72 ปี จรัล มโนเพ็ชร: ล้านนา ศิลปะ ประชาสังคม และเรื่องอ้ายจรัลที่คุณอาจไม่เคยรู้

3 กันยายน พ.ศ. 2566 คณะสังคมศาสตร์เชียงใหม่พร้อมด้วยสมาคมสืบสานล้านนาได้จัดงาน “72 ปี จรัล มโนเพ็ชร: ล้านนา ศิลปะ ประชาสังคม” ณ ‘ลานอ้ายจรัล’ สวนสาธารณะหนองบวกหาด เทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเวลา 22 ปีแล้วที่จรัล มโนเพ็ชรยอดศิลปินแห่งล้านนาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

งานเริ่มขึ้นในเวลา 13.00 น. ด้วยการแสดงดนตรีโฟล์คคำเมืองจากคุณแมว MP3, คุณเบิ้ม ล้านนา, วงน้ำปิง, วงฮักเจียงฮาย, คุณกิจจา มโนเพ็ชร กับวงชารมชาวเหนือ ตามด้วยการสนทนาในหัวข้อ 72 ปี จรัล มโนเพ็ชร: ล้านนา ศิลปะ ประชาสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทบาทและคุณูปการของจรัล มโนเพ็ชรในด้านการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมล้านนา ศิลปะ และแนวคิดที่ส่งถึงภาคประชาสังคม โดยวิทยากร 3 คน คือ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ โฮงเฮียนสืบสานล้านนา, ผศ.ดร.สิระ สมนาม จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปณิธ ปวรางกูร สำนักข่าว Lanner ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว คณะสังคมศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


จากด้านซ้าย: รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว, ผศ.ดร.สิระ สมนาม, ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, ปณิธ ปวรางกูร, ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ กล่าวถึงบทบาทของจรัล มโนเพ็ชรในการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมล้านนาไว้ว่า ก่อนที่จะก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานล้านนานั้น ชัชวาลมีความสนิทสนามกับพ่อสิงห์แก้ว มโนเพ็ชรซึ่งเป็นคนจุดประกายให้เกิดโฮงเฮียนสืบสานล้านนาขึ้น การประชุมเพื่อก่อตั้งโฮงเฮียบสืบสานฯนั้นก็มีความขัดแย้งเนื่องจากสล่าบางท่านไม่อยากเผยแพร่วิชาหรือไม่คิดว่ามีคนสนใจเรียน ซึ่งพ่อสิงห์แก้วกล่าวเตือนสติที่ประชุมว่าไม่ควรเป็นคนใจแคบและอุ๊ยใจคำ ตาปัญโญได้เสริมว่า “ถ้าอมความรู้จะหาย ถ้าคายความรู้จะอยู่” ซึ่งพ่อสิงห์แก้วได้เล่าว่าจรัลก็มีแนวคิดที่จะตั้งหอศิลป์สล่าเล่าเรื่องเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมงานสล่าล้านนาไว้ จะเห็นได้ว่าจรัลนั้นมีความสัมพันธ์เชิงจิตวิญญาณในการสืบสานวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งโฮงเฮียนฯก็มีที่มาจากแนวคิดนี้ 

นอกจากนี้จรัลมีความเด่นในด้านการสื่อสาร Soft power ด้วยความที่มีความลึกซึ้งและภาคภูมิใจในล้านนาโดยได้รับอิทธิพลจากครอบครัวและพื้นที่ กล่าวได้ว่าการศึกษาศิลปะกับครอบครัวนั้นเป็นการศึกษาที่แท้จริงของจรัล โดยจรัลสามารถถ่ายทอดวิถีตัวตนของคนเมืองและล้านนาซึ่งเป็นวิถีของคนธรรมดาออกมาได้อย่างดี เนื่องจากมีการนำดนตรีตะวันตกเข้ามาประกอบกับคู่คิดที่เป็นคนภายนอกคือมานิต อัชวงศ์ซึ่งทำให้การเดินทางของจรัลไปไกลมากกว่าในภาคเหนือ กล่าวได้ว่าจรัลเป็นฮีโร่ท้องถิ่นของสามัญชน


ภาพ: joox

ผศ.ดร.สิระ สมนาม ได้กล่าวถึงผลงานของจรัล มโนเพ็ชร ว่า ในปัจจุบันเป็นยุคของการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนผ่านหากมองผลงานของจรัล มโนเพ็ชร จะเห็นว่าทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวข้องกับยุคเปลี่ยนผ่านของล้านนาหลายประการ ล้านนานั้นถูกควบรวมเข้ากับสยามไม่เพียงด้านการปกครองแต่รวมึงด้านวัฒนธรรมด้วยการใช้การศึกษากล่าวคือพ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ที่บังคับการสอนภาษาไทยในทุกระดับทำให้ภาษาเมืองถูกด้อยค่าลงไปอย่างมากโดยเฉพาะตัวอักษรเหลือเพียงภาษาพูดเท่านั้นที่ยังใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเพลงของจรัลได้ออกสู่สังคมจึงทำให้ภาษาเมืองได้รับความนิยมกลับมา 

ในปัจจุบันหนึ่งใน Sustainable Development Goal คือการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันผลักดัน การศึกษาท้องถิ่นก็เป็นตัวแแปรที่ขาดไม่ได้ของการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งในปัจจุบันการเรียนการสอนมีตัวชี้วัดเรื่องภาษาถิ่นจนถึงม.6 แต่ตัวชี้วัดนี้กว้างทำให้การเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมนี้สิ้นสุดที่ม.3 จึงควรใช้คำว่าล้านนาศึกษามากกว่าเนื่องจากอาจเป็นวิชาเพิ่มเติมได้

หากมองประวัติของจรัล มโนเพ็ชรเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านจะเห็นได้ว่ามี 3 ยุคหลัก 1.ยุคการเปลี่ยนผ่านแรกคือการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ เป็นการทดลองแนวดนตรี 2.ยุคการเปลี่ยนผ่านสู่การรับรู้ตัวตน เป็นช่วงที่ดนตรีของจรัลเป็นที่นิยม 3.ยุคการเรียนรู้จากประสบการณ์ใก้สร้างสรรค์มากขึ้น จนเกิดดนตรีนวที่ไม่เคยทำเช่น เพลงภาพยนตร์ จรัลแจ๊ส ซิมโฟนี่ กล่าวได้ว่าจรัลนั้น”เปลี่ยนผ่านสังคมให้ล้านนาหูผึ่งด้วยความสร้างสรรค์”


ภาพ: winnews

ปณิธ ปวรางกูร กล่าวถึงคุณูปการของจรัล มโนเพ็ชรไว้สองประเด็นคือ 1.การสืบสานล้านนา 2.ภาคประชาสังคม และทิ้งทายถึงการต่อยอดจากความพยายามของจรัล มโนเพ็ชร

จรัล มโนเพ็ชรเป็นผู้ที่ทำให้ภาษาเมืองกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง หากกล่าวว่าครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ต่อลมหายใจของล้านนา จรัลก็เป็นคนที่ทำให้ล้านนากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจรัลนั้นได้สืบสานวัฒนธรรมล้านนาผ่านบทเพลงอันไพเราะและยังทำให้ภาษาเมืองเป็นที่นิยมไม่เฉพาะในภาคเหนือแต่เป็นประชาชนทั้งประเทศที่ยังคงฟังเพลงของจรัล 

ในด้านภาคประชาสังคมจรัลได้เล่าเรื่องไว้ผ่านหลายบทเพลงซึ่งยังคงเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน เช่น เพลงตากับหลาน ที่พูดถึงอุบัติเหตุทางท้องถนน ซึ่งยังคงเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันและอัตราการเกิดเหตุสูงกว่าเมื่อเพลงนี้ออกอากาศอีกด้วย เพลงอุ๊ยคำซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาครัฐที่ละเลยและไม่ดูแลผู้สูงอายุด้วยสวัสดิการใด ๆ ในปัจจุบันปัญหาของการดูแลผู้สูงอายุโดยรัฐยังคงอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะเกิดสวัสดิการขึ้นแต่อย่างใด อีกประเด็นหนึ่งคือภาคประชาสังคมต้องดูตัวอย่างของจรัล มโนเพ็ชรในการสื่อสารกับสังคมไทย ซึ่งจรัล มโนเพ็ชรประสบความสำเร็จอย่างมากเห็นได้จากการที่เขาได้รับความนิยมทั่วทั้งประเทศ และเพลงที่แต่งออกมาสามารถสื่อสารกับประชาชนได้เป็นอย่างดี การใช้ดนตรี ศิลปะหรือแนวทางการสื่อสารใหม่ ๆ อาจเป็นแนวทางที่ภาคประชาสังคมควรนำไปปรับใช้เพื่อการสื่อสารประเด็นของตนกับประชาชนในวงกว้างต่อไป

สำหรับการต่อยอดความพยายามของจรัลที่ทำไว้ทั้งเรื่องการสืบสานล้านนาและการทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ต้องมองไปถึงการกระจายอำนาจซึ่งในที่นี้ไม่เพียงแค่การกระจายอำนาจบริหารและการจัดการเงินให้ท้องถิ่นเท่านั้นแต่ต้องเป็นกระจายอำนาจทางวัฒนธรรมให้ท้องถิ่นเองด้วย จะมีใครที่สามารถดูแลวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ดีเท่ากับท้องถิ่น ท้องถิ่นควรมีอำนาจในการจัดการวัฒนธรรมของตนเอง ทั้งการออกแบบการศึกษา การมีอำนาจในการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมด้วยตนเอง

ภายหลังการเสวนามีการแสดงดนตรีจากวงคอรัสมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกิจกรรมจบลงด้วยฟ้อนเพลิงจากคณะสายป่าเพลิงศิลป์


ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง