เปิด ‘ห้องเรียนข้ามขอบ’ หวังจินตนาการใหม่การศึกษาไทยไร้รอยต่อ ‘เชียงดาว’ นำร่องสร้างนิเวศแห่งการเรียนรู้

9 สิงหาคม 2567 ณ หอประชุมโรงเรียนเชียงดาววิทยาคม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่  ได้มีการจัดเวทีสัมมนากำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์โครงการห้องเรียนข้ามขอบ “ร่วมกันสร้างนิเวศการเรียนรู้จากห้องเรียนข้ามขอบ เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้สู่การศึกษาไร้รอยต่อ” เพื่อกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์โครงการห้องเรียนข้ามขอบ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการ ‘สร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น’ ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

โดยสัมมนาในครั้งนี้มีการพูดคุยถึง “จินตนาการใหม่การศึกษาไทยไร้รอยต่อ” เพื่อฉายให้เห็นฉากทัศน์ของความเป็นไปได้ทางการศึกษาที่นำไปสู่การพัฒนาห้องเรียนข้ามขอบ ร่วมพูดคุยโดย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ภัทระ คําพิทักษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. , ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยโครงการห้องเรียนข้ามขอบ, อธิษฐาน์ คงทรัพย์ หัวหน้าโครงการห้องเรียนข้ามขอบ ดำเนินการพูดคุยโดย พฤหัส  พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ให้ความเห็นสำคัญไว้ว่าเด็กทุกคนนั้นมีศักยภาพ มีความคิดความฝันที่เป็นของตัวเอง ไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร แต่ระบบในการรับรองความคิดความฝันนั้นยังมีข้อจำกัดอีกมาก ซึ่งโจทย์ท้าทายในเรื่องนี้คือการร่วมกันค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการศึกษาที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่รวมศูนย์ เพื่อที่จะอุดช่องว่าง เท่าทันอนาคตของโลก โดยทิ้งท้ายว่าโครงการห้องเรียนข้ามขอบที่เชียงดาวจะไม่ใช่แค่เพียงโครงการที่ทำแล้วจบไป แต่จะมุ่งสร้างความยั่งยืนให้ฝังอยู่ในระบบการศึกษา

ด้าน ภัทระ คําพิทักษ์ กล่าวว่าจากการทำงานของ กสศ. สามารถระบุรูปแบบในการสนับสนุนที่มุ่งให้เกิดความเสมอภาค โดยแบ่งเป็น 4 รูปแบบคือ 1.ศูนย์การเรียน เพื่อเป็นทางเลือก รวมไปถึงการรองรับเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา รวมถึงกรณีของเปลี่ยนศูนย์ฝึกเด็กและเยาวชนให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วย โดยเปลี่ยนเจ้าที่เป็นครู นี่คือหัวใจสำคัญที่จะต่อยอดโอกาสผ่านการมีวุฒิการศึกษา 2.การศึกษาที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยเชื่อว่าเราไม่สามารถทำงานกับเด็กเพียงแค่กลุ่มเดียวแต่ชุมชนท้องถิ่นเองก็ต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน 3.โรงเรียน 3 รูปแบบ กล่าวคือการผนวชรูปแบบทั้ง 3 แบบ ให้เข้ากับโรงเรียน นักเรียน ชุมชน ร่วมกันคือ (1) การศึกษาในระบบโรงเรียน (2) การศึกษานอกระบบ และ (3) การศึกษาตามอัธยาศัย และรูปแบบที่ 4 ห้องเรียนข้ามขอบ ที่เป้นดั่งการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่มากกว่าแค่โรงเรียน

ณิชา พิทยาพงศกร ชวนมอง 3 ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาและการเรียนรู้ในประเทศไทย 1.ทักษะและวุฒิการศึกษาแยกตัวออกจากกัน ที่มองว่าการเรียนนานไม่เท่ากับมีทักษะสูง จ้างงานตามทักษะมากขึ้น 2.การศึกษาในระบบโรงเรียนรัฐเสื่อมถอย นักเรียนมีจำนวนน้อยลง มีโรงเรียนเล็กเพิ่มมากขึ้น งบประมาณลดลง ค่านิยมของ พ่อแม่ นักเรียน และครู เปลี่ยนไป ถูกแทรกแซงทางการมือง ที่เป็นการแช่แข็งหลักสูตร และ 3.ทางเลือกการเรียนรู้เกิดใหม่ และหลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ณิชา ยังฉายให้เห็นถึง ‘การศึกษาไร้รอยต่อ’ ที่เป็นการเชื่อมโยง 4 รอยต่อเข้าด้วยกัน คือ 1.รอยต่อของในระบบและนอกระบบ ที่ผู้เรียนสามารถเคลื่อนย้ายไปมาข้ามเส้นแบ่งระหว่างในและนอกโรงเรียน 2.รอยต่อของความหลากหลาย ที่ผู้เรียนทุกคนได้รับการยอมรับ อยู่ร่วมและเรียนรู้ในความแตกต่าง 3.รอยต่อของศาสตร์ความรู้ ที่ผู้เรียนอยากเรียนรู้อะไรก็ได้เรียนและแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่หลากหลาย และ 4.รอยต่อของผู้เกี่ยวข้อง ให้ทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน

อธิษฐาน์ คงทรัพย์ เผยว่าโครงการห้องเรียนข้ามขอบเป็นการขับเคลื่อนการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ที่พร้อมปรับตัวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างทักษะและสมรรถนะแห่งอนาคต รวมไปถึงการสร้างแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ผสมผสานทั้งการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายและปลอดภัย 

ทั้งนี้โครงการห้องเรียนข้ามขอบยังเป็นการเชื่อมรอยต่อในระบบการศึกษา โดยอาศัยการสร้างความร่วมมือกับชุมชน องค์กรท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในการร่วมกันการออกแบบสร้างต้นแบบนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ที่มุ่งหวังว่าระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายและตอบโจทย์ชีวิต รวมทั้งส่งเสริมนิเวศการเรียนรู้และวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เคารพความแตกต่างหลากหลายบนฐานประชาธิปไตย

โดยโครงการห้องเรียนข้ามขอบมีเป้าหมายหลักของโครงการทั้งหมด 3 เป้าหมาย ดังนี้

1. พัฒนานวัตกรรมการศึกษา โมเดลนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับบริบทชีวิตของผู้เรียนที่แตกต่างหลากหลายเชื่อมโยงกับชุมชน สังคมและเท่ากันการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต

2. พัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ เชื่อมประสานกับกลไกการทำงานขององค์กรในท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ออกแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ในชุมชนที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพ

3. ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กระจายอำนาจในการจัดการศึกษาสู่ชุมชน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยและส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย

โดยแนวทางการจัดการเรียนรู้ของ “โครงการห้องเรียนข้ามขอบ” ใช้ระบบการเรียบรู้แบบผสมผสาน (Hybrid Learning) และยืดหยุ่น ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทั้งการจัดการเรียนการสอนในระบบที่หลักสูตรจัดไว้ให้ หรือเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์และเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ภายนอกของหน่วยการเรียนรู้ในชุมชนและภาคีเครือข่ายการเรียนรู้ต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ กล่าวคือ ผู้เรียนสามารถสร้างเส้นทางเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากแหล่งอื่นๆ ตามความสนใจ รวมทั้งเรียนรู้จากการทำโครงงาน การประกอบอาชีพต่างๆ 

ที่เน้นการบ่มเพาะคุณลักษณะของของผู้เรียนที่สามารถนำการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self-directed Learners) มีทักษะชีวิตและทักษะการเรียนรู้ (Learn how to learn) เพื่อบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้เฉพาะตน สามารถลงลึกในสิ่งที่รักและสนใจ จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญและต่อยอดไปสู่การเรียนรู้พัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข โดยอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็น 2 พื้นที่นำร่องของโครงการดังกล่าว

ในช่วงท้ายได้มีวงพูดคุย “ห้องเรียนข้ามขอบ เชียงดาวเมืองนิเวศแห่งการเรียนรู้” โดยมีตัวแทนของครู อาจารย์ นักการศึกษา รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับนโยบาย และภาคเอกชน อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาเชียงใหม่, ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเชียงดาว, ตัวแทนครูและบุคลากรทางการศึกษาเครือข่ายในพื้นที่อำเภอเชียงดาว, ตัวแทนภาคีสถานีเรียนรู้ในโครงการเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ และตัวแทนนักเรียนผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้และผู้ได้รับประโยชน์ เข้ามาพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่การทำงาน-การเรียนรู้และข้อจำกัดในการทำงานของตนเอง ที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งผู้เรียนรู้และคนทำงาน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่อไป

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง