9 มิถุนายน ถือเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ‘นิสิต จิรโสภณ’ 1 ในประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความจริงและมวลชนอย่างกล้าหาญในยุคแสวงหา เป็นสื่อมวลชนที่กล้าตั้งคำถาม ขับเคลื่อนสังคมในยุคเผด็จการ ก่อนที่จะจบชีวิตอย่างปริศนาจากการตกรถไฟ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2518 ระหว่างลงไปทำข่าวให้กับหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในห้วงเวลาขวาพิฆาตซ้าย ก่อนการมาถึงของเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519
และในวันนี้เองที่เป็นวาระครบรอบ 48 ปีการจากไปของ นิสิต จิรโสภณ Lanner ถือโอกาสหยิบยกเรื่องราวของนักสู้คนนี้สู่ประชาชนอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ตำนานการยืนหยัดเพื่อมวลชนไม่ถูกหลงลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย
นิสิต จิรโสภณ เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2492 ที่จังหวัดตรัง สําเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนคลองพน อําเภอคลองท่อม จบมัธยมศึกษา ตอนต้นที่โรงเรียนอํามาตย์พาณิชนุกูล อําเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จบเตรียมอุดมศึกษา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคณะสังคมศาสตร์ สังกัด ภาควิชารัฐศาสตร์
ณ ช่วงเวลาที่ นิสิต ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มีบรรยากาศของการตั้งคำถามต่อระบบอำนาจนิยมภายในมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นแล้ว นิสิต เองที่ตอนนั้นพอมีเพื่อนฝูงให้พูดคุยเรื่องสังคมอยู่บ้างก็เริ่มมีความคิดว่าตนต้องทำอะไรบางอย่าง นำไปสู่จุดเริ่มต้นของวารสาร ‘วลัญชทัศน์’ ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2514 ฉบับแรกชื่อว่า ‘มนุษย์และปัญหา’ และฉบับที่สองในชื่อ ‘ภัยเขียว’ ซึ่งเผยแพร่ในช่วงปลายปีเดียวกัน ภัยเขียว เป็นวารสารที่ถูกยอมรับกันในกลุ่มกิจกรรมฝ่ายก้าวหน้าว่าเป็นฉบับที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างสูงมาก โดยภัยเขียว อาจจะเป็นเอกสารฉบับแรกๆ ที่พูดถึงทหารโดยตรง ในฐานะภัยที่สำคัญที่สุดของประเทศ ซึ่งยังไม่มีใครกล้าพูดแบบนั้นมาก่อนในช่วงเวลานั้น
นิสิต เริ่มขยับขยายการทำการให้เป็นการทำงานเชิงขบวนการมากขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2515 เนื่องมาจากเงื่อนไขการเรียนในมหาวิทยาลัย สมาชิกหลายคนต้องจบการศึกษาไป นิสิต เข้าไปมีบทบาทในชมรมหรือสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัย และจากผลความโด่งดังของวลัญชัทศน์ฉบับภัยเขียว ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับนักกิจกรรมกรุงเทพและการเชื่อมโยงกับอาจารย์ที่สนับสนุนสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความเชื่อมั่นในการเคลื่อนไหวที่มีคำอธิบายรองรับ นิสิตจึงได้ทีมงานที่เข้ามาในช่วงปลายปีพ.ศ. 2514 อันได้แก่ ผดุงศักดิ์ พื้นแสน, ชาญชัย สงวนวงศ์, เกษตร ศิวะเกื้อ บุคคลเหล่านี้กลายเป็นกำลังสำคัญไปจนถึงก่อนเข้าป่าปีพ.ศ. 2519 จากการเปลี่ยนรูปแบบงานวารสารไปให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหว ด้วยการวางแผนเข้าไปมีอำนาจในองค์กรต่างๆเพราะเป็นปีที่ประเด็นในมหาวิทยาลัยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น
ในปีเดียวกันนั้นเอง กลุ่มอิสระที่นำโดยนิสิตก็ได้จัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มจากกรุงเทพฯ นิทรรศการชาวนาไทยขึ้นที่พุทธสถาน เชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่ปัญหาชาวนาและกระตุ้นความสำนึกทางสังคมในแวดวงปัญญาชน ถือเป็นการทำงานร่วมกันครั้งแรกอย่างเป็นทางการในระดับขบวนการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับปัญหาชาวนาสู่การจัดตั้งโครงการชาวนาในอนาคต
12 ธันวาคม 2515 ได้เกิดการเดินขบวนคัดค้านทั่วประเทศ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก โดยเดินออกจากบริเวณยูเนียนที่ทำการสมช. (อยู่หน้าหอสมุดกลางปัจจุบัน) ไปทางหลังมช. ผ่านสวนดอกไปปักหลักอยู่ที่บริเวณหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่หน้าศาลากลางเก่า (หอศิลป์ฯ ปัจจุบัน) เปิดอภิปรายพักใหญ่ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ ในที่สุดรัฐบาลก็ได้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ไป การเดินขบวนของนักศึกษาเชียงใหม่ครั้งนั้นนับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ของ นักศึกษามช. บุคคลที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการจัดการเดินขบวนครั้งนั้น คือกลุ่มวลัญชทัศน์ที่นำโดย นิสิต จิรโสภณ หลังจากนั้น กระแสคลื่นต่อต้านรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในปีพ.ศ. 2516 จากเป้าหมายของนิสิตและรุ่นน้องที่เข้ามาปลายปีพ.ศ. 2514 การพยายามเข้าไปมีบทบาทในองค์การนักศึกษาต่างๆ ได้มีบทบาทอย่างเป็นทางการในปี ชาญชัย สงวนวงศ์ เป็นประธานชุมนุมอาสาพัฒนา สมช. วางฐานกิจกรรมสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนร่วมการเข้าใจปัญหาชนบทและความยากจนของประเทศ ผดุงศักดิ์ พื้นแสน ประธานชุมนุมวรรณศิลป์ สมช. เปลี่ยนแปลงแนวทางศิลป์จากสายลมแสงแดดเป็นแนวทางศิลปะเพื่อชีวิต เพื่อประชาชน
ข้อมูลจากบันทึกบอกเล่าของผดุงศักดิ์กล่าวไว้ว่า นิสิต เข้าจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ภายหลังการเรียกร้องคืนสถานภาพนักศึกษา 9 คนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรณีที่นักศึกษารามคำแหงพิมพ์ภาพ “สภาทุ่งสัตว์ใหญ่” กรณีทุ่งใหญ่ณเรศวรของจอมพลถนอม กิจติขจรและมีการยกระดับข้อเรียกร้องไปจนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน
แม้การเรียกร้องคืนสถานะนักศึกษา 9 คนของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะประสบความสำเร็จ แต่หลังจากนั้นก็ยังคงมีการยกระดับข้อเรียกร้องไปจนถึงการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดเหตุการณ์จับกุมกลุ่มเรียกร้อง 13 คน การจับกุมกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ต่อมาเรียกว่า ‘กลุ่ม 13 กบฏ’ นักศึกษาอิสระเริ่มผลักดันให้มีการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาและเรียกร้องให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว
ด้านเชียงใหม่ก็ได้มีการจัดชุมนุมตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2516 ที่น่าสนใจคือกลุ่มแรกที่จัดการชุมนุมในเชียงใหม่จนนำไปสู่กรณี 14 ตุลาคม 2516 กลับกลายเป็นกลุ่มนักศึกษาจากวิทยาลัยครูซึ่งนำโดยพรพิไล เลิศวิชา ก่อนที่จะมีการแบ่งขบวนมาเชิญชวนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มมีการชุมนุมที่ประตูท่าแพ ตั้งแต่บ่ายวันที่ 8 ตุลาคม 2516 นั้น นำโดยสโมสรนักศึกษาวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ซึ่งมี พรพิไล เลิศวิชา เป็นนายกสโมสร ได้ประกาศหยุดเรียนและเดินขบวนออกจากวิทยาลัยครู เข้ามาชุมนุมที่บริเวณช่วงประตูท่าแพและมีอีกส่วนหนึ่งแยกเข้าไปปลุกระดมให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินขบวนออกมาร่วมประท้วงต่อสู้ร่วมกัน มีการตั้งเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล
ภายหลังชัยชนะในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้กลุ่มกิจกรรมทางการเมืองเริ่มจัดตั้งขบวนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่นิสิตกลับปรับบทบาทตัวเองอีกครั้งเพื่อกลับไปทำงานสิ่งพิมพ์ซึ่งเคยทำไว้ นั่นคืองานสื่อ
การปรับบทบาทเป็นผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ครั้งนี้มีเป้าหมาย แนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยสถานะเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้ง สิ่งพิมพ์ที่นิสิตไปร่วมเสนอออกมาในปีพ.ศ. 2517 ล้วนมีเนื้อหาไปในแนวทางสังคมนิยมและเป็นการกลับไปเอางานของนักคิด ปัญญาชนฝ่ายซ้ายในปีพ.ศ. 2490 กลับมาให้นำเสนอ
นอกจากเป็นการนำเสนอแนวคิดสังคมนิยมแล้วการทำงานวารสารและหนังสือพิมพ์ของนิสิตยังเป็นสิ่งที่ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์กลับมามีชีวิตทางข้อเสนอในการวิพากษ์วิจารณ์ศักดินาผ่านหนังสือของจิตร ที่นิสิตไปนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่ ในพ.ศ.ที่ผู้คนยังไม่ประสีประสากับเรื่อง ‘ศักดินา’ และไม่กล้าแตะ นิสิตเป็นคนบุกเบิกพิมพ์ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งในยุคนั้น คนไทยยังไม่รู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงในท่ามกลางบรรยากาศยุคขวาพิฆาตซ้าย
เข้าสู่ปีพ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นปีที่ขบวนการฝ่ายซ้ายในทุกระดับ ถูกเพ่งเล็งอย่างมาก และเกิดความรุนแรงขนานใหญ่ การลอบฆ่าผู้นำองค์กรต่างๆที่มีแนวโน้มไปทางสังคมนิยมจำนวนมาก และโชคไม่ดีที่นิสิต จิรโสภณคือหนึ่งในจำนวนนั้น นิสิต จิรโสภณ ตกรถไฟอย่างปริศนาวันที่ 2 เมษายน 2518 ระหว่างลงไปทำข่าวให้กับหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...