สำรวจชีวิตและเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่าง ผ่านการไล่ล่า ‘ผี’  ในธี่หยด 2 

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

*บทความนี้มีการเผยแพร่เนื้อเรื่องของภาพยนตร์บางส่วน

มึงกับกูต้องได้เจอกันอีกแน่

คำพูดของยักษ์ในฉากจบของภาพยนตร์ ‘ธี่หยด’ เหมือนเป็นการเปรยฝากไว้กับคนดูว่าธี่หยกจะมีภาค 2 ต่อแน่นอน กระทั่งสิ้นปี 2566 นวนิยายต้นฉบับของภาพยนตร์ก็ได้ออกวางจำหน่ายในชื่อ ‘ธี่หยด สิ้นเสียงครวญคลั่ง’ เพื่อเตรียมปูทางไปสู่การสร้างภาพยนตร์ธี่หยด 2 ตามมา

ในที่สุด ธี่หยด 2 ได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ออกฉายไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ปัจจุบันภาพยนตร์ยังกวาดรายได้พุ่งสู่ 800 ล้านบาทเข้าไปแล้ว โดยภาคนี้เล่าเรื่องราวการตามล่า ‘ผี’ ของยักษ์ตัวละครหลักจากภาคก่อน หลังจากที่ผีร้ายตนนี้ได้พรากน้องสาวของยักษ์ไปอย่างไม่มีวันหวนคืน 

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, หนังสือ, การพิมพ์, ผลิตภัณฑ์กระดาษ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

เรื่องราวของทั้งในภาพยนตร์และนวนิยายเกิดขึ้นในจังหวัดอุตรดิตถ์ หนึ่งในจังหวัดของภูมิภาคเหนือตอนล่าง โดยเรื่องราวถูกสมมุติให้เกิดขึ้นราวปี 2520-2521 เป็นการเล่าเรื่องราวการเดินทางเพื่อตามหาวิธีการปราบผีร้ายที่ยักษ์เคยเผชิญหน้า ร่วมกับเพื่อนร่วมทางที่ต่างหมุนเวียนเข้ามาเป็นสหายร่วมเส้นทางกับยักษ์  

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบภาพยนตร์ธี่หยด 2 กับ นวนิยายธี่หยด 2 ที่วางจำหน่ายไปก่อนหน้าภาพยนตร์ออกฉาย เราจะพบความแตกต่างมากมายระหว่างนวนิยายต้นฉบับกับภาพยนตร์ดัดแปลง ความแตกต่างประการหนึ่งคือ ‘การเดินทางของยักษ์’ ที่ถูกลดทอนรายละเอียดลงไปมาก 

การเดินทางของยักษ์เพื่อตามหาวิธีกำจัดผีในนวนิยายได้บรรยายถึงบรรยากาศของภาคเหนือตอนล่างได้อย่างน่าสนใจและควรที่จะนำมาเผยแพร่ เพื่อให้ผู้อ่านบทความชิ้นนี้และผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์ได้มองเห็นมิติอื่นของจักรวาลธี่หยดที่ไม่ได้มีเพียงการตามล่าผี แต่เป็นการ ‘เดินทาง’ ไปบนพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เราอาจจะได้สำรวจบรรยากาศ ชีวิต รวมถึงเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่างผ่านการ ‘อ่าน’ การเดินทางของยักษ์ในนวนิยายธี่หยด 2

การเชื่อมโยงภูมิภาคและการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านรางรถไฟ

การเดินทางของยักษ์ในภาพยนตร์ธี่หยด 2 เขาอาศัยการขับรถยนต์เพื่อเดินทางไปตามล่าผีในสถานที่ต่างๆ ขณะที่นวนิยามต้นฉบับกลับเลือกที่จะให้ยักษ์เดินทางโดยวิธีการนั่ง ‘รถไฟ’ ไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือล่างแทน เพื่อรวบรวมข่าวสารของผีร้ายที่เขากำลังตามหา และไล่ล่าวิธีหรือเครื่องมือที่จะปราบผีร้ายตนนี้ให้สิ้นไปพร้อมกัน

รูปภาพประกอบด้วย ไอน้ำ, ทางรถไฟ, รถไฟ, หัวรถจักร

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
ภาพ: สยามานุสสติ  

นวนิยายและภาพยนตร์ไม่ได้ระบุปีที่ชัดเจนว่าคือปีใด แต่เราอาจจะพออนุมานได้ว่าอยู่ราวๆ ปี 2520-2521 เนื่องจากมีการกล่าวถึงคดีฆ่าข่มขืนโหดที่อำเภอพรมพิราม จังหวัดพิษณุโลก หลังจากที่ยักษ์ถูกจับลากลงจากรถไฟเพื่อไปคุมขังในสถานีตำรวจอำเภอพรมพิราม แต่ก่อนจะถูกจับยักษ์เริ่มเดินทางจากกรุงเทพโดยนั่งรถไฟที่สถานีหัวลำโพง อดีตสถานีกลางที่เชื่อมต่อทุกภูมิภาคของประเทศไทยเข้าหากันผ่าน ‘รางรถไฟ’

ในช่วงปี 2520 รถไฟถือเป็นพาหนะหลักในการเดินทางของผู้คน แม้จะมีการสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ เข้ากับกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2479 ถึงปี 2500 ก่อนที่จะมีการสร้างถนนเพิ่มอย่างมากมายหลังปี 2501 เป็นต้นมา ถนนพหลโยธินที่เป็นถนนที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับภาคเหนือก็ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2483 (เดิมใช้ชื่อว่า ถนนประชาธิปัตย์) แต่การเดินทางของผู้คนส่วนใหญ่ยังเป็นการนั่งรถไฟอยู่ รางจึงเปรียบได้กับเส้นเลือดที่นำพาคนรวมถึงสินค้าให้กระจายตัวไปในพื้นที่ต่างๆ ได้  

การเดินทางบนถนนด้วยรถยังอาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในช่วงปี 2520 อาจเป็นจากการที่รถยนตร์ยังราคาสูงอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนในประเทศ รถยนตร์ยังไม่ได้อยู่ในฐานะยานพาหนะส่วนบุคคลที่ทุกบ้านต้องมี หลายครั้งรถยนต์ถูกใช้เพื่อการขนส่งสินค้ามากกว่าจะถูกใช้เพื่อขนส่งผู้คน ขณะที่การเดินทางข้ามจังหวัดของผู้คนนิยมใช้รถไฟมากกว่า ตัวละครยักษ์เองก็อาศัยรถไฟเป็นยานพาหนะในการเดินทางข้ามไปมาระหว่างจังหวัด ขณะที่การเดินทางของยักษ์ภายในจังหวัดเขาจะอาศัยการขอติดรถไปกับพ่อค้าหรือขี่มอเตอร์ไซค์แทน

สำหรับภาคเหนือทั้งตอนล่างและตอนบน การมีรางรถไฟพาดผ่านถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล จากเดิมที่เป็นการค้าทางเรือที่ต้องอาศัยแม่น้ำเป็นช่องทางการขนสินค้ากลายมาเป็นการขนส่งผ่านรางแทน การขนสินค้าผ่านรถไฟทำให้ภาคเหนือตอนบนไม่ขาดดุลการค้ากับกรุงเทพอีกต่อไป การขนส่งสินค้าจากภาคเหนือลงไปที่กรุงเทพเพิ่มสูงขึ้นมากหลังรางรถไฟสร้างเสร็จราวปี 2460 มีงานศึกษามากมายที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภาคเหนือตอนบนหลังการสร้างรางรถไฟ 

ภาพสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ จากเพจอุตรดิตถ์ 24 ชั่วโมง 

ภาคเหนือตอนล่างเองก็มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังจากการสร้างรางรถไฟเช่นกัน ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ จากเดิมที่เป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำระหว่างภูมิภาคเหนือตอนบน (ล้านนา) กับกรุงเทพฯ ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการค้าทางรางแทนหลังการเปิดสถานีปากน้ำโพเมื่อปี 2448  

ขณะที่เมืองพิษณุโลกก็มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังการก่อสร้างสถานีรถไฟพิษณุโลกแล้วเสร็จในปี 2450 เช่นกัน หลังจากนั้นรางรถไฟก็ได้ก่อสร้างมาจนถึงเมืองอุตรดิตถ์ในปี 2451 ส่งผลให้เมืองอุตรดิตถ์จากเดิมที่มีศูนย์กลางการค้าทางเรืออยู่ที่ตำบลท่าอิฐได้เปลี่ยนศูนย์กลางการค้ามาอยู่ที่ตำบลท่าเสาซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟแทน พ่อค้าจากเมืองแพร่และน่านเลือกที่จะเดินทางมาซื้อ/ขายสินค้าที่สถานีรถไฟท่าเสาแทน 

หลังการก่อสร้างสถานีและรางรถไฟแล้วเสร็จ พื้นที่รอบสถานีรถไฟของจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างได้พัฒนากลายเป็นเมืองในท้ายที่สุด เป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟที่ทำให้ทุนและผู้คนต้องเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่รอบสถานีรถไฟ จังหวัดพิษณุโลกพัฒนาความเป็นเมืองได้จากการมีสถานีรถไฟ ต่อยอดมาจนถึงช่วงปี 2520 ช่วงเวลาเดียวกับเหตุการณ์ในภาพยนตร์และนวนิยายธี่หยด 2 รอบสถานีรถไฟพิษณุโลกได้มีการตั้งตลาดพระสถานีรถไฟพิษณุโลก ตลาดร่วมใจ (ตลาดสถานีรถไฟ) และโรงแรมพิษณุโลก ขณะที่ผู้คนก็เคลื่อนย้ายเข้ามาประกอบอาชีพทั้งค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าหาบเร่ รถคอกหมู หรือสามล้อถีบ เหล่านี้คือผลลัพธ์ของการสร้างรถไฟพาดผ่านเมืองต่างๆ ในภาคเหนือตอนล่าง  

ในการเดินทางของยักษ์ในนวนิยาย เขาถูกจับลากลงจากรถไฟที่สถานีพรมพิราม จังหวัดพิษณุโลกตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง แต่การเดินทางในครั้งนี้ของเขาไม่ใช่การเดินทางเพียงลำพัง เขามีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยนั่นคือ น้ำเพชร ตัวละครเอกอีกหนึ่งคนที่หายไปเมื่อนวนิยายถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ น้ำเพชรนั่งรถไฟมาจนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ 

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, อาคาร, รถยนต์, ยานพาหนะทางบก

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
ภาพหอนาฬิกาหน้าสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ จากเพจอุตรดิตถ์ 24 ชั่วโมง

รอบสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ในช่วงปี 2520 ก็มีความคล้ายคลึงกับจังหวัดพิษณุโลก คือมีการตั้งตลาดและโรงแรมอยู่รายรอบสถานีรถไฟ ในนวนิยายน้ำเพชรเลือกที่จะพักอยู่ที่โรงแรมอรุณแรก โรงแรมที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ ซึ่งชื่อโรงแรมอรุณแรกนี้น่าจะได้รับแรงบรรดาลใจจากโรงแรมฟ้าอรุณ ที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟอุตรดิตถ์และถูกเพลิงไหม้ไปเมื่อปี 2508 ในนวนิยายต้นฉบับยังมีการกล่าวถึงชีวิตและอาชีพของผู้คนที่อยู่รายล้อมสถานีรถไฟอุตรดิตถ์เช่นกัน มีทั้งร้านกาแฟ ร้านขายยา และสามล้อถีบ ซึ่งเป็นบรรยากาศชีวิตของผู้คนรอบสถานีรถไฟในช่วงเวลานั้น ยิ่งช่วยตอกย้ำว่าความเป็นเมืองของหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างเกิดขึ้นได้เพราะรางรถไฟ จนนำมาสู่การเล่าเรื่องราวการเดินทางของยักษ์ในนวนิยายธี่หยด 2 เป็นที่น่าเสียดายที่การเดินทางและบรรยากาศชีวิตเหล่านี้ไม่ถูกเล่าในภาพยนตร์ 

พ่อเลี้ยงและป่าไม้    

เมื่อยักษ์สามารถหลุดออกจากการจับกุมของตำรวจอำเภอพรมพิรามได้ เขาเดินทางต่อเพื่อมาสมทบกับน้ำเพชรที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนของเขาอย่าง เทวิน ลูกชายอดีตกำนันผู้กว้างขว้างและมากด้วยทรัพย์ ทั้งคู่เดินทางมายังจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อสมทบกับน้ำเพชร โดยพวกเขาอาศัยการขับรถยนต์ของเทวิน เสมือนการบอกอ้อมๆ ว่ารถยนต์และถนนในเวลานั้นเป็นของคนมีอันจะกินมากกว่าคนทั่วไป  

การเดินทางมาอุตรดิตถ์ครั้งนี้ของยักษ์มีจุดหมายอยู่ที่การตามหา พ่อเลี้ยงบรรลือ ลูกหลานของตาคล้อยผู้เคยเผชิญหน้ากับผีร้ายตนเดียวกับที่พรากชีวิตน้องสาวของยักษ์ไป พ่อเลี้ยงบันลืออาศัยอยู่ที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เขาทำธุรกิจค้าไม้จนร่ำรวยกลายเป็นเศรษฐีใหญ่แห่งเมืองพิชัย  

รูปภาพประกอบด้วย ต้นไม้, กลางแจ้ง, เข้าสู่ระบบ, อาคาร

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
ภาพ:  konsilaat 

สัมปทานค้าไม้เป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูตั้งแต่ปี 2450 เป็นต้นมา การทำธุรกิจค้าไม้เฟื่องฟูอย่างมากในภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะจังหวัดแพร่ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘เมืองแห่งไม้สัก’ จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับจังหวัดแพร่ การทำสัมปทานป่าไม้จึงสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงข้ามจังหวัดมายังอุตรดิตถ์ พ่อเลี้ยงบรรลือเล่าให้ยักษ์ฟังว่า ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ภาคเหนือของประเทศไทยถูกสัมปทานพื้นที่ป่าให้บริษัทต่างชาติเสียหมด บริษัทต่างชาติเหล่านี้เลือกที่จะทำการค้าร่วมกับผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบอมเบย์เบอร์มา, บริติชบอร์เนียว หรืออีสต์เอเชียร์ติก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่เคยได้สัมปทานป่าไม้ทั้งสิ้น  

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 บริษัทต่างชาติเหล่านี้ต่างต้องถอนตัวออกจากการสัมปทานป่าไม้ ส่งผลให้กลุ่มคนที่เคยทำงานร่วมกับบริษัทเหล่านี้ก้าวขึ้นมารับช่วงสัมปทานป่าไม้แทน ในจังหวัดแพร่มีตระกูลวงศ์วรรณ ซึ่งสะสมทุนทางการเมืองและเศรษฐกิจผ่านการสัมปทานป่าไม้ในจังหวัดแพร่  

ขณะที่จังหวัดเพื่อนบ้านอย่างจังหวัดอุตรดิตถ์ก็ดำเนินไปในเส้นทางเดียวกัน สุนันท์ สีหลักษณ์ หรือที่รู้จักในนาม เสี่ยยู้ อดีตนายกเทศมนตรีอุตรดิตถ์หลายสมัย เขาก็สะสมทุนทางเศรษฐกิจและการเมืองผ่านธุรกิจสัมปทานป่าไม้เช่นกัน โดยในปี 2510 เขาเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์สัมปทานป่าไม้ในจังหวัด ต่อมาในปี 2522 เสี่ยยู้ได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักรท่าเสา และบริษัทโรงเลื่อยจักรท่าสัก เพื่อทำการแปรรูปไม้ที่ได้จากการทำสัมปทานป่า  และขยับขยายกิจการไปจนถึงการเปิดบริษัทเพื่อแปรรูปไม้สัก ส่งผลให้เขาสามารถสะสมทุนจนก้าวขึ้นมาเป็นนายกเทศมนตรีในท้ายที่สุด

รูปภาพประกอบด้วย ใบหน้าของมนุษย์, เสื้อผ้า, คน, ชาย

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
ภาพ: ร้านหนังสือ 224books

พ่อเลี้ยงบันลือ หากเป็นบุคคลจริงๆ ก็คงเดินตามเส้นทางแบบเดียวกับเสี่ยยู้ เนื่องจากการทำธุรกิจสัมปทานรัฐถือได้ว่าเป็นช่องทางการสะสมทุนที่สำคัญในช่วงปี 2520 นักการเมืองในภาคเหนือตอนบนหลายคนอาศัยเครือข่ายที่ได้จากการทำธุรกิจสัมปทานจนสามารถชนะการเลือกตั้งได้ในหลายพื้นที่ หากนวนิยายธี่หยด 2 เล่าเรื่องยืดออกไปอีกสัก 10-20 ปี เราคงได้เห็นพ่อเลี้ยงบรรลือในฐานะนักการเมืองท้องถิ่นผู้กว้างขวางก็เป็นได้ ฉะนั้น เราจะเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวป่าไม้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญ ที่ทำให้บุคคลคนหนึ่งสามารถสะสมทุนทางเศรษฐกิจและการเมืองขึ้นมาจนถูกสถาปนาเป็น ‘พ่อเลี้ยง’

ผีข้ามรุ่น  

แม้นวนิยายธี่หยด 2 จะพาเราไปสำรวจสภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วงปี 2520 ที่เผยให้เห็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวความเป็นเมืองได้ปรากฏขึ้นแล้ว หลายเมืองมีธุรกิจการค้าและอาชีพเกิดขึ้นมากมาย แต่หากเราขยับออกจากพื้นที่เมืองไป เราจะได้เห็นภาพพื้นที่เกษตรมากมายรายรอบเมือง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1-4 (ครอบคลุมปี 2505 จนถึง 2520) มีการกล่าวถึงอาชีพเกษตรกรว่าเป็นอาชีพหลักของผู้คนในเวลานั้น 

ครอบครัวของยักษ์ก็ประกอบอาชีพเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี มีการส่งต่อที่ดินเพื่อทำเกษตรจากพ่อ ปัจจุบันทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างยกเว้นจังหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่เกษตรมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ประกอบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างได้มาจากมูลค่าของสินค้าเกษตรเป็นหลัก  

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เน้นย้ำว่าภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่างทั้งในด้านรายได้และการจ้างงาน เนื่องจากหลายครอบครัวในภาคเหนือตอนล่างอาศัยการประกอบอาชีพเกษตรกรร่วมกับการเป็นแรงงานชั่วคราวในภาคการผลิตอื่น  

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ข้าวโพด, ท้องฟ้า, อาหาร

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
ภาพ: กรุงเทพธุรกิจ 

หากเราเปรียบเทียบครอบครัวยักษ์กับครอบครัวอื่นในภาคเหนือตอนล่าง เราจะเห็นรูปแบบการประกอบอาชีพเกษตรกรที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการมอบที่ดินให้เป็นมรดก ยศ น้องชายของยักษ์คือตัวอย่างของชายผู้ต้องเข้าสู่อาชีพเกษตรกรจากการได้รับที่ดินมรดกจากพ่อ เขาอาศัยที่ดินที่ได้รับมาปลูกผักสวนครัวเพื่อขายและสะสมจนสามารถซื้อที่ดินรอบข้างได้เป็นกอบเป็นกำ แต่การสะสมทุนในรูปแบบนี้หากส่งต่อมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของยศจะเป็นอย่างไร พวกเขาจะสามารถสะสมทุนจนตั้งตัวในฐานะเกษตรกรได้อย่างยศหรือไม่? 

เวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยไทยพีบีเอสร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของภาคเหนือตอนล่างที่ผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยากเห็น ปัญหาหนึ่งที่มีการนำเสนอคือ เกษตรกรหลายคนในภาคเหนือตอนล่างมีปัญหาหนี้สินและการเข้าถึงทรัพยากร จนนำไปสู่ภาวะฆ่าตัวตายของเกษตรกรหลายคนในภาคเหนือตอนล่าง กลายเป็นว่ามรดกการเกษตรที่เคยได้รับไม่ได้สร้างเส้นทางอนาคตที่หอมหวานแบบที่ยศเคยได้รับในปี 2520 อีกต่อไป 

ในปัจจุบันสถานการณ์หนี้ของเกษตรกรในประเทศไทยถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างมาก ในปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยว่าปริมาณหนี้ครัวเรือนที่ทำการเกษตรพุ่งสูงขึ้นมาก มูลค่าหนี้สินโดยรวมทั้งประเทศมีสูงกว่า 800 ล้านบาท เฉลี่ยครอบครัวที่ทำการเกษตรหนึ่งครอบครัวจะมีหนี้สินอยู่ที่ประมาณ 311,098 บาท

หากมองสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่เป็นเกษตรกรในภาคเหนือตอนล่างยิ่งน่าเป็นห่วง เนื่องจากสัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้สูงกว่าร้อยละ 70 ทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดตาก) สูงกว่าภาคเหนือตอนบนทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดแพร่) ประกอบกับมูลค่าหนี้สินในครัวเรือนที่ทำเกษตรของภาคเหนือตอนล่างก็มีสูงกว่าภาคเหนือตอนบน หนี้สินของเกษตรกรในภาคเหนือตอนล่างแลดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่หาแก้ไขปัญหาได้ยาก งานศึกษาปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยจากสถาบันวิจัยป๋วยได้เผยให้เห็นกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยที่กำลังจะกลายเป็นหนี้ข้ามรุ่น กล่าวคือหนี้สินของรุ่นพ่อแม่กำลังถูกส่งต่อให้ลูกหลานผ่านมรดกที่ดิน

ตารางสัดส่วนครัวเรือนเกษตรที่เป็นหนี้ และมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 

จังหวัด สัดส่วนครัวเรือนเกษตรที่เป็นหนี้ มูลค่าหนี้สิ้นเฉลี่ยต่อครัวเรือน 
อุตรดิตถ์ 82.3 361,641 
นครสวรรค์ 87.6 277,584 
อุทัยธานี 84.3 272,182 
กำแพงเพชร 78.9 578,523 
ตาก  56.5 224,558 
สุโขทัย 86.7 280,394 
พิษณุโลก 70.4 601,787 
พิจิตร 73.6 501,457 
เพชรบูรณ์ 89.8 518,615 
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2564

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของปัญหาหนี้เกษตรกรข้ามรุ่นคือ ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องวิมานหนามที่ตัวละครเจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตรรายหนึ่งพูดกับตัวละครเสกว่า “ที่ดินผืนนี้ถูกจำนองไว้กับสหกรณ์มาตั้งแต่รุ่นพ่อไอ้เสก ไม่นึกว่ามันจะมาไถ่คืนได้” คำพูดนี้เป็นภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมอย่างมากเมื่อกล่าวถึงปัญหาหนี้ข้ามรุ่น กล่าวคือที่ดินที่ถูกส่งต่อไม่ใช่มรดก หากแต่เป็นหนี้สินที่ลูกต้องไปไถ่ถอนคืนมา 

หากจะอุปมาปัญหาหนี้ข้ามรุ่นให้เข้ากับภาพยนตร์และนวนิยายธี่หยด 2 เราอาจอุปมาได้ว่า ‘ผี’ ที่ตามหลอกหลอนครอบครัวของยักษ์ไม่ใช่ผี หากแต่มันคือ ‘หนี้สิน’ ที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น คอยตามหลอกหลอนคนทุกรุ่นไป บางครอบครัวอาจมีคนอย่างพี่ยักษ์ที่คอยตามแก้ปัญหาไล่ล่าผีที่หลอกหลอน หรือก็คือเป็นคนที่ต้องหาเงินมาปิดหนี้ของครอบครัว ที่น่าสนใจคือยักษ์ไม่ได้เลือกที่จะเดินในเส้นทางเกษตรกรตามพ่อของเขา แต่เลือกจะไปประกอบอาชีพเป็นทหารแทน เสมือนกับภาพสะท้อนของหลายครอบครัวที่สมาชิกคนที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรต้องหาเงินมาเพื่อปิดหนี้ของครอบครัวเพื่อรักษาที่ดินของครอบครัวไว้  

รูปภาพประกอบด้วย เสื้อผ้า, ใบหน้าของมนุษย์, คน, ยิ้ม

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

ในฉากจบของนวนิยายธี่หยด 2 ยักษ์ได้เสียชีวิตจากการป่วยเป็นโรคมะเร็ง (แตกต่างจากในภาพยนตร์) นวนิยายไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่ายักษ์เป็นมะเร็งจากสาเหตุใด แต่เราคงพออนุมานได้ว่าเขาน่าจะป่วยจากการต้องแบกรับความรับผิดชอบในการปกป้องครอบครัวจาก ‘ผี’ ยังมีอีกหลายคนที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบในการไล่ล่าผีเช่นเดียวกับยักษ์ คำถามคือเราจะทำอย่างไรไม่ให้คนอื่นๆ ที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบเช่นเดียวกับยักษ์ต้องเสียชีวิตหรือเจ็บป่วย เราจะแก้ปัญหาหนี้ข้ามรุ่นได้อย่างไร ยิ่งในภาคเหนือตอนล่างที่หลายครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกร คงจะมีหลายครอบครัวที่ถูกผีตามหลอกหลอน ทำให้สถานการณ์ผีหลอกหรือเจ้าหนี้ตามทวงคงเป็นสิ่งหลายภาคส่วนต้องมาช่วยกันขบคิดหาทางออกรวมกัน

“ผมในฐานะผู้เขียนหวังว่าจะไม่มีครอบครัวไหนต้องถูกผีหลอกจนต้องสังเวยชีวิตของสมาชิกในครอบครัวให้กับผีตนนี้”  

อ้างอิง  

  • Chantarat, S., Chawanote, C., Ratanavararak, L., Rittinon, C., Sa-ngimnet, B., & Adultananusak, N. (2022). Financial lives and the vicious cycle of debt among Thai agricultural households. PIER Discussion Paper
  • The Active. (3 เมษายน 2566). หลังเลือกตั้ง 2566 ประเทศไทยกับสถานการณ์ความขัดแย้งและการจัดตั้งรัฐบาล. สืบค้นจาก https://theactive.net/news/post-election-20230403/  
  • กิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์. (2566). ธี่หยด….สิ้นเสียงครวญคลั่ง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์. 
  • กรมพัฒนาที่ดิน. (ม.ป.ป.). รายงานการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาที่ดิน. สืบค้นจาก http://www1.ldd.go.th/WEB_OLP/report_research_N.html 
  • ข่าวสด. (5 กันยายน 2564). “ซินแสเป็นหนึ่ง” เผยวิธีเลือกคนดีเข้าบ้าน แนะทริคเสริมมงคล [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/news/108866 
  • ชัยพงษ์ สำเนียง. (2567). กลุ่มทุนการเมืองล้านนา : การเปลี่ยนแปลงทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นทุนการเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว 
  • วศิน ปัญญาวุธตระกูล. (2542) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในล้านนา กับการก่อตัวของสำนึกท้องถิ่น พ.ศ.2459-2480 . จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/กรุงเทพฯ. 
  • สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2504). แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2504-2506). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี. 
  • สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2506). แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2506-2509). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี. 
  • สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2510). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี. 
  • สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2515). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี. 
  • สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2520). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี. 
  • สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2560). แผนพัฒนาภาคเหนือ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๕ ฉบับทบทวน. สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8533  
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2564). รายงานการวิเคราะห์หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรรม พ.ศ. 2564. สืบค้นจาก https://www.nso.go.th/public/e-book/Analytical-Reports/Agriculture_Household_Debt_2564/ 
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (n.d.). สถานะไฟพษณุโลก พื้นที่แห่งชีวิต ประวัติศาสตร์. สืบค้นจาก https://sac-research.sac.or.th/file_thb/367-ch6.pdf 
  • วารสารเมืองโบราณ. (27 กันยายน 2566). 2508 มองอุตรดิตถ์ผ่านภาพเก่า: ชมบรรยากาศที่หาชมได้ยาก. สืบค้นจาก https://www.muangboranjournal.com/post/uttaradit-old-picture-2508 

เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง