9 กุมภาพันธ์ 2567 ชุมชนบ้านห้วยสัก หมู่ที่ 9 และหมู่ 15 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ร่วมกับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จัดงานสืบชะตาป่าชุ่มน้ำจำปูดิน มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน โดยมีผู้นำของตำบลยางฮอม หน่วยงานภาครัฐ และนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยสักเข้าร่วมพิธีกรรม ภายในงานมีการทำพิธีเลี้ยงผีป่าจำปูดิน และพิธีสืบชะตาป่า โดยพระสงฆ์ 9 รูป ทั้งยังมีการแสดงดนตรีพื้นเมือง นิทรรศการ และสินค้าท้องถิ่นชุมชน
ป่าจำปูดิน เป็นพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ มีลำห้วยสักไหลผ่านกลางป่า ป่าตั้งอยู่กลางชุมชน มีลักษณะเป็นระบบนิเวศน์ที่เรียกว่า “จำ” คือมีน้ำขัง น้ำซึมผุดตลอดทั้งปี ในพื้นที่ประมาณ 17 ไร่ ที่ทางชุมชนได้ทำการอนุรักษ์ไว้ เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ที่คนในหมู่บ้านนับถือเป็นที่อยู่ของผีประจำหมู่บ้าน คอยคุ้มครองปกปักรักษาชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข
จากการสำรวจของชุมชนโดยการวางแปลงสุ่มตัวอย่างถาวรขนาด 20 x 50 เมตรพบต้นไม้มากกว่า 52 ชนิด มีไม้เด่นที่สำคัญ ได้แก่ต้นยางนาขนาดใหญ่ มะม่วงป่า ไม้ล่อง และต้นตะเคียน เป็นพืชเด่นซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ส่วนใหญ่พบได้ในป่าต้นน้ำบนเขาสูง ป่าจำปูดินมีความหนาแน่นของต้นไม้โดยรวม 155 ต้นต่อไร่ และสามารถเก็บกักคาร์บอนมากกว่า 32.957 ตันต่อไร่ และที่สำคัญพื้นที่ป่าจำปูดินยังเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาที่สำคัญของชุมชนบ้านห้วยสักอีกด้วย
พระครู ปุญญากิจจานุกูล ที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสืบชะตาไว้ว่า
“การสืบชะตาป่าก็คือการสืบชีวิตของป่าและสรรพชีวิตรอบป่าไปด้วย มันปรากฏชัดเจนแล้วว่าป่ามันมีประโยชน์สำคัญอย่างไร ไม่ได้มาเปรียบปรากฏในเชิงนามธรรม ป่าสมบูรณ์เปรียบเหมือนพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่เป็นกำลังใจให้ลูกหลานได้มีแรงในการดำเนินชีวิต สุขใจมีกำลังใจเมื่อพ่อแม่ได้มัดมือมัดแขนเกิดความร่มเย็น เลยมีการอุปมาเปรียบกับพ่อแม่ที่มีคุณธรรมปกคลุม เป็นร่มโพธ์ร่วมไทรให้ความร่มเย็นกับลูกกับหลาน เหมือนเราเมื่อร้อนแล้วมาอยู่ใต้ต้นไม้ ก็ทำให้เย็นกายเย็นใจผาสุกร่มเย็น มีต้นไม้ใหญ่ที่ไหนก็มีความร่มรื่นที่นั่น ป่าหนาแน่นย่อมมีความชุ่มชื้น การรักษาต้นไม้มีผลดีต่อสรรพชีวิต การสืบชะตาป่าก็คือการสืบต่อชีวิตให้ชุมชนเราร่มเย็น ผาสุก มีความเจริญ เหมือนกับการมีต้นไม้ใหญ่ใบหนา ที่สร้างความสมบูรณ์แก่ชีวิต”
วิชาญ ภิวงค์ ผู้อาวุโสชุมชนบ้านห้วยสัก ได้กล่าวถึงการจัดงานสืบชะตาป่าครั้งนี้ว่า
“วันนี้เป็นฤกษ์งามยามดีที่ทางชุมชนได้จัดพิธีสืบชะตาป่าจำปูดิน เป็นป่าที่อยู่ควบคู่กับการก่อตั้งหมู่บ้านมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ในอดีตป่าจะสมบูรณ์กว่านี้มาก แต่ตอนนี้ก็ยังคงมีต้นไม้ใหญ่อยู่ เป็นป่าชุมชนที่หมู่บ้านได้อนุรักษ์ไว้มาตั้งแต่อดีต การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือว่าเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นหลังได้มารักษาฟื้นฟูไว้คู่กับบ้านห้วยสักของเรา”
ชุมชนบ้านห้วยสักมีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี ป่าจำปูดินเป็นป่ามาก่อนการก่อตั้งหมู่บ้าน และทางชุมชนได้อนุรักษ์พื้นที่ไว้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ใจกลางหมู่บ้าน จัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ป่าในชุมชน ทำเส้นทางศึกษาป่า และทำศูนย์เพาะกล้าไม้หายาก เช่น ต้นยางนา ต้นตะเคียน เพื่อจำหน่ายและแจกจ่ายเป็นรายได้ในการดูแลป่าจำปูดิน และเตรียมยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนและคนที่สนใจป่าโบราณผืนใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางชุมชน ที่พบหาได้ยากในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทางชุมชนบ้านห้วยสักจึงได้ทำการสืบชะตาป่าชุ่มน้ำจำปูดินในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ป่า สร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อสืบสานการอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจำปูดินต่อไป
ด้าน ธราพงษ์ ใจกว้าง ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก หมู่ที่ 15 ได้กล่าวถึงงานสืบชะตาและแนวทางการอนุรักษ์ป่าจำปูดินว่า งานในครั้งนี้เกิดขึ้นและสำเร็จไปด้วยดีเนื่องมากจากความร่วมมือของชาวชุมชนบ้านห้วยสักทั้งสองหมู่บ้าน แนวทางต่อไปสำหรับป่าจำปูดิน จะถูกผลักดันและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องป่าโบราณให้กับเยาวชนลูกหลาน เข้ามาศึกษาเรียนรู้เรื่องป่าร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต
สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตจากปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและโครงการผันน้ำในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงและสาละวิน ที่มีต่อสังคม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยแม่น้ำในอนุภูมิภาค