เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา เครือข่ายนักปกป้องสิทธิ 9 พื้นที่ภาคเหนือ ได้เเก่ พะเยา, พิษณุโลก, เเม่สอด, เชียงใหม่, ลำปาง, เชียงราย, ลำพูน, น่าน, และ ชมรมประชาธิปไตยมช. ร่วมกันติดเเผ่นป้ายเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ต้องขังคดีการเมือง พร้อมเเชร์ข้อความบนช่องทางออนไลน์ว่า ‘ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองไม่ใช่ฆาตกร คดียังไม่ถูกตัดสิน พวกเขาควรได้รับสิทธิการประกัน คืนความเป็นธรรมให้เเก่เขา คืนชีวิตให้เเก่เขา ปล่อยเพื่อนเราทุกคน’
สิทธิโชค เศรษฐเศวต ประกาศกลับมา “อดอาหารและน้ำ” พร้อมอดนอนประท้วงตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ หลังศาลยังคงไม่ให้ประกันตัว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 ทนายความเดินทางไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเพื่อเข้าเยี่ยมสิทธิโชคหลังทนายความแจ้งข่าวเรื่องที่ศาลยังคงไม่ให้ประกันตัวสิทธิโชครวมถึงผู้ต้องขังกลุ่มคดีทะลุแก๊สคนอื่นๆ สิทธิโชคจึงแจ้งให้ทราบว่า เขาจะยกระดับการประท้วงด้วยการกลับมา “อดอาหารและน้ำประท้วง” อีกครั้ง พร้อมทั้งจะอดนอนประท้วงอีก
สิทธิโชคอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการถูกคุมขัง และต่อมาได้ยกระดับอดน้ำร่วมด้วยในวันที่ 26 ม.ค. จึงทำให้ร่างกายของเขาไม่สู้ดีเรื่อยมา โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้พาตัวสิทธิโชคนำส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนจะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในวันที่ 1 ก.พ. 2566
ตั้งแต่สิทธิโชคอยู่ใต้การดูแลของ รพ.มธฯ เขาได้ยินยอมจิบน้ำ ดื่มนม รับวิตามินทั้งการกินและให้ทางหลอดเลือด เพื่อรักษาชีวิตไว้ตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ยังคงอดอาหารประท้วงต่อไปเรื่อยมา กระทั่งเมื่อวันที่ 6 ก.พ. สิทธิโชคได้ตัดสินใจหยุดรับวิตามินอและยาไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจยกระดับด้วยการกลับมาอดน้ำอีกครั้ง พร้อมทั้งจะอดนอนประท้วงร่วมด้วยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สิทธิโชคถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 4 เดือน ในคดีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการถูกกล่าวหานำของเหลวคล้ายว่าเป็นน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี บริเวณเกาะกลางถนนราชดำเนินนอก แยกผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างการชุมนุม ม็อบ18กรกฎา2564 และถูกคุมขังเรื่อยมาโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...