วันที่ 1 มีนาคม 2566 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดวงเสวนาในหัวข้อ ‘ทำความเข้าใจฐานข้อมูลความรุนแรง ในบริบทภาคเหนือ’ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวลา 9.00 – 11.00 น. โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยหัวหน้าโครงการ Monitoring Center on Organized Violence Events (MOVE) สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ดร.นิชานท์ สิงหาพุทธางกูร สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.นรุตม์ เจริญศรี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Monitoring Center on Organized Violence Events ‘MOVE’
จันจิรา ได้นำเสนอฐานข้อมูลความรุนแรงในประเทศไทย ภายใต้โครงการ Monitoring Center on Organized Violence Events (MOVE) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ที่มีแหล่งข้อมูลจากสื่อระดับประเทศ 5 สำนัก โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลที่นำเสนอถึงนิยามของแนวคิดความรุนแรงแบบสุดโต่ง ความรุนแรงในประเทศไทยทั้ง 13 ประเภท และการรับมือกับความรุนแรงแบบสุดโต่งที่ระบาดไปทั่ว จากการสำรวจได้มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความรุนแรงแบบเฉพาะที่พบมีอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่ ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิต และความรุนแรงที่มาจากการวางแผนมาก่อน
โดยศูนย์ติดตามข้อมูลเหตุรุนแรงในประเทศไทยหรือ MOVE นั้น เป็นโครงการที่รวบรวมข้อมูลของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ในช่วงปี 2559 – 2564 โดยจะแบ่งเหตุการณ์ความรุนแรงออกเป็น 13 ประเภท ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลเชิงสถิติของแต่ละพื้นที่จังหวัด
จันจิราได้เสริมอีกว่า “อาชญากรรมเชิงกลุ่มที่พบมากที่สุดคือ การปกป้องศักดิ์ศรี ซึ่งพบมากในเพศชาย โดยมีปัจจัยคือ ผู้ชายสามารถใช้ความรุนแรงได้ และเป็นการใช้ความรุนแรงที่รวดเร็ว นอกจากนี้ในประเด็นอาชญากรรมเชิงกลุ่มยังค้นพบอีกว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่โล่ง ดังนั้นทำให้ได้ข้อสรุปว่า ประเด็นความปลอดภัยสาธารณะควรมีการให้ความสำคัญมากกว่านี้”
ความสัมพันธ์ของความรุนแรง
ไชยันต์ รัชชกูล เสนอว่าในแง่ของสันติศึกษานั้นความสำคัญคือ ต้องมีการตั้งคำถามถึงนิยามของความสงบสุขก่อน ไชยันต์ได้หยิบยกคำกล่าวของ Adam Curle ว่านิยามของความรุนแรงต้องดูถึงความสัมพันธ์ โดยมีลักษณะว่าเป็นความสัมพันธ์ที่รุนแรงต่อความสัมพันธ์ที่ไม่รุนแรงหรือไม่ แต่ในทุกความสัมพันธ์นั้นไม่ได้ปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์เสมอไป ทำให้ไม่ควรที่จะนำเข้าข้อมูลจากบนหน้าข่าวเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ วิธีการวิจัยและศึกษาบริบทบนพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงขึ้น
นิชานท์ สิงหาพุทธางกูร ได้เสนอว่าพื้นที่ของสันติศึกษาจะมีที่ยืนมากขึ้น หากมีความเข้าใจในความหมายของสันติภาพ นิชานท์ได้เสนอว่าสันติภาพคือ ความขัดแย้งสามารถที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ห้ามเกิดเป็นความรุนแรง ซึ่งทำให้การป้องกันความรุนแรงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามยุคสมัย ดังนั้นประเด็นที่น่าสนใจคือ หากความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ เราจะทำอย่างไรที่จะไม่เกิดความรุนแรงและเวลาที่เกิดความรุนแรงจะทำอย่างไร
“จากการชุมนุมจะเห็นได้ว่า ในยุคนี้เราได้เห็นถึงการเรียนรู้จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมันเบาลงกว่าในอดีต แต่เราก็ได้มีการจัดการความรุนแรงแค่ในมุมของเราเท่านั้น”
มองความรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือ
ไชยันต์ได้เสนอถึงประเด็นความรุนแรงในภาคเหนือว่าความน่าสนใจคือ ความรุนแรงทางวัฒนธรรมในภาคเหนือ เช่น บ่อนไก่ การชนกว่าง การแข่งมวยทางโทรทัศน์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่บ่มเพาะความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตทางจราจรก็ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่รุนแรงเช่นกัน มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์บนท้องถนนที่ไม่รองรับรถมอเตอร์ไซค์ จุดนี้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้น ทำให้ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่รุนแรง
ไชยันต์ยังเสนออีกว่าทางเลือกของปัญหาความรุนแรงในภาคเหนือ งานวิจัยในเชิงวิชาการมีอยู่ 4 ประเด็น ได้แก่
- ต้องมีการทบทวน concept ในทางทฤษฎีของสันติศึกษาว่า เราจะนิยามความรุนแรงอย่างไร ซึ่งต้องมีงานวิจัยในการรองรับด้วย
- ต้องหาทางลดและป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
- ต้องมองบริบททางวัฒนธรรมผ่านสายตาความรุนแรง
- ต้องหาข้อเท็จจริงส่วนที่ถูกปิดไว้และไม่ได้เปิดเผย
สุมิตรชัย หัตถสาร ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลเรื่องความรุนแรงนั้นยังไม่ครอบคลุมมากพอ เช่น ชาติพันธุ์ในภาคเหนือที่ได้มีการปะทะกันกับกฎหมายของรัฐอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตัวกฎหมายก็มีความรุนแรงเช่นกัน แต่ความรุนแรงเหล่านี้บนหน้าสื่อนั้นอาจจะพบได้น้อยหรือไม่พบเลย แต่ความเป็นจริงเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อีกหนึ่งประเด็นคือ ความสัมพันธ์ของอำนาจที่เกิดขึ้น เช่น การอยู่บนพื้นที่รัฐหวงห้ามที่อาจจะนำมาสู่ความรุนแรงที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอถึงการนำข้อมูลมาจากสื่อระดับประเทศ 5 สำนักว่า สื่อเหล่านี้นำเอาเพียงเหตุการณ์ที่เป็นเชิงปรากฎการณ์มานำเสนอเท่านั้น ซึ่งควรจะมีการมองผ่านสื่ออื่นด้วย เพื่อที่จะเพิ่มมุมมองในการมองความรุนแรง
นอกจากนี้ ตรัย ชุณห์สุทธิวัตน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นว่า จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับปรุงเพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อปัญหาความมั่นคง และการดูแลรักษา นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การปะทะกันที่พบกันที่มากที่สุดในภาคเหนือคือ การปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากความสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนยังไม่ชัดเจนมากพอ จึงต้องมีการนำข้อมูลนี้ไปศึกษาและหาทางเลือก เพื่อที่จะลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม
สำหรับผู้ที่สนใจจะนำข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไปศึกษาหรือใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งนอกจากข้อมูลในเชิงสถิติแล้วนั้นยังมีบทความเกี่ยวกับความรุนแรงอีกด้วย
โดยสามารถที่จะเข้าไปใช้งานได้ที่ https://movedata.knowmorenomoreviolence.com/
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...