เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สภาฯ ได้ลงมติ 252 เสียง ต่อ 153 เสียง ‘ปัดตก’ คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ในมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ อันเป็นข้อเสนอของ กมธ.เสียงข้างน้อย ที่ให้ระบุในมาตรา 3 ว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์ หมายรวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองฯ’ โดย สส.บางส่วนให้เหตุผลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จนอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้ในอนาคต
จากกรณีดังกล่าว Lanner ได้พูดคุยกับ สุพรรณษา จันทร์ไทย ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองไททรงดำ ที่เผยว่า เธอรู้สึกผิดหวังกับมติสภาฯ ที่ปัดตกคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองในร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ฯ และมองว่าการกระทำนี้เหมือนเป็นการพยายามลบตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีในไทยออกไป
“เรามองว่า คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ เป็นคำที่ระบุตัวตนได้ชัดเจนที่สุดว่าเราคือใคร การที่เขาปัดตกคำนี้ออกไป มันกลายเป็นว่าพวกเขากำลังลบตัวตนของคนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยออกไปด้วย ทั้งที่เราก็พยายามที่จะรณรงค์ให้เห็นมาโดยตลอดว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่หลากหลายกลุ่ม”
สุพรรณษาเล่าอีกว่าเธอคาดหวังใน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฉบับนี้คือการที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่รวมไปถึงชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ถูกยอมรับ และมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริงตามชื่อของตัว พ.ร.บ. เพื่อให้พวกเขาได้มีสิทธิเท่ากันกับประชาชนทั่วไป และไม่ต้องถูกกีดกันหรือกดดันให้ต้องออกห่างจากวิถีชีวิตในแบบของพวกเขาเอง
“สิ่งที่เราคาดหวังตั้งแต่เริ่มร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ เราหวังให้ทุกคนยอมรับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มันได้ถูกปัดตกไปแล้ว แต่หลังจากนี้ ถ้า พ.ร.บ. ตัวนี้มันได้เกิดขึ้นจริงๆ เราอยากให้สามารถช่วยคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจริงๆ ตามชื่อของมัน ให้คนข้างนอกเกิดการยอมรับจริงๆ และทำให้กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองได้มีสิทธิเท่าเทียมกับทุกคน โดยไม่เป็นการกดทับหรือบีบบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องออกห่างจากวิถีชีวิตของตนเอง”
แม้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองจะถูกปัดตกจากมติของสภาฯ ไปแล้ว แต่สุพรรณษา ก็ยังบอกว่าเธอและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองจะยังคงรณรงค์ให้ใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองในการระบุตัวตนต่อไป เพื่อให้เห็นว่าชนเผ่าพื้นเมืองเองก็มีตัวตน เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย
“สุดท้ายแล้ว การที่ตัว พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะไม่มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง แต่ตัวเราเองรวมถึงเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองทุกคนก็จะยังพยายามรณรงค์ให้ใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองภายในกลุ่มของเราเอง และพยายามจะสื่อสารอย่างต่อเนื่องว่าพวกเรายังเป็นกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในประเทศไทย ที่มีเอกลักษณ์ มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างชัดเจน เด่นชัด เรายังจะทำต่อเนื่อง ทำต่อไป”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...