เผด็จการทหารเมียนมาสอบตกด้านการศึกษาหลังโรงเรียนอยู่ในความยุ่งเหยิง

แปลจาก https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-junta-gets-an-f-for-education-as-schools-spiral-into-chaos.html

ผู้ปกครองนักเรียนชาวเมียนมาหลายคนกล่าวว่า ระบบการศึกษาของเมียนมาอยู่ในสภาพยุ่งเหยิงเนื่องจากเผด็จการทหารไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างของครูที่มีคุณภาพซึ่งปฏิเสธทำงานภายใต้เผด็จการทหารและเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนภายหลังการรัฐประหารปี 2021

มีเจ้าหน้าที่รัฐจากระบบการศึกษากว่า 400,000 คนเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนซึ่งเป็นการประท้วงรัฐประหารอย่างสันติ พวกเขาปฏิเสธจะทำงานกับระบบการศึกษาของเผด็จการทหารในปี 2021 อาจารย์มหาวิทยาลัย ครู ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทั่วไปในโรงเรียนเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรด้านการศึกษาในทุกระดับตั้งแต่ประถมถึงมหาวิทยาลัย

วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันครูโลก รัฐบาลเงาของเมียนมา(National Unity Government:NUG) กล่าวว่ามีครูกว่า 130,000 คนเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน หรือมากกว่าร้อยละ 30 ของผู้เข้าร่วมในปี 2021 ผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า ครูชั้นประถมในเมืองตะโก้งเหนือซึ่งอยู่ชานเมืองย่างกุ้งขาดแคลนเจ้าหน้าที่อย่างมากจนไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนเต็มเวลาสำหรับนักเรียนได้

แม่ของนักเรียนชั้นป.2 ในเมืองตะโก้งเหนือกล่าวว่า“ลูกสาวของฉันได้ไปโรงเรียนเพียงแค่ 2 อาทิตย์ต่อเดือน” เธอเพิ่มเติมว่า “ครูครึ่งหนึ่งเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนจึงไม่มีครูเพียงพอที่จะจัดการการเรียนการสอนทั้งหมดได้”

โรงเรียนประถมในเขตเมืองสะเกตา (Thaketa) เปิดทำการเรียนการสอนทุกวันธรรมดาแต่สามารถเปิดได้เพียงครึ่งวันเท่านั้น แม่ของนักเรียนชายในโรงเรียนนี้กล่าวว่า “โรงเรียนประถมปกติเปิดเรียนเวลา 9 โมงเช้าและเลิกเรียนในเวลาบ่าย 3 โมง แต่ตอนนี้ลูกของฉันกลับบ้านตั้งแต่เวลาเที่ยง ฉันไม่จำเป็นต้องเตรียมอาหารกลางวันให้เขาเลย” 

ครูที่เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนกล่าวว่า โรงเรียนภายใต้กระทรวงศึกษาธิการของเผด็จการทหารในย่างกุ้งและอีกหลายเมืองใหญ่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนครูทั้งปริมาณและคุณภาพ นักเรียนชาวเมียนมาหลายล้านคนต้องออกจากโรงเรียนเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2020 สถานการณ์ยื่งเลวร้ายลงเมื่อกองทัพเมียนมารัฐประหารในปี 2021 ทำให้นักเรียนกว่า 10 ล้านคนคว่ำบาตรระบบการศึกษาของเผด็จการทหาร

ผู้ปกครองหลายคนในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองใหญ่อื่น ๆ เลือกย้ายลูกของพวกเขามาศึกษาในโรงเรียนเอกชนในขณะที่นักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ของกลุ่มต่อต้านยังคงศึกษาต่อในโรงเรียนชุมชนภายใต้การดูแลของรัฐบาลเงาที่ก่อตั้งโดยครูและอาสาสมัครในขบวนการอารยะขัดขืน

ในระยะเวลาสองปีภายหลังรัฐประหาร มีเด็กจำนวนมากจากครอบครัวที่ขาดโอกาสในพื้นที่เมืองรวมถึงเด็กที่ผู้ปกครองเป็นข้าราชการภายใต้กระทรวงของเผด็จการทหารต้องกลับเข้าไปโรงเรียนของเผด็จการทหารเนื่องจากไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายโรงเรียนเอกชนได้

แม้มีการศึกษาออนไลน์ที่สนับสนุนโดยกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลเงา แต่นักเรียนส่วนใหญ่นั้นเขาถึงได้ยากเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยและการจับกุมครูในขบวนการอารยะขัดขืนโดยเผด็จการทหาร การขาดแคลนพลังงาน การขาดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือก็ยิ่งเป็นอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาออนไลน์อีกด้วย

แม่ของนักเรียนระดับเกรด 11 กล่าวว่า“ฉันคิดว่านักเรียนจำนวนกำลังทยอยกลับเข้าเรียนในโรงเรียนระบบเผด็จการทหาร เนื่องจากผู้ปกครองไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ … ลูกของพวกเราต้องการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อหางานทำ”

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับครูนอกขบวนการอารยะขัดขืนกล่าวว่า ครูนอกขบวนการอารยะขัดขืนที่ยังทำงานในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้เผด็จการทหาร กำลังแบกรับภาระงานมหาศาลจากการขาดแคลนครู “น้องสาวของฉันต้องรับผิดชอบ 7 ห้องเรียนเนื่องจากไม่มีเพื่อนร่วมงานที่สอนวิทยาศาสตร์ได้ในโรงเรียนมัธยมปลาย”

ผู้ปกครองกล่าวว่าคุณภาพของการศึกษาตกต่ำลงภายใต้เผด็จการทหารเนื่องจากขาดครูที่มีคุณภาพ แม่ของนักกเรียนระดับเกรด 11 กล่าวว่า “ครูบางคนถึงกับให้ข้อสอบและคำตอบกับนักเรียนในการสอบประจำเดือน ดังนั้นฉันจึงส่งลูกของตนไปยังโรงเรียนเอกชนเพื่อได้รับการศึกษาที่ดีเพราะไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษาของเผด็จการทหาร”

หลายครอบครัวที่ยากจนกล่าวว่าพวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะต่อว่าเนื่องจากไม่มีทางเลือก แม่ของนักเรียนชั้นเกรด 2 ในย่างกุ้งกล่าวอย่างสิ้นหวังว่า “ในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ฉันหวังว่าฉันจะสามารถหาการศึกษาที่ดีที่สุดให้ลูก ๆ ของฉัน แต่ในตอนนี้เรามีทางเลือกน้อยนิดหรือไม่มีทางเลือกเลย มันเหมือนกับสถานการณ์ที่ไม่ทำก็ตาย ฉันเลยคิดว่าแล้วจะบ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างไร”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง