โทษทีพี่ ‘ติด’ งาน

คุณติดโซเชียลมีเดียหรือไม่

หากคำถามนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่เฟซบุ๊กนำปุ่มกดถูกใจมาใช้งาน[2] คนส่วนใหญ่จะตอบปฏิเสธ หรือไม่ก็บอกว่าตัวเองก็แค่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ถึงกับขั้น “เสพติด” เพราะถ้ายังจำกันได้ ในยุคนั้นเราใช้งานสื่อออนไลน์ประเภทนี้เป็นครั้งคราว และต้องเข้าถึงผ่านคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เนื่องจากสมาร์ทโฟนยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ความยากลำบากดังกล่าวจึงทำให้เราไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์มากเท่ากับปัจจุบัน  แต่ในตอนนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้คนใช้โซเชียลมีเดียหรืออยู่บนโลกออนไลน์กันมากมายขนาดไหน หนังสือนับไม่ถ้วนถูกเขียนขึ้นมาเพื่อบอกกับเราว่าจะหายจากอาการเสพติดการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างไร นั่นหมายความว่าอาการเสพติดเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป แต่มันส่งผลกระทบต่อสังคมไม่ต่างจากการพนันหรือสารเสพติด

ทริสทัน แฮร์ริส นักเทคโนโลยีชาวอเมริกันที่เคยทำงานให้กับกูเกิล และภายหลังผันตัวออกมาเป็นนักรณรงค์ด้านการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม เคยกล่าวเอาไว้ว่าแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้เสพติด เพราะยิ่งผู้คนใช้เวลากับมันมากเท่าไหร่ บริษัทเจ้าของแอปพลิเคชันก็จะสามารถทำกำไรได้มากขึ้นเท่านั้น การทำให้ผู้ใช้จ้องมองหน้าจออย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็น แล้วแพลตฟอร์มเหล่านั้นทำอย่างไรเพื่อที่จะทำให้คนใช้งานแอปของตัวเองให้ได้มากและนานที่สุด ไม่ใช่ว่าเบื่อจนเลิกเล่นไปเสียก่อน

คำตอบก็คือก็ทำให้แอปมีกลไกเหมือนกับตู้สล็อต (slot machine) นั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วการเล่นสล็อตนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนเลยแม้แต่นิด มันง่ายเสียจน คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ มองว่าเป็นการพนันที่ไม่ต้องใช้ความลุ่มลึกทางความคิด และไม่ควรค่าแก่การพิจารณาถึง “ความหมาย” ที่ซ่อนอยู่สักเท่าไหร่[3] เพราะคุณแค่เลือกจำนวนเงินเดิมพัน กดปุ่ม และรอคอยว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร บางครั้งคุณก็เสียเงินเดิมพันไปเปล่า ๆ บางครั้งคุณก็ได้เงินกลับมาเล็กน้อย และในบางครั้ง (ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก) คุณจะได้รับแจ็กพอตที่ทำให้หัวใจพองโต กลายเป็นเศรษฐีชั่วพริบตา ถึงแม้ว่าจะเสียมากกว่าได้ แต่นักเล่นตู้สล็อตก็จะย้อนกลับมาหยอดเหรียญเพื่อหวังแจ็กพอตสักครั้งในชีวิต กลายเป็นลูปนรก (ludic loop) ที่ไม่มีวันจบสิ้น

ตู้สล็อตนั้นใช้เทคนิคการออกแบบที่เรียกว่า “การให้รางวัลแบบแปรปรวนเป็นครั้งคราว” (intermittent variable rewards) เพื่อทำให้คนกลับมาเล่นซ้ำด้วยความหวังว่าตนเองจะได้เงินกลับมา เพราะถ้าหากรู้ว่าเล่นยังไงก็เสียเงิน ก็คงไม่มีใครอยากกลับมาเล่นอีก ดังนั้นนักออกแบบจึงต้องทำให้มีโอกาสที่รางวัลเล็กน้อยจะปรากฏออกมาบ้างเป็นครั้งคราว สิ่งนี้ทำให้การเล่นสล็อตต่างจากการพนันอื่น ๆ ที่เป็นการเดิมพันระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง เพราะการเล่นสล็อตเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร (machine) และเครื่องจักรเหล่านั้นก็ถูกออกแบบไว้ล่วงหน้าเพื่อบงการพฤติกรรมของผู้เล่นให้เสพติด

จนถึงตรงนี้ เราจะเริ่มเห็นความคล้ายคลึงระหว่างสล็อตกับโซเชียลมีเดียที่ใช้ความไม่แน่นอนเพื่อทำให้ผู้เล่น (ผู้ใช้) รู้สึกว่าอยากจะกลับมาเล่น (ใช้) อีกซ้ำ ๆ  ในกรณีของโซเชียลมีเดีย เราจะสังเกตเห็นถึงเทคนิคมากมายที่นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ เช่น การทำให้หน้าฟีดสามารถเลื่อนลงไปได้อย่างไม่มีจุดสิ้นสุดเพื่อทำให้ผู้ใช้เห็นเนื้อหาใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง หรือการกระตุ้นให้ผู้ใช้สร้างเนื้อหาเพื่อเรียกยอดไลก์หรือการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้รายอื่น ๆ รวมไปถึงการออกแบบที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความแปลกใหม่ไม่จำเจ เทคนิคเหล่านี้ล้วนแต่สัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าความไม่แน่นอนทั้งสิ้น เพราะความแน่นอนคือความน่าเบื่อหน่าย ไม่ควรค่าแก่การรอคอยหากเรารู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว

ทว่า ความไม่แน่นอนก็มีโอกาสทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน ดังนั้นจะต้องทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า  “สงครามระหว่างความสมหวังและความผิดหวังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” (constant war between fulfillment and disappointment) หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ อย่าให้มนุษย์พบเจอแต่ความผิดหวัง แต่จงเติมความสมหวังเข้าไปทีละเล็กละน้อยอย่างสม่ำเสมอ ดังที่ตู้สล็อตมอบรางวัลให้กับผู้เล่นเป็นครั้งคราว

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดียเท่านั้นที่นำเอาเทคนิคการออกแบบของตู้สล็อตมาใช้ เพราะเมื่อพิจารณาดี ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชันของบริษัทแพลตฟอร์มที่อยู่ในลักษณะของการจับคู่ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ และมีลักษณะการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น (รับส่งอาหาร รับส่งผู้โดยสาร ทำความสะอาด ฯลฯ) ก็ใช้เทคนิคดังกล่าวในกระบวนการควบคุมแรงงานของพวกเขาเช่นกัน

ในงานวิจัยเรื่อง การเปลี่ยนแปลงความหมายของ “งาน” ในยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่ผู้เขียนเป็นนักวิจัยที่เข้าไปทำการศึกษากลุ่มไรเดอร์รับส่งอาหารในจังหวัดเชียงใหม่และยังเข้าไปทำงานเป็นไรเดอร์ด้วยตนเอง ซึ่งช่วยทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมไรเดอร์ถึงทำงานหนักเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกันได้ และทำไมพวกเขายังคงเป็นไรเดอร์อยู่แม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานหรือหลักประกันทางสังคม

เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ไมเคิล บูราวอย ตอบคำถามว่าทำไมแรงงานในโรงงานจึงทำงานหนักขึ้น โดยการใช้แนวคิดเรื่อง “เกมการทำงาน” (work games) ซึ่งทำให้แรงงานยินยอมที่จะโดนขูดรีดเพราะถูกจูงใจด้วยโบนัส และในขณะเดียวกันแรงงานก็พยายามจับจุด (making out) ให้ได้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถทำงานได้ดีทั้งในแง่ปริมาณและความรวดเร็ว ซึ่งต้องอาศัยทักษะหลากหลายรูปแบบ[4] เช่นเดียวกับงานวิชาการจำนวนมากในปัจจุบันที่เสนอว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลใช้เทคนิคการทำให้งานกลายเป็นเกม (gamification) เพื่อจูงใจให้แรงงานทำงานมากขึ้น แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากเสนอเพิ่มเติมเข้าไปก็คือ แพลตฟอร์มให้เทคนิคแบบเดียวกับตู้สล็อตและโซเชียลมีเดียเพื่อทำให้ไรเดอร์ “เสพติด” การทำงานให้กับแพลตฟอร์ม

ไรเดอร์ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้นซึ่งมีความไม่แน่นอน พวกเขาไม่สามารถรู้ได้ว่างานต่อไปจะได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ และไม่รู้แน่ชัดว่าแพลตฟอร์มมีการคิดคำนวณค่าตอบแทนอย่างไร แพลตฟอร์มใช้กลไกเหล่านี้เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตนโดยทำให้ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับไรเดอร์ ทำให้พวกเขามีความหวังว่างานชิ้นต่อไปอาจจะได้งานที่ค่าตอบแทนคุ้มค่าต่อเวลาและทรัพยากรที่เสียไป[5] ซึ่งหลายครั้งก็ต้องพบเจอกับความผิดหวังเมื่อค่าตอบแทนที่ได้ไม่สมเหตุสมผล และดูเหมือนว่าโอกาสที่จะเกิด “แจ็กพอต” นั้นมีน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อบริษัทแพลตฟอร์มสามารถปรับเปลี่ยนอัตราค่าตอบแทนได้ตามใจชอบ ในแง่นี้แพลตฟอร์มจึงมีสิทธิ์ผูกขาดการบริหารจัดการโอกาสไม่ต่างจากผู้ผลิตตู้สล็อตที่กำหนดว่าจะให้ผลลัพธ์ออกมาในทิศทางใดเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด ผู้เขียนจึงเรียกสภาวะที่เกิดขึ้นกับไรเดอร์ว่า สลอตแมชชีนเอฟเฟกต์ (slot machine effect)

ในมุมมองของไรเดอร์เอง ถึงแม้โอกาสจะน้อยแต่ก็ยังมีความหวัง ผู้ให้ข้อมูลรายหนึ่งกล่าวกับผู้เขียนทำนองว่า “การเห็นไรเดอร์คนอื่นได้งานค่ารอบเยอะ ๆ มันก็ทำให้เรารู้ว่าตัวเองมีโอกาสได้งานแบบนั้นบ้าง สมมติถ้าได้งานค่ารอบเยอะไม่กี่งานก็เข้าบ้านได้ ไอ้เราก็ลุ้นอยู่ตลอดว่างานต่อไปจะเป็นยังไง จะคุ้มค่ากับเวลาและน้ำมันที่เสียไปไหม ซึ่งก็รู้กันอยู่แล้วว่าหลัง ๆ มานี้มันไม่คุ้มเท่าไหร่แล้ว ไรเดอร์เสียเปรียบมากกว่าเมื่อก่อนเยอะ” จากคำพูดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโอกาสในการทำกำไรของไรเดอร์นั้นมีน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หายไปทั้งหมด เพราะเช่นนั้นก็คงไม่มีใครอยากมาเป็นไรเดอร์อีก “มันเหมือนกับว่าเราก็ต้องถัวเฉลี่ยค่ารอบนั่นแหละ บางงานได้เงินเยอะ บางงานได้น้อย เราก็พยายามมองผลรวมในแต่ละวันแทน จะได้ไม่คิดมาก” ไรเดอร์รายเดิมกล่าวทิ้งท้าย

ผู้เขียนสัมผัสกับประสบการณ์ดังกล่าวด้วยตนเองเมื่อได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าปกติ ในชั่วขณะหนึ่งผู้เขียนเกิดความคิดว่าตนเองโชคดีและเผลอคิดไปว่านี่เป็นงานที่ไม่ได้แย่เกินไปนัก หรือแม้แต่ความรู้สึกว่าอยากจะรับงานต่อไปอีกแม้จะเหนื่อยล้ามากแล้วก็เคยเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่าเทคนิคดังกล่าวของแพลตฟอร์มประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นนักมานุษยวิทยา (ซึ่งผู้เขียนยังไม่กล้าเรียกตนเองแบบนั้น) ที่พกแนวคิดเรื่องการขูดรีดแรงงานเข้าไปในสนาม ก็ยังเกิดความรู้สึกว่าต้องขูดรีดตนเองให้มากกว่านี้เพื่อรับรางวัลที่รออยู่ข้างหน้า เป็นความยินยอมที่จะถูกขูดรีดที่ถูกสร้างขึ้น (manufactured consent) จากระบบที่ถูกออกแบบมาอย่างดี

สำหรับแพลตฟอร์มแล้ว ยิ่งมีแรงงานสำรองอยู่ในระบบมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดี เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง หากลูกค้าสั่งอาหารแล้วไม่มีไรเดอร์รับงาน ย่อมส่งผลเสียต่อคุณภาพการบริการของแพลตฟอร์ม ในแง่นี้ แพลตฟอร์มจึงต้องบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่ออยู่รอดในตลาดให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนที่ไรเดอร์หรือตัวแสดงอื่น ๆ ในระบบต้องแบกรับเอาไว้ ดังที่อภิปรายไว้ข้างต้น

สลอตแมชชีนเอฟเฟกต์ จึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของบริษัทแพลตฟอร์มเอาไว้โดยการผลักความเสี่ยงและความไม่แน่นอนไปให้แรงงาน โดยการทำให้พวกเขา “ติดงาน” ที่หมายถึงเสพติดการทำงาน หรือกล่าวให้ตรงไปตรงมากว่านั้นคือพวกเขาเสพติดความหวังที่จะได้รับค่าตอบแทนที่มากขึ้น เสพติดความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพียงแต่ว่าการเสพติดดังกล่าวไม่สามารถบำบัดได้เฉกเช่นเดียวกับการเสพติตโซเชียลมีเดีย เพราะสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ พวกเขาไม่สามารถหยุดทำงานได้ ไม่ว่าร่างกายจะเหนื่อยล้าหรือแก่เฒ่าเพียงใดก็ตาม[6] ดังนั้นจึงพูดได้เต็มปากว่า อาการเสพติดงานอาจจะไม่จำเป็นต้องอาศัยกลไกใด ๆ เลยก็ได้ เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยไม่เอื้อให้คนส่วนใหญ่หยุดทำงานตามที่ควรจะเป็น ไม่เช่นนั้นเราคงไม่เห็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการหันมาขับมอเตอร์ไซค์เป็นไรเดอร์แล้วถูกนำไปโรแมนติไซส์กันอย่างครึกโครมว่าพวกเขาสู้ชีวิตหรือเป็นฮีโร่

ดังนั้นหากจะกล่าวว่า ชีวิตแรงงานเปราะบางของไทยนั้นเข้าทำนอง “ห้ามเหนื่อย ห้ามพัก ห้ามรักชีวิต” ก็คงไม่ผิดนัก


[1] นักวิจัยในโครงการฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส)โดยมี ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นหัวหน้าโครงการ

[2] อันที่จริงเฟซบุ๊กไม่ใช่แพลตฟอร์มแรกที่นำเอาปุ่มไลก์มาใช้ เพราะ Vimeo และ FriendFeed นำมาใช้ก่อนหน้านี้ แต่เฟซบุ๊กทำให้การกดถูกใจกลายเป็นสิ่งที่โซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มยุคต่อๆ มานำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย

[3] นอกจากนี้นักสังคมวิทยาชื่อก้องอย่าง เออร์วิง กอฟฟ์มัน ก็มองว่าตู้สล็อตเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจที่จะใคร่ครวญในทางสังคมวิทยาเช่นเดียวกัน ดูเพิ่มเติมที่ Natasha Dow Schüll, Addiction by Design: Machine Gambling in Las Vegas (Princeton: Princeton University Press, 2012).

[4] Michael Burawoy, Manufacturing Consent: Changes in the Labor Process Under Monopoly Capitalism (Chicago: University of Chicago Press, 1979).

[5] ยกตัวอย่างเช่น งานที่รับใกล้ส่งใกล้ งานที่ไม่ต้องรออาหารนาน เป็นต้น

[6] https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1123026

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย โครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง