9 พฤศจิกายน 2477 ครบ 89 ปี ครูบาเจ้าศรีวิชัย ‘นั่งหนัก’ บุกเบิกสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ

9 พฤศจิกายน 2477 หรือเมื่อ 89 ปี ที่แล้ว ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้ริเริ่มบุกเบิกสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ โดยทำหน้าที่ ‘นั่งหนัก’ เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และพลังของผู้มีจิตศรัทธามาช่วยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจของการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพนั้น ไม่มีการใช้งบประมาณจากภาครัฐเลย แต่อุดมไปด้วยแรงศรัทธาของประชาชนแทบทั้งสิ้น

ความคิดที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนั้นมีมาก่อนหน้านั้น เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2460 พลโท หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ ได้ให้นายช่างกองทางทำการสำรวจเส้นทางและพิจารณางบประมาณค่าใช้จ่ายการทำถนนขึ้นดอยสุเทพ แต่พบว่า จำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 200,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ ณ ตอนนั้น และอาจต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 3 ปี ทำให้โครงการนี้จำต้องถูกยุบไป ก่อนที่หลายปีต่อมา ครูบาเถิ้ม (พระอธิการโสภา โสภโณ)  ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพในขณะนั้น ได้เห็นถึงปัญหาความยากลำบากของพระที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ทั้งเรื่องการเดินทาง น้ำกินน้ำใช้ และการเข้าถึงไฟฟ้า เนื่องจากไม่มีชุมชนที่จะคอยอุปถัมภ์บำรุง ครูบาเถิ้มจึงได้นำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษากับพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ, หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน

ในภายหลัง หลวงศรีประกาศ นำเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะการนำไฟฟ้าขึ้นไปให้ถึงบนดอยสุเทพมาปรึกษาครูบาเจ้าศรีวิชัย จนได้ข้อสรุปว่าให้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เพราะถนนจะเป็นทางนำน้ำ และไฟขึ้นไปเองในภายหลัง แน่นอนว่าการทำถนนถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพได้อย่างแน่นอน

หลังจากนั้นจึงทำหนังสือ ยื่นเรื่องการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ไปถึงหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ส่งนายช่างมาทำการสำรวจ เมื่อรัฐบาลรับเรื่องแล้ว พระพิศาลสุขุมวิท(ประสพ สุขุม) อธิบดีกรมโยธาเทศบาล ได้ส่งคณะสำรวจลงพื้นที่ พร้อมจัดทำแผนที่การสร้างถนน หลวงศรีประกาศ และครูบาเถิ้มได้นำแผนที่ดังกล่าวไปให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยดู ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กำหนดวันทำพิธีบุกเบิกทางเป็นอุดมฤกษ์ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 เวลา 10.00 น. (วันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่เหนือ (เดือน 12 ภาคกลาง) ปีจอ) หลังจากนั้น เถ้าแก่โหงว แซ่เตียว-คหบดีชาวเชียงใหม่ และพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ รับเป็นเจ้าภาพพิมพ์ใบปลิวบอกข่าวการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพจำนวน 100,000 ใบ

ในวันพิธี ครูบาเถิ้มเป็นผู้ประกอบพิธีเชิญเทวดาอารักข์ทั้งสี่ทิศ สี่องค์ ได้แก่ คนธรรพ์ พญานาค กุมภัณฑ์ และกุเวร ส่วนคณะสงฆ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นฝ่ายสวดชยันโต โดยในพิธีลงจอบแรก พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ คือประธานผู้ลงจอบแรก ถัดมาจึงเป็นคณะเจ้านายฝ่ายเหนือ ตามด้วยหลวงศรีประกาศ คุณนายเรือนแก้ว ภริยา และเหล่าคหบดี ข้าราชการในเชียงใหม่ ลำพูน

ครูบาเจ้าศรีวิชัย ‘นั่งหนัก’ จนงานเบา ผสานแรงศรัทธาจนแล้วเสร็จใน 5 เดือน 22 วัน

(ภาพ ครูบาเจ้าศรีวิชัยคณะลูกศิษย์และประชาชนที่มาร่วมกันสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ)

ตลอดการก่อสร้างครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ได้ทำหน้าที่ “นั่งหนัก” เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และรับไทยทานที่บริเวณหน้าวัดศรีโสดา

ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ปราชญ์ล้านนาเคยอธิบายไว้ว่า คำว่า “นั่งหนัก” ในอดีตก่อนหน้าช่วงอายุครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ชาวล้านนานไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อน คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เรียกพฤติกรรมการนั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาและให้ศีลให้พร หรือปันพร เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง แก่ผู้มาร่วมบริจาคเงินสำหรับการก่อสร้างเป็นการเฉพาะ ซึ่งในที่นี้คือการทำถนนขึ้นดอยสุเทพ

หลังจากเริ่มก่อสร้างได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็เริ่มมีผู้ทราบข่าวทยอยมาจากทั่วสารทิศ มาขอเป็นอาสา หรือร่วมเป็นเจ้าภาพในการทำทางเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ต่อวัน รวมผู้คนที่มาร่วมงานก่อสร้างถนนครั้งนี้ทั้งสิ้น 118,304 คน ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 5 เดือน 22 วัน ก็แล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าที่นายช่างกองทางประเมินไว้เมื่อประมาณปี 2460 ว่าอาจใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 3 ปี โดยมีกำหนดทำพิธีฉลองเปิดทางทดลองวิ่งในวันที่ 30 เมษายน 2478 ดยครูบาเจ้าศรีวิชัยนั่งรถของเถ้าแก่โหงวเปิดทางเป็นคันแรกจากวัดศรีโสดาไปจนถึงขั้นบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นงานบุญที่ชาวล้านนาเกิดความปีติใจ ร่วมฉลองกันยาวนานถึง 15 วัน 15 คืน เมื่อแรกสร้างเสร็จให้ชื่อว่า “ถนนดอยสุเทพ” จึงกล่าวได้ว่าการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความทุ่มเทและความมุ่งมั่นที่มาจากประชาชนโดยไม่ได้อิงกับอำนาจของรัฐส่วนกลางอย่างแท้จริง

ทั้งนี้การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพสำเร็จลุล่วงแล้ว อิทธิพลบารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัยได้แผ่ขจรขจายไปทั่วล้านนา เป็นผลให้วัดวาอารามต่าง ๆ ร่วมร้อยวัดที่ไม่ค่อยพอใจกับการปกครองของคณะสงฆ์ส่วนกลางเริ่มประกาศไม่ขึ้นต่อมหาเถรสมาคมแต่จะมาขึ้นกับครูบาเจ้าศรีวิชัยแทน ก็ทำให้ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมมากักและสอบสวนไว้ที่กรุงเทพฯ ในปี 2478 เป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี พร้อมกับกล่าวหาหรือตั้งอธิกรณ์ดำเนินคดีครูบาศรีวิชัยว่าไม่ยอมปรองดองกับคณะสงฆ์ โดยมีข้อกล่าวหาว่า

1.จัดอุปสมบทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะ

2.ตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เอง

3.ออกใบสุทธิและหนังสือตราตั้งคณะตนเอง

4.ก่อสร้างบูรณะโดยไม่ขออนุญาตกรมศิลป์ ไม่อนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิม

5.ยุยงให้พระสงฆ์ออกจากการปกครองของรัฐ

หลังได้รับการปล่อยตัวแล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงกลับไปพำนักอยู่ที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูนซึ่งเป็นภูมิลำเนาของท่านจนมรณภาพลงในปี 2482 โดยภายหลังที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพ ถนนดอยสุเทพจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนศรีวิชัย” 

ปริศนาพิธีลงจอบแรก?

การริเริ่มสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพครั้งนี้ นอกจากเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจนถึงปัจจุบันแล้ว ยังได้ส่งต่อปริศนาและตำนานอีกหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องกัน โดยเฉพาะข้อถกเถียงที่ว่า ระหว่าง พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย กับ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ใครกันที่เป็นประธานผู้ลงจอบแรก ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477

ความเชื่อเรื่องพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้ลงจอบแรกนั้นมีปรากฏอยู่ในหนังสือของ พระอานันท์ พุทฺธธมฺโม ทำนองว่า พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้นำรถยนต์ไปรับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดพระสิงห์มายังสถานที่ลงจอบแรกด้วยตนเอง (ปัจจุบันคือบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย) ท่านจึงเป็นประธานผู้ลงจอบแรก เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และมีสถานะสูงกว่าเจ้าผู้ครองนครท้องถิ่น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้พระอานันท์ยืนยันว่าได้มาจากการสัมภาษณ์ตั้งแต่เมื่อปี 2530 มีทั้งอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง (ครูบาทองสุข) รวมไปถึงเครือญาติของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่อาศัยอยู่แถววัดบ้านปาง อายุ 80 – 90 ปี ก่อนที่บุคคลเหล่านั้นจะเสียชีวิต

นอกจากความที่ปรากฏในหนังสือของพระอานันท์แล้ว ภาพถ่ายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนายืนด้านหลังครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยมีฉากหลังคล้ายกับสภาพแวดล้อมบริเวณหน้าวัดศรีโสดา และอยู่ระหว่างการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ แม้ปรากฏเพียงปีที่ถ่ายคือพ.ศ. 2477 โดยไม่มีวันและเดือนที่ชัดเจน แต่ภาพถ่ายนี้ก็ยังพอจะเป็นหลักฐานที่ส่งเสริมความเชื่อนี้ได้

แผ่นจารึก 2 ธ.ค. 77 และคำเฉลยจากบุตรพระยาพหลพลพยุหเสนา

(ภาพ แผ่นจารึกซีเมนต์ที่พบบริเวณฝั่งซ้ายของสะพานไม้ข้ามน้ำตกห้วยแก้ว ที่สลักลายมือชื่อ ตำแหน่งและวันเดือนปีว่า “พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี” โดยระบุบรรทัดล่างว่า “2 ธ.ค. 77”)

หลักฐานภาพถ่ายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อปี 2477 อาจใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าท่านเดินทางมาพบครูบาเจ้าศรีวิชัยแน่นอน แต่หลักฐานแผ่นจารึกซีเมนต์ที่พบบริเวณฝั่งซ้ายของสะพานไม้ข้ามน้ำตกห้วยแก้ว ที่สลักลายมือชื่อ ตำแหน่งและวันเดือนปีว่า “พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี” โดยระบุบรรทัดล่างว่า “2 ธ.ค. 77” ซึ่งหมายถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2477 เป็นข้อโต้แย้งได้ว่าหากพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นประธานลงจอบแรก ก็น่าจะสลักวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 มากกว่า เนื่องจากเป็นวันทำพิธีบุกเบิกทางเป็นอุดมฤกษ์ ซึ่งมีความสำคัญชัดเจนมากกว่าวันที่ระบุในแผ่นจารึกซีเมนต์

อีกหนึ่งหลักฐานสำคัญคือคำสัมภาษณ์จากพันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรคนที่ 4 ของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ทำให้ทราบว่า ในช่วงนั้นบิดาของท่านติดภารกิจราชการที่วังปารุสกวัน ในการเตรียมจัดงานวันรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้เดินทางไปร่วมพิธีลงจอบแรกสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพในเดือนพฤศจิกายน 2477 แต่อย่างใด สอดคล้องกับเอกสารจดหมายเหตุ แผนกพิธีและพระราชพิธี หมวดงานฉลองรัฐธรรมนูญ เรื่องหมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญและฉลอง ซึ่งระบุว่า นายกรัฐมนตรี พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้นำรัฐธรรมนูญมามอบให้จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนธันวาคม 2477 อันเป็นจุดสิ้นสุดข้อถกเถียงและได้ข้อสรุปว่า ประธานผู้ลงจอบแรก ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 คือ พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ มิใช่ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา แต่อย่างใด

อ้างอิง

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง