“ลุกขึ้นเพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรม” ร่วมกันสนับสนุนข้อเรียกร้องวันสตรีสากล ประจำปี 2566

ภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ได้มีการจัดกิจกรรม งานเฉลิมฉลองเนื่องในวัน ‘วันสตรีสากล’ ภายใต้ธีม “ลุกขึ้นเพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรม” ณ ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 17.00 – 20.30 น. ร่วมจัดโดย เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเสมอภาคทางเพศ จังหวัดเชียงใหม่ โดยภายในงานมีทั้งกิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องจากพุทธสถานไปจนถึงประตูท่าแพ เยี่ยมชมบูธภายในงาน ชมการแสดง  ร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อ “ลุกขึ้นเพื่อเสรีภาพ” และอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องเพื่อสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง 


เนื่องในวันสตรีสากล เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเสมอภาคทางเพศทั้ง 15 เครือข่ายที่ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ด้านสิทธิ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อในวันสตรีสากลประจำปี 2566 เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนที่สนับสนุนด้านสิทธิและเสรีภาพของสตรี ได้ร่วมตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องสิทธิสตรี เพื่อที่จะเรียกร้องเสรีภาพและความเป็นธรรมกลับคืนมา จากนั้นยื่นแถลงการณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นผู้กล่าวเปิดงานและรับมอบแถลงการณ์

ร่วมรับชมบูธภายในงานที่จัดโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเสมอภาคทางเพศทั้ง 15 เครือข่าย และร่วมรับชมการแสดงบนเวทีจาก BEAM Foundation และMAP Foundation

ต่อมาเป็นการร่วมเสวนากันในหัวข้อ “ลุกขึ้นเพื่อเสรีภาพ” โดยตัวแทนจากหลาย ๆ เครือข่าย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกันสถานการณ์ปัญหาที่เผชิญในการทำงานในบริบทของชุมชนของตนและข้อเสนอที่สนับสนุนสิทธิและความเป็นธรรมแก่กลุ่มผู้หญิง

จากนั้นเป็นการอ่านแถลงการณ์และข้อเรียกร้องเนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 เพื่อเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนการเรียกร้อง ดังต่อไปนี้


1. สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากร อำนาจ และโอกาสทางสังคมอย่างเป็นธรรมให้กับผู้หญิงทุกกลุ่ม

2. เสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้หญิงในทุกระดับ เพื่อให้ผู้หญิงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่มีฐานคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมยุติธรรมทางเพศ เพื่อสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยั่งยืน

3. สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองของผู้หญิงในทุกระดับ รวมถึงการมีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน และการฟื้นฟูประเทศหลังการระบาดของไวรัสโคโรน่า รวมถึงภาวะการสู้รบสงคราม

4. ร่วมกันสร้างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมยุติธรรมทางเพศและทางสังคม อย่างเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหา ตั้งแต่ระดับชุมชน ประเทศ ไปจนถึงระดับภูมิภาคและนานาชาติ

5. ส่งเสริมบทบาทของสื่อ ในการสร้างการสื่อสารมิติสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างรอบด้าน โดยต้องยุติการตีตราและการผลิตซ้ำภาพเหมารวมต่อผู้หญิงและผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานเพศภาวะและอัตลักษณ์ที่ซับซ้อน เพื่อส่งเสริมให้สังคมเข้าใจสภาพปัญหาและเห็นความเข้มแข็งของผู้หญิงและเข้ามามีส่วนร่วมกันรื้อถอนมายาคติและอคติทางเพศทั้งในระดับปัจเจกและในเชิงสถาบันทางสังคม

6. ผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและกฎหมาย ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและส่งเสริมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนผู้หญิง ด้วยกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UN DRIP) แผนปฏิบัติการปักกิ่ง (Beijing+25) กระบวนการ UPR (Universal Periodic Review: UPR) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หลักการยอกยาการ์ตา +10 (The Yogyakarta principles +10) และอื่น ๆ ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามและที่ยังไม่ได้ลงนาม ให้ความร่วมมือต่อภาคีระหว่างประเทศ

7. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชน ต่อกระบวนการติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขให้รัฐบาลไทยนำหลักการสิทธิมนุษยชนและมุมมองด้านเพศภาวะมาใช้อย่างจริงจัง โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศ ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายอย่างสันติ เป็นธรรม และยั่งยืน

 สุดท้ายจะเป็นกิจกรรม One Billion Rising ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทุกคนมาเต้นร่วมกันและเป็นสิ้นสุดกิจกรรมทั้งหมดภายในงานสตรีสากล

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง