยกับแก๊งดีเจกับร้านแผ่นเสียงแล้ว ก็เลยคิดว่าเราอยากจัดเทสกาลอะไรแบบนั้นช่วงสิ้นปีบ้าง ที่เป็น High Season เพราะ Record Store Day มันเป็นช่วงเดือนเมษายน เพราะเราอยากให้คนมาแล้วได้มาเห็นว่า Culture ของวงการแผ่นเสียงในเชียงใหม่มันเป็นยังไง ประกอบกับมีคนที่มาสนับสนุนไอเดียของพวกเราปอยเฟสเลยเกิดขึ้น
ไมลส์ : แต่เราก็กังวลอยู่ดีว่าไหนๆ ก็จัดงานแล้ว ก็อยากให้มีดนตรีสดด้วย อยากชูวงดนตรีในเชียงใหม่ ซึ่งหลายวงก็เติบโตไปแล้ว และก็มีแผ่นเสียงของตัวเองซึ่งเราก็น่าจะเอามาเปิดกันได้
ซี : มันก็เลยเกิดมาเป็นเทศกาลแผ่นเสียงและดนตรี ที่ในงานก็จะมีทั้งดนตรีสด , ตลาดแผ่นเสียง, DJs รวมไปถึง workshop และ talk เกี่ยวกับดนตรีและแผ่นเสียงจากทั่วทุกมุมโลก
ซึ่งเราก็นำเสนอในรูปแบบที่คนมาร่วมงานสามารถมาเลือกซื้อแผ่นเสียงได้ ไม่ว่าจะเป็นมือ 1 หรือ มือ 2 โดยตรงจากร้านแผ่นเสียงเอง ค่ายเพลง หรือกับมือศิลปินเองด้วย
Line up ของศิลปินที่มาเล่นในงานก็จะมีทั้งเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ที่หลายคนน่าจะชอบกัน อย่าง Solitude Is Bliss, Common People Like You, KIKI, Folk9, Yonlapa, คณะสุเทพการบันเทิง, Migrate To The Ocean, Paradise Bangkok Molam International Band และ Nenashi จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลายศิลปินมีแผ่นเสียงเป็นของตัวเองด้วย
สร้างพื้นที่ให้คนมาจอยกันด้วยแบบนี้ใช่ไหม
ซี : เหมือนฟังเพลงใน Streaming เราก็ไม่ได้เจอคนที่เรารู้จัก คนที่ชอบฟังเพลงเหมือนกัน แต่ถ้ามาเจอร้านแผ่นเสียง เราจะได้พูดคุยกันถึงเพลง ศิลปินที่ชอบ แถมยังได้รับคำแนะนำจากร้านอีก
ไมลส์ : เพราะร้านแผ่นเสียงบางร้านจะมีของสะสมแนวพิเศษของเขา บางร้านชอบ Reggae บางร้านชอบร็อคยุค 70s ผู้ฟังหลายคนก็จะรู้ในทันทีว่าถ้าอยากไปหาเพลงใหม่ๆ ศิลปินใหม่ๆ ในแนวทางแบบนี้ ต้องไปเข้าหาที่ร้านแผ่นเสียงที่เขาต้องการ
ซี : อีกอย่างคือเราก็เบื่อที่จะเดินทางไปดูคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ หรือที่ไหนแล้ว เราคิดว่าเชียงใหม่มันเหมาะกับทั้งภูมิประเทศ สังคม Culture ทุกอย่าง เชียงใหม่มันมีเฟสติลวัลอยู่แล้ว แต่แบบที่เราอยากให้มันมียังไม่มี เดี๋ยวเราทำเองก็ได้
คนเชียงใหม่มีวัฒนธรรมการฟังแผ่นเสียงยังไง
ไมลส์ : เอาจริงๆ สมัยก่อนยุคดิสโก้ ช่วง 80s-90s ก็คือดีเจทุกคน เปิดแผ่นเสียงล้วนนะ แต่พอ Format แผ่นเสียงเริ่มหายไป คนเริ่มฟัง CD ฟัง MP3 พฤติกรรมเปลี่ยน คนจะไปฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงไม่มีละ ยากละ
แต่ว่าก็จะมีบ้าง ช่วง 4-5 ปีมานี้ Listening Bars ที่โตเกียวมันบูมมั้ง ที่ยุโรป อเมริกาก็บูม อารมณ์แบบในบาร์ญี่ปุ่น อยู่คนเดียว เปิดแผ่นเสียงแจ๊ซ System ดีๆ ให้คนมานั่งฟังเพลง คุยกันเบาๆ จิบค็อกเทล
อันนี้เป็นการสร้างพื้นที่ขึ้นมาเหมือนกัน แล้วก็ได้สัมผัสบรรยากาศ แต่ในเชียงใหม่ก็มีหลายร้านนะแบบนี้ อาจจะเป็นคาเฟ่ หรือบาร์ ที่เริ่มเอาแผ่นเสียงมาจัด Listening
ซี : ถ้าพูดถึงดนตรีสด เชียงใหม่ก็มีร้านดนตรีสดเยอะมาก เวลาคนมาเที่ยวเชียงใหม่ก็คือเหมือนมาฟังดนตรีสดด้วยนะ ค่ายเพลงก็มี ศิลปินเก่งๆ ที่เชียงใหม่ก็เยอะมาก
เห็นว่ามีการจัด Poy Fest Listening party SIDE กันด้วย ผลตอบรับดีไหม
ไมลส์ : เราตระเวนไปตามร้านขายแผ่นเสียงต่างๆ เพื่อที่จะโปรโมทร้านด้วย แล้วก็ช่วยกระจายข่าวไปด้วย ว่าในแต่ละที่ที่เราไปเค้ามีการเปิดแผ่นเสียง อย่าง 1st Press ก็จะเป็น City Pop แต่ละที่จะมีคาแรคเตอร์และลูกค้าประจำของเขา แล้วก็จะมีคาเฟ่ อย่าง Brewginning, SELF แล้วก็หนุ่มเท้าไฟ
ในอนาคตเราก็จะจัดอะไรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ระหว่างปีด้วย เพื่อที่จะให้แผ่นเสียงได้กลายเป็น Norm ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องที่เข้าถึงยาก
ปีนี้เชียงใหม่มีงานดนตรีเยอะมาก เห็นโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ยังไง
ซี : Economy ในเชียงใหม่มันค่อนข้างแย่ ที่ผ่านมาเราเห็นร้านปิด ร้านเซ้งไปเยอะ คนใช้จ่ายก็น้อยลง แต่เราก็คิดว่ามันก็มีช่องทางของมัน เพราะว่า Music and Culture ในเชียงใหม่มันก็ใหญ่มากๆ
ไมลส์ : มันมี Music Festival ที่เอาศิลปินที่คนรู้จักมาแน่นอน แบบว่าติดชาร์ต 10 อันดับ ยังไงคนทั่วไป 100 คน รู้จัก 70 คนแน่ๆ แต่ของเราก็อาจจะ Niech มากกว่านั้น
อันนี้ก็คือความท้าทายของเราด้วย เลือกวงที่ไม่ได้เป็น Headliner ใหญ่ๆ หรืออยู่ค่ายดัง เราเลือกที่มัน Niech เพื่อที่จะปูทางแนวดนตรีต่อ
ซี : แต่ก็มีพี่เมธ (สุเมธ ยอดแก้ว) Minimal Records มาช่วย
ไมลส์ : เพราะเราไม่มีประสบการณ์ขนาดนั้น ในการดีลกับค่ายเพลง เพราะเราสองคนก็โนเนมมาก
ซี : แล้วพี่เมธเขาก็มี insight ที่จะมองว่าวงนี้เหมาะกับงานเรา
แสดงว่าปอยเฟสคนมาช่วยเยอะมาก
ซี : เยอะ พี่เมธก็จะดูเรื่องวงดนตรี ภูริญ (ภูริญ ไชยต๊ะ) และพี่หนวด (ชัยพร โสดาบรรลุ) จากร้านหนุ่มเท้าไฟ ก็ดูเรื่องร้านแผ่นเสียงกับดีเจแผ่นเสียงที่จะมาเปิด ร้าน Nuii และ Fung record bar จะดูเรื่องร้านอาหาร ทีมโค้ก (ชลธิชา นาคะเกษียร) กับโด่ง (ศักดิ์รพี รินสาร) มาดู Workshop และอีกหลายคนในชุมชนดนตรีและแผ่นเสียงมาช่วยจัด
ปอยเฟสมันเป็นงานกลุ่ม ทำกันสองคนไม่ได้ ที่เราใช้คำว่างานปอย เพราะมันเหมือนกับปอยหลวง ทุกคนมาม่วนมาจอยกัน มีอะไรก็เอามารวมกัน
ความจริงเราก็เรียกว่า Indiependence Music Festival ก็ได้เพราะเราไม่ได้มีสปอนเซอร์หลัก ไม่ได้มี Agenda ในการขายของขนาดนั้น
แล้ว Poy Fest มีจุดเด่นหรือข้อแตกต่างกับเทศกาลดนตรีอื่นๆ ในเชียงใหม่ยังไง
ไมลส์ : สิ่งที่ต่างกันคือ เราอยากรวมวัฒนธรรมการฟังที่หลากหลาย ไม่ต้องเป็นแผ่นเสียงก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง ซีดี หรือเทป ชอบฟังเพลงเฉยๆ ฟังผ่าน Streaming ก็ได้
เราเลือกวงดนตรีมาจากทั้งเชียงใหม่และกรุงเทพฯ แล้วก็มีร้านค้าขายซีดี แผ่นเสียง และจัด Talk เพื่อที่จะให้คนหน้าใหม่เข้ามาก็ได้ ซึ่งเขาอาจจะไม่รู้จักเครื่องเล่นแผ่นเสียงเลยว่ามันทำงานยังไง
ซี : เรามี Workshop คุ้ยแผ่นเสียง โดยทีมดีเจที่เขาไปคุ้ยทั่วโลก วิธีการเลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียงมือสอง เลือกกันยังไง
เหมือนเป็นทั้งพื้นที่ที่คนมาสนุกกัน แล้วก็เป็นพื้นที่ให้คนที่เริ่มต้นมาเรียนรู้ด้วยงี้
ซี/ไมลส์ : ใช่
ซี : เป็นการหว่านล้อมให้คนเข้ามา
ไมลส์ : ความจริงเราก็ x กับ TEMPO.wav ด้วยนะ เขาก็ดันไปในทาง Media ในเชียงใหม่ เราก็จัดไปทาง Radio และคอนเสิร์ต
ซี : ภาพใหญ่ที่มองของปอยเฟส ก็คือ อยากจะช่วยผลักดันให้ดนตรี Original Chiangmai มี Platform ของมัน
ในอนาคตมีอะไรสนุกๆ ให้รอติดตามไหม
ซี : ปีหน้าจัดอีกรอบ 100 %
ไมลส์ : งานปอยมันมาพร้อมกับโปรเจกต์ทำแผ่นเสียงอีกโปรเจ็คนึง เป็นแผ่นเสียงที่รวมศิลปินในเชียงใหม่ ปีแรกเราทำได้ 12 วง มีทั้งเพลงเก่า เพลงใหม่ เป็นศิลปินในเชียงใหม่หมดเลย แล้วก็จับมารวมเพื่อที่จะขายในงานปอย หลังจากนั้นก็จะขายตามร้านแผ่นเสียง อันนี้เป็นโปรเจกต์ที่คิดว่าอยากทำต่อ
ซี : แผ่นเสียงชื่อว่า ‘เชียงใหม่ซาวด์’ เป็นแผ่นเสียงที่มีวง 12 วง เป็นวงเชียงใหม่ที่มีคุณภาพเยอะมาก แล้วก็ Iconic ซึ่งยังไม่เคยผลิตมาเป็นแผ่นเสียง พี่ไมลส์ก็เลยไป Curet แล้วก็รวบรวมขอซื้อลิขสิทธิ์มาเเพื่อรวบรวมเอามาเป็นแผ่นนี้ เราอยากทำให้มันเหมือนเป็นของฝากของคนเชียงใหม่
สมมติว่าฝรั่งมาหรือคนมาเที่ยวเชียงใหม่ แล้วไปร้านแผ่นเสียง เห็นอันนี้แล้ว เฮ้ย! มันต้องซื้อกลับไปว่ะ เพราะมันเป็นการแนะนำเชียงใหม่ในมุมมองของเสียงดนตรี
ไมลส์ : มีทั้ง Folk Electronic ไปจนถึง Rock ซึ่งในปีหน้าก็อยากทำอีก
แล้วก็อาจจะมีโปรเจกต์ที่ชวนวงดนตรีมาทำแผ่นเสียงด้วยกัน
ซี : ถ้าศิลปินเขาปล่อยแผ่นเสียงเมื่อไหร่ ก็จะไปทำ Listening Party ให้เขา บวกกับ Record Store Day สิ้นปีก็จะมีงานปอยต่อ
ไมลส์ : หรืออย่างเช่น มีวงเชียงใหม่ที่ทำแผ่นเสียงแต่ยังไม่ออก ก็ให้มาออกที่งานปอย มันก็จะทำให้งานปอยพิเศษขึ้น คนก็จะมาซื้อที่นี่ที่แรก ได้ลายเซนต์หรือราคาพิเศษด้วย นี่คือหมุดหมายที่เราอยากทำให้เกิด
งั้นฝาก Poy Festival ครั้งนี้หน่อย
ไมลส์ : ถ้าเป็นคนที่ฟังแผ่นเสียง ก็ถือว่าคุ้มมาก เชิยชวนเลย แล้วก็ได้ส่วนลดที่จะเอาไปซื้อในงานด้วย
ซี : จัดที่บ้านฟ้าฮ่าม Ping River เป็นโลเคชั่นใหม่อยู่ริมแม่น้ำปิงเลย สวยมาก เป็น Outdoor ริมแม่น้ำ เย็นสบาย มีอาหารครบ อยู่ยาวๆ บ่ายสองถึงเที่ยงคืน 14-15 ธันวานี้
สามารถซื้อบัตร ทั้งในรูปแบบ 1 DAY Pass ในราคา 500 บาท และ 2 DAY Pass ในราคา 800 บาท ได้ที่เว็บไซต์ https://ticket.eventpass.co/en/t/poyfest
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ