ยังมีจิตใจจะใฝ่ฝัน: “นิรโทษกรรมประชาชน” โจทย์คือสร้างแรงกดดันว่าประเทศไม่สามารถไปต่อได้

3 กุมภาพันธ์ 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation: CrCF) ได้จัดกิจกรรม “ยังมีจิตใจจะใฝ่ฝัน: สู่แสนรายชื่อนิรโทษกรรมประชาชน” ณ สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก : หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 17.00 เป็นต้นไป

ภายในงานได้มีการพูดคุยถึง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และการนิรโทษกรรม ในหัวข้อ “นิรโทษกรรม ยุติคดีการเมือง เพราะอะไร ทำได้หรือไม่” ผ่านหลายมุมมอง ร่วมพูดคุยโดย นพพล อาชามาส ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล, สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ สองนักกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง ดำเนินรายการโดย ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

1,900 คดีสูงสุดในประวัติศาสตร์?

นพพล อาชามาส ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญ รวมถึงเนื้อหาว่า ตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 มีคนถูกดำเนินคดีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งคดีเกี่ยวกับการชุมนุม ต่อต้านคสช. รวมทั้ง ม.112 และ ม.116 อย่างต่อเนื่องจนในปี พ.ศ. 2563 พบว่าตัวเลขคดีทางการเมืองสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยมีมากถึง 1,900 คดี และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่คดีเหล่านี้ยังสืบเนื่องมาถึงปีปัจจุบันนี้ รวมถึงปัญหาต่าง ๆ จากการดำเนินคดีด้วย เช่น สิทธิการประกันตัว ทำให้จำเป็นต้องคิดถึงการแก้ปัญหาใหญ่ที่มากกว่าการต่อสู้เพียงรายคดี นำไปสู่การผลักดันหรือการยุติคดีทั้งหมด ทั้งที่ยังดำเนินอยู่ให้มีกทรสั่งไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง รวมถึงคดีที่ได้รับโทษจำคุกอยู่ให้มีการลดโทษหรือยกเว้นความผิดให้ผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัว

“ความขัดแย้งทางการเมืองมีการดำรงอยู่ยืดเยื้อยาวนาน การเริ่มต้นเพื่อจัดการความขัดแย้งอาจจะต้องเริ่มโดยการยุติหรือนิรโทษกรรมคดีทั้งหมด เป็นก้าวแรกเพื่อจัดการความขัดแย้งที่ดำรงมานานกว่า 20 ปี นำไปสู่การออกแบบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ที่มีการกำหนดประเภทคดีที่จะนิรโทษกรรมทันทีโดยไม่ต้องมีการพิจารณา เช่น ความผิดที่เกี่ยวข้องกับประกาศของคสช. ที่นำประชาชนขึ้นศาลทหารอันเป็นการผิดหลักการเนื่องจากไม่ควรใช้กับพลเรือน ความผิดข้อหาม.112 เนื่องจากลักษณะการใช้กฎหมายที่มีปัญหา รวมไปถึงความผิดเนื่องมาจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมไปประชาชนที่ออกมารณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560”

สภาต้องคุยได้ ไม่ปิดกั้น ให้ความสำคัญที่เจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรมเป็นหลัก

สำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล พุธิตา ชัยอนันต์ ได้ให้ข้อมูลว่า ร่างนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม โดยประกอบไปด้วย 9 คน คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ศาลปกครอง อัยการหรืออดีตอัยการ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อย่างละ 1 คนและบุคคลที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือก 2 คน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่มีการยื่นญัตติของการพิจารณาขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรศึกษาพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สาระสำคัญที่ได้อภิปรายคือ เรื่องอย่ารีบปิดประตูม.112

“ตอนนี้ทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมือง รวมถึงประชาชนมีความต้องการให้การนิรโทษกรรมเกิดขึ้น เพียงแต่มีความแตกต่างในรายละเอียด เช่น การครอบคลุมคดีม.112 หรือไม่ คลอบคลุมผู้สั่งการสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุด้วยหรือไม่ ซึ่งควรต้องมีการพูดคุยและเปลี่ยนกันในสภาฯ ไม่ควรมีการพยายามปิดกั้นการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเฉพาะในม.112 ในที่ร่างบางฉบับมีการระบุยกเว้นไว้ชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ควรพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับโดยให้ความสำคัญไปที่เจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรมเป็นหลัก”

โจทย์ที่ต้องทำคือสร้างแรงกดดันว่าประเทศไม่สามารถไปต่อได้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้อธิบายภาพรวมทั้งในแง่ของกลไกของคำว่านิรโทษกรรม​ในเชิงความหมายและกระบวนการ โดยระบุว่า “ความหมายทั่วไปแบบกว้างของคำว่า ‘นิรโทษกรรม’ หลักการโดยทั่วไปคือเมื่อทำผิดก็ต้องได้รับโทษ แต่ในบางเหตุการณ์​ บางสถานการณ์​ก็มีข้อยกเว้นให้ได้ว่า เราไม่เอาโทษ ไม่เอาผิด อันมีเหตุผลมาจากเรื่องทางการเมืองหรือสังคมก็ตาม ส่วนอภัยโทษจะมาจากประมุขของรัฐ โดยจะมุ่งกลุ่มเฉพาะเจาะจง​ ซึ่งให้ผลในลักษณะที่โทษยังมีอยู่แต่ได้รับการลดโทษ แต่นิรโทษกรรม​หมายความ​ว่า มันเหมือนไม่มีการกระทำนั้นเกิดขึ้น เป็นการยกเว้นกฎหมาย​หรือมาตราการในภาวะปกติ โดยทั่วไปจึงเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ​ เพราะเป็นสถาบันที่สัมพันธ์​กับประชาชนมากที่ เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง”

กรณีในต่างประเทศ การนิรโทษกรรม​จะทำเมื่อมีสถานการณ์​ความขัดแย้ง​ ที่สังคมเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เช่น สงครามกลางเมือง​ของสหรัฐอเมริกา​ที่มีผู้ร่วมสงคราม​เป็นแสน ๆ ที่ถ้าหากฝ่ายชนะจะต้องเก็บฝ่ายแพ้เข้าคุกก็คงเข้ากันเป็นแสน ซึ่งจะเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมเป็นวงกว้าง จึงต้องใช้การนิรโทษกรรม​เพื่อให้สังคมไปต่อได้ โดยอาจให้กลุ่มหัวขบวนรับผิด แล้วละเว้นผู้เข้าร่วม​ไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่สถานการณ์​ของแต่ละประเทศ

ประเด็นต่อมาคือ ‘นิรโทษกรรม​ในประเทศไทย’ ที่ได้เริ่มอธิบายว่าโดยหลักการทางกฎหมายทั่วไปแล้ว ผู้ที่ออกกฎหมาย​ไม่ควรได้รับประโยชน์​จากกฎหมาย​นั้นโดยตรง เพราะอาจถูกโต้แย้งได้ว่าเป็นการออกกฎหมาย​เพื่อตนเอง แล้วเล่าต่อถึงประวัติศาสตร์การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีต

“หลังการรัฐประหาร​ปี พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการออกกฎหมาย​นิรโทษกรรม และศาลตีความว่าใช้ได้ ที่ในแง่หนึ่งแล้วมันอาจจะไม่เชิงว่าเป็นความเลวร้าย​ของคนออกเสียทั้งหมด เพราะมันมีระบบที่มารองรับสิ่งนี้ด้วย ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ศาลมีบทบาทสำคัญอย่างมาก และเมื่อครั้งแรกมันทำได้ การรัฐประหาร​ในประเทศ​ไทย​หลังจากนั้นก็เลยมีการออกกฎหมาย​นิรโทษกรรม​กันอย่างต่อเนื่อง ที่อาจมีการเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปบ้าง เช่น มาในรูปแบบ​พระราชบัญญัติ​ ที่จริง ๆ แล้วออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของผู้ยึดอำนาจได้อีกที เพื่อกระทำให้ดูถูกต้อง เป็นไปตามครรลองกระบวนการปฏิบัติ และกระบวนการนี้ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบกฎหมายไทยแล้ว”

ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งของการออกกฎหมาย​นิรโทษกรรม​ คือ ออกเมื่อก่อนจะถึงคราวซวย อย่างกรณีปี พ.ศ. 2519 ที่หลังการรัฐประหาร​มีการจับกุมกลุ่มผู้ต่อต้านไปขึ้นศาลกันสนั่นหวั่นไหว ที่ยิ่งพอสืบหาข้อเท็จจริงไปเรื่อย ๆ ข่าวก็เริ่มถูกนำเสนอออกมา ทั้งสื่อใหญ่ สื่อต่างประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ยิ่งเริ่มเห็นว่าเหตุการณ์​นั้นแท้จริงแล้วคือ เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง​กับประชาชนจนถึงการนองเลือด ในที่สุดจึงออกกฎหมาย​นิรโทษกรรม​ เพื่อยุติการดำเนินคดีกลุ่มผู้ต่อต้าน ที่นอกจากจะมีข้อโต้แย้งที่อาจจะเอาผิดไม่ได้แล้ว ยังอาจกลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่ที่จะส่งผลเสียกับผู้ครองอำนาจเอง

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปี พ.ศ. 2521 ที่ใช้สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีเนื้อหาระบุว่า “ถ้าจะต้องดำเนินคดีต่อไป จนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลย ซึ่งส่วนใหญ่ในที่นี้คือนักศึกษา ต้องเสียอนาคตในการศึกษา และการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น เมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและขาดประสบการณ์ของผู้กระทำผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้ (รัฐบาลปี พ.ศ. 2521)​ นี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีระหว่างชนในชาติจึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น” ซึ่งข้อความดังกล่าวถูกมองว่าสุดท้ายแล้วคือการโยนความผิดให้กับกลุ่มนักศึกษาในเหตุการณ์นั้น โดยนำเพียงเหตุแห่งอายุมาเป็นเหตุผล และหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชน

“อีกครั้งหนึ่งที่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่เป็นบทเรียนคือปี พ.ศ. 2535 ที่แม้มีกระแสการประณามและการเรียกร้องให้ลงโทษผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พลเอกสุจินดา คราประยูร ออกพระราชกำหนด​นิรโทษกรรม​ก่อนลาออกจากตำแหน่งนายกฯ 1 วัน หรือก็คือออกกฎหมายวันนี้แล้วพรุ่งนี้ลาออก ซึ่งหลักการทางกฎหมาย​สำหรับพระราชกำหนด​คือ จะต้องเข้าสู่สภาฯ เพื่อพิจารณา​ว่าผ่านหรือไม่ ซึ่งหากไม่ผ่านแปลว่ากฎหมายตกไป แม้จะมีการต่อสู้เพื่อยับยั้งความชอบของกฎหมายนี้ถึง 3 ศาล ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุธรณ์​ และศาลฎีกา​ แต่ในท้ายที่สุดศาลฎีกา​บอกว่า ต่อให้พระราชกำหนด​จะตกไปในชั้นสภาฯ แต่เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนด​ถือว่ามีผลทันที นี่จึงเป็นการซ้ำเติมว่าการใช้อำนาจรัฐเพื่อยกเว้นโทษให้กับตนเองแม้จะไม่ชอบธรรมแต่มันสามารถทำได้ สิ่งที่เห็นในการนิรโทษกรรม​ในประเทศไทยมันคือวัฒนธรรมยกโทษให้กับคณะรัฐประหาร​และผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่สำหรับการนิรโทษกรรม​ประชาชนนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้น”

นิรโทษกรรม​ในสถานการณ์​ปัจจุบัน สมชายมองว่า คงไม่สามารถแยกออกจากสถานการณ์​ทางการเมืองได้ โดยมีอยู่อย่างน้อยสามประเด็นคือ ม.112 ร่างรัฐธรรมนูญ​ฉบับใหม่ และการนิรโทษกรรม​ อันเป็นปมของความขัดแย้งที่เป็นอยู่ ที่หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็อาจเป็นสัญญาณอันบ่งบอกว่า ความสัมพันธ์​หรือสภาพสังคมแบบเดิมที่ผ่านมานั้นไม่เป็นที่ยอมรับ​ของคนในสังคมแล้ว จึงอาจเห็นได้ว่ามีเครือข่ายของชนชั้นนำที่ทำหน้าที่​ปกป้อง ป้องกันไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง​ขึ้น ทำให้ไม่เพียงเฉพาะกฎหมาย​นิรโทษกรรม​ประชาชน แต่ทั้งประเด็นม.112 และการร่างรัฐธรรมนูญ​ฉบับ​ใหม่​ก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันคือถูกกีดกัน เช่น กรณีศาลรัฐธรรมนูญ​วินิจฉัยว่า พรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง​ เหตุเสนอแก้ไขม.112 ที่เป็นหนึ่งในสามประเด็นหลักที่เป็นตัวอย่างชัดเจนว่าเครือข่ายชนชั้นนำมีอำนาจกำกับความเปลี่ยนแปลง​ว่าจะให้สังคมเป็นไปในทิศทาง​ใด

“การให้เปิดให้มีกลไกระบบรัฐสภา​ องค์กร​อิสระ​ เป็นเพียงการทำพอให้เห็นว่ามีช่องว่างเปิดให้แก้ไขอะไรได้บ้าง เพื่อดึงให้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง​เข้ามาใช้ระบบรัฐสภา​ ที่มันควบคุมได้ง่ายกว่าการปิดไม่ให้เข้าสู่ระบบรัฐสภา​ เพราะถ้าปิดช่องทางนี้ นั่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้ การพยายามเปลี่ยนแปลง​ของผู้คนจากนอกระบบมันอาจทำให้เครือข่ายชนชั้นนำควบคุมได้ยากกว่า แต่สุดท้ายแล้วการกีดกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง​ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิรโทษกรรม​ประชาชน ม.112 และรัฐธรรมนูญ​ฉบับ​ใหม่​มีเป็นประเด็นของสังคมในปัจจุ​บัน​นี้ มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ มันจะเป็นการสั่งสมความไม่พอใจที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางสังคมมากกว่าเดิม”

สมชายกล่าวต่อว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากขณะนี้เป็นการสร้างภาระให้สังคม รวมไปถึงกระบวนการ​ยุติธรรม​ แต่ทั้งหมดมันอยู่ภายใต้ความคาดหวังให้เกิดขึ้นจากฟากฝั่งเครือข่ายชนชั้นนำที่อยู่ในฐานะรัฐ ที่พบวิธีการที่จะจัดการกับการชุมนุมของประชาชน โดยปล่อยให้ประชาชนชุมนุมได้ แล้วภายหลังค่อยแจกคดี แจ้งความให้ขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้ในช่วงหลังมานี้ จะเห็นว่านักกิจกรรม​ที่ร่วมชุมนุมบ่อยครั้ง จะมีคดีจากการชุมนุมคนละมากกว่า 1 ไปจนถึง 10 คดี

การพยายามผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นการนิรโทษกรรม​ประชาชน ที่ทำกำลังร่วมกันทำอยู่นี้ สมชายเสนอความเห็นว่า อีกโจทย์หนึ่งที่ต้องช่วยกันทำคือการสร้างแรงกดดัน และแสดงให้เห็นว่าประเทศไม่สามารถไปต่อได้ อย่างในขณะนี้ที่รัฐบาลไทยพยายามเสนอตัวเพื่อเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2567 นี้ ทั้งที่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาสิทธิ​มนุษยชน​ของประชาชนในประเทศ เช่นนี้แล้ว ประเทศไทยคงไม่สามารถก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรสิทธิมนุษยชน​ระดับนานาชาติได้อย่างสมเกียรติ​ และควรต้องกลับมาพิจารณาว่าการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม​ประชาชน​นั้นเป็นสิ่งที่พึงกระทำเพื่อไม่ให้เป็นการพยายามขัดขวางการปรองดองทางการเมือง และเพื่อให้สังคมและประเทศเดินหน้าต่อไปได้

หัวใจของเราเสรี

วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิววัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ สองผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง ได้ให้ความเห็นว่า ความคาดหวังของประชาชนที่ออกมาชุมนุม เขามาด้วยเจตจำนงเสรีที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นรัฐเองที่เลือกกระทำวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะขัดขวางโดยนิติสงคราม ตลอดจนคุกคามติดตามถึงบ้าน การดำเนินกระบวนการทางกฎหมายมันสร้างความซับซ้อน สร้างภาระทั้งทรัพยากร เวลา โอกาสชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบ

“เริ่มจากมีหมาย ต่อมาก็ต้องเสียเวลาทั้งวันไปกับการสอบปากคำ ที่พอเป็นคดีทางการเมืองก็โหมกันเล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์ ปิดโรงพัก ล้อมรั้ว ใช้กองกำลังตำรวจในการปิดล้อม สร้างภาพให้เราเหมือนเป็นอาชญากร ทั้งที่เราไปใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในสิ่งที่เราสามารถทำได้”

ทั้งนี้ศิววัญชลี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมันอาจลบล้างได้เพียงความผิดทางนัยยะกฎหมาย ไม่สามารถลบล้างบาดแผลที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่รัฐ

“หากพ.ร.บ.นิรโทษรกรรมนี้จะสามารถวางรากฐานสังคมไทยไปในอนาคตได้ เราจะเห็นด้วยในทิศทางไหน ถ้าไม่เห็นด้วยจะมีเหตุผลอย่างไรบ้าง  หากเราพบว่ากลับมีรายละเอียดที่ยังไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมประชาชนอย่างแท้จริงตามตั้งใจ วันหนึ่งวันใดวันนั้นเราก็ต้องออกมาต่อต้านมันหรือไม่”

โดยศิววัญชลีได้เน้นย้ำว่านอกจากการนิรโทษกรรมประชาชนแล้ว สิ่งสำคัญที่รัฐควรทำคือการขอโทษ ไม่ควรมีเพียงพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างเดียว ความผิดของรัฐนรี้จะต้องถูกบันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งรัฐเคยทำผิดกับประชาชน

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง