มูลนิธิโครงการหลวงเลอตอ คือการต่อยอดการทำงานของมูลนิธิโครงการหลวง อันเป็นการตั้งศูนย์มูลนิธิโครงการหลวงศูนย์แรก ภายใต้รัชสมัยของพระบาทพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมูลนิธิโครงการหลวงเลอตอตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านเลอตอ หมู่ที่ 13 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
อคติเกี่ยวกับชาวเขา
พื้นที่บ้านเลอตอถูกให้คำอธิบายโดยมูลนิธิโครงการหลวง ว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ มีฐานะยากจน ดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่น รวมทั้งเริ่มมีการบุกรุกขยายพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพด มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยเขียนวัตถุประสงค์ของมูลนิธิไว้ว่าต้องการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งคำอธิบายดังกล่าวคือคำอธิบายที่ตั้งอยู่อคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงหรือชาวเขา อันให้ภาพชาวเขาว่าเป็นผู้ผลิตและค้ายาเสพติด ไปจนถึงเป็นกลุ่มคนที่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย พร้อมกันนี้ยังให้คำอธิบายต่อไปอีกว่าปัญหาของชาวเขาเหล่านี้ คือ “การขาดความรู้” จนนำไปสู่การรุกป่าและปลูกฝิ่นในท้ายที่สุด
หลายคนคงเคยได้ยินข่าวจำพวกชาวเขาเผาป่า ชาวเขารุกป่า ชาวเขาปลูกฝิ่น หรือกระทั่งชาวเขาขนยาเสพติด พร้อมกับที่ทั้งรายงานข่าว สารคดี งานศึกษา ไปจนถึงละครโทรทัศน์มักฉายภาพกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงหรือชาวเขา ว่าพวกเขามีฐานะยากจน ดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่น รวมทั้งเริ่มมีการบุกรุกขยายพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพด มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือกระทั่งเป็นกลุ่มที่ขนส่งยาเสพติด ซึ่งเหล่านี้คือร่องรอยของอคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง
รศ. ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ชี้ให้เห็นถึงอคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ผ่านบทความชื่อ “วาทกรรมว่าด้วยชาวเขา” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โดยวาทกรรมชาวเขา คือคำอธิบาย มุมมอง และแนวทางที่รัฐและสังคมใช้ในการทำความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงด้วยมุมมองเชิงลบ จนได้ประกอบสร้าง “ปัญหาชาวเขา” ขึ้นมา จนนำมาสู่การผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเหล่านี้กลายเป็นปัญหาของรัฐ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้สร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐ ในการจำกัดพื้นที่และพฤติกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยเครื่องมือหนึ่งของรัฐคือ การส่งมอบความรู้
ในส่วนของการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิโครงการหลวง การส่งมอบความรู้แก่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงถือเป็นกิจกรรมสำคัญ เห็นได้จากการทำการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิโครงการหลวง ทั้งหมดเป็นการวิจัยเกี่ยวกับพืชพันธุ์และวิธีการทางการเกษตร โดยทางมูลนิธิโครงการหลวงได้อ้างว่า ต้องการให้ความรู้ดังกล่าวจะช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม และช่วยชาวไทย โดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และต้นน้ำลำธาร กำจัดการปลูกฝิ่น สุดท้ายเพื่อรักษาดินและใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง ให้ป่าอยู่ในส่วนที่เป็นป่าและทำไร่ ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูกอย่าให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ้งกันและกัน คำอธิบายดังกล่าวคือข้อพิสูจน์สำคัญที่ว่า มูลนิธิโครงการหลวงดำเนินกิจกรรมบนอคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และยังเป็นหน่วยงานสำคัญที่หล่อเลี้ยงอคติดังกล่าวให้ดำรงอยู่ในสังคมไทย
มูลนิธิโครงการหลวง การประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์ในคราบของการพัฒนา
แรกเริ่มนั้น มูลนิธิโครงการหลวงเริ่มดำเนินการกิจกรรมตั้งปี พ.ศ.2512 ในช่วงเวลาดังกล่าว โครงการยังดำเนินในรูปแบบของโครงการภายใต้ความประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 โดยโครงการดังกล่าวดำเนินงานด้วยเงินบริจาคส่วนพระองค์และงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ พร้อมกับบุคลากรส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่อาสาสมัครมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้สถาบันของรัฐเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม เราต้องคำนึงว่าการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิโครงการหลวงเกิดขึ้นภายใต้บริบทของสงครามเย็น ที่ภายในรัฐไทยยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อแย่งชิงมวลชนระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ด้วยบริบทดังกล่าวส่งผลให้เกิดการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ไทยในฐานะผู้นำการต่อต้านการลุกคืบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนที่ว่าคือการประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์ในฐานะแกนกลางของความเป็นไทย และเป็นสถาบันหลักในการนำพาความเจริญรุ่งเรืองเข้ามาสู่สังคมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่โบราณกาล โครงการเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาสงครามเย็นและช่วงเวลาต่อมา ซึ่งหนึ่งในโครงการการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวคงหนีไม่พ้นมูลนิธิโครงการหลวงเป็นแน่ นั่นเองที่อาจทำเราอนุมานได้ว่าวัตถุประสงค์มูลนิธิโครงการหลวงคือ “การประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์” มากกว่าจะมุ่งพัฒนาพื้นที่และกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง
ภายหลังจากปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา มูลนิธิโครงการหลวงค่อย ๆ แปลงรูปการณ์ดำเนินโครงการมาสู่สถาบันของภาคเอกชน ทั้งรูปแบบบริษัทและมูลนิธิ สาเหตุหลักของการแปลงรูปโครงการหลวงให้เป็นสถาบันเอกชนคือ เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากตามระเบียบของสถาบันราชการ โดยเฉพาะระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการในพระราชดำริดำเนินไปได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยระเบียบราชการและข้อจำกัดด้านกฎหมายอื่น ๆ
แม้การดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ จะอยู่ในรูปของการดำเนินโครงการตามรูปแบบมูลนิธิซึ่งเป็นสถาบันแบบเอกชนที่มิได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ แต่การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการตามพระราชดำริมูลนิธิเหล่านี้ยังคงได้รับการสนับงบประมาณจากสถาบันของรัฐอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงงานภายใต้โครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ หรือออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมของมูลนิธิโครงการหลวงในการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ หรือการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนให้กับมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์มูลนิธิต่าง ๆ ปีละหลายร้อยล้านบาท
สำหรับการอุดหนุนงบประมาณให้แก่มูลนิธิโครงการหลวงนั้นมักทำในรูปแบบของการให้เงินอุดหนุนทั่วไปผ่านทางหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ซึ่งเงินอุดหนุนทั่วไปนั้นมีความแตกต่างจากงบประมาณประเภทอื่น ๆ อย่างงบประมาณการดำเนินการ หรืองบลงทุน เพราะตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณนั้น เงินอุดหนุนทั่วไปไม่ได้มีการกำหนดกิจกรรมหรือโครงการที่จะต้องใช้เงินไว้อย่างชัดเจนเป็นเพียงการตั้งกรอบเอาไว้กว้าง ๆ ว่ารัฐบาลจะใช้เงินอุดหนุนหน่วยงานนั้น ๆ ปีละเท่าไหร่ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบของเงินอุดหนุนทั่วไปนี้ รัฐบาลมักจะใช้กับหน่วยงานของรัฐประเภท องค์การมหาชนที่ต้องการความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการใช้จ่ายงบประมาณ อย่างไรก็ตามความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเงินอุดหนุนทั่วไปที่ให้กับองค์การมหาชน และเงินอุดหนุนทั่วไปที่ให้กับมูลนิธิตามพระราชดำริ คือประเด็นด้านความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ กล่าวคือ องค์การมหาชนต้องถูกกำกับโดยพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการใช้จ่ายและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณอย่างชัดเจน โดยต้องรับการตรวจสอบบัญชีการเงินสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในทุกปี นอกจากนี้ ยังต้องมีการทำรายงานประจำปีเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีที่มีหน้าที่หลักกำกับดูแลองค์กรมหาชนนั้น ๆ รวมไปถึงการที่ต้องเข้าชี้แจงผลและแผนการใช้จ่ายงบประมาณต่อรัฐสภาในวาระของการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวง อันเป็นมูลนิธิโครงการตามพระราชดำริ ถือได้ว่าเป็นสถาบันเอกชนไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้ระเบียบและข้อบังคับดังกล่าวที่ว่ามานี้
อีกทั้ง ยังมีการให้อำนาจในการปกครองแก่เจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวง เช่น การประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ให้มีอำนาจในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและมีอำนาจในการปฏิบัติงานตามระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชอีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่ามูลนิธิโครงการหลวงนี้เป็นองค์กรในรูปแบบคล้ายหน่วยงานของรัฐเฉพาะในส่วนคุณต่อองค์กร อาทิเช่น การได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีเพื่อมาใช้ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ การเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย/ระเบียบของสถาบันของรัฐ แต่รูปแบบในการบริหารกลับเป็นรูปแบบสถาบันเอกชน อาทิเช่น ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการงบประมาณ การมิต้องรายงานผลการดำเนินกิจการหรือรายงานการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งหมดล้วนเป็นไปอย่างอิสระและไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าชี้แจงต่อรัฐสภาเช่นเดียวกับสถาบันเอกชนอื่น ๆ ที่รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี เป็นผลให้ไม่สามารถติดตามตรวจสอบการดำเนินการใด ๆ ของโครงการและมูลนิธิได้โดยง่าย เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลมูลนิธิตามพระราชดำริเห็นว่าข้อมูลของมูลนิธิมิใช่ข้อมูลสาธารณะ แต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้ง ๆ ที่รับงบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี
ในปี พ.ศ. 2563 มูลนิธิโครงการหลวง รายงานผลการขายสินค้า ว่ามีรายรับมากถึง 1,486 ล้านบาท ต่ำกว่าต้นทุนการขายสินค้าที่ 1,626 ล้านบาท และเมื่อรวมรายจ่ายด้านอื่น ๆ แล้วจะพบว่ามูลนิธิมีรายจ่ายทั้งสิ้น 1,935 ล้านบาท แต่มูลนิธิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากถึง 535 ล้านบาท ทำให้เมื่อรวมรายได้สุทธิแล้ว มูลนิธิไม่ได้ขาดทุนแต่อย่างใด แต่หากมูลนิธิไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลแล้วมูลนิธิจะมีรายได้ขาดทุนมากกว่า 200 ล้านบาท
จากผลการดำเนินกิจการของมูลนิธิโครงการหลวง เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใด คณะรัฐมนตรีจึงให้การสนับสนุนงบประมาณกับมูลนิธิโครงการหลวงมากถึง 535 ล้านบาท แต่กลับให้งบประมาณสนับสนุน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาพื้นที่สูงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขา แต่รัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรีกลับจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสถาบันวิจัยดังกล่าวเพียงปีละประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้กับมูลนิธิโครงการหลวง ทั้งที่มูลนิธิดังกล่าวดำเนินการ ในรูปแบบของสถาบันเอกชนที่หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีก็อาจขาดทุนอย่างมากจนมิอาจดำเนินกิจการต่อได้ และยังมูลนิธิยังมิเคยแสดงผลประเมินการดำเนินโครงการพัฒนาใด ๆ เลยว่าโครงการดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิจริงหรือไม่ มีเพียงการประชาสัมพันธ์เพียงด้านเดียวเกี่บวกับการดำเนินโครงการของมูลนิธิ รายงานการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิโครงการหลวงที่เปิดเผยออกมาก็มีเพียงรายการวิจัยด้านพืชพันธุ์และสัตว์อย่างเดียว
จากการสำรวจความเป็นมาของมูลนิธิโครงการหลวงและผลการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงที่ผ่านมาจะพบว่า การดำเนินโครงการของมูลนิธิดังกล่าวดำเนินกิจการขาดทุนมาจนถึงปัจจุบัน เป็นที่แน่ชัดว่าหากไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีมูลนิธิโครงการหลวงจะมิสามารถดำเนินกิจการมาได้อย่างต่อเนื่องยาวนานถึงปัจจุบัน และมูลนิธิโครงการหลวงยังมิเคยสำรวจ/ประเมินผลการดำเนินโครงการพัฒนาของมูลนิธิแต่อย่างใด มีเพียงการประชาสัมพันธ์พระมหากรุณธคุณของสถาบันกษัตริย์เพียงด้านเดียว พร้อมกับเมื่อสำรวจคณะกรรมการบริหารของมูลนิธิพว่า บุคคลทุกคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการล้วนเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ ผู้เขียนหนังสือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำฯ สำหรับ” นำเสนอโครงการตามพระราชดำริในฐานะโครงการเพื่อสร้างอำนาจนำในสังคมไทย ผ่านการนำเสนอภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ไทยในฐานะผู้นำพาการพัฒนาเข้าสู่สังคมไทยและผู้ที่มีเมตตาต่อประชาชนและชาวเขา กระทั่งสถาบันกษัตริย์สามารถครองอำนาจในทางสังคมจนนำมาสู่การมีอำนาจนำในทางการเมือง จนสถาบันกษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล กล่าวโดยสรุปคือ โครงการตามพระราชดำริโดยนัยแล้วมิใช่โครงการที่มุ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและชาวเขาอย่างแท้จริง หากแต่เป็นโครงการเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ให้ได้มาซึ่งอำนาจนำในทางสังคม
อาสา คำพา ศึกษาการครองอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับชลิดา หากแต่อาสาศึกษาการครองอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ ผ่านการสร้างและขยายเครือข่ายทางสังคมในหมู่ชนชั้นนำด้วยกัน โดยมีโครงการตามพระราชดำริเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเครือข่ายในหมู่ชนชั้นนำ จนท้ายที่สุดการสร้างเครือข่ายทางสังคมในหมู่ชนชั้นสูงของสถาบันกษัตริย์ผ่านโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ผลักดันให้สถาบันกษัตริย์กล้าวขึ้นมามีอำนาจนำในทางการเมืองในปี พ.ศ.2535
หากอ้างอิงตามการศึกษาของชลิดาและอาสา การดำเนินกิจการของมูลนิธิโครงการมุ่งการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์นักพัฒนาของสถาบันกษัตริย์มากกว่าจะมุ่งดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างที่กล่าวไว้ในวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เห็นได้จากการขาดผลการประเมินการดำเนินโครงการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงการประชาสัมพันธ์ผลงานโครงการเพียงด้านเดียวแต่ขาดการตรวจสอบ
มูลนิธิโครงการหลวงเลอตอเองก็มิต่างกับมูลนิธิโครงการศูนย์อื่น ยังคงมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์ เราจะเห็นความพยายามในการประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์ได้จากทั้งเว็บไซด์ของมูลนิธิโครงการหลวง ข่าวในพระราชสำนัก ไปจนถึงเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ฉายในโรงภาพยนตร์ โดยในการฉายเพลงสรรเสริญพระบารมีจะมีการเผยให้เห็นการประชาสัมพันธ์มูลนิธิโครงการหลวงเลอตอ ในฐานะหนึ่งในโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ท้ายสุดผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ นพณัฐ มีรักษา, ธรรมวิทย์ ศิริรัชนีกร และวิจักขณ์ฤทธิ์ จิวจินดา ในบทความชื่อมูลนิธิตามพระราชดำริกับการสร้างบทบาทนำ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ที่ว่ามูลนิธิต่าง ๆ ที่จดจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการตามพระราชดำริ มูลนิธิเหล่านี้ขาดความโปร่งใสเป็นอย่างมากทั้งที่มูลนิธิได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและได้รับงบประมาณในมูลค่าที่สูงมากเมื่อเทียบกับสถาบันเอกชนด้วยกัน ทั้งนี้การดำเนินการที่ขาดความโปร่งใสก็ยังอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมูลนิธิเหล่านี้มักกล่าวอ้างดำริของพระมหากษัตริย์ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตลอดมา และหลายมูลนิธิมีการเชิญพระราชนุวงศ์เข้ามานั่งเป็นตำแหน่งกรรมการระดับสูง หากเกิดความสงสัยในความโปร่งใสของการดำเนินงานของมูลนิธิเหล่านี้ ผลกระทบอาจส่งไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ดังนั้นข้อเสนอการยุบมูลนิธิโครงการหลวงเลอตอละมูลนิธิโครงการหลวงอื่น ๆ และคืนภารกิจให้กับสถาบันของรัฐที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงอาจเหมาะสมที่สุด
พร้อมกันนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอให้พวกเราทำความเข้าใจการพัฒนาเสียใหม่ เนื่องจากการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงและพื้นที่อื่น ๆ ที่ผ่านมา เรามักตกกับดักอคติที่มีต่อกลุ่มคนเหล่านั้น จนนำไปสู่การประกอบสร้างให้พวกเขาเป็น “ปัญหา” ที่ต้องถูกพัฒนา หากเราอาจลองคิดถึงการพัฒนากันใหม่ ในฐานะของการทำงาน “ร่วมกัน” ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม อาจเป็นการเปิดรับฟังเสียงของผู้คนเหล่านั้น ทำความเข้าใจเสียงเหล่านั้น ไปจนถึงการต่อรองกันบนฐานของการคำนึงถึงสิทธิของพวกเขา แน่นอนการทำความเข้าใจกันและกันเป็นเรื่องยาก แต่อย่างไรความยากดังกล่าวก็มิใช่ข้ออ้างในการผลักให้พวกเขากลายเป็นปัญหาของสังคม
อ้างอิง
- ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. (2550). โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
- ธรรมวิทย์ ศิริรัชนีกร และวิจักขณ์ฤทธิ์ จิวจินดา นพณัฐ มีรักษา. (2565). มูลนิธิตามพระราชดำริกับการสร้างบทบาทนำ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย. ฟ้าเดียวกัน, 20(2), 75-93.
- ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2541). วาทกรรมว่าด้วยชาวเขา. วารสารสังคมศษสตร์, 11(1), 92-135.
- มูลนิธิโครงการหลวง. (2560). คณะกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง. Retrieved 06 09, 2566, from มูลนิธิโครงการหลวง: https://royalproject.org/page/board/
- มูลนิธิโครงการหลวง. (ม.ป.ป.). ความเป็นมามูลนิธิโครงการหลวง. เรียกใช้เมื่อ 09 06 2566 จาก มูลนิธิโครงการหลวง: https://royalprojectthailand.com/report/
- มูลนิธิโครงการหลวง. (n.d.). รายงานผลการวิจัย. Retrieved 06 09, 2566, from มูลนิธิโครงการหลวง: https://www.royalprojectthailand.com/report/
- ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 62. (2535). ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้จัดตั้งมูลนิธิ ‘โครงการหลวง’ เป็นิติบุคคล. สวัสดิการสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
- อาสา คำภา. (2564). กว่าจะครองอำนาจนำ : การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย ทศวรรษ 2490-2530. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
- อุทยานหลวงราชพฤกษ์. (2564). Retrieved 06 09, 2566, from อุทยานหลวงราชพฤกษ์: https://www.royalparkrajapruek.org/Knowledge/view/212
เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ